อภิมหากาพย์ประมูลคลื่น 2.1 GHz (3G) ปิดฉาก…! ภารกิจเพื่อชาติอย่างงดงาม

การจัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า การประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 นั้น นับได้ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เศรษฐกิจของชาติ เป็นอย่างมากและที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเดิมพัน ด้วยผลประโยชน์สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ดังนั้นบทบาทของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ขับเคลื่อนโดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ (บอร์ด กทค.) จึงมีความสำคัญต่อการนำพาประเทศไทยก้าวข้ามเทคโนโลยีจาก ระบบ 2G ไปสู่เทคโนโลยีระบบ 3G

แต่ถึงกระนั้นเส้นทางการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ส่งผลให้นักวิชาการ กลุ่มเครือข่าย NGO สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือแม้แต่บอร์ด กสทช. บางคน ก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง โดยเห็นได้จากการออกมาแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับการดำเนินงานของบอร์ดกทค.อย่างเผ็ดร้อนและต่อเนื่อง จนทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G และถึงแม้ว่า กสทช. โดยบอร์ด กทค. จะโรดแมปไว้อย่างรอบครอบและรัดกุมก็ตาม แต่ก็ไม่วายถูกกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ที่เป็นขาประจำ ออกมาคัดค้านแบบไร้เหตุผล และให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง จนสร้างความสับสนให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก

ภารกิจเพื่อชาติในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน จึงถูกแบกไว้บนบ่าของ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร และ นายฐากร ตันฑสิทธิ์ ในฐานะพ่อบ้าน กสทช. ที่จะต้องสานฝันภารกิจเพื่อชาติในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ให้ประสบความสำเร็จ

ย้อนรอย…! วิบากกรรม 3G ล่มในยุค กทช.
หากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2553 กับบทบาทการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่มุ่งมั่นจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G แบบไม่ลืมหูลืมตา จนกระทั่งถูกบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งวันที่ 23 กันยายน 2553 ศาลปกครองสูงสุด โดย นายพรชัย มนัสศิริพเพ็ญ ตุลาการเจ้าของสำนวนคดีศาลปกครองสูงสุด กรณี 3G ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 คุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินต่อไปตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2553 เป็นต้นไป ถึงแม้ กทช.จะยื่นอุทธรณ์ ว่า การจัดสรรคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นโทรคมนาคมตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ประกาศไว้เดิม และสอดคล้องกับตารางกำหนดความถี่วิทยุแห่งข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU แต่ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้คณะกรรมการร่วม หรือ กสช. มีอำนาจจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกิจการวิทยุโทรคมนาคม

ข้อเท็จจริงปรากฏ ว่า ยังไม่มี กสช. การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการวิทยุโทรคมนาคม จึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุของ กทช. จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การออกประกาศของ กทช.จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว

กรณีที่ 2 การให้กฎดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขให้ภายหลังหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อยังไม่มีการประมูลและยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎต่อไป จึงมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย หากให้มีการประมูลล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล และต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่า และยากกว่าในการเยียวยาแก้ไขภายหลัง โดยอาจเกิดกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลการประมูล ทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนตามมา ดังนั้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากไม่มี 3G จึงเป็นเพียงการคาดการณ์ของกทช.เท่านั้น

กรณีที่ 3 การให้ทุเลาการบังคับตามกฎเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือปัจจุบันการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ได้มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้ง กทช.ได้ยอมรับว่าในระยะแรกการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ทำได้เพียงโครงข่ายขนาดเล็ก ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ และการจะครอบคลุมทั่วประเทศต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี จึงเห็นได้ว่าการที่ยังไม่มีการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด

อีกทั้งการที่ กทช. อ้างว่าหากไม่มีการประมูลจะต้องใช้เวลา 3-4 ปีในการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเพียงการคาดการณ์เองของ กทช. ซึ่ง กสทช.ยังไม่รู้ว่าจะตั้งได้เมื่อไร เมื่อถึงเวลานั้นการประมูล 3G อาจไม่จำเป็น เพราะมีเทคโนโลยีใหม่แล้ว นอกจากนี้ แม้การดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของ กทช. จะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมายด้วย

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนั้นทำให้การประมูลคลื่น 3G ในยุค กทช. ต้องยุติลงไปโดยปริยาย

สู่ยุค กสทช. “ขวากหนาม-ก้อนอิฐ-คดีความ”
จนกระทั่งวันที่ 7 ตุลาคม 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 11 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี , พ.อ.นที ศุกลรัตน์, พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ , พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า , นายสุทธิพล ทวีชัยการ , พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ , รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ , ผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ , น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ , นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ เนื่องจากกลุ่มเครือข่าย NGO ได้ออกมาคัดค้านการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G โดยหมายมั่น ปั้นมือที่จะล้มการจัดประมูลให้ได้ ถึงขั้นนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง รวมทั้งสิ้น 7 คดี เพื่อต้องการใช้ผลแห่งคดี มายับยั้งการจัดประมูลคลื่น 3G ดังนั้น บอร์ด กทค. ทั้ง 4 คน ที่ประกอบไปด้วย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ต้องใช้เวลาเดินสายชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการวุฒิสภา ไม่เว้นแต่ละวัน จนในที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำประมูลคลื่นความถี่ 3G ได้เป็นผลสำเร็จ และนำพาประเทศไทยก้าวข้ามเทคโนโลยีระบบ 2G ไปสู่เทคโนโลยีระบบ 3G อย่างสมบูรณ์แบบ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการก้าวข้ามจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ตามเจตนารมณ์ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

