OPPO Joy 3 สมาร์ทโฟน 2 ซิมรุ่นเล็กของ OPPO น้องใหม่จากซีรีย์ Joy ซึ่งมีจุดเปลี่ยนอยู่ที่ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น แต่ตัวเครื่องเพรียวลง จับกระชับมือ และมีการปรับสเปคให้แรงขึ้นอีกนิด ในราคาที่ยังคงความย่อมเยา 3,990 บาท

สเปค OPPO Joy 3

  • Android 4.4 (Kitkat), Color OS 2.0 UI

  • IPS TFT (16M colors) ขนาด 4.5 นิ้ว, ความละเอียด FWVGA (480 x 854) ~218 ppi

  • หน่วยประมวลผล MediaTek MT6582 Quad-core 1.3 GHz Cortex-A7

  • GPU : Mali-400MP2

  • RAM 1GB

  • หน่วยความจำภายใน 4GB

  • รองรับ microSD สูงสุด 32 GB

  • กล้องหลัง 5 ล้านพิกเซล + LED Flash , กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล

  • แบตเตอรี่ 2000 mAh

  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม

  • รองรับ 2G/3G (3G รองรับ 850/900/2100MHz)

  • การเชื่อต่อ : Wi-Fi 802.11 b/g/n, Hotspot, Bluetooth v4.0, A2DP, EDR, microUSB v2.0

  • ขนาด 132.8 x 66.6 x 8.95 mm

  • หนัก 135 g

  • ราคาเปิดตัว 3,990 บาท

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมอย่างแรกเลยก็คือ CPU เปลี่ยนจาก Dual-core เป็น Quad-core และเพิ่มฟีเจอร์ Gesture ที่สามารถสั่งงานด้วยท่าทางได้ทั้งขณะหน้าจอปิด-เปิด (Sreen-off Geture, Sreen-on Geture) และ Smart Call อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนหน้าตา UI ให้มีลูกเล่นมากขึ้นด้วย ColorOS 2.0

 

วัสดุและดีไซน์

  • OPPO Joy 3 มี 2 สี คือ สีเทาด้าน และสีขาวมุก วัสดุตัวเครื่องส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและกระจก ด้านหลังเป็นพลาสติกยืดหยุ่นสูง เนื้อสัมผัสมันแว๊บ จับแล้วมันๆเหนียวๆ ไม่ค่อยลื่นเท่าไหร่

  • ขนาดของตัวเครื่องไม่หนามาก รูปร่างเพรียวทำให้จับแล้วรู้สึกถนัดมือ และมีน้ำหนักพอสมควร แต่ฝาหลังแอบติดรอยนิ้วมือง่ายไปหน่อย จับแล้วเป็นปื้นๆเต็มไปหมด (ตัวที่ลองเป็นสีขาว สีเทาด้านไม่รู้เป็นยังไง)

ปุ่มเพิ่ม -ลดเสียง

ปุ่มปลดล๊อค

  • ปุ่มกดเพิ่ม-ลดเสียงและล๊อคหน้าจอทำจากพลาสติกเคลือบสีเงิน

ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.

USB และ mic 1 ช่อง

ปุ่ม Menu, ปุุ่ม Home, ปุ่ม Back

  • ดีไซน์ก็ยังคงสไตล์ OPPO รุ่นอื่นๆ คือ เน้นความเรียบง่าย มีพัฒนาการจากซีรีย์ Joy รุ่นก่อนตรงที่ตัวเครื่องเพรียวขึ้นและเป็นทรงสีเหลี่ยมมากขึ้น รวมถึงขนาดหน้าจอและตัวเครื่องที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

 

เมื่อชำแหละฝาหลังออกมาหน้าตาก็จะประมาณนี้ มีช่องใส่ซิม 2 ช่อง + ช่องใส่ microSDรองรับสูงสุด 32GB + ฺBattery 2000 mAh

 

หน้าจอ

  • OPPO Joy 3 มาพร้อมกับหน้าจอ IPS TFT (16M colors) ขนาด 4.5 นิ้ว ความละเอียด FWVGA (480 x 854) ~218 ppi โดยรวมแล้วภาพที่ได้ก็คมชัด สีก็สดใสใช้ได้ตามราคา

  • เจอปัญหาเวลาออกแดดแล้วจอข้างหน้าสะท้อน เพราะเป็นกระจกติดทับอีกทีหนึ่ง หากส่องข้างๆ จะเห็นว่าจอดูลึกลงไปจากตัวกระจกนิดหน่อย

  • ส่วนเรื่อง Touch Screen หลังจากลองเทส muti-touch ถ้าเปิด Gesture สำหรับแคปหน้าจอที่ใช้ 3 นิ้ว จะรองรับได้แค่ 3 จุด แต่ถ้าปิดจะสามารถรองรับได้ 5 จุด โดยรวมแล้วความลื่นไหลเวลาทัชหน้าจอก็ใช้ได้ การตอบรับสัมผัสกับนิ้วในระบบ Gesture แอบมีหน่วงบ้างเล็กน้อย

