การล่ารายชื่อใน change.org นั้นไม่สามารถยับยั้งให้มีการตรวจสอบ พ.ร.บ. คอมฯ ได้ เพราะถึงแม้จะได้มาถึง 3 แสนรายชื่อ แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพิจารณามาตราบางข้อที่มีการร้องเรียนให้ทบทวนได้ และ พ.ร.บ. คอมฯ ก็ได้ผ่านการลงคะแนนเสียงผ่านไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะยังเหลือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่จะนำมาใช้คู่กัน และมีความน่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า พ.ร.บ. คอมฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

โดยหลักการและเหตุผลหลักของร่างฉบับนี้ นั้นมีไว้ “เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ อันครอบคลุมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

โดยจะมีการจัดตั้ง คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. (มาตรา 6) โดยจะมีรัฐมนตรีและปลัดจากกระทรวงต่างๆ ผู้บังคับการกองปราบปราม และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 ท่าน ซึ่งนอกจาก กปช. แล้วยังจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

อำนาจของ กปช. นั้นสามารถสั่งการได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสามารถสั่งการให้ป้องกัน แก้ปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ และหากหน่วยงานภาครัฐใดไม่ทำตามก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 31-33 และถ้าภัยคุกคามไซเบอร์นั้นเกี่ยวข้องกับการเงิน ก็สามารถสั่งหน่วยงานเอกชนได้ ตามมาตรา 34

กปช. ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารได้ทันที โดยไม่ต้องขอหมายศาล ในมาตรา 35 นั้นมีการระบุอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารต่างๆ ได้ทันที

มาตรา 35 วรรค 3 ระบุว่า กปช. สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยไม่มีการระบุเงื่อนไขในรายละเอียด เพียงแต่ทิ้งเอาไว้ว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

โดยผลจากการนำเสนอร่างนี้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น คณะกรรมาธิการ สปท. เห็นว่าร่างนี้มีเนื้อหาเป็น “เชิงรับ” น่าจะมีการเพิ่มมาตรการ “เชิงรุก” เพื่อตอบโต้การโจมตีจากต่างประเทศ

แน่นอนว่าในร่าง พ.ร.บ ไซเบอร์ฉบับนี้ จุดที่น่าสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือมาตรา 35 วรรค 3 ที่คณะกรรมาธิการเสนอในการประชุมว่าควรมีการถ่วงดุลโดยให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลก่อน แต่ก็มียกเว้นกรณีเร่งด่วนเอาไว้ว่าสามารถดำเนินการก่อนค่อยขอหมายศาลก็ได้ (หือ?)

 

ทุกท่านสามารถอ่านความเห็นจากการคณะกรรมาธิการได้จาก ระเบียบวาระการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ ๖๐/๒๕๕๙ วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

 

และใครที่สนใจสามารถเข้าไปโหลดอ่านร่างฉบับเต็มได้ที่ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 

source : thainetizen via blognone