เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกิจการโทรคมนาคม เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาเรื่อง ประโยชน์ของการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และ 1800MHz ของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมโทรคมนาคมเพื่อวิชาชีพและสังคม (ส.ท.ว.ส.) ร่วมกับ กสทช. ณ โรงแรมเอเซีย กรุงเทพฯ โดยได้แถลงว่า นอกจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเพิ่มโอกาสผู้ด้อยโอกาสและแก่คนพิการด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มการใช้งานประเภทข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ได้เพียงสองปี มีผู้ใช้บริการเครือข่าย 3G/4G บนความถี่ย่าน 2.1 GHz แล้วกว่า 78.2 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้บริการส่วนหนึ่ง ที่เป็นผู้บกพร่องทางร่างกาย ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้พิการใช้งานได้ เช่น ระบบเสียงที่ช่วยผู้พิการทางสายตา ระบบโทรศัพท์ภาพที่ช่วยให้ผู้พิการทางหูสามารถเข้าใจสิ่งที่คนปกติสื่อสารกับผู้อื่นได้ ผู้ที่มีข้อจำกัดในการออกเสียงสามารถสื่สารกับตนอื่นได้ผ่านทาง Face time หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G ในการนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีหากประเทศไทยจะมีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพ ช่วยลดช่องว่างในการใช้โทรศัพท์มือถือทำให้มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งจากเดิมโทรศัพม์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ห่างไกลสำหรับคนบกพร่องทางการได้ยิน และผู้บกพร่องทางการพูด หากมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย จะทำให้ผู้บกพร่องทางร่างกายสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G ได้ทัดเทียมกับคนปกติทั่วไป เพื่อการช่วยเหลือตัวเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz ที่ผ่านมาของประเทศไทยนั้น ส่งผลถึงระดับความพร้อมของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ Network Readiness Index (NRI) ในการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2558 นี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 67 จาก 143 ประเทศทั่วโลก และขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย สิ่งที่เห็นได้ชัดคืดอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยประเมินจากจำนวนผู้ใช้งานบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากร 100 คน ดีขึ้นจากอันดับที่ 132 เมื่อปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 42 ในปี 2558 ขยับสูงขึ้นถึง 90 อันดับ นอกจากนี้ในรายงานดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศประจำปี 2557 (Measure the Information Society Report) ของ ITU ที่พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก โดยสามารถไต่ขึ้นมาถึง 34 อันดับ จากลำดับที่ 105 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 71 ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz การเปิดให้บริการเครือข่าย 3G การแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนการใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของไทยที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด และสามารถตอบสนองได้อย่างทันทีทันใด สามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้คนสามารถทำงานได้ที่ไหนเวลาใดก็ได้ การให้บริการเครือข่ายที่ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้นนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต

กสทช. จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเร่งด่วนในการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการโทรคมนาคม โดยจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz ในช่วงปลายปี 2558 นี้ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สามารถเพิ่มโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ และเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช.

ส่วนในด้านของ คุณชาญวิทย์ มุนิกานนท์ นายกสมาคมบรอดแบนด์เพื่อคนพิการ กล่าวเสริมว่า จากการที่ กสทช. โดย กทค. ทำการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz ครั้งที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่าย 3G ที่มีคุณภาพของประเทศไทย อย่างที่เห็นได้ชัดคือผู้พิการสามารถนำเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ในฐานะนายกสมาคมบรอดแบนด์เพื่อคนพิการ ขอสนับสนุนการทำงานของ กทค. อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ และเพื่อให้ผู้พิการไทยได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไปด้วย

ประธาน กทค. แถลง โทรคมนาคม ช่วยผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำ