สวัสดีครับเพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่าน หลังจากคราวที่แล้วผมได้เขียนบทความ “เจาะเบื้องลึก Google Pixel” ไปแล้วได้รับความสนใจมากพอสมควร รอบนี้มาเจาะกันต่อในมุมมองผู้นำสูงสุดของ Android คนปัจจุบันอย่าง Hiroshi Lockheimer ว่า คิดเห็นอย่างไรกับการมาของ Google Pixel และ ทีม Android ต้องวางตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง Google และพันธมิตรรายอื่นๆ อย่างเช่น Samsung หรือ LG พร้อมแถมอีกนิดกับสถานการณ์ปัจจุบันของ Google Play ในประเทศจีน เรามาดูรายละเอียดกันครับ

บทความนี้เรียบเรียงจากบทความของ Ars Technica ที่ได้สัมภาษณ์ Hiroshi Lockeimer ในช่วงหลังงานเปิดตัว Google Pixel ซึ่งในงานนั้นก็เหมือนเป็นงานเปิดตัวทีม Hardware ของ Google เช่นกัน ตอนนี้จึงชัดเจนแล้วว่า Google ได้ทำตัวเป็นบริษัท OEM หรือผู้ผลิตมือถือซะเอง ดังนั้นความสงสัยจึงไปตกอยู่กับทีม Android ว่าในเมื่อ Google ทำเองได้ทั้ง Hardware และ Software แล้วแบบนี้ พวกพันธมิตรที่เป็น OEM ของ Android อย่าง Samsung, Huawei, LG หรือ Xiaomi จะคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากที่ Android สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากมายในปัจจุบันก็เป็นเพราะ OEM เหล่านี้แหละ

 

Hiroshi Lockheimer ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานอาวุโส (Senior Vice President) ใน Google โดยรับหน้าที่ดูแลแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์หลักของ Google ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น Android, Chrome OS และ Google Play คือถ้า Rick Osterloh เป็นผู้นำทีม Hardware แล้ว Hiroshi ก็คือผู้นำทีม Software นั่นเอง ดังนั้นเค้าจึงน่าจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องของ Android ได้ทั้งหมด

 

ว่าด้วยเรื่องของ Firewall

คำว่า “Firewall” เป็นคำที่อุปมาขึ้นมาเปรียบเสมือนว่าเป็นกำแพงกั้นระหว่างทีม Hardware กับทีม Software เพื่อให้เข้าใจว่าทำงานแยกจากกันเป็นเอกเทศ เหมือนอยู่คนละบริษัทนั่นเอง โดนก่อนหน้านี้ที่ Google ซื้อบริษัท Motorola เข้ามาก็มีการใช้คอนเซ็ปต์ Firewall นี้ในการแบ่งแยกการทำงานให้ชัดเจน ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆให้ Motorola

 

ตกลงตอนนี้แบ่งหน้าที่กันยังไงนะครับ? คุณดูเฉพาะเรื่อง Software อย่างเดียวใช่มั้ย?

พวกเรามีการคุยกันก่อนหน้านี้สักพักแล้วแหละว่า ปีนี้ Google จะกลายเป็น OEM แล้วนะ ซึ่งนั่นคือทีมของ Rick ส่วนทีมของผมจะรับผิดชอบเรื่องแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย Android, Chrome OS และ Google Play หน้าที่หลักคือการทำงานร่วมกับบริษัทพันธมิตรหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Samsung, LG หรือทีมของ Rick เองก็ถือว่าเป็นพันธมิตรเหมือนกัน เราแยกหน้าที่กันแบบนั้น

 

แบบนี้ก็แปลว่าพวก OEM รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น? คุณพอรู้มั้ยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อ Google โดดมาทำมือถือของตัวเอง?

พวกเขาเข้าใจนะ ก็ตั้งแต่มือถือตัวแรกออกมาเมื่อปี 2008 แล้ว บริษัท OEM ทุกรายต่างรู้ว่าจะมีคู่แข่ง OEM เจ้าอื่นอยู่เช่นกัน ผมทำงานใกล้ชิดกับ Samsung มาก แต่พวกเขาก็รู้ว่าผมก็ทำงานกับ LG ด้วย และ LG เองก็รู้ว่าผมทำงานกับ Samsung ด้วย รายชื่อ OEM ที่ผมทำงานด้วยนั้นยาวเป็นหางว่าวเลยล่ะ และวันนี้เราก็เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งราย นี่คือสิ่งที่ผมคิดและ OEM เจ้าอื่นก็คิดแบบเดียวกัน แต่ถ้าจะให้ตอบคำถามคุณตรงๆ ผมก็ได้คุยกับบริษัทพันธมิตรของเราส่วนหนึ่งเพื่ออัพเดตเรื่องนี้แล้วล่ะ พวกเขาก็แบบว่า “OK ทำงานต่อไปตามปกติ (business as usual)” ทุกๆคนจะพุ่งเป้าหมายไปที่เรื่องการแข่งขันเท่านั้น นี่แหละ “วิถีของ Android (The Android Way)”

 

ตอนนี้ Motorola Firewall กลับมาแล้ว? คุณจะเปรียบเทียบสถาณการณ์ของ Pixel กับ Microsoft Surface ยังไง?

