ผ่านกันไป 4 วัน 3 คืน กับการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz ราคาปัจจุบันที่กำลังเขียนบทความนี้จบอยู่ 10.15 น. มีมูลค่า 132,954 ล้านบาท เตรียมพุ่งทะยานขึ้นไปแตะสถิติโลกที่เคยมีการประมูลคลื่น 900MHz กันเอาไว้ที่ 68,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อตอนบ่ายวานนี้ผมมีการเขียนบทความถึงที่มาของเงินที่แต่ละค่ายนำมาประมูล กับเหตุว่าทำไมราคาถึงพุ่งกระฉูดขนาดนี้ไป แต่หลังจากที่ลองคิดดูอีกรอบแล้ว หมากเกมนี้อาจจะเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่าที่คิดมากนัก จึงขอสรุปสถานการณ์และคาดเดาสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเล่าต่อและชวนคิดกันดูครับ

(update#3 17.52น. 18 ธ.ค. 58)

 

ฆ่าดีแทค ตรึงเอไอเอส หาเงินเข้ากระเป๋ารัฐบาล

นี่น่าจะเป็นชื่อบทความที่เหมาะสมที่สุด รวบรัดให้เข้ากับบทความได้มากที่สุดแล้ว ส่วนที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เดี๋ยวลองไปอ่านรายละเอียดกันด้านล่างได้เลย

 

dtac เครือข่ายที่เข้าตาจน ต้องเอาใบอนุญาตคลื่น 900MHz ให้จงได้

อย่างที่หลายๆ คนทราบกันว่าจากความพ่ายแพ้ในการประมูลคลื่น 1800MHz ของ dtac ทำให้เกิดความไม่มั่นใจจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการที่ทราบข่าวแล้วถึงกับขอย้ายเครือข่าย นักลงทุนที่เทขายหุ้นทิ้งเพราะความไม่แน่นอน รวมถึงพนักงานของดีแทคเองที่ก็ขวัญเสียไปตามๆ กัน(แต่ยังไม่ถึงกับลาออก) ทำให้การประมูลครั้งนี้ dtac พกเอาเงินพร้อมความมั่นใจเต็มเปี่ยมเข้าไปในห้องเพื่อชิงชัยเอาใบอนุญาตคลื่น 900MHz นี้ให้จงได้ ทั้งเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของพนักงาน และสร้างความมั่นใจว่าตัวเองจะมีคลื่นเพียงพอให้บริการ ก่อนที่ใบอนุญาตคลื่น 850MHz และ 1800MHz ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะหมดลงใน 3 ปีข้างหน้า (แต่ยังเหลือ 2100MHz) ถ้าครั้งนี้ dtac พลาดการประมูลอีกรอบ น่าจะเกิดความระส่ำระสายมาก เพราะอนาคตดูเลือนลาง คลื่นไม่เพียงพอให้บริการ ร้ายแรงสุดอาจจะถึงกับถอนตัวขายกิจการได้

 

AIS เงินมีพร้อมจ่ายเพื่อใบอนุญาต แต่ต้นทุนการให้บริการก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

จำนวนลูกค้าของ AIS เยอะกว่าชาวบ้านเกือบเท่าตัว ทำให้ความต้องการคลื่นความถี่ก็จะมีมากกว่าคู่แข่งตามไปด้วย แต่การลงทุนไม่ใช่ปัญหาของค่ายนี้เพราะด้วยความที่จำนวนลูกค้าเยอะ เค้าก็สามารถสร้างรายได้ปีนึงได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท ทำสัดส่วนกำไรมากกว่า 30% จากการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เงินค่าใบอนุญาตหลักหมื่นล้านบาทยังไม่ถือว่าเดือดร้อนมาก ยิ่งถ้าเทียบกับที่ก่อนหน้านี้ทาง AIS เคยจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับรัฐ(TOT) ปีนึงมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็ยิ่งดูไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ดีการประมูลที่มูลค่าสูงขึ้นเท่าไหร่ ก็ทำให้ AIS ยิ่งมีภาระที่ต้องแบกรับ มากขึ้นเท่านั้นด้วย ทำให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ลำบากมากขึ้น

