วันเสาร์ ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556, 06.00 น.

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ใช้บริการโทรออกหรือรับสายอยู่ในฝั่งไทย แต่กลับถูกคิดค่าบริการในอัตราสูงแบบบริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือโรมมิ่ง ว่า เกิดจาก
สัญญาณของผู้ให้บริการในไทยอ่อนกว่าเครื่องที่พกติดตัวมา จึงเปลี่ยนอัตโนมัติไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการจากอีกประเทศที่สัญญาณแรงกว่า

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวน่าจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยในส่วนของพื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับลาว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย-ลาว หรือ JTC (Joint Technical Committee on Coordination and Assignment of Frequencies ได้มีการเจรจาและบรรลุข้อตกลงที่จะกำหนดสัญญาณ หรือ Signal Level ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่เชื่อมต่อชายแดน โดยจะมีค่าสูงสุดไม่เกิน -90 dBm สำหรับส่วนของเทคโนโลยี 2G และไม่เกิน -100 dBm สำหรับเทคโนโลยี 3G

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดระยะการส่งสัญญาณด้วยว่า ในเขตพื้นที่พิเศษ หรือ Special Zone ที่เป็นเขตประชากรหนาแน่น ระยะการส่งสัญญาณข้ามชายแดนจะจำกัดไว้ที่ 1 กิโลเมตร ขณะที่เขตพื้นที่ทั่วไป หรือ General Zone จำกัดระยะที่สัญญาณจะข้ามแดนมาไว้ที่ 2 กิโลเมตร

“ค่าระดับสัญญาณสูงสุดตามที่กำหนด ทั้งเทคโนโลยี 2G และ 3G เป็นระดับที่จะทำให้เครื่องลูกข่ายหรือมือถือของผู้ใช้บริการทั่วๆไปไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ดังนั้นปัญหาที่เคยเกิด จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะภายใต้กติกาที่ตกลงร่วมกันนี้หมายความว่า ระดับสัญญาณของผู้ให้บริการมือถือของลาวที่ส่งข้ามมาในดินแดนไทยจะค่อนข้างอ่อนจนเครื่องของผู้ใช้บริการไม่เปลี่ยนไปหาโดยอัตโนมัติ เว้นแต่สัญญาณของเครือข่ายผู้ให้บริการไทยอ่อนกว่า ถ้ายังเกิดกรณีเดิมอีก อาจต้องตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพิ่ม” นายประวิทย์ กล่าว

ส่วนในกรณีมาเลเซียนั้น มีข้อตกลงเดิมอยู่แล้วว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง 2 ประเทศ ต้องปรับลดพื้นที่ให้บริการ (Service Area Coverage) ของสถานีวิทยุกิจการเคลื่อนที่ระบบเซลลูล่าให้อยู่ภายในเขตแดนของประเทศตนเท่านั้น โดยไม่ให้มีสัญญาณข้ามเขตแดน หรือมีให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงน่าจะมีความเสี่ยงลดลงอย่างมากเช่นกัน และแม้ทางหน่วยงานโทรคมนาคมของมาเลเซียมีความพยายามเสนอให้ไทยพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ท่าทีของไทยก็ยังคงยืนยันที่จะจำกัดพื้นที่เช่นเดิม

http://www.naewna.com/business/38147