แบตเตอรี่ smartphone พอใช้ไปนานๆ แบตก็จะเริ่มเสื่อม เก็บประจุได้น้อยลง โดยเฉพาะเจ้า Nexus 5 ของผมนี้แบตเล็กแค่ 2300 mAh เท่านั้นเอง ตอนนี้อายุได้ปีกว่าๆ แบตเสื่อมหนักมาก ไม่เกินครึ่งวันก็ต้องเสียบชาร์จกันแล้ว จะเอาไปเปลี่ยนที่ร้านก็เจอราคาแพงหูฉี่ ผมเลยตัดสินใจซื้อแบตมาเปลี่ยนเองซะเลย วันนี้เลยจะมาแชร์ประสบการณ์การเปลี่ยนแบต LG Nexus 5 กันครับ

 

เจ้า Nexus 5 ของผมนั้นอายุราวๆ 1 ปี แต่แบตเสื่อมหนักมาก เพราะผมเสียบชาร์จบ่อย เนื่องจากต้องใช้เครื่องในการทดสอบแอพพลิเคชั่น เสื่อมหนักแค่ไหนหน่ะหรอ ? หนักขนาดที่ว่า ถ้าแบตน้อยกว่า 30% แล้วกดเปิดกล้องถ่ายรูป เครื่องจะดับทันทีเพราะแรงดันไฟไม่พอ T^T

 

เมื่อเริ่มทนอาการแบตเสื่อมไม่ไหว เลยตัดสินใจโทรไปสอบถามร้านที่ซื้อมา ว่าเปลี่ยนแบตราคาเท่าไหร่ (เครื่องผมเครื่องหิ้วครับ และคิดว่าเปลี่ยนกับร้านยังไงก็ถูกกว่าศูนย์) ก็ได้คำตอบจากร้านว่า “1,500 ครับน้อง” ….. หะ!? พันห้า!? แพงไปไหมฟร่ะ ถอยทัพก่อนดีกว่า

 

เย็นวันนั้นก็เลยกลับไปลองหาแบตใน ebay ดู (search ว่า Replacement battery Nexus 5) ก็ไปเจอร้านหนึ่งในจีน ราคา 400 กว่าบาทเอง แถมมีอุปกรณ์แกะเครื่องให้ด้วย แจ่มสิครับ ซื้อเล….. เดี๋ยวว แล้วจะแกะเครื่องยังไง แกะไม่เป็น ผมก็เลยลองหาในเน็ตเพิ่มเติม ก็ไปเจอเว็บ iFixit แกะเครื่องพร้อมบอกวิธีเปลี่ยนแบตให้เราเรียบร้อย หวานสิทีนี้ รอช้าอยู่ไย รีบกดสั่งแบตมาให้ไว 

เกือบครึ่งเดือนผ่านไป แบตที่สั่งจากจีนก็มาถึง ของที่มีมาให้ในราคา 400 บาทคือ

  • ตัวแบตเตอรี่ (BL-T9)
  • ไขควงขนาดเล็ก 5 อัน
  • อุปกรณ์งัดแงะพลาสติก แบบก้าน 2 อัน แบบที่คล้ายๆปิกกีตาร์ 2 อัน
  • จุกสูญญากาศสำหรับใช้จับหน้าจอ 1 อัน (คงไม่ได้ใช้)

ขอบอกไว้ก่อนตรงนี้ว่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้นั้นยังมีอีก เพราะอะไรติดตามต่อไป เกริ่นมาซะยาว มาเริ่มกันแกะเครื่องกันเลยดีกว่า 

สำหรับขั้นตอนการแกะเครื่อง ต้องขอบคุณเว็บ iFixit ที่ได้ทำ Guildline การแกะเครื่องเลี่ยนแบต Nexus 5 ไว้ให้เราได้รู้ขั้นตอนคร่าวๆ

 

ขั้นตอนการเปลี่ยนแบต LG Nexus 5

1. เริ่มโดยการใช้ที่แงะแบบก้านเสียบเข้าไปที่ฝาหลังด้านบน ค่อยๆไล่จากตรงรูที่เสียบหูฟังไปก็ได้ ตรงนี้มันจะแน่นมาก ใจเย็นๆ ค่อยๆงัดให้ตัวล็อคมันหลุดออก

