ไหนๆก็ไหนๆ ประเทศไทยก็ได้สิทธิ์ขายแอพฯบน Google Play Store แล้ว จากข่าว น้ำตาซีม! นักพัฒนาไทยสามารถวางขายแอพบน Play Store ได้แล้ว!! ใช้เวลาไม่นานเลยจริงๆ แค่เพียง 5 ปีเท่านั้นก็ขายได้แล้ว น้ำตาจะไหล #ประชดพอเป็นพิธีเพื่อให้มีอรรถรส

ถึงนักพัฒนาประเทศอื่นจะขายได้จนร่ำรวยไปแล้ว แต่สำหรับเรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อยู่สำหรับชาวไทยเรา ตัวเฮาจึงขอมาเขียนให้นักพัฒนาไทยได้เข้าใจถึงการเป็นชนชั้นขายแอพฯได้นี้ ต้องรู้อะไรและเตรียมตัวอะไรบ้าง


เก็บเงินจากอะไรได้บ้าง

ความจริงก็มีหลายอย่างแล้วแต่ Google จะเปิดให้เราเก็บเงิน แต่สำหรับแอพฯ ก็จะมีอยู่ 3 อย่างหลักๆด้วยกัน ได้แก่

Paid App – สามารถตั้งราคาขายแอพฯ/เกม ให้คนสามารถซื้อโดยตรงจากหน้า Store ก่อนโหลด

In-App Billing – เก็บเงินจากการซื้อของภายในแอพฯ/เกม

Subscription – ระบบตัดเงินทุกเดือนหรือรายปี เหมาะกับการทำระบบสมาชิกรายเดือน เช่น หนังสงหนังสือ (ความจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของ In-App Billing)


[18+] คนจะขายแอพฯบน Google Play Store ได้ ต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น

เนื่องด้วยกฎหมายอะไรหลายๆอย่าง TOS จึงระบุไว้ว่า นักพัฒนาจึงต้องมีอายุอย่างต่ำ 18 ปี ถึงจะสมัคร Merchant Account และรับเงินจากการขายแอพฯบน Google Play Store ได้ (ใส่ 18+ ไว้บนหัวข้อบทความเพราะเห็นเค้าบอกว่าถ้าใส่คนจะเข้ามาอ่านเยอะ นี่เชื่อเค้าเลยนะเนี่ย)


70:30 อัตราส่วนส่วนแบ่ง นักพัฒนา:กูเกิ้ล

คงรู้กันอยู่แล้วว่า Google Play Store ริบเงินเราไป 30% ในทุก Transaction ที่เกิดขึ้นผ่าน Google Play Store ไม่ว่าจะเป็น Paid App, In-App หรือ Subscription ดังนั้น คำนวณเงินดีๆโด้ยยย


กำหนดราคาแตกต่างกันตามแต่ละประเทศได้

การตั้งราคา ถ้าให้ง่ายสุด เราแค่ตั้งราคาเป็น USD แล้วมันก็จะแปลงเป็นค่าเงินตามประเทศต่างๆให้โดยอัตโนมัติ ใกล้เคียงกัน บางประเทศอาจจะมีกำลังซื้อ บางประเทศอาจจะไม่มี ดังนั้นเราสามารถตั้งราคาสูงต่ำตามแต่ละประเทศได้

แต่ทางปฏิบัติแล้ว … เค้าไม่ค่อยทำกันหรอก นอกจากจะใช้ฟีเจอร์นี้ทำโปรโมชั่นเป็นประเทศๆ อย่างที่เราเห็นว่าเค้าลดราคาเฉพาะบางประเทศนั่นเอง

Marketing Guy จงรู้ฟีเจอร์ตรงนี้ไว้ ! ส่วน Engineer ผ่านมันไป


เงินที่ได้จากแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน ถึงจะตั้งราคาเท่ากัน

การซื้อแอพฯ/เกมใน Play Store ก็เหมือนกับการซื้อของทั่วไปปกตินั่นแหละ คือ มีภาษี และภาษีในแต่ละประเทศ หรือแม้แต่ว่าประเทศเดียวกันแต่ต่างรัฐ ก็คิดภาษีไม่เท่ากัน ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าบางประเทศจะได้เงินน้อยกว่าปกติ เพราะราคาที่ลิสต์ใน Store เป็นราคารวมภาษีแล้ว (VAT-Inclusive) แต่จากประสบการณ์ โดยเฉลี่ยก็ไม่ได้ต่างอะไรมากมาย อาจจะ 30 บาท กับ 25 บาท ไรงี้ ไรงี้ อย่าไปแคร์