ก็เห็นได้ชัดนะว่ามันต่างกัน แต่เราก็มี firewall ขึ้นมากั้นระหว่างทีม Hardware กับทีมของผม เหมือนกับที่เราทำกับเจ้าอื่นนั่นแหละ ลองเปรียบเทียบอย่างนี้จะเข้าใจมากขึ้น Samsung แชร์ข้อมูลลับสุดยอดเกี่ยวกับแผนงานของบริษัทให้กับเรา LG ก็แชร์ข้อมูลลับสุดยอดเกี่ยวกับแผนงานของบริษัทให้กับเรา เวลาผ่านมา 8 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

ปรัชญาส่วนหนึ่งของ Android คือ มันเป็น open source เหตุผลที่มันเป็น open source ก็เพราะเราคิดว่าผู้ผลิตน่าจะต้องการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ Android เติบโตได้อย่างทุกวันนี้ ตอนนี้เรามี OEM ถึง 400 กว่ารายทั่วโลกที่ทำอุปกรณ์ของตัวเองออกมาจำหน่าย การที่ Google เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำมือถืออย่างเช่น Pixel นั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ดีทั้งต่อ Google เองและแฟนๆของ Google ด้วย แต่มันก็ไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงอะไรในสิ่งที่เป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น Samsung ก็ยังคงสามารถสร้างนวัตกรรมบนมือถือตัวเองต่อไปได้ไม่มีปัญหา มันก็แค่สิ่งใหม่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในระบบนิเวศที่เจริญรุ่งเรืองแล้วเท่านั้นเอง

 

การพัฒนา Android ในวันที่ไม่มี Nexus

Google นั้นออกมายืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า โครงการ Nexus ยุติลงเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือเราจะไม่ได้เห็นอุปกรณ์ใหม่ๆออกมาในชื่อของ Nexus อีกแล้ว ทีนี้แต่เดิมที่หลายคนรู้กันคือ อุปกรณ์ Nexus นั้นจุดประสงค์หลักคือใช้เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มในการพัฒนาแอปสำหรับ Android ถึงแม้ยุคหลังมาจะปรับตัวเองให้เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น แต่นักพัฒนาก็ยังคงใช้ Nexus เป็นอุปกรณ์อ้างอิงในการทดสอบแอปอยู่เสมอ แม้แต่ในทีมพัฒนา Android ของ Google เอง ก็ต้องทดสอบ Android เวอร์ชันใหม่กับ Nexus ก่อน ทีนี้พอไม่มี Nexus แล้วการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ของ Android จะเป็นอย่างไรต่อไปกันล่ะ

 

ตอนสมัยที่ทีม Android กับ Motorola อยู่ใต้ร่มเงา Google ด้วยกัน พวกเขาทำงานแยกจากกันเป็นเอกเทศไม่เกียวกัน แต่ทีม Android ก็ยังมี Hardware ที่เป็น Nexus มาใช้ในงานพัฒนาอยู่ตลอด แต่ตอนนี้ Nexus ไม่มีแล้ว ทีม Hardware กับทีม Software ของ Google ก็แยกจากกันชัดเจน แบบนี้หมายความว่า Google สูญเสียแนวทางการพัฒนาแบบเดิมที่ใช้มาหลายปีไปแล้วหรือเปล่า?

