เพียงแต่ที่หลายคนเป็นห่วง คือแรงเสียดทานและการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หลัง คสช. ออกมาประกาศ ฉบับที่ 94/2557 ที่ระบุ ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคม ทั้ง 1800 และ 900 ออกไปอีก 1 ปี

วันพุธ 30 กรกฎาคม 2557 เวลา 00:00 น.
เข้า.สู่เดือนที่ 2 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ยังแรงดีไม่มีตก ถ้าหากวัดดูจากเสียงเชียร์ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แถมยังพอใจกับการทำงานของ คสช.

คิดดูไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะขนาดพรรคการเมือง ที่มักอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน พอเข้ามาทำงานฝ่ายบริหาร ยิ่งนานวันเข้าคะแนนกลับรูดลงไปเรื่อย ๆ แต่ผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เดือนแรก ระบุว่า คสช. ได้ 8.82 คะแนน พอเดือนที่ 2 ได้ 8.87 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.05 คะแนน

เพียงแต่ที่หลายคนเป็นห่วง คือแรงเสียดทานและการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หลัง คสช. ออกมาประกาศ ฉบับที่ 94/2557 ที่ระบุ ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคม ทั้ง 1800 และ 900 ออกไปอีก 1 ปี

พร้อมขยายระยะเวลา การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะการออกมาโจมตีดังกล่าว อาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือมีผู้ประกอบการบางรายสูญเสียผลประโยชน์

แม้กระทั่งปรากฏข่าวว่า มีผู้ประกอบการบางรายพยายามผลักดัน ให้มีการประมูล 4 จี โดยเร็ว เพราะเป้าหมายที่จะไม่ต้องโอนลูกค้าบนคลื่น 900 กลับไปให้ “บริษัท ทีโอที” หรือไม่ต้องโอนลูกค้าบนคลื่น 1800 และ 850 กลับไปให้ “บริษัท กสท ทั้ง ๆ ที่สัมปทานของบริษัทสื่อสารบางราย จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2558 และปี 2561 ตามลำดับ เท่ากับว่าผู้ประกอบการไม่ต้องการเข้าประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่เดิม แต่ต้องการลูกค้า 2 จี ไว้ในมือ

เลยมีคำถามว่า หากผู้ประกอบธุรกิจสื่อสาร ต้องการประมูล 4 จี จริง ทำไมไม่เข้าประมูลบนคลื่นความถี่ 2600 ที่ถือเป็น คลื่นมีระดับมาตรฐานโลก และที่สำคัญยังเป็นคลื่นที่มีความถี่ ถึง 120 เมกะเฮิรตซ์ ในขณะที่บางบริษัทอยู่ภายใต้สัมปทานของ บริษัททีโอที มีคลื่นเพียง 20 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนบริษัทที่อยู่ภายใต้สัมปทาน ของบริษัท กสท มีคลื่นเพียง 50 เมกะเฮิรตซ์ เท่านั้น

จากข้อเท็จจริง กรณี คสช. ออกมา ขยายระยะเวลาการประมูลคลื่นออกไป 1 ปี หรือถ้าไม่มีการทบทวนคลื่นความถี่ทางด้านโทรคมนาคม ผลประโยชน์ต่าง ๆ จะตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติหมด

เพราะจุดอ่อนที่สุดของการประมูลคลื่น คือ การวัดผลผู้ชนะเอาเงินเป็นตัวตั้ง และอ้างว่าทำเพื่อจะได้เอาเงินประมูลเข้ารัฐ ย่อมทำให้ต่างชาติได้เปรียบ แทนที่จะวัดผลแพ้ชนะว่า บริษัทผู้ประกอบการรายใดที่ชนะการประมูล จะเสนอผลประโยชน์ให้กับประชาชนสูงสุดมากกว่ากัน

ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ ที่ คสช. ต้องรีบดำเนินการ แก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 มาตรา 45 ที่ระบุว่า ’ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น“

โดยเน้นให้การประมูล คำนึงถึงเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้ความสำคัญประชาชนที่ต้องได้รับบริการอย่างเต็มที่ รวมถึงค่าบริการราคาสมเหตุสมผล เชื่อว่า จะทำให้ผลประโยชน์สูงสุดตกกับประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มที่

ที่อ้างว่า การประมูลเพื่อเอาเงินเข้ารัฐนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะเมื่อบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทไทย และเมื่อต้องเสียค่าประมูลที่แพงให้กับรัฐ ผู้ประกอบการจะนำมาคิดเป็น ต้นทุนบวกผลกำไร ที่จะเก็บจากผู้บริโภค หรือคนไทยที่จะเป็นผู้ใช้ ซึ่งในที่สุดเงินทั้งหมดที่รัฐได้จากการประมูล ก็จะคืนกลับเข้าสู่กระเป๋าเงินต่างชาติ พร้อมกำไรก็จะถูกส่งกลับไปประเทศของเขาต่อไป

หรือแม้กระทั่งที่มีข้อเสนอว่า ให้เอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทาน กรณีมีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี วันนี้มีข้อเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องลองไปพิจารณาดู อาจเป็นแนวทางที่ทั้งทางภาครัฐและผู้ประกอบการอยู่รวมกันได้ โดยไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น

1. ให้ภาครัฐตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยมีกรอบเวลา 1 ปี ดูซิว่า เอกชนมีกำไรหรือไม่ หากขาดทุน รัฐสมควรต้องชดเชย 2. ถ้าจะออกใบอนุญาตให้เอกชนดำเนินการ สมควรเปิดทางให้ทำทั้ง 2 จี และ 4 จี ไปในคราวเดียว เพราะต้องลงทุนกับการขยายเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากสุด.

“เขื่อนขันธ์”

| เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/Content/Article/255645/