 

2. พอด้านบนหลุดออกแล้วก็ค่อยๆเลื่อนลงมางัดด้านข้างต่อ ตรงนี้ให้สังเกตจุดที่เป็นคลิบล็อกไว้ตามภาพ พยายามงัดให้ถูกจุดแล้วมันจะหลุดง่ายกว่า ถ้างัดผิดจุดระวังฝาหลังจะโก่งนะ

3. พอไล่มาเรื่อยๆ มันจะมีเทปกาวสองหน้าติดไว้ที่ฝาหลังด้านล่าง ใช้ตัวงัดแบบแบนเสียบเข้าไปในร่องแล้วค่อยๆรูด แล้วฝาหลังก็จะหลุดออกมา

4. พอเปิดฝาหลังได้แล้วมาดูกันที่ส่วนบนของเครื่อง เราจะต้องไขน๊อตออกทั้งหมด 6 ตัว แต่สิ่งที่ได้เห็นนั้นกลับทำให้ผมต้องอึ้ง! …..

หัวน๊อตมันดันเป็น 3 แฉก!!! เดี๋ยยยยวววนะ ใน iFixit ก็เป็นหัว 4 แฉกธรรมดาหนิ แล้วทำไมของเราเป็น 3 แฉก ไขควง 5 อันที่ให้มาก็ไม่มีแบบ 3 แฉกด้วย งานเข้าสิทีนี้ ต้องไปหาซื้อชุดไขควงมาใหม่ทั้งชุด เพื่อใช้เพียง 1 หัว (Y2.0 หัว 3 แฉกขนาด 2 มิลลิเมตร)

จากการคาดเดา คิดว่าคงเป็นเพราะว่า Nexus 5 ผมนั้นเป็นเครื่องหิ้วญี่ปุ่น แต่ของ iFixit นั้นเป็นเครื่องอเมริกา ก็เลยใช้หัวน๊อตต่างกัน

หลังจากรอไขควงใหม่มาส่งอีก 2 วัน เราก็มาแกะเครื่องกันต่อ ไขน๊อตทั้ง 6 ตัวออกมา แล้วก็จะสามารถถอดหน้ากากกัน mainboard สีดำออกมาได้แบบนี้ 

5. ค่อยๆ ใช้ที่คีบเล็กๆ ปลดสายสีเหลืองที่พาดอยู่บนแบตเตอรี่ออก ดึงขึ้นมาตรงๆเลยนะครับ

6. ปลดขั่วของแบตเตอรี่ที่เชื่อมกับ mainboard ออก

7. มาถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด ดึงตัวแบตเตอรี่ออกมา แบตจะถูกยึดไว้กับตัวเครื่องด้วยเทปกาวสองหน้าที่แน่นหยั่งกับกาวตราช้าง! ลองใช้ที่งัดพลาสติกงัดดูแบบ iFixit ผลที่ได้คือ หัก!

วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ดึงขั่วที่เพิ่งปลดตรงข้อ 6. ขึ้นให้พอมีช่องว่าง แล้วที่งัดแบบแบนยัดเข้าไป ค่อยๆดันเข้าไปเพื่อให้กาวหลุดออก แล้วค่อยๆใช้แรงมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อดึงมันขึ้นมา

อย่าใช้อะไรที่แหลมคมไปงัดมันเด็ดขาด ถ้าแบตมันเป็นรูขึ้นมาอาจจะเกิดระเบิดได้นะครับ ระวังให้มากๆ

8. ที่เหลือก็ง่ายๆแล้วล่ะ เอาแบตใหม่มาเล็งๆ ให้ขั่วตรงกับช่องบน mainboard พอดี แล้วก็วางลงไปเลย

9. เชื่อมขั่วแบตเข้ากับ mainboard

10. เชื่อมสายสีเหลืองกับ mainboard

11. ลองเปิดเครื่องดูก่อนว่าติดไหม ถ้าไม่ได้ลองถอดสายแล้วเสียบใหม่ หรือลองชาร์จแบตดู แบตอาจจะหมดเกลี้ยงอยู่ก็ได้

12. พอมั่นใจแล้วว่าเครื่องไม่พังก็ประกอบเครื่องกลับ วางหน้ากากกัน mainboard สีดำกลับเข้าไป ไขน๊อต 6 ตัวให้ครบ

13. ปิดฝาหลังกดให้แน่นๆ ไล่ตามขอบให้สนิดๆ เท่านี้ก็เรียบร้อย เราก็จะได้เจ้า Nexus 5 แบตใหม่เอี่ยม อึดทึกทน 2300 mAh เหมือนซื้อใหม่เลย

 

สรุปเสียเงินค่าเปลี่ยนไปเท่าไหร่ ?