พวกเราก็จะใช้ Pixel นั่นแหละ แล้วก็ใช้ Nexus รุ่นเก่าด้วย นับจากนี้เป็นต้นไป เราจะเข้าไปร่วมกับบริษัทพันธมิตรในระหว่างที่พวกเขาพัฒนา Hardware ของเขาเลย เพื่อให้แน่ใจว่า Software ของเราทำงานบนนั้นได้เป็นอย่างดี พวกเราได้ปล่อย early access ของ OS เวอร์ชันใหม่ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เห็นชัดๆก็ Android 7.0 นี่แหละ ผมว่าเราปล่อยตั้งแต่เดือนมีนาคมเลยนะ เห็นได้ชัดเราได้ทำงานร่วมกับบริษัทพันธมิตรหลากหลายรูปแบบอย่างลึกซึ้งมากกว่า Nexus ซะอีก และมันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป

 

ว่าด้วยเรื่อง Android Security Update และ CDD

ตอนนี้ก็เป็นเวลา 1 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ Google ประกาศแผนอัพเดตความปลอดภัยรายเดือน หรือ Android Security Update ให้กับอุปกรณ์ Nexus ซึ่งก็มีทางผู้ผลิตมือถือ Android หลายรายตอบรับ อย่างเช่น Samsung และ LG ที่จะปล่อยอัพเดตให้มือถือตัวเองรายเดือนด้วย แต่ก็มีหลายรายที่ไม่เห็นด้วย อย่าง HTC ที่ตอนแรกบอกว่ารายเดือนมันเว่อไป แต่สุดท้ายก็ถือว่าปล่อยอัพเดตตามทันอยู่ ส่วน Huawei และ Motorola นั้นขอไม่ร่วมด้วย แต่จะปล่อยอัพเดตไตรมาสละครั้งแทน

 

ตอนนี้กระบวนการของ Security update ทำกันยังไง?

เราจะส่ง patch ให้กับพันธมิตรแต่ละรายตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้พวกเขามีเวลาเอาไปรวมและทดสอบรวมกับ patch ของเขาเองด้วย จะได้ทันตอนที่เราประกาศปล่อย patch อย่างเป็นทางการ

 

พวก OEM เค้าได้ patch พร้อมกับตอนที่ Nexus ปล่อย patch ครั้งแรกหรือเปล่า?

พวกเขาจะได้ก่อนประมาณ 1 เดือนล่วงหน้า จากนั้น Nexus จะปล่อย patch ของตัวเอง ซึ่งก็แล้วแต่ OEM ว่าจะปล่อยพร้อมกับ Nexus หรือไม่

 

ทาง Ars Technica ได้มีการสอบถามถึงเรื่องเอกสาร CDD ด้วย ซึ่งเอกสารนี้มีชื่อเต็มว่า Android Compatibility Definition Document โดยเป็นเอกสารที่อธิบายถึงความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับ OEM ที่ต้องการทำอุปกรณ์ Android ให้ได้การรับรองจาก Google และได้ license เพื่อติดตั้ง Google Play และ Google app ต่างๆในอุปกรณ์ของตัวเอง นอกจากนั้นใน CDD ยังมีการกำหนดข้อบังคับเรื่องการเข้ารหัสข้อมูลและการรักษาความปลอดภันของข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เราได้เห็น Android 7 Nougat ออกมา 2 เวอร์ชันแล้วคือ 7.0 และ 7.1 แต่เอกสาร CDD ของทั้งสองเวอร์ชันยังไม่มี

 

จะมีเอกสาร CDD ตัวใหม่ออกมามั้ย?

มันจะมีออกมาแน่นอน เห็นได้ชัดว่าตอนนี้เราทำงานร่วมกับพันธมิตรและงานอื่นๆอีกหลายอย่างอยู่ แต่มันจะมาแน่ ว่าแต่คุณอ่านมันทั้งหมดเลยเหรอ? คุณอาจจะเป็นคนเดียวที่อ่านเลยนะเนี่ย

 

ใช่เราอ่าน เราจะเปรียบเทียบข้อมูลเวอร์ชั่นใหม่กับเวอร์ชั่นเก่าว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง มันจะช่วยอธิบายได้ว่า OEM ต้องทำอะไร และมีข้อจำกัดอะไรบ้างที่เกิดขึ้น

เราใช้เวลาเยอะเลยล่ะในการทำ CDD เพราะไม่ใช่แค่ว่าทำเสร็จแล้วก็โยนเอกสารไปให้พันธมิตรของเราอ่านเอง เราต้องอธิบายให้เค้าฟังด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ตอนที่เว็บของคุณเขียนเรื่อง ไอคอนแบตเตอรี่สีเขียวของ Galaxy Note 7 ผิดมาตรฐาน Android นั่นแหละ มันไม่ใช่การตันสินใจง่ายๆแค่ว่า “Google ไม่ชอบไอคอนที่เป็นสี” แต่เพราะเรามีฟีเจอร์ที่ให้นักพัฒนาสามารถเปลี่ยนสีของ status bar ด้านบนได้ นั่นอาจจะทำให้ไอคอนหายไปได้เพราะสีมันกลืนกัน เราเลยอยากจะให้มันสอดคล้องกันทั้งในมุมของผู้ใช้และมุมของนักพัฒนา ซึ่งสำหรับเคสนี้ (ไอคอนแบตสีเขียวของ Note 7) มันถือว่าเป็นสถานการณ์ที่พิเศษมาก และเราคิดว่าพอเข้าใจได้ เลยขอให้ Samsung ยังมีกรอบสีขาวรอบไอคอนแบตเตอรี่อยู่ เพื่อไม่ให้มันถูกกลืนหายไป

 
 

สถานการณ์ Google Play ในประเทศจีน

หากจะถามใครเรื่อง Google Play ก็ต้องถาม Hiroshi Lockheimer นี่แหละ เพราะเค้าคือคนที่รับผิดชอบเรื่อง Google Play โดยตรง อย่างที่เรารู้กันว่า Google Play Store นั้นสามารถใช้งานได้จากเกือบทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นประเทศเดียวคือ “ประเทศจีน” ซึ่งเป็นตลาดมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลกซะด้วยสิ โดยตอนนี้มือถือ Android ในประเทศจีนจะมาพร้อมกับ App Store ที่เป็นของเจ้าเล็กเจ้าน้อยที่ทำขึ้นมาเองโดย OEM หรือบริษัทท้องถิ่นทั้งหมด Google ตัดสินใจออกจากประเทศจีนเมื่อปี 2010 เพราะความไม่มั่นใจในเรื่องกระบวนการเซ็นเซอร์และการสอดส่องโดยรัฐบาลจีน แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวมาเรื่อยๆว่า Google พยายามจะกลับไปประเทศจีนในหลายทาง แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงสักที

 

ตอนนี้สถานการณ์ของ Play Store ในประเทศจีนเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

ประเทศจีนเป็นประเทศจีนที่ใหญ่มากเลยนะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมยังไม่มีอะไรมาบอกหรอก คุณรู้มั้ย มีผู้คนพูดถึงผู้ผลิตจากประเทศจีนกันมากเลยนะ อย่างเช่น Xiaomi เนี่ย พวกเค้าคิดกันไปว่าเป็นเพราะ Google Play ไม่มีในประเทศจีน อุปกรณ์ของ Xiaomi ก็เลยต้องใช้ Android เวอร์ชันที่ fork ออกมาทำเอง ผมว่าพวกเค้าสับสนนะ Google Play ไม่มีในประเทศจีน มันเลยเป็นเหตุผลที่มือถือ Xiaomi ไม่มี Google Play แต่จริงๆแล้วอุปกรณ์ Xiaomi ที่ขายนอกประเทศจีนก็มาพร้อม Google Play นะ ผมไม่คิดว่า Xiaomi ทำการ fork Android ออกมาทำเองหรอก นั่นเป็นเพราะเราไม่มีทางเลือกให้เค้าต่างหาก ผู้คนชอบคิดว่ามือถือจากประเทศจีนใช้ Android ที่ fork ออกมา แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นหรอก

 

เกี่ยวกับ Tweet เรื่อง 4 ตุลา

หากใครจำได้ช่วงก่อนที่จะมีงานเปิดตัว Google Pixel นั้น Hiroshi Lockheimer ได้ post ข้อความบน twitter ส่วนตัวไว้ดังนี้

  

Android เวอร์ชั่นแรกนั้นถูกเปิดตัวในวันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว และผมก็มีความรู้สึกว่าอีก 8 ปีข้างหน้า เราก็จะพูดถึงเกี่ยวกับวันที่่ 4 ตุลาคม

 

หลังจากนั้นก็มีข่าวลือสะพัดออกไปทันทีว่า วันที่ 4 ตุลาคมซึ่งเป็นงานเปิดตัว Google Pixel นั้นจะมีการประกาศเรื่องการรวมกันของ Android และ Chrome OS แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “Andromeda” ปรากฎว่าพองานจริงมาถึงกลับไม่มีการพูดถึงอะไรเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ใหม่ของ Google เลยสักนิด ซึ่งจริงๆแล้ว Hiroshi คงจะหมายถึง การที่ Google ประกาศตัวเป็น OEM ซะมากกว่า พอถูกถามถึงเรื่องนี้ เจ้าตัวก็ตอบมาสั้นๆว่า

มันเป็นการศึกษาที่น่าสนใจมากนะ ว่าทำไม tweet ถึงกลายร่างเป็นข่าวลือที่น่าสนใจมากๆได้

นี่แหละครับ ผู้นำสูงสุดของ Android สวัสดี 
 

ที่มา: Ars Technica