 

True เครือข่ายที่มีพร้อม ยกเว้นตัวเลขบัญชีที่ยังไม่สวยงาม

ปัจจุบัน True เป็นเครือข่ายที่มีคลื่นในมือเยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้า และใบอนุญาตแต่ละใบก็มีอายุใช้งานอีกยาวนาน แถมได้มาแบบค่อนข้างถูก เรื่องจำนวนคลื่นและต้นทุนจึงไม่ใช่ปัญหาของค่ายนี้ แต่เมื่อกลับไปลองดูตัวเลขทางบัญชีที่เพิ่งจะโผล่พ้นน้ำเพิ่งเริ่มมีกำไรในปีที่ผ่านมา การเข้าร่วมแจมใบอนุญาตที่มีมูลค่าสูงลิบลิ่วจึงเป็นเรื่องที่ชวนงง หลายสำนักเก็งเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูลว่าใบอนุญาตใบนี้ True น่าจะหมอบ เพราะอาจทำให้บริษัทกลับไปมีสถานะทางการเงินที่ติดลบอีกครั้ง จากการแบกภาระค่าใช้จ่ายต่อปีที่สูงลิบ แต่เรื่องกลับตาลปัตรเพราะ True ยังสู้ยิบตาอยู่ยิ่งดูก็ยิ่งงงว่าจะประมูลไปทำไม

 

JAS ผู้มาสร้างสีสันให้กับการประมูล แต่ทำเอาแต่ละเครือข่ายปวดหัว

ม้ามืดที่ป่วนการประมูลตั้งแต่เมื่อคราวประมูลคลื่น 1800MHz เคาะราคาสู้ AIS และ true มาตลอด 2 วัน ก่อนยอมแพ้ไปในที่สุด การเข้าร่วมประมูลของ JAS นี้ True เป็นผู้ที่แขยงที่สุดหาก เพราะหากปล่อย JAS เข้าตลาดมาได้ True ต้องปวดหัวทำแคมเปญสู้ศึกคู่แข่งทั้งข้างบนและข้างล่างตลอดเวลา การบีบให้ JAS ไม่ได้ใบอนุญาตเลยน่าจะเป็นการสบายที่สุดและเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ตามกฎของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ก็น่าสนใจว่าการประมูลคลื่น 900MHz ตัว JAS เองก็ยังคงบู๊กดประมูลราคาแข่งกับอีกสองเครือข่ายแบบไม่มีกลัวว่าจะเจ๊ง แถมกล้าให้ราคาใบอนุญาตที่สูงขึ้นกว่าเดิม จนหลายฝ่ายงงว่าไปเอาเงินมาจากไหน เพราะราคาใบอนุญาตอย่างเดียว ก็สูงกว่ามูลค่าของบริษัททั้งหมดแล้ว

>> ข่าวก่อนหน้าบอกว่าเตรียมเงินสำหรับการลงทุนทำ 4G เอาไว้ประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยมีเงินจาก”พันธมิตร”มาร่วมด้วยราว 10,000 ล้านบาท…พันธมิตรที่ว่านี่คือใคร? เป็นคนเติมเงินให้ JAS มาลุยคลื่น 900MHz รึเปล่า?1

 

ช่องโหว่ของเงื่อนไขการชำระเงินการประมูลคลื่น 900MHz ที่อาจทำให้ dtac ต้องใบพัดหัก

การประมูลในครั้งนี้มีเงื่อนไขการชำระเงินที่ต่างกันออกไป จากเมื่อคราวประมูลคลื่น 1800MHz ซึ่งกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องชำระเงิน 50% ของมูลค่าใบอนุญาต ภายใน 90 วัน จากนั้นค่อยจ่ายส่วนที่เหลือในปีถัดมา ทำให้ค่ายที่ชนะการประมูลต้องแบกภาระในการหาเงินสดก้อนโตมาจ่ายเงินงวดแรกให้ได้

แต่ในคราวของคลื่น 900MHz กลับแตกต่างออกไป เงื่อนไขการชำระเงินไม่ได้อิงกับจำนวนเต็มของเงินประมูล แต่เอื้อให้ทางผู้ชนะการประมูลต้องจ่ายเงินออกมาก่อนเพียงแค่ 16,080 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปีแรกเท่านั้น จากนั้นค่อยจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดในปีที่ 4

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของเงื่อนไขการชำระเงินประมูล

 

1800MHz

900MHz

ปีที่ 1

50% ของเงินประมูล

8040 ล้านบาท

ปีที่ 2

25% ของเงินประมูล

4010 ล้านบาท

ปีที่ 3

25% ของเงินประมูล

4010 ล้านบาท

ปีที่ 4

ส่วนที่เหลือทั้งหมด

ซึ่งเงื่อนไขการประมูลนี้ดูเผินๆ น่าจะเป็นการเว้นช่องว่างเอาไว้เผื่อให้ผู้ชนะการประมูลเป็นเจ้าเดิมจากเมื่อตอนคลื่น 1800MHz ไม่ต้องมีภาระในการหาเงินมาชำระในทันทีเพราะโดนหนักไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการตั้งเงื่อนไขแบบนี้ก็คือ True และ JAS เต็มๆ

เหตุที่เงื่อนไขนี้อาจทำให้ dtac ต้องเจอปัญหาใหญ่ก็เป็นไปตามที่ข้างต้นได้กล่าวไว้แล้วว่า หากดีแทคพลาดการประมูลครั้งนี้ จะไม่มีเสถียรภาพในการบริหารธุรกิจ เพราะคลื่นในมือจะไม่เพียงพอให้บริการ หรือต้องลงทุนเพิ่มหนักมาก อีก 3 ปีข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด การประมูลใบอนุญาตคลื่นใหม่จะมีหรือไม่ก็ยังบอกไม่ได้ แล้วมูลค่าของบริษัทอาจถูกลดทอนลงไป ความน่าเชื่อถือจากทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการหาย จนเป็นที่มาของการถอดใจทำธุรกิจ และขายกิจการให้ผู้ที่สนใจไป

 

True หรือ JAS เมื่อชนะการประมูล จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย?

ในกรณีที่ True หรือ JAS ชนะการประมูล ทั้งสองบริษัทน่าจะหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาจ่ายเงินตามที่กำหนดเอาไว้ใน 3 ปีแรก 16,080 ล้านบาทได้ไม่ยาก ส่วนที่เหลือในปีที่ 4 ตัวทรูเองน่าจะพอจัดการเรื่องการเงินการธนาคารหามาชำระได้ เพราะตามประวัติแล้ว เครือข่ายนี้ความสามารถในการจัดหาเงินเป็นเลิศ รวมถึงมีกลุ่มทุนอื่นหนุนหลังอีกมากมาย แต่ของ JAS น่าจะต้องรอติดตามว่ามีใครเป็นแบคหนุนหลังอยู่หรือไม่ เพราะด้วยตัวบริษัทเองสถานการณ์การเงินกับมูลค่าใบประมูลเป็นงานที่หนักเอาการ

แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่าคือ ก่อนที่จะเข้าปีที่ 4 ที่ต้องจ่ายเงินก้อนเต็มออกมา dtac จะหมดสัมปทานในการใช้คลื่น 850MHz และ 1800MHz ซึ่งบริษัทน่าจะมีความระส่ำระสาย ผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่ True ในทันที เพราะคู่แข่งรายใหญ่แทบจะหายไปทันที 1 ราย และตัวบริษัทเองก็สามารถเลือกที่จะไม่ชำระเงินก้อนที่เหลือทั้งหมดในปีที่ 4 ได้เลย โทษหนักที่สุดก็คือโดนริบใบอนุญาตคลื่น 900MHz และเงิน 16,080 ล้านบาทไป แต่นั่นก็ไม่น่าจะสะทกสะท้านอะไรเพราะคลื่นที่มีในมือก็เหลือเฟือ และเงินไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาทกับการล้มคู่แข่งรายสำคัญได้ ดูจะเป็นการลงทุนที่แสนจะคุ้มค่าเหลือเกิน

**เพิ่มเติม** ทางกสทช. มีแจ้งว่าผู้ชนะการประมูลต้องหาหนังสือค้ำประกันแบบเต็มจำนวนมาวาง ณ วันที่ชำระเงินครั้งแรก แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดชัดๆว่ามีผลกระทบอะไรอย่างไรบ้าง ในกรณีไม่จ่ายเงิน ขอไปสืบหาข้อมูลแป๊บ ซึ่งหนังสือค้ำประกันนี้ทางผู้ชนะการประมูลต้องไปหาสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีมูลค่าเท่ากับใบอนุญาต จะกี่หมื่นล้านก็ว่าไป ไปวางกับทางธนาคาร เพื่อให้ธนาคารออกเอกสารให้ หากบริษัทไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ ธนาคารก็จะยึดทรัพย์ส่วนที่เอาไปค้ำอยู่ดี กล่าวคือ ใครที่ได้ใบอนุญาตไป ยังไงก็ต้องหาอะไรไปค้ำเท่าจำนวนเงินประมูลและอยู่ๆจะยกเลิกหนี้ไปเลย โดยไม่เสียอะไรไม่ได้

 

AIS จะเป็นเสมือนยักษ์ที่ถูกโซ่ตรวน

หากการประมูลเป็นไปตามข้างต้นแล้ว ไม่ใช่แค่ dtac ที่ได้รับผลกระทบ แต่ว่าเป็น AIS ที่ก็โดนตามไปด้วยจากมูลค่าของใบอนุญาตคลื่น 900MHz ที่สูงทุบสถิติโลก เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละปีสูงกว่าที่ควรจะเป็นหลายพันล้านบาท ต้นทุนการให้บริการจากค่าใบอนุญาตจะสูงกว่าคู่แข่งเป็นเท่าตัว แต่โซ่ตรวนนี้ก็อาจจะยังไม่ได้ใหญ่มากนักเมื่อเทียบค่าสัมปทานที่เคยจ่ายให้กับรัฐช่วงก่อนปี 2012 ที่ต้องแบ่งรายได้ 25% ให้กับ TOT นั่นเอง

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ตามที่คิดข้างต้น

  • ข้อสันนิษฐานนี้เริ่มมีการคิดกันตั้งแต่ที่การประมูลคลื่น 900MHz ทางคุณศุภชัย เจียรวนนท์ และคุณพิชญ์ โพธารามิก2 นายใหญ่ของทรูและแจสไม่เข้าร่วมการประมูล ในเมื่อไม่ได้สนใจว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ก็ฝากกดก็ได้

  • *แก้ไข* คุณศุภชัย ตามข่าวเห็นว่าเข้าร่วมประมูลด้วย แต่มาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดห้อง3
  • คลื่นความถี่ที่ดีแทคถืออยู่ หลังหมดสัมปทานอาจจะไม่ได้ถูกนำมาประมูล

    • หลังจากการประมูลคลื่น 900MHz แล้วคลื่น 850MHz ที่ dtac ถืออยู่จะเป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำเดียวที่หลงเหลืออยู่ที่ใกล้หมดสัมปทาน แต่ก็มีข่าวแว่วมาว่าทางกสทช.เตรียมจะเรียกคืนเพื่อนำไปใช้ในการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะสร้างในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแทน4