 

ลำโพง

ลำโพงของเจ้า OPPO Joy 3 มีสองส่วนคือด้านหน้าที่เป็น earpiece ซึ่งเสียงตอนรับโทรศัพท์ก็ดังฟังชัดใช้ได้  และอีกส่วนอยู่ด้านหลังก็เสียงใสและดังกังวาน ..แต่อ้าวแล้วเสียงเบสหายไปไหนล่ะ ? หากใครชอบฟังเพลงแนวที่เน้นเสียงเบสเยอะๆ ลำโพงเจ้าเครื่องนี้คงไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเสียงที่ออกมาเป็นแนว mid-tone ส่วนเบสแทบจะกลืนหายไปกับเสียงคนร้องเลย

ลำโพงด้านหลังตัวเครื่อง

 

Android 4.4 (Kitkat) + ColorOS 2.0

OPPO Joy 3 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 4.4 (Kitkat) และใช้ UI Custom ของทาง OPPO ได้แก่ ColorOS 2.0 มีฟีเจอร์เด่นๆอย่าง Live Weather, Effect ตอนเลื่อนหน้าจอ, Gesture ต่างๆ

   

หน้าตาของ ColorOs 2.0 UI

 

ประสิทธิภาพการใช้งาน

  

ผลการทดสอบจาก Antutu และ Geekbench3

  

ผลการทดสอบ 3DMark

CPU มีการเปลี่ยนมาใช้ Quad-core1.3 GHz Cortex-A7 จากการใช้ App ทดสอบ Benchmark ทั้ง Antutu และ Geekbench3 ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างจะน้อย แต่เพียงแค่ตัวเลขก็คงไม่สามารถวัดได้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อลองใช้งานจริงๆ ก็สามารถเล่นเกมได้ แต่ไม่แนะนำสำหรับเกมที่เป็นกราฟิก 3D เอฟเฟคเยอะๆ อาจจะไม่ค่อยไหว (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเล่นเกมด้านล่าง) ช่วงสลับแอปถ้าเปิดเยอะๆ ก็มีหน่วงๆ บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นค้างจนทำอะไรไม่ได้เลย

 

Storage + RAM

สำหรับคนที่ใช้งานทั่วๆไป เช่น ติดตามโซเชียลมีเดียพวก Facebook, Line, Youtube, Twitter ก็พอไหวอยู่ แต่คงต้องซื้อเมมเพิ่มเพราะ 4GB ที่ได้มานั้นไม่พอแน่ๆ เพราะแค่ OS ก็ปาเข้าไป 2GB เหลือที่ใช้งานได้แค่ 1.39GB

จากที่ลองโหลดแอพทั่วไปตอนยังไม่ใส่ SDcard แค่ Facebook, Line, Messenger ก็กินพื้นที่เกือบจะเต็มแล้ว อีกทั้งตรงนี้อาจจะถือว่าเป็นจุดด้อยเลยก็ว่าสำหรับเรื่องของหน่วยความจำภายในเครื่อง เพราะถึงแม้จะย้ายข้อมูลลง microSD Card ได้ แต่ก็มีบางแอพที่ไม่สามารถย้ายได้หมดทำให้ก็ยังต้องศัยพื้นที่ภายในเครื่องอยู่ดี

RAM 1GB ถามว่าพอไหม? สำหรับรุ่นนี้ก็คงต้องบอกว่าพอ เพราะเล่นอะไรหนักๆ ไม่ได้เยอะมากอยู่แล้วด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ความจุในเครื่อง จากการที่ลองเปิด App ไว้ประมาณ 10 อันสลับๆกัน ก็มีกระตุกบ้าง

 

การใช้งานทั่วไป

มาลองดูฟีเจอร์ที่มาพร้อมกับ OPPO Joy 3 กันดีกว่าว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

Gesture การใช้งานก็เหมือนอย่างที่เคยเห็นในโฆษณาว่า OPPO มีฟีเจอร์ที่สามารถอ่านการเคลื่อนไหวด้วยท่าทางได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ Sreen-off Geture หรือ การสั่งการด้วยท่าทางโดยการวาดนิ้วมือลงบนหน้าจอเพื่อเปิดทางลัดในขณะหน้าจอเปิด เช่น วาดวงกลมก็จะเปิด App กล้อง หรือ เคาะนิ้วสองครั้งเพื่อเปิดหน้าจอ และ Screen-on Gesrue หรือการสั่งการด้วยท่าทางโดยการวาดนิ้วมือลงบนหน้าจอเพื่อเปิดทางลัดในขณะหน้าจอเปิด เช่น เคาะนิ้วสองครั้งที่ปุ่ม Home หน้าจอก็จะดับ หรือใช้สามนิ้วสไลด์ที่หน้าจอ คือการแคปหน้าจอนั่นเอง