กฎการคืนเงิน (Refund)

ผู้ใช้มีช่วงเวลา 15 นาทีในการขอคืนเงินในกรณีที่โหลดแอพฯ/เกมแล้วพบว่าไม่น่าพอใจ ดังนั้น จงทำให้มันน่าพอใจ ไม่ก็ให้เค้าตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอายังไงดีใน 15 นาที

ทั้งนี้ทั้งนั้น In-App และ Subscription นั้น Refund แบบอัตโนมัติบ่ได้ แต่สามารถ Refund โดยนักพัฒนาเองได้จากหลังบ้านของ Google Checkout จ๊ะ


Chargeback … เมื่อโดน Dispute จากบัตรเครดิต

บัตรเครดิตกับ Dispute เป็นของคู่กัน ถ้าเกิดผู้ซื้อเกิดไม่พอใจ อาจจะไม่ได้รับของหรืออะไร เค้าก็อาจจะ Dispute ไปที่บัตรเครดิตให้ระงับการจ่ายเงิน

หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็จะมีขั้นตอนต่างๆมากมาย หลักๆคือบัตรเครดิตจะติดต่อไปที่กูเกิ้ลเพื่อขอ Chargeback จากนั้นก็จะมีอีเมลมาให้ตบตีจนจบเรื่อง

ผลคืออาจจะโดนยึดเงินคืนหรือไม่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แล้วแต่เคสไปจ้า

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Chargeback Process


รับเงินจาก Google Play ผ่าน Wire Transfer

ใครเคยโอนเงินไปต่างประเทศเล่นๆ ก็คงจะรู้จักกับคำนี้บ้าง Wire Transfer

มันก็คือการส่งไวน์นั่นเอง

… ไม่ขำ …

ข้ามๆ

ถึงแม้ประเทศไทยจะขายแอพฯได้ แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มที่ต้องโอนเงินเป็นดอลล่าร์เข้าธนาคารแล้วรอแลกเป็นเงินไทย ผ่านกระบวนการ Wire Transfer โดยมียอดขั้นต่ำก่อนจะเบิกเงินเข้าธนาคารได้อยู่ที่ $100 ซึ่งเงินจะถูกโอนในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ใช่ว่ากดปุ๊บได้ปั๊บนะ อย่าใจร้อนๆ

แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะ Wire Transfer ปกติจะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งสูงต่ำอยู่ที่ทำตัว … ไม่ใช่ สูงต่ำอยู่ที่ธนาคารที่ใช้รับเงิน ตอนนี้ยังไม่ได้เช็คว่าที่ไหนเท่าไหร่อะไรยังไงบ้าง แต่ช่วงค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ $0-$50 ดังนั้น อาจจะมีเงินหายไประหว่างทางบ้าง แถมยังมีเวลา Clearing อีก (ไม่รู้กี่วัน เคยได้ยินว่านาน)

ชีวิตก็งี้

อย่างน้อยก็ขายได้แหละน่า บ่นไม่ได้ บ่นไม่ได้

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Wire Transfer ของ Google Play Merchants ไปอ่านได้ที่หน้าเว็บเลยจ้า


แอพฯฟรีไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแอพฯเสียเงินได้

มีคำถามจากทางบ้านว่า เอ … ผมปล่อยแอพฯฟรีไปแล้ว ผมจะเปลี่ยนเป็นแอพฯเสียตังค์ได้มั้ยครับ? คือว่าอยากได้ตังค์บ้างหงะ

ขอตอบว่า ไม่ได้นะจ๊ะ ไม่ได้ หากแอพฯไหนหลงระเริงไปในหนทางแห่งความอิสระ ขอปล่อยตัวปล่อยใจให้ผู้ใช้ได้เอาแอพฯไปขยำขยี้บู้บี้อย่างฟรีๆไม่คิดตังค์แล้ว ก็ต้องให้มันฟรีตลอดไป

หรือแม้กระทั่งแอพฯที่เคยเป็นแอพฯเสียตังค์ ถ้าปล่อยเป็นฟรีแล้ว ก็จะไม่สามารถกลับมาเป็นแอพฯเสียตังค์ได้อีก

แล้วอย่างงี้ทำยังไงอ่ะคับ แย่แล้วๆๆๆๆ

ไม่ยากครับ เพราะถึงแอพฯจะฟรี แต่ก็ยังเก็บเงินแบบ In-App ได้ ก็ล็อคฟีเจอร์ซะ แล้วไปคิดเงินแบบ In-App เอาได้จ้าาา

ตามนั้น!


