เมื่อสองปีที่แล้ว ARM ได้ประกาศให้เราได้รู้จักกับสถาปัตยกรรม Cortex-A15 จนกระทั่งในวันนี้สถาปัตยกรรม Cortex-A15 เริ่มมีผู้ผลิตนำมาใช้จริงๆ กับอุปกรณ์ Android แล้ว ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้ก็คือแท็บแล็ตจาก Google อย่าง Nexus 10 นั่นเอง ถึงแม้ว่ามันจะมาพร้อมกับชิปเซ็ต Exynos 5250 ที่มี CPU ระดับ dual-core แต่คะแนน benchmark ก็แซง CPU ระดับ quad-core ที่ใช้สถาปัตยกรรที่ตำกว่าอย่าง Cortex-A9 – อ้างอิงจาก theandroidsoul

และในสัปดาห์นี้ทาง ARM ได้ประกาศสถาปัตยกรรมใหม่อย่าง Cortex-A50 Series ซึ่งจะมาพร้อมกับสถาปัตยกรรม CPU 64 bit และมาพร้อมกับชุดคำสั่งใหม่อย่าง ARMv8 ซึ่งการันตีว่าจะประหยัดพลังมากขึ้น โดยคาดกันว่าเราจะเริ่มได้เห็นชิปเซ็ตรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้สถาปัตยกรรม Cortex-A50 Series ภายในปี 2014

ครอบครัวของสถาปัตยกรรม Cortex-A50 Series จะประกอบไปด้วย Cortex-A57 และ Cortex-A53 โดยทั้งสองตัวนี้จะมีประสานการทำงานกัน โดยมีชื่อเรียกการทำงานนี้ว่า big.LITTLE ซึ่งทาง ARM กล่าวว่ามันจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น 70%

หลักการทำงานโดยคร่าวๆ ของ big.LITTLE ถ้าหากมีการร้องขอทรัพยากรมากๆ CPU ชุดหลักจะทำงานอย่างเต็มความสามารถ (ในรูปยกตัวอย่างเป็น ARM Cortex-A15) แต่ถ้าหากเครื่องอยู่ในโหมด stand by หรือว่าไม่มีการมีการร้องขอทรัพยากรอะไร CPU หลักก็จะไปเรียก CPU สำรองให้มาทำงานแทน (ในรูปยกตัวอย่างเป็น ARM Cortex-A7) โดยหลักตรงนี้จะเหมือนความสามารถ 4-PLUS-1 ในชิปเซ็ตของ NIVDIA Tegra3

โดย Cortex-A57 จะทำตัวเป็นพี่ใหญ่เวลามีการทำงานหนักๆ หรือมีการเรียกใช้ทรัพยากรมากๆ พี่ใหญ่อย่าง Cortex-A57 จะออกหน้ารับแทนน้องเล็กอย่าง Cortex-A53 แต่ถ้าหากเวลาใดที่ไม่มีการทำงานหนักๆ อย่างเช่นในโหมด stand by หรือรัน apps ที่ไม่มีการเรียกใช้ทรัพยากรที่มาก Cortex-A53 ก็จะออกมาทำงานแทนพี่ใหญ่ โดยน้องเล็กจะมีอัตราการใช้พลังงานที่น้อยกว่า Cortex-A57 มาก ทำให้หน่วยประมวลผลใช้พลังลดลงมากสุด 70%

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Cortex-A57 และ Cortex-A53 สามารถแยกตัวเพื่อทำงานโดยอิสระได้ โดย Cortex-A57 จะออกแบบเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงสุด ส่วน Cortex-A53 จะเน้นในเรื่องการประหยัดพลังงาน

ปิดท้ายด้วยวิดีโอโปรโมท Cortex-A50 Series

Play video

ที่มา Android Central

ปล. แก้ไขเนื้อหาตรง big.LITTLE ตามที่คุณ Sickness แนะนำ