แม้ว่า กสทช. โดยบอร์ด กทค. ทั้ง 4 คน จะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถนำพาประเทศไทยก้าวสู่ความล้ำยุคแห่งเทคโนโลยี 3G แต่สิ่งที่บอร์ด กทค. ทั้ง 4 คน ได้รับในขณะนั้นก็คือ ก้อนอิฐ คดีความ แทนที่จะได้รับรางวัลเป็นช่อดอกไม้แห่งความสำเร็จ ซึ่งก้อนอิฐ และคดีความ ที่ขว้างใส่นั้นมาจากกลุ่มเครือข่ายคนหน้าเดิมๆ ที่เล่นไม่เลิก เสมือนหนึ่งว่าต้องการฉุดรั้งประเทศไทยไม่ให้ก้าวสู่เทคโนโลยี 3G และ 4G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกลุ่มคนดังกล่าวได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อวุฒิสภาให้ตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G และเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากที่ สมาชิกวุฒิสภา (บางคน) ออกอาการออกตัวล้อฟรีให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน โดยกล่าวหาว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G ส่อฮั้วประมูล ทั้งๆที่ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง และที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ กระบวนการสอบสวนของวุฒิสภาเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการด้วยความเร่งรีบและไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ กทค. โดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้สรุปผล และยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 แต่มีหนังสือเชิญ กทค. ไปชี้แจงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ดังนั้นผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จึงมีเพียงแต่ข้อเท็จจริงที่มาจากข้อมูลของฝ่ายผู้ที่ร้องเรียนอันเป็นข้อมูลที่หยิบยกมาบางส่วนไม่ครบถ้วนด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งที่ในประเด็นข้อร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์ และกฎหมายหลายฉบับ ซึ่ง กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและผ่านการพิจารณาไตร่ตรองโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดรอบคอบไม่น้อยกว่า 7-8 เดือน แต่คณะกรรมาธิการฯ กลับใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันทำการ ในการรับเรื่องร้องเรียนและสรุปผล ส่งให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ทำให้ กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการของกฎหมาย

อย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้าง ธรรมาภิบาล (วุฒิสภา) เร่งสรุปผลดังกล่าวจึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาว่ากระทำการที่ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 17 และ ข้อ 19 และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 อีกด้วย แต่กระแสสังคมในขณะนั้นไม่ได้ฉุดคิดเพราะถูกทำให้เชื่อว่าการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ไม่สุจริต และขาดความโปร่งใส

กรอปกับมูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในครั้งนั้น มิใช่เป็นกรณีที่ กสทช. โดย กทค. จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการดำเนินการโดยทุจริตแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ผู้ร้องเข้าใจข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน โดยเข้าใจว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เหมือนกับการประมูลสิ่งของทั่วๆไป ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการออกหลักเกณฑ์และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครองเกี่ยวกับการออกกฎและเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองและไม่ใช่สัญญาที่เกิดจากการตกลงระหว่างคู่สัญญาและไม่นำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกัน ซึ่งต่างจากการประมูลสิ่งของทั่วๆไป ที่อาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การจัดซื้อ หรือจัดจ้างหรือวิธีอื่นใด และจะนำไปสู่การทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ คือวิธีการจัดสรรคลื่นอย่างหนึ่ง ผู้ชนะคือผู้ได้สิทธิในการใช้คลื่นตลอดช่วงเวลาตามใบอนุญาต ในระหว่างเวลานั้น กสทช. ต้องตามไปกำกับดูแลให้ผู้เอาคลื่นความถี่ไปใช้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและกติกา และดูว่ามีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ต่างจากประมูลสิ่งของที่ผู้ชนะได้กรรมสิทธิ์ไปเลย ผู้จัดประมูลโอนกรรมสิทธิ์ในของชิ้นนั้นไปแล้ว และไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด

กทค. 4 คน ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม (ปปช.)
กลุ่มคัดค้านคนหน้าเดิมๆ ยังคงเปิดเวทีต่างๆ โจมตีและคัดค้านการดำเนินงานของ บอร์ด กทค. ทั้ง 4 คนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การออกมาคัดค้าน “ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือที่เรียกกันว่า (ประกาศห้ามซิมดับ) ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 17 ล้านเลขหมาย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาซิมดับ อันเนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz โดยกลุ่มคนหน้าเดิมๆได้ออกมาคัดค้านไม่ให้ กสทช.ออกประกาศฉบับนี้ ทั้งๆที่เป็นการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาซิมดับ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือของ บอร์ด กทค. ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ด้วยการกล่าวอ้างว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล บอร์ด กทค. ส่อฮั้วราคาประมูล 3G จนเป็นเหตุให้ บอร์ด กทค. ทั้ง 4 คน ประกอบด้วย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ที่ ทช 1003.3/16213 และที่ ทช 1003.3/16214 ถึงประธานอนุกรรมการไต่สวน และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและขอโอกาสให้ กรรมการ กทค. ทั้ง 4 คน ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยตัวเองในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