สรุปว่าการเปลี่ยนเปลี่ยนแบตเองครั้งนี้ เสียเงินไปทั้งหมด 800 กว่าบาท เป็น ค่าแบต 400 บาท และค่าชุดไขควงที่ต้องซื้อเพิ่ม 400 บาท (ถ้าใครเป็นเครื่องศูนย์ หรือเครื่องอื่นๆที่หัวน๊อตเหมือน iFixit ก็ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) ถูกกว่าไปให้ร้านเปลี่ยนให้หลายเท่าตัว ไขควงที่ซื้อมาก็เก็บไว้ใช้กับงานอื่นๆได้ด้วย

 

เปลี่ยนแบตเอง มีข้อเสียไหม ?

ที่ฝาหลังของ Nexus 5 นั้นเต็มไปด้วยเสาสัญญาณ ทั้ง WiFi, 3G, Bluetooth แล้วก็มี NFC, Wireless Charging pad, และ มอเตอร์สำหรับสั่นเครื่องอยู่ด้วย หลังจากที่เปลี่ยนแบตเองก็พบว่า NFC กับ Wireless Charging ของเจ้า Nexus 5 นั้นใช้ไม่ได้ซะแล้ว น่าจะเป็นเพราะไปงัดผิดที่ตอนเปิดฝาหลัง ทำให้ขั่วของ NFC และ Wireless Charging pad ไม่ติดกับตัวเครื่อง เดี๋ยวคงต้องหาอะไรไปดันมันซะหน่อย

เพิ่มเติม: ตอนนี้ Wireless Charging กับ NFC กลับมาใช้ได้แล้ว ตรงกลางฝาหลังด้านบนจะมีตัวล๊อคอีก 1 ตัว ถ้าไม่กดให้เขาที่มันจะดันขั่ว Wireless Charging กับ NFC ทำให้ใช้ไม่ได้ ต้องกดบริเวณตัว “S” ของคำว่า NEXUS ให้แน่นๆด้วยครับ – credit @zanuker

 

วิธีดูแลรักษาแบตให้อยู่กับเราไปนานๆ

พอได้แบตใหม่กันมาแล้ว ก็อย่าลืมที่จะดูแลมันดีๆ ถ้าใครอยากรู้ว่าใช้มือถือยังไงให้แบตอยู่กับเราไปนานๆ ลองเข้าไปอ่านกันได้ใน Blog [ไขข้อข้องใจ] แบตเตอรี่ชาร์จอย่างไรให้อยู่กับเราไปนานๆ

 

การแกะเครื่องเองมีความเสี่ยง ผู้แกะควรศึกษาข้อมูลก่อนการแกะ

การแกะเครื่องเองนั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เครื่องพังได้ ยิ่งถ้าไม่มีประสบการณ์แล้วก็จะเสี่ยงเป็นพิเศษ จุดประสงค์ที่เขียน blog นี้ขึ้นมาเพราะอยากจะแชร์ประสบการณ์ตรงนี้ให้เพื่อนๆได้รู้กัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ อะไรที่ทำได้เองผมก็ไม่อยากให้เพื่อนๆไปเสียเงินให้กับร้านครับ โก่งราคากันโคตรแพง แบต 400 คิดค่าเปลี่ยน 1500 #บ่นๆๆ เปลี่ยนเองประหยัดเงินไปได้เยอะเลย

หวังว่า blog นี้จะเป็นประโยชน์กันเพื่อนๆชาว Nexus 5 ที่กำลังแบตเสื่อมได้ที่นะครับ อย่าทนแบตเสื่อมครับ มาเปลี่ยนแบตกันเถอะ! ไว้มี Tips อะไรดีๆของ Nexus 5 จะเอามาแชร์กันอีกนะ : )