Smat Call ฟังก์ชันการโทร-เข้าออก เพียงแค่เปิดบันทึกการโทร ยกขึ้นมาใกล้ๆใบหูก็สามารถโทรหาเบอร์โทรออกล่าสุดได้เลย หรือเมื่อมีสายเข้าก็เพียงยกโทรศัพท์ขึ้นมาใกล้หูไม่ต้องกดรับก็สามารถรับสายได้ หากไม่สะดวกรับสายเพียงคว่ำจอลงเสียงเรียกเข้าก็จะดับทันที ถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ค่อนข้างโอเคใช้งานได้จริงๆ

วิธีการเปลี่ยนภาษาคือลากตามรอยสีเขียวๆแบบนี้เลย

Keyboard OPPO Joy 3 ใช้แป้นพิมพ์ Swype ของ OPPO เอง ซึ่งตอนใช้งานตอนแรกก็แอบงงนิดหน่อย (ส่วนตัวไม่ค่อยชอบ Design ของแป้นพิมพ์แบบนี้เลย)

 

Video ความละเอียดหน้าจอ FWVGA (854×480) ก็จริง แต่สามารถเลือกความคมชัดของ Youtube ได้สูงสุดแค่ 360p เท่านั้น  

 

การเล่นเกม OPPO Joy 3 สามารถเล่นเกมที่กินพื้นที่ไม่มากอย่างพวก เกมกราฟิก 2D ทั่วๆไป เช่น Candy Crush, Plant Vs Zombie รวมถึง 3D เล็กๆได้  ได้อย่างสบายๆ จากการทดลองเล่นเกม Gaurdian Hunter เกม RPG ภาพ 3 มิติ ความรู้สึกตอนโหลดเกมมีกระตุกนิดหน่อย แต่ตอนเล่นก็ลื่นไหลใช้ได้ หากเป็นเกมที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่เยอะ กราฟิก 3D จัดเต็มกว่านี้ก็ดูท่าไม่น่าจะไหวอย่างแน่นอน

Battery หากใช้งานไม่หนักมาก เช่น ติดตามโซเชียล ฟังเพลง ถ่ายรูปบ้าง อะไรแบบนี้ก็อยู่ได้เต็มวันสบายๆ แต่หากเล่นเกม ดูวิดีโอหนักๆ แบตก็ลดลงเร็วอยู่พอสมควรเหมือนกันอาจจะอยู่ไม่ถึงวัน

 

กล้อง

การใช้งานทั่วๆ ไปถือว่าค่อนข้างโอเคสำหรับมือถือราคาเบาๆ แบบนี้ แต่ก็อาจจะสู้บางค่ายไม่ได้ ลองใช้ Gesture เปิดกล้อง หรือเปิดโดยตรงจาก App เลย ก็ไม่รู้สึกว่าหน่วงเท่าไหร่ จุดเด่นของกล้องส่วนใหญ่จะเน้นลูกเล่นที่ให้มาค่อนข้างเยอะ ทั้งโหมดภาพต่อเนื่อง(Gif), Double Exposure, Panorama, HDR, Voice Capture, แชะภาพพร้อมเสียง และฟิลเตอร์ใน Beauty Mode ที่มีให้เลือกหลากหลาย

ส่วนเรื่องคุณภาพ ความชัด และความละเอียดก็อาจจะหวังอะไรไม่ได้เยอะนะคะ Fixed Focus ทำให้ภาพออกจะไหวๆ เบลอๆ ไปบ้าง ._.^ แต่ก็สามารถถ่ายภาพเซลฟี่และภาพบุคคลออกมานิ้งใช้ได้อยู่ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นมาลองดูภาพตัวอย่างการถ่ายภาพในโหมดต่างๆ กันดีกว่า ~

 

กล้องหน้า

ฟิลเตอร์แบบต่างๆ

 กล้องหลัง

      

 

 

  

จุดเด่น

  • ฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย และมีฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่าง Gesture โหมดถุงมือ และ Smart Call

  • ทัชสกรีนไหลลื่นดี ไม่หน่วง

  • Battery ค่อนข้างลดช้า หากไม่ได้เล่นเกมหรือดูวิดีโอหนักๆ

จุดด้อย

  • หน่วยความจำภายในเครื่องไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

  • เวลาออกแดดจอสะท้อน

  • มีปัญหากับการดาวโหลดไฟล์อย่างต่อเนื่อง แม้จะอัพเดตระบบแล้วก็ยังติด BUG อยู่

สรุป

หลังจากที่ได้ลองใช้ชีวิตร่วมกับเจ้า OPPO Joy 3 มาสักระยะก็ต้องบอกเลยว่าสำหรับสมาร์ทโฟนราคา 3,990 นี่ถือว่าโอเค แม้จะติดปัญหาในเรื่องความจุภายในเครื่องบ้าง หรือมีปัญหาค้างเวลาดาวโหลด App ใน Play store, Update แอป, Youtube บ้างก็ตาม อาจจะไม่แนะนำสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมหรือมีไลฟ์สไตล์ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนค่อนข้างหนัก แต่ถ้าคนที่งบไม่มาก ไม่ค่อยได้ใช้งานอะไรเยอะเน้นโซเชียล ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับนึง 😀