ป.ป.ช. ตีตกทุกข้อกล่าวหา ชี้ประมูล 3G โปร่งใส
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้สรุปผลการประชุม ป.ป.ช.ที่พิจารณากรณีกล่าวหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่า มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G โดยเรื่องนี้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องถอดถอน กทค. มาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา 63 และเป็นกรณีมีผู้กล่าวหาจำนวนหลายราย ส่งเรื่องมาตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. 2. นายสุทธิพล ทวีชัยการ 3. นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ 4. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค.

โดยกล่าวหาว่า 1.ออกประกาศหลัก เกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3G เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริงในการประมูล 2. บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด มีผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล 3.กทค.ไม่มีอำนาจจัดการประมูลคลื่น 3G 4. ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย มีการสมยอมกัน (ฮั้ว) ในการประมูลคลื่น 3G และ 5.กทค. ทั้ง 4 ราย ละเว้นไม่ดำเนินการยกเลิกการประมูลทั้งที่ทราบว่า การประมูลผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อกล่าวหาที่ 1 จากการไต่สวนพบว่า ขณะออกประกาศหลักเกณฑ์ มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าประมูลได้จำนวน 20 ราย การออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการเอื้อให้กับผู้ประกอบการ ทั้ง 3 ราย ที่เข้าประมูลในครั้งนี้ ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด จึงไม่ขาดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต ตามประกาศฯ จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตก

ข้อกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนพบว่า การจัดประมูลคลื่น 3G ของ กทค. เป็นการดำเนินการแทน กสทช. ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ข้อกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนพบว่า การเสนอราคาของผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย เป็นไปโดยถูกต้องตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ไม่ปรากฏพฤติการณ์ หรือพยานหลักฐานว่ามีการสมยอมกันในการเสนอราคา จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วนข้อกล่าวหาที่ 5 จากการไต่สวน พบว่า การประมูลครั้งนี้ ตามประกาศฯ ได้แบ่งคลื่นออกเป็น 9 ชุด มีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด (AIS) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTAC) และบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด (TRUE) นั้น เป็นดำเนินการประมูลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ กสทช. ประกาศกำหนด มิได้นำหลักการประมูลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) มาใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค การประมูลก็มีการแข่งขันเสนอราคากันถึง 7 รอบ ผลการประมูลได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศไทย และได้รับการยอมรับจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติด้านโทรคมนาคม

การประมูลครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยแบบก้าวกระโดด ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก กรณีนี้จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป นอกจากนี้เพื่อเป็นการยืนยันการประมูล 3G ทำให้เกิดผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ กสทช.ได้จัดทำข้อมูลถึงประโยชน์ดังกล่าวประกอบด้วยผลการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และ Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าเพิ่มของธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย จากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้ ผลทางตรง 1.มีเงินเข้ารัฐ 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz นำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้แก่กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศ 2. มีเงิน 3 พันล้านบาทต่อปี เป็นค่าธรรมเนียมในการกำกับดูแล (regulatory fees) ของผู้ประกอบการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น 1.การลงทุนรวมในอุปกรณ์โครงข่าย เช่น core network และสายเคเบิลในช่วง 3-5 ปีแรก ภายหลังการประมูลประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2557 ซึ่งเติบโตปีละ 30% จากช่วงก่อนการประมูล 3G ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 3.มูลค่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2557 ซึ่งเติบโต 26% จากปีก่อนหน้า ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท 4.มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Banking เช่น การโอนเงิน และการชำระค่าบริการต่างๆ ประมาณ 7 แสนล้านบาท 5.มูลค่าตลาดของ Internet Data Center ในปี 2557 ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เมื่อเทียบจากปี 2012 ด้วยดีมานด์จากลูกค้าองค์กรเมื่อการดึงข้อมูลทำได้เร็วขึ้นจาก 3G ประมาณ 2 พันล้านบาท 6.เม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ซึ่งดึงดูดให้เกิดการสร้างแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์บนมือถือในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ประมาณ 1 พันล้านบาท 7.ในปี 2557 กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะมีการใช้สื่อดิจิตอลในการโฆษณามากขึ้น โดยมีมูลค่าประมาณเพิ่มจากปี 2556 ประมาณ 38% หรือ 5.8 พันล้านบาท

นอกจากการเติบโตทางภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไป ดังนั้น การใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่แสดงจากอัตราการเข้าถึงบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากิจการโทรคมนาคมสามารถผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการที่ก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล

เป็นอันว่าอภิมหากาพย์การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz หรือ (3G) ปิดฉากลงอย่างงดงาม บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ตลอดจนความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างแท้จริง….แล้วพบกันใหม่…เมื่อชาติต้องการ 4G

บรรยายใต้ภาพ
รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์
นายฐากร ตันฑสิทธิ์

http://www.ryt9.com/s/tpd/1983922