อาจจะสงสัยว่า เฮ้ย บทความนี้มันเกี่ยวอะไรกับแอนดรอยด์เนี่ย ซึ่งจริงๆแล้วจะบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงซะมากกว่า แต่ก็มีหลายๆอย่างจากงานนี้ที่อยากจะเอามาแชร์ให้ผู้อ่านทั่วๆไปได้รู้กันครับ (งานเค้าจัดตั้งแต่เดือนก่อนนู้น พึ่งจะหยิบมาเขียน)

      งาน Chiang Mai Maker Party (ต่อไปขอเรียกย่อๆว่า CMMP) จะเรียกว่าเป็นงาน Meetup สำหรับเหล่า Maker ก็ว่าได้ครับ เกิดมาจากชมรมที่ชื่อว่า Chaing Mai Maker Club ที่เป็นชมรมเกี่ยวกับ Maker อยากจะจัดงานซักงานเพื่อให้เหล่า Maker มาพบปะกัน โชว์ของ แลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งงานในปีนี้ก็เป็นครั้งที่ 2 แล้วนะ

      ซึ่งผมกับพี่ @Gimme ก็ไปที่เชียงใหม่กันเพื่อไปงาน TEDx ChaingMai (ซึ่งพี่ @Gimme ได้เล่าให้ฟังไปแล้วใน TEDx Chiangmai งานดีๆ ที่คนรัก TED ควรไปสักครั้ง) และก็งาน CMMP นี้นี่แหละครับ ซึ่งงาน CMMP ผมไปกันตั้งแต่ปีแรกแล้ว และปีนี้ก็อยากมากันอีก เพราะว่ามีอะไรหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีที่น่าสนใจดี

      สำหรับสถานที่จัดงานก็คือที่ชมรมนั่นเอง ซึ่งอยู่แถวๆคูเมืองของเมืองเชียงใหม่ บริเวณถนนอารักษ์ เดินทางไปได้ไม่ยาก

 

      งานนี้จัดเป็นระยะเวลา 2 วันครับ แต่ว่าผมมากันในวันที่ 2 แค่วันเดียว เนื่องจากวันแรกชนกับงาน TEDxChaingMai พอดิบพอดี แอบเสียดายเล็กน้อย เพราะเห็นว่าวันแรกที่นี่มีการทำเบียร์วุ้นกันด้วยล่ะ (Maker ส่วนใหญ่ก็เหมือนกับหลายๆคนครับ ที่ต้องมีเบียร์เป็นเครื่องดื่มคู่กาย) 

      สำหรับงานในปีนี้รู้สึกว่าคนมาเยอะขึ้นนะ อาจจะเพราะว่างานนี้เริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับใครหลายๆคนจากปีที่แล้วก็ว่าได้

 

      เมื่อลงทะเบียนเข้างานมาเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่จะเห็นเลยก็คือปราสาททรายขนาดใหญ่ครับ ซึ่งจะใช้จัดเป็นสนามแข่งหุ่นยนต์ Survival Racing ซึ่งจะแข่งกันในตอนเย็น (เป็นสนามแข่งที่โคตรลงทุน) และในวันแรกใช้เป็นพื้นที่แข่งหุ่นยนต์ Sumo-Bots Battle

      ข้ามเรื่องการแข่งขันหุ่นยนต์ไปก่อน 

      พื้นที่ส่วนใหญ่ของงานจะจัดที่ด้านนอกครับ เป็นพื้นที่แสดงโชว์ผลงานต่างๆของใครก็ได้ที่อยากจะมาโชว์ ซึ่งปีนี้ก็มากันเยอะพอสมควร ซึ่งมีทั้งเจ้าเก่า หน้าใหม่ เข้ามาโชว์ผลงานปนๆกันไป

      ในปีนี้ 3D Printer เอามาโชว์อยู่ไม่กี่บูธครับ ถึงแม้ว่าในมุมมองของคนทั่วไปอาจจะมองว่า 3D Printer เป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งเข้ามา แต่สำหรับชาว Maker นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เล่นกันมาสองปีกันแล้ว จนตอนนี้มันไม่ค่อยแปลกใหม่แล้ว ใครๆก็ทำกัน (เพราะตัวเทคโนโลยีมัน Open Source)

 

