Play video

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องของ “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ว่ามันมีความรุนแรงสูง และถึงขั้นที่จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ ผมเองก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน แรกๆ ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เลยลองหาข้อมูลดู ก็พบว่ามีรายงานจากหลายๆ งานวิจัยและหลายๆ สถาบันเกี่ยวกับอันตรายของแสงสีฟ้าและจอประสาทตาอยู่เหมือนกัน

แต่ก่อนที่เราจะไปชี้ว่า แสงสีฟ้า หรือ Blue Light นี่มันอันตรายหรือไม่ดีอย่างไรนั้น เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับแสงสีฟ้าก่อน ว่ามันมาจากไหน และมันมีแต่ข้อเสียหรือเปล่า อันนี้บอกได้เลยว่าไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะแสงสีฟ้าเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเองเช่นกัน

แสงถือเป็นคลื่นแม่เหล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งก็มีไล่เรียงกันไปตามสีสัน ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง หรือสายรุ้งที่เราเห็นนั่นก็คือสเปคตรัมของแสง โดยช่วงของแสงสีฟ้านั้นจะอยู่ที่ 400-500 นาโนเมตร และอย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าแสงสีฟ้านั้นมีทั้งแบบดีและไม่ดี ช่วงแสงสีฟ้าที่ดีเราจะเรียกว่า blue-turquoise light ซึ่งอยู่ในช่วง 465-495 นาโนเมตร ส่วนแสงสีฟ้าที่ไม่ดีนั้นเรียกว่า blue-velvet light อยู่ในช่วง 415-455 นาโนเมตร

Blue-Turquoise Light แสงสีฟ้าฝ่ายธรรมะ หรือแสงสีฟ้าช่วงนี้ มีข้อดีคือมันจะทำงานร่วมกับ bio clock หรือนาฬิกาชีวภาพของเรา เช่นบางทีในตอนเช้าพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงยังไม่ทันสว่างแต่ทำไมเราตื่นนอน นั่นเพราะแสงสีฟ้าชนิดนี้ที่มาปลุกให้เราตื่นนอน กระตุ้นให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของเราทำงาน

Blue-Velvet Light แสงสีฟ้าฝ่ายอธรรมซึ่งมีพลังแฝง มาพร้อมกับความรุนแรงในการทะลุทะลวงสูง ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าที่จอประสาทตามีการเสื่อมนั้นมาจากช่วงแสงระยะนี้นี่เอง เพราะเราก็ใช้สายตาในการมองอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลบ “แสงสีฟ้า” ได้พ้นอยู่แล้ว เพราะมันมีมากับทุกๆ แหล่งกำเนิดแสง ไม่ว่าจะดวงอาทิตย์ หลอดไฟต่างๆ ก็มีมาทั้งนั้น

ภาพข้างบนนี้แสดงคำตอบได้อย่างดี หลอดไฟ Cool White LED นั้นปล่อยแสงสีฟ้าในปริมาณที่สูง รวมถึงหลอด Fluorescent ชนิดกลมด้วย

ส่วนหน้าจอมือถือกับแท็บเล็ตที่เราใช้งานกันอยู่ ก็มีการปล่อยแสงสีฟ้าออกมาเช่นกันครับ ในภาพจะเห็นการเปรียบเทียบของมือถือทั้ง 3 รุ่น จะเห็นว่าช่วงคลื่นแสง 400-500 นาโนเมตรนั้นถูกปล่อยออกมาสูงที่สุด 

เปรียบเทียบหน้าจอแสดงผลโดยใช้สมการเชิงเส้นระหว่างความสว่างและการใช้พลังงานแบตเตอรี่

และนี่คือที่มาที่ไปของการผลิตฟิล์มชนิด Blue Light Cut หรือฟิล์มที่ใช้ตัดแสงสีฟ้านั่นเองครับ โดยแต่ละยี่ห้อแต่ละแบรนด์ก็จะมีความสามารถในการตัดแสงไม่เท่ากัน เห็นได้จากคลิปที่เราได้ทำการทดสอบไปในข้างต้น

สรุปสุดท้ายตรงนี้เชื่อว่าเราน่าจะได้รู้จักและได้ความรู้เกี่ยวกับแสงสีฟ้ามากขึ้น หลายคนอาจจะยังลังเลอยู่ว่าตกลง แสงสีฟ้า มันอันตรายจริงแค่ไหน แล้วแสงจากจอมือถือมันแรงพอที่จะทำลายจอประสาทตาเราเลยหรือเปล่า ใช้เวลาแค่ไหน อันนี้ผมเองก็คงไม่สามารถตอบได้ เพราะจะว่าไปแล้วเราก็เพิ่งจะมีอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ๆ ให้เราถือใช้งานได้ทั้งวันกันเมือไม่กี่ปีนี้เอง แต่ก็อยากจะให้เก็บเอาไปคิดนิดนึงว่า

เราไม่เคยมองตรงๆ ไปที่แหล่งกำเนิดแสง คือเราไม่เคยต้องมองไปที่ดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟในบ้านตรงๆ อย่างมากก็แค่ใช้แสงของมันในการมองไปรอบๆ แต่ในปัจจุบัน เราจ้องไปยังหน้าจอมือถือและแท็บเล็ตซึ่งมันเป้นแหล่งกำเนิดแสง หน้าจอมันปล่อยแสงออกมาตรงๆ ซึ่งมันอยู่ใกล้กับดวงตาของเรามากๆ ห่างจากดวงตาเราประมาณแค่ 30 เซนติเมตรเท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าคุณจะติดฟิล์มป้องกันแสงสีฟ้าหรือไม่ติดก็ตามแต่ วิธีที่จะถนอมสายตาของเราง่ายๆ ก็คือการหยุดพักสายตาบ้าง รู้ว่าจ้องหรือเพ่งอะไรนานๆ ก็ให้หลับตาพักสัก 2-3 นาที หรือผ่อนคลายสายตาด้วยการมองไปไกลๆ สลับกับการมองใกล้ อันนี้ก็ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตาได้ครับ