ภาพจากคุณ Wisaruth Wisidh (PhuPhu)

สองสามวันที่ผ่านมาหลายคนน่าจะทราบข่าวเกี่ยวกับการเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้ง Single Gateway หรือที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ในชื่อว่า “เกตเวย์แห่งชาติ” โดยข้อมูลที่กล่าวถึง Single Gateway นั้นมาจากเอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีฉบับวันที่ 27 สิงหาคมโดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า “…ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่างๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งรวมเรื่องการจัดตั้ง single gateway ที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ผมจะขอพักเรื่องเกี่ยวโครงการไว้ก่อนและจะพูดถึงคำว่า ‘Gateway‘ ที่ปรากฏบ่อยมาก และเชื่อว่าน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ถ้าหากแปลคำว่า Gateway เป็นภาษาไทยตรงๆ ก็จะแปลได้ว่ามันคือ “ทางผ่าน” ซึ่งคำแปลนี้ก็ไม่ผิดจากความหมายเต็มๆ เท่าไรนัก แต่คำว่า Gateway ในที่นี้หมายถึง “ทางผ่านของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” ครับ กล่าวอีกอย่างก็คือเป็นเส้นทางที่ข้อมูลเราไหลไปในเวลาที่เราส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ผมจะขออธิบายด้วยภาพต่อไปนี้ครับ โดยทรงกระบอกแบนๆ ในภาพนั้นหมายถึงเราเตอร์ครับ

 

สมมติว่าเราใช้อุปกรณ์ที่ต่อินเทอร์เน็ตกับเราเตอร์ X อยู่และต้องการส่งข้อมูลให้กับเพื่อนที่ต่ออินเทอร์เน็ตกับเราเตอร์ Z ที่อยู่คนละเขตให้บริการอินเทอร์เน็ตกัน เส้นทางที่ข้อมูลจะไหลไปก็จะผ่านเราเตอร์ 1 ผ่านเราเตอร์ Y เข้าสู่เราเตอร์ 2 และถึงไปยังเราเตอร์ Z ก่อนจะส่งต่อเข้าอุปกรณ์ของเพื่อน เราเรียกเราเตอร์ 1 กับ 2 ว่าเป็น Gateway ของเขต A และ B ตามลำดับครับ คือเป็นทางที่ผ่านเพื่อเข้าหรือออกจากเขตหนึ่งๆ และในกรณีที่เราเตอร์ Y อาจจะไปเชื่อมกับกลุ่มของเขตให้บริการอื่นๆ ก็จะเป็น Gateway ระหว่างกลุ่มอีกเช่นกัน


สมมติว่ามีข้อมูลที่ต้องส่งข้ามโซนมากขึ้นแต่ Gateway นั้นยังน้อยเท่าเดิมก็จะทำให้ Gateway (ที่ลูกศรชี้) ทำงานหนักขึ้นและอาจจะไม่สามารถรับภาระงานไหวจนล่มได้ครับ หากล่มก็จะส่งผลให้เครื่อข่ายฝั่งซ้ายไม่สามารถติดต่อกับฝั่งขวาได้เลย


ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงมักจะกระจาย Gateway ของแต่ละพื้นที่ไว้เป็นแบบลำดับขั้นตามภาพบนครับ และมีการเชื่อมต่ออีกทอดหนึ่งที่เส้นสีแดงที่ Gateway บนสุด โครงสร้างลักษณะนี้ถูกนำไปใช้กับโครงสร้างของ Gateway ที่ส่งข้อมูลระหว่างประเทศ เวลาที่เรารับส่งข้อมูลกับเว็บไซต์ที่อยู่นอกประเทศก็ต้องมีการส่งผ่านข้อมูลผ่าน Gateway เหล่านี้เพื่อส่งต่อไปยัง Gateway ที่ประเทศอื่นๆ ก่อนจะถึงเป้าหมายครับ

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละเจ้าก็จะมี Gateway สำหรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศเป็นของตนเอง และนอกจากของผู้ให้บริการแล้วก็ยังมีของ CAT ที่ให้บริการร่วมกันด้วย โดยข้อมูลล่าสุดจาก NECTEC ระบุว่าปัจจุบัน Gateway สำหรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศของไทยนั้นมีรวมกัน 10 Gateway ซึ่ง Gateway เหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเราเตอร์ธรรมดาๆ มากและรองรับโหลดได้มหาศาล

ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของไทยเราเมื่อเดือนที่ผ่านมานั้นสูงถึง 1,954,083 Mbps หรือจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือมีข้อมูลไหลออกจากไทยเป็นปริมาณ 238.5 GB ต่อวินาที และจากแนวโน้มที่ผ่านๆ มาปริมาณข้อมูลนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วครับ ซึ่งก็ได้ Gateway ทั้ง 10 ตัวนี้มาช่วยกระจายโหลด และแม้ว่าจะมีบาง Gateway ล่มไปก็ยังสามารถสลับเส้นทางไปส่งข้อมูลทาง Gateway อื่นได้ ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลไปยังเป้าหมายที่อยู่นอกประเทศได้รวดเร็วและครบถ้วน

 

ข้อมูลการเชื่อมต่อเครือข่ายในไทยไปยังเกตเวย์ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ

(คลิกดูภาพใหญ่เลยครับ)

ทีนี้แนวคิดของ Single Gateway ที่ว่าก็คือแทนที่จะใช้งาน Gateway ทั้ง 10 ตัวที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็หันมาใช้งาน Gateway ตัวเดียวเท่านั้นและข้อมูลทุกอย่างที่จะส่งออกจากประเทศไทยไปก็จะผ่านเจ้า Gateway ตัวนี้ โดยทางภาครัฐได้ให้เหตุผลว่า “เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต” 

สำหรับประเด็นที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในสังคมโซเซียลตอนนี้ก็คือนโยบาย Single Gateway ตัวนี้นั้นให้ผลเสียมากกว่าประโยชน์ โดยพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

  1. ปัญหาทางเทคนิคที่จะเกิดตามมา และ
  2. ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการควบคุมอินเทอร์เน็ตของภาครัฐ

สำหรับปัญหาทางเทคนิคที่จะเป็นผลพวงตามมาจาก Single Gateway นั้นก็คือเราจะเหลือ Gateway ที่รับข้อมูลที่คนทั้งประเทศส่งออกไปยังนอกประเทศเพียง Gateway เดียว นั่นก็คือข้อมูลที่ไหลมาจำนวนมหาศาลนั้นจะถูกบีบให้อยู่ในท่อเดียวกันก่อนที่จะออกไปยังนอกประเทศ และหากท่อนั้นไม่สามารถรับข้อมูลได้เพียงพอก็จะทำให้เกิดสภาพคอขวด การเชื่อมต่อระหว่างประเทศก็จะช้าลงหรืออาจจะไม่สามารถเชื่อมต่อได้สำเร็จเลย และหาก Single Gateway ไม่สามารถรับโหลดได้ไหวก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการทำงานและล่มในที่สุด และในกรณีที่มี Gateway เดียวนั้นก็จะต่างจากเดิมที่เรามีเป็น 10 ที่หากมีตัวไหนล่มก็ยังสามารถส่งข้อมูลได้ แต่ถ้าหากมี Gateway