    • คลื่น 1800MHz ที่กำลังจะหมดสัมปทานของดีแทค ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเรียกกลับมาประมูลหลังจาก 3 ปีข้างหน้า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศนี้

  • หากมีคนเบี้ยวไม่จ่ายเงินค่าคลื่นตามที่กล่าวจริง คลื่น 900MHz จะยังไม่ถูกนำออกมาประมูลในทันที หากอ้างอิงจากกรณีของคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล ที่ได้เห็นการไม่จ่ายหนี้ และคลื่นก็ยังค้างไม่มีการใช้งานต่อไป

 

มองในแง่ดี นี่อาจเป็นการแข่งขันอย่างขาวสะอาด

  • การที่มูลค่าเงินประมูลสูงขึ้นไปถึงขนาดนี้ได้ อาจจะเป็นเพราะแต่ละเครือข่ายได้คิดแล้วว่าเมื่อเทียบกับค่าสัมปทานที่เคยจ่ายยังเป็นเงินที่คุ้มค่า ยิ่งมูลค่าประมูลสูงเท่าไหร่ ส่วนต่างที่รัฐต้องเสียไปจากการเปลี่ยนสัมปทานมาเป็นประมูลใบอนุญาต ก็จะต่ำลง

  • แต่ละเจ้าอาจจะนำเอาเงินจากที่น่าจะต้องเสียในใบอนุญาต 2100MHz ที่ได้กันไปถูกมาก มาร่วมคำนวน ใส่เป็นเงินทุนในการประมูลครั้งนี้ ทำให้มูลค่าสูงขึ้นก็เป็นได้

  • ประเทศชาติได้ผลประโยชน์เต็มๆ เพราะไม่ว่าจะวงเงินเท่าไหร่ เงินก็เข้ารัฐทั้งสิ้น

  • true และ JAS อาจจะประมูลเพื่อต้องการนำไปทำธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงทำลายโอกาส หรือต่อสู้อย่างไม่เป็นธรรม เป็นบริษัทที่ธรรมาภิบาลสู้งสูง ไม่มีทางที่จะประมูลเพื่อนำไปทิ้งและต่อสู้กับคู่แข่งอย่างเป็นธรรม(ขอแก้ไข เพราะมีคนอ่านแล้วอาจเข้าใจผิดได้)

  • True จำเป็นต้องประมูลให้ได้ใบอนุญาตใบนี้ มิฉะนั้นบริษัทจะอยู่ในสภาวะลำบาก หาจุดแข็งสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะมีจำนวนคลื่นและการให้บริการ 4G ที่ไม่แตกต่างแล้ว เผลอถ้าไม่สู้ ปล่อยให้ JAS เข้ามาได้ แล้วมีคู่แข่งรายที่ 4 เข้ามาเพิ่ม จะกลายเป็นปัญหาอันหนักหน่วงกับทางค่ายในทันที
  • dtac ยังคงสู้ ให้บริการด้วยคลื่น 2100MHz เพียงอย่างเดียว ลงทุนวางเสาทำ 3G เพิ่มให้บริการได้ดีไม่แพ้ AIS #โลกสวย

 

สรุป ขอทำนายว่า AIS – True จะชนะการประมูลในครั้งนี้ บีบดีแทคให้ไม่มีคลื่นเพียงพอที่จะดำเนินการในระยะยาว จนเสียอำนาจในการแข่งขัน และอาจต้องออกจากธุรกิจไป อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงการคาดเดาของผมเท่านั้น มีข้อมูลอ้างอิงบางส่วนมาช่วยรองรับความคิดในบางจุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จริง หรือไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ ถ้าไม่คิดอะไรมากก็อ่านเป็นนิยายสนุกๆ เรื่องนึงไปแทนละกัน แล้วรอดูผลการประมูล กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของวงการโทรคมนาคมในประเทศไทยกันต่อไปอย่างเมามันส์ครับ

สวัสดี