โลกหมุนไปทาง In-App Purchase แล้ว

ฝากทิ้งท้ายกับเทรนด์โลกและสถิติที่เกิดขึ้นกับการขายแอพฯบน Google Play Store

อย่างที่เห็น … ยอดการซื้อ Paid App บน Google Play Store ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก

เป็นอย่างงี้มานานและคงจะเป็นตลอดไป

แต่มันไม่ใช่ปัญหา !

เพราะเทรนด์ของโลกตอนนี้คือ การแจกแอพฯฟรีแล้วค่อยไปหาเงินในแอพฯอีกทีผ่าน In-App Billing

ทำไมวิธีนี้มันถึงเวอร์คเล่า?

ก็เพราะว่าถ้าทำแอพฯเป็น Paid App โอกาสที่เค้าจะซื้อมีน้อยมากกกกกก อัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 เลยนะ เรียกว่าถ้าขายอาจจะขายได้ 1,000 Copies แต่ถ้าปล่อยฟรี ยอดโหลดอาจจะ 1,000,000 โหลดเลยทีเดียว

ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรมากมาย อารมณ์ล้วนๆ ถ้าของฟรี ใครๆก็ตัดสินใจโหลดง่ายกว่าต้องจ่ายตังค์ … จริงป่ะล่าาา

ดังนั้นวิธีที่มนุษย์นักพัฒนาใช้กันทุกวันนี้ก็คือปล่อยฟรีซะ แล้วค่อยหาช่องทางไปเก็บตังค์ในแอพฯอีกที ยกตัวอย่างเช่น

  • Trial – ให้ใช้เวลาจำกัด แล้วพอหมดช่วงเวลา อยากใช้ต่อก็เก็บเงินซะ
  • Freemium – ขายฟังก์ชั่น ถ้าอยาก Unlock ฟังก์ชั่นเพิ่มเติม ก็จ่ายเงินมาซะดีๆ
  • Item – ขายไอเทมที่เอาไปใช้ได้เพิ่มเติม เช่น Sticker ในแอพฯแต่งภาพหรือแอพฯแชท
  • Consumable Item – ขายไอเทมเพื่อเอาไปใช้ครั้งเดียว เช่น ซื้อเหรียญในเกม

ร่ำรวยกันไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาหลายรายแล้ว

ตามนี้จ๊ะ ไม่ค่อยเชียร์ให้ทำ Paid App เท่าไหร่ละตอนนี้ ไปเก็บเงิน In-App ดีกั่ว โอกาสได้เงินเยอะกว่าเป็นร้อยเท่าเลยเยยเยยเยยเยย =D

โฟกัสไปที่ตลาดโลก อย่าโฟกัสแค่ไทย

มีหลายเหตุผลที่จะ Convince นักพัฒนาทั้งหลาย ให้ทำแอพฯเพื่อคนทั่วโลก ไม่ใช่แค่คนไทย ถ้าคิดจะหาเงินผ่าน Google Play Store โดยตรง

Google Play Store ทำให้โลกเล็กลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เค้าไม่แคร์หรอกว่าแอพฯนั้นใครทำ ของประเทศอะไร ขอแค่คุณภาพและฟังก์ชั่นตอบโจทย์เค้า เค้าก็จ่ายเงินละ

จากตลาดเล็กๆที่ชื่อว่าไทยแลนด์ ก็กลายเป็นตลาดใหญ่ๆที่เรียกว่า “โลก”

อีกเหตุผลนึงที่น่าซึ้งใจ ถึงจะไม่มีตัวเลขมายืนยัน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยไม่ค่อยใช้บัตรเครดิตซื้อแอพฯเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทั้งเรื่องกำลังซื้อและเรื่อง Piracy มีข้อยกเว้นอยู่แอพฯนึงคือ LINE ที่คนไทยซื้อกันกระหน่ำ แต่นั่นแหละ ถึงเรียกว่าข้อยกเว้น

ดังนั้นโอกาสที่คุณจะเฟลนั้นสูงมาก ถ้าจะทำขายแค่คนไทย เพราะกำลังซื้อในไทยไม่เยอะครับ ทำลุยตลาดโลกโลด !

ยังไงก็ตาม ยินดีกับนักพัฒนาในไทยด้วยที่ได้รับโอกาสนี้ เป็นเรื่องดีๆอันดับต้นๆในปีนี้เลยก็ว่าได้ ขอบคุณ Google Thailand ที่ช่วยผลักดันจนมีวันนี้ครับ

คอยติดตามความสำเร็จจากนักพัฒนาในไทยทุกท่านนะคร้าบ มีอะไรก็ส่งมาได้ เดี๋ยวช่วยโปรโมท !