Apteligent ผู้ให้บริการส่วนเสริมแอปที่ช่วยการเก็บข้อมูล log การใช้งานแอปจำนวนกว่าหมื่นแอปทั่วโลก ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และออกรายงานเกี่ยวกับการใช้งานมือถือ Android ของแต่ละแบรนด์และได้สรุปผลในเรื่องของความเร็วในการได้รับอัพเดตเวอร์ชัน Android และความเสถียรของ OS ตลอดจนสัดส่วน Fragmentation ของ Android OS ออกมาให้อ่าน

ตัวรายงานนี้อ้างอิงข้อมูลการใช้งานจากการทำงานของแอป การส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตของแอปและตัว OS จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลจากการใช้งานจริงๆ

 

Motorla เป็นแบรนด์ที่ปล่อยอัพเดตให้เร็วที่สุด

หัวข้อแรกเป็นเรื่องของการได้รับอัพเดต Android ของมือถือแต่ละแบรนด์ โดยทาง Apteligent ได้ยกแบรนด์ที่น่าสนใจอย่าง Motorola, Samsung, LG, Sony และ ZTE มาเปรียบเทียบกัน โดยไม่รวม Nexus ที่ยังไงก็ได้อัพเดตโดยตรงจากกูเกิลอยู่แล้ว

จากกราฟจะแสดงถึงช่วงของการอัพเดตจาก Android Lollipop มาเป็น Android Marshmallow (ปล่อยอัพเดตให้ Nexus วันที่ 5 ตุลาคม 2015) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ามีแนวทางการอัพเดตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงปล่อยอัพเดตให้กับบางมือถือบางรุ่นก่อน

  • Motorola ที่เริ่มปล่อยอัพเดตให้กับ Moto X Style, Moto X Pure Edition ก่อนรุ่นอื่น
  • LG ก็คล้ายๆ กับ Motorola โดยเริ่มปล่อยอัพเดตให้กับ LG G4 ก่อนรุ่นอื่น
  • HTC นั้นแตกต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่ปล่อยอัพเดตเร็วและให้กับทุกรุ่นที่รองรับเลย
  • ZTE ปล่อยอัพเดตตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ให้กับตระกูล AXON ก่อน และอีกบางรุ่น

กลุ่มสอง ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนนิดๆ จึงปล่อยอัพเดตให้กับมือถือที่รองรับทุกรุ่น ได้แก่ Samsung และ Sony

ทาง Apteligent มองว่าข้อมูลนี้อาจจะเป็นจริงแค่สหรัฐฯ จึงลองเอาข้อมูลในประเทศอินเดียมาดูด้วย ก็ได้ผลลัพธ์เป็นดังกราฟข้างล่างนี้ครับ

จะเห็นได้ว่า Motorola ก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดีครับ ตามด้วย HTC, LG, Sony, Samsung และ ZTE ทิ้งห่างมาจนถึงเดือนมิถุนายน ที่น่าสนใจคือ Motorola ปล่อยอัพเดตให้ที่อินเดียก่อนสหรัฐฯ อีกซะด้วย ไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะอะไร

ส่วนกราฟข้างบนนี้จะเป็นกราฟเมื่อรวม Nexus เข้ามาด้วยครับ จะเห็นว่า LG ที่มี Nexus 5x และ Motorola ที่มี Nexus 6 จะเลื่อนไปทางซ้าย เพราะว่าเป็นกลุ่มที่ได้อัพเดตจากกูเกิลโดยตรงนั่นเอง ตามมาด้วย HTC ที่เคยผลิต Nexus 9 ทำให้ภาพรวมดูได้อัพเดตเร็วขึ้นกว่ากราฟที่ไม่รวม Nexus

 

Sony เป็นแบรนด์ที่ระบบเสถียรที่สุด

หัวข้อต่อมาก็เป็นเรื่องของความเสถียรของระบบ OS ที่มากับแต่ละแบรนด์ โดยอ้างอิงจากการใช้งานแอปยอดนิยมที่มีการใช้งานรวมทั่วโลกแต่ละวันมากกว่า 5 แสนครั้ง โดยแอปเหล่านี้เป็นแอปที่มีโอกาสแครชต่ำและมีเสถียรภาพที่ดีอยู่แล้ว 

ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะเน้นข้อมูลจากอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ของแต่ละยี่ห้อ เพื่อไม่ให้ข้อมูลจากอุปกรณ์เก่าๆ ที่มีโอกาสใช้งานแล้วแครชบ่อยมาทำข้อมูลเสีย โดยเฉพาะ Samsung ที่มีจำนวนเครื่องมาก และอุปกรณ์เก่าๆ มีอัตราการแครชค่อนข้างสูง

จากตารางจะพบว่า Sony มีอัตราการแครชอยู่ที่ 0.08% ซึ่งน้อยที่สุด ตามมาด้วย Motorola อยู่ที่ 0.09% และเมื่อสังเกตที่ ZTE จะพบว่าอัตราการแครชกระโดดหนีจากแบรนด์อื่นที่ยกมาค่อนข้างเยอะทีเดียวครับ

 

รัสเซียเป็นประเทศที่มี Fragmentation ของอุปกรณ์มากที่สุด

ทาง Apteligent ได้พูดถึงเรื่อง Fragmentation ของอุปกรณ์ Android เอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของ “ความหลากหลาย” ของอุปกรณ์ที่เป็นปัญหาสำหรับนักพัฒนาที่ต้องพัฒนาแอปออกมาให้รองรับการใช้งานบนความหลากหลาย

Apteligent ได้นิยาม คำว่า Fragmentation เพิ่มเติมเป็น “จำนวนอุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อเป็นตัวแทนของอุปกรณ์ 90% ในประเทศนั้นๆ” จากนิยามนี้ทำให้ได้ผลลัพธ์ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มี Fragmentation หรีอความหลากหลายของอุปกรณ์มากที่สุดในโลก โดยต้องใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกันสูงถึง 230 เครื่องเพื่อเป็นตัวแทนอุปกรณ์ 90% ในประเทศ ดังกราฟต่อไปนี้ครับ

สำหรับอุปกรณ์ยอดนิยม 10 อันดับในรัสเซียมีข้อมูลดังนี้ครับ

เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่สัดส่วนการใช้งานอุปกรณ์ยอดนิยม 10 อันดับแรกที่รวมแล้วได้ 44% ของทั้งประเทศและออสเตรเลียที่รวมได้ 74% ของประเทศจะเห็นได้ว่ารัสเซียมีการความหลากของอุปกรณ์สูงมากทีเดียว


นอกจากนี้แล้วทาง Apteligent ยังได้ใหคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเลือกซื้อมือถือใหม่ในเร็วๆ นี้อีกด้วยครับ โดยอ้างอิงจากการปล่อยอัพเดต Android OS ได้จัดอันดับความน่าสนใจเอาไว้ดังนี้

  • แบรนด์น่าเลือกอันดับ 1: Motorola เนื่องจากมีการอัพเดตที่รวดเร็ว รวมถึง HTC ที่กำลังจะมี Nexus ตัวใหม่ออกมาขาย
  • แบรนด์น่าเลือกอันดับรองลงมา: LG ที่ปล่อยอัพเดตได้เร็วไม่แพ้กันครับ

ย้ำอีกทีนะครับว่าคำแนะนำนี้อ้างอิงจากเรื่องการอัพเดตล้วนๆ ไม่ได้พูดถึงฟีเจอร์หรือการใช้งานตามสไตล์ของแต่ละคน ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหนึ่งสำหรับคนเลือกมือถือใหม่ละกันครับ

สำหรับใครที่อยากอ่านรายงานฉบับเต็มๆ ก็ไปที่ Link นี้ได้เลยครับ

 

ที่มา: Apteligent