      Drone ก็เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่นิยมกันพักใหญ่ๆแล้วครับ แต่หัวใจสำคัญสำหรับเทคโนโลยี Drone ก็คือ จะเอามาใช้งานยังไงให้เกิดประโยชน์ เพราะประโยชน์ของ Drone ค่อนข้างหลากหลายกว่า 3D Printer เยอะ ซึ่งหนึ่งในบูธที่มาโชว์ภายในงานนี้ก็นำเสนอการใช้ Drone เข้ามาช่วยในการเกษตรเวลาที่พ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องแบกถังเดินพ่นยาเอง (ลดความเสี่ยงกับตัวเอง) และลดปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงให้น้อยลงกว่าเดิมด้วย (ใช้ปริมาณน้อยลงแต่กระจายได้ทั่วถึงกว่า)

 

      Supernatural Dolls เป็นโปรเจคลูกเทพที่กำลังฮิต (ตอนนี้เริ่มเงียบลงละ) ที่เอามาทำให้มันเทพขึ้นไปอีก โดยใช้บอร์ด Raspberry Pi เป็นหัวใจหลักในการทำงาน มีลำโพงและกล้องในตัว และที่น่าสนใจก็คือตัวลูกเทพสามารถทำงานเป็น IoT Gateway คือตัวลูกเทพสามารถสั่งงานอุปกรณ์ IoT ตัวอื่นๆได้ครับ แต่สั่งงานผ่าน WiFi นะ ไม่ใช่โทรจิต

 

      Obsy เป็นระบบ Realtime Monitoring เพื่อใช้ในการเรียนรู้และการศึกษา หรือพูดง่ายๆก็คือมันช่วยให้นักเรียนนักศึกษาสามารถคอยบันทึกข้อมูลบางอย่างได้ครับ เช่น เด็กอยากจะศึกษาการเจริญเติบโตของต้นไม้ซึ่งปกติแล้วจะใช้ระยะเวลานานมากกว่าต้นไม้จะโต (ต่อให้ปลูกถั่วงอกก็เถอะ) ซึ่งถ้าเราใช้ตัวนี้ มันจะสามารถกำหนดได้ว่าจะให้คอยถ่ายรูปหรือเก็บข้อมูลของต้นไม้ที่เราสนใจได้ครับ ซึ่งตัวมันจะแสดงผลเป็นหน้าเว็ปสามารถดูผ่านมือถือหรือคอมก็ได้ครับ (แต่ต้องอยู่ในวง WiFi เดียวกัน)

 

        ผู้อ่านหลายๆคนคงคุ้นเคยกับพวก Smart Plug หรือ Smart Light Bulb อะไรทำนองนี้เนอะ ซึ่งจริงๆพวกนี้ก็เป็นโปรเจคยอดนิยมสำหรับหลายๆคนที่สนใจอยากจะเข้ามาลองศึกษาเกี่ยวกับ IoT หรืออยากลองทำ Smart Device/Home ครับ แต่ทีเนี้ย ถ้าเราพูดถึงหลอดไฟบ้าน มันก็จะมีอะไรหลายๆอย่างที่ควรรู้ ดังนั้นบูธนี้ก็แสดงให้ดูครับว่าปกติแล้วเวลาทำพวก Smart Plug เนี่ยเป็นยังไง (ปกติเวลาทำกันมันจะมาเป็นกล่องสำเร็จแล้ว) ต่อกับไฟบ้านยังไง ต่อผ่านอะไร ใช้อะไรควบคุม และควบคุมยังไง เพื่อให้คนที่สนใจเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ 

 

      อันนี้เป็นเกมเขาวงกตที่ใช้บอร์ด Arduino ในการควบคุมให้ฉากเอียงไปมา (แล้วลูกบอลก็จะกลิ้งไปมาตามที่เอียง) ซึ่งการควบคุมนั้นจะต้องใช้ลูกเบสบอล โดยถือไว้ที่หน้ากล้องเว็ปแคมของ Notebook เมื่อเคลื่อนไปมามันก็จะเอียงเขาวงกตตามนั่นเอง

 

      Smart Farm (ไม่ใช่ชื่อโปรเจคตัวนี้นะ) เป็นระบบปลูกผักที่จะคอยจัดการเรื่องการให้น้ำและปุ๋ย ซึ่งตอนที่เอามาโชว์นั้นยังอยู่ในระหว่างการพัฒนานะ แต่ก็ทำให้เห็นไอเดียได้ดีเลยล่ะ เพราะทุกวันนี้เทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาปลูกผักกินเองก็เริ่มมีกันพอสมควรแล้ว ซึ่งระบบตัวนี้ก็จะช่วยให้ปลูกผักได้เกือบจะครบวงจรแล้ว แถมสามารถส่งข้อมูลมาแสดงบนหน้าเว็ปหรือแอพได้ด้วยล่ะ ลองนึกภาพว่าอยากปลูกผักกินเอง แต่ไม่ต้องรู้ว่ารดน้ำให้ปุ๋ยยังไง เพราะระบบตัวนี้จะช่วยจัดการให้ ส่วนเราก็แค่คอยดูข้อมูลต่างๆของผักที่เราปลูก

 

      และนอกจากการโชว์ผลงานแล้วก็ยังมีการจัดสัมมนาแบบ Freestyle Talk ที่เปิดให้คนที่สนใจในแต่ละหัวข้อสามารถเข้ามาฟังกันได้ โดยวันแรกจะมี 8 หัวข้อ ส่วนวันที่สองจะมี 11 หัวข้อ (ส่วนผมมัวแต่เดินดูบูธต่างๆภายในงาน)

 

      มี Workshop ในช่วงบ่ายที่สอนและอธิบายวิธีการดัดแปลงรถบังคับธรรมดาๆให้สามารถควบคุมด้วยแอพบนมือถือผ่าน WiFi ได้ (งัดแงะแกะเกาให้ดูกันเลยทีเดียว)

 

      มี Workshop สำหรับ Drone ด้วยนะ เป็นทฤษฎีการทำงานของ Drone ว่าจะสร้าง Drone ยังไง ควรรู้อะไรบ้าง (อธิบายยันพวกไอซีที่ใช้ในวงจร Drone กันเลยทีเดียว)

 

      ณัฐ วีระวรรณ์ ประธานชมรม Chiangmai Maker Club พาพวกผมไปชมห้องชมรมและเล่าถึงที่มาของอุปกรณ์หลายๆตัวว่ามีที่มายังไงบ้าง ที่นี่ทำอะไรกันบ้าง ซึ่งเรื่องยาวและเยอะเหลือเกิน ขอข้ามไปละกันเนอะ

 

      พอใกล้ช่วงเย็นก็เริ่มงานแข่งขันหุ่นยนต์ ​Survival Racing กัน เรียกได้ว่าเป็นรายการที่คนให้ความสนใจกันเยอะที่สุดละ (แค่ปราสาททรายก็ยังโคตรเด่นอ่ะ) ซึ่งมีคนเข้ามาร่วมแข่งกันหลากหลายไม่ว่าจะเด็ก นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ซึ่งเงื่อนไขของการแข่งก็คือต้องควบคุมหุ่นยนต์ (ที่มีล้อ) แบบไร้สายจะใช้จอย รีโมต หรือมือถือควบคุมแบบไหนก็ได้หมด ดังนั้นหุ่นที่เอามาใช้แข่งกันจึงค่อนข้างหลากหลายรูปแบบครับ มีทั้งหุ่นยนต์ที่ทำเอง ยันเอารถบังคับมาโมดิฟายเอา 

 

      ทางทีมงานก็มีการใช้น้ำแข็งแห้งเพื่อทำหมอกควันบนสนามด้วยนะ ซึ่งปกติวิ่งบนพื้นทรายก็ลำบากอยู่แล้ว ก็ยังมีอุปสรรคระหว่างทางนะ หุ่นยนต์หลายๆตัวหยุดทำงานหรือเคลื่อนไหวช้าจนไม่ขยับก็มี

 

      จบท้ายด้วยการถ่ายรูปหมู่ในงาน

 

      งานนี้ก็เป็นอีกงาน (ซึ่งงานแบบนี้มีน้อยนะ) ที่เปิดโอกาสให้หลายๆคนที่สนใจเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวงการ Maker ได้เข้ามาสัมผัส มาแลกเปลี่ยนความรู้ มาทำความรู้จักให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็น Maker เท่านั้น เพราะภายในงานก็มีทั้งคนที่เป็น Maker, คนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กๆที่ที่มากับพ่อแม่ หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ที่อยากลองเข้ามาเล่น ซึ่งเยอะกว่าปีที่แล้วอีกครับ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ไม่ยากแล้ว

      และบอกได้เลยว่า ทุกวันนี้ผู้คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆแล้ว ขอแค่มีความสนใจก็พอครับ อยากลองสร้างอะไรซักอย่างดู ข้อมูลในทุกวันนี้มีเยอะมาก อุปกรณ์ที่มีให้ศึกษาก็สะดวกมากๆ ที่ขาดเหลือก็แค่ Know How ในบางอย่างที่ได้จากประสบการณ์จากการเรียนรู้และลองทำครับ 

      ปีหน้าใครสนใจ หรืออยู่แถวเชียงใหม่พอดี ก็อย่าลืมลองแวะไปงานนี้ได้นะ 😀