‘พ.อ.เศรษฐพงค์ ‘ รองประธาน กสทช.

“พ.อ.เศรษฐพงค์” รองประธาน กสทช. ในฐานะกรรมการสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ดันสุดตัวโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สู่ “Smart Academy” โดยวางแนวทางในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไว้ 4 ด้านหลักๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนนายร้อยตำรวจไว้รับมืออาชญากรไซเบอร์

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมีศาสตราจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นนายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ว่า สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปฏิรูปโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และระบบบริหารงานบุคล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาต้นแบบของตำรวจ นั่นก็คือ นักเรียนนายร้อยตำรวจนั่นเอง โดยพวกเขาจะต้องถูกผลิตออกมาให้เป็นตำรวจที่มีคุณธรรม มีความรู้ที่ทันสมัย และมีความสามารถ เพื่อที่จะออกไปปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสู่ “Smart Academy” ในครั้งนี้ สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้แต่งตั้งให้คณะกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธานกรรมการ และ ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ เป็นรองประธานกรรมการ จึงได้ตั้งทีมวิจัย วิเคราะห์ภัยคุกคามที่มีต่อหน้าที่และความรับผิดชอบของตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องมีขีดความสามารถเพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้วางแนวทางในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไว้ 4 ด้านหลักๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนนายร้อยตำรวจ และคณาจารย์ ได้แก่ 1.ด้าน Proactive Policing เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมาย และกระจัดกระจายเพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งจะนำไปสู่การบ่งบอกและเตือนภัยของการก่ออาชญากรรมล่วงหน้าได้ ทำให้ตำรวจสามารถป้องกันภัยได้ทันเวลา 2.ด้าน Digital Engagement and Digital Contact management การเฝ้าฟังกระแสหรือการเคลื่อนไหวในโลกสังคมออนไลน์ที่จะช่วยให้ทราบถึงสิ่งบอกเหตุที่เกี่ยวกับภัยคุกคาม 3.ด้าน Mobile workforce optimization ระบบสารสนเทศแบบไร้สายที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการปฏิบัติการเคลื่อนที่ รวมทั้งใช้ในการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆ และ 4.ด้าน Digital Investigation เนื่องจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้มีการกระทำที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การสืบสวนยากต่อการสืบหาจับกุมด้วยเจ้าหน้าที่สืบสวนเพียงรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น การเปิดแฟ้มคดีในรูปแบบดิจิทัล จะทำให้พนักงานสอบสวนที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน และมีองค์ความรู้แตกต่างกัน สามารถร่วมมือกันได้ในรูปแบบเรียลไทม์

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศ มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งการนำมาสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีผู้ไม่ประสงค์ดีนำเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความไม่สงบ จึงทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภารกิจของตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่

การขับเคลื่อนสู่ “Smart Academy” ในครั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องต่อความคิดริเริ่มของผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ที่ได้เสนอไว้แก่สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000001619