เป็นประจำทุกรอบปีที่ Google จะพาพวกเราย้อนกลับไปดูสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนผ่านบริการพวกเขา โดยใช้คำค้นหายอดนิยมบน Google Search เป็นแกนกลางในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล และวันนี้ DroidSans จะพาเพื่อน ๆ ไปดูสรุปสาระสำคัญสำหรับด้านสื่อและบริการดิจิทัลเป็นการเฉพาะ หลังเกิดความเปลี่ยนหลายประการที่น่าสนใจอันเป็นผลกระทบโดยตรงจาก Covid-19 นั่นเอง

Covid-19 ทำให้คนไทยใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์สูงขึ้น 24% ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ความบันเทิงและการศึกษา

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์โรคระบาด Covid-19 ในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2020 นั้น โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคชาวไทยจะใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ประมาณ 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งโรคระบาดที่ยังไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่นี้เอง ได้ส่งผลโดยตรงให้ชาวเน็ตใช้เวลาออนไลน์นานขึ้นถึง 24% อยู่ที่ 4.6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงล็อกดาวน์และยังคงใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 4.3 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงปลายปี 2020 ก่อนที่จะดีแตกกันอีกครั้ง จากการระบาดครั้งใหม่ในช่วงต้นปีนี้นี่เอง

จากจำนวนเวลาเฉลี่ยต่อวันบนโลกออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ Google – Year in Search ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า ข้อมูลที่ชาวเน็ตไทยค้นหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นอันดับ 1 คือ การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ หลังจากที่ทั้งนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่วัยทำงานอย่างชาวออฟฟิศที่ต้องใช้มาตรการ Work From Home – Study From Home นั้นมีความต้องการที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคอร์สเรียนออนไลน์ที่แจกฟรีในช่วงล็อกดาวน์ โดยคำว่า “เรียนออนไลน์” นั้นถูกค้นหาใน Google สูงขึ้นถึง 6 เท่าจากช่วงเวลาปกติเลยทีเดียว

นอกจากการศึกษาแล้ว สิ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างสูงอีกเรื่องได้แก่การแสวงหาความบันเทิงทุกรูปแบบซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลพวงโดยตรงจากความพยายามจัดการกับความเครียดสะสมที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหลายนั่นเอง โดยเกมออนไลน์และบริการสตรีมมิ่งเพลงหรือภาพยนตร์ออนไลน์ทั้งหลายนั้น มีการค้นหาต่อคนสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 37% และ 50% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกมส์หรือบริการสตรีมมิ่งที่ว่าฮิตขึ้นมากเพราะโควิดก็ยังไม่สู้ “เวลาในการรับชมเนื้อหาประเภทตลก – เบาสมอง สำหรับผู้บริโภคชาวไทยบน YouTube ที่สูงขึ้นถึง 90%” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงบรรดาคอนเทนต์ตลก ๆ ที่ก็เกิดไวรัลขึ้นมาบนโลกออนไลน์ให้เป็นที่พูดถึงของชาวโซเชียลกันอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “ที่ราคาคุ้มค่า” กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคอีกครั้งตลอดปี 2020

อีกความสนใจหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยในด้านบริการดิจิทัลที่เรียกได้ว่าแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยเพราะเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 1 ของโลกยุคดิจิทัลได้เลยนั่นคือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้เพียงเน้นเฉพาะคุณภาพเท่านั้น แต่ความคุ้มค่าต้องตอบโจทย์ด้วย ซึ่งก็เป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความฝืดเคืองด้านเศรษฐกิจอย่างแน่นอนที่ถึงแม้บรรดาผู้บริโภคจะทราบเป็นอย่างดีว่าคุณภาพของบริการอินเทอร์เน็ตจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคดิจิทัลภาคบังคับเช่นนี้แต่ความคุ้มค่านั้นต้องยืนหนึ่งไว้ก่อนด้วย

โดยคำค้นหาอย่างคำว่า เน็ตบ้านเพิ่มขึ้น 37% รายเดือนเป็นเติมเงินเพิ่มขึ้น 35% และการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต (Internet Speed Test) เพิ่มขึ้น 25% โดย Google ยังเผยอีกว่า Keyword ตัวชูโรงที่พวกเขาใช้สรุปความได้ว่าผู้บริโภคมองหาความคุ้มค่าเป็นพิเศษในปี 2020 นี้ได้แก่คำค้นหาว่า โปรเน็ต 200 ซึ่งถูกค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 1200% หรือ 12 เท่าเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการค้นหาคำว่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปที่ลดลง

นอกจากความสนใจต่อรูปแบบของแพ็กเกจบริการที่เปลี่ยนไปเน้นความคุ้มค่าสูงขึ้นมากแล้วนั้น ผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อ การให้บริการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบไม่ต้องมีการสัมผัส (Contactless Service) หรือ การรับบริการโทรคมนาคมด้วยแบบช่วยตัวเอง (Self-service) ซึ่งมีอัตราการค้นหาเกี่ยวกับการให้บริการแบบ New Normal เช่นนี้สูงขึ้นถึง 50% เลยทีเดียว

เทคโนโลยี 5G และ VR ที่จะไม่ใช่เพียงการโชว์ออฟทางเทคโนโลยีอีกต่อไป

การจะพูดถึงเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลสำหรับปี 2020 นั้นแน่นอนว่าจะคลาดสิ่งนี้ไปไม่ได้เลย คือ Virtual Reality หรือเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งในปี 2020 ที่เพิ่งผ่านไปนั้นได้ถูกยกขึ้นเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของใครหลาย ๆ คนโดยเฉพาะบรรดานักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ไม่ชอบอุดอู้อยู่แต่ในบ้านทั้งหลายนั้นต้องพึ่งพาเพื่อการไปท่องโลกเสมือนกันไปพลาง ๆ ก่อนจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย โดยการค้นหาเกี่ยวกับ VR นั้นสูงขึ้นกว่า 23 เท่าเลยทีเดียว

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดจะจบลง แต่เทคโนโลยีอย่าง VR ก็ไม่น่าจะหายไปไหนอีกแล้ว หลังจากที่ผู้คนเริ่มสร้างความเคยชินกับเทคโนโลยีนี้ได้ และผู้ประกอบการโดยเฉพาะบรรดาผู้ให้บริการด้านโครงสร้างระบบโทรคมนาคม ผู้พัฒนาเกมส์ รวมไปถึงบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ต่างเริ่มมองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่จาก VR กันแล้ว เช่นว่า VR อาจทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการให้บริการค้าปลีกทุกชนิดที่จะเข้ามาสร้างสมดุลระหว่างจุดเด่นของห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมและอีคอมเมิร์ซ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากยังชื่นชอบการได้ไปเดินห้างออฟไลน์อยู่เพราะได้รู้ ได้เห็น ได้ประสบการณ์ร่วมที่ดีกว่า แต่ก็เริ่มเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันแล้วด้วยว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นมอบราคาและโปรโมชั่นที่คุ้มค่ากว่าเสมอนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว เทคโนโลยีที่จะต้องมาคู่กันหรือเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนผ่านประสบการณ์กับ Virtual Reality ที่ดีพอนั้น ย่อมต้องอาศัยบทบาทและศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ด้วยนั่นเอง ซึ่งบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของเรา ก็เริ่มให้ความสำคัญกับบริการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ มาระยะหนึ่งแล้วทั้งสำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยในที่สุดสังคมนี้จะก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัยไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในระยะเวลาอันสั้นนี้อย่างแน่นอน

 

อ่านเพิ่มเติม: Google Trends 2020 เผยข่าว เหตุการณ์ และเทรนด์ต่างๆ ของประเทศไทย ที่ถูกค้นหามากที่สุดของทั้งปี 2020

อ้างอิง: Year in Search 2020 – Insights for Brands (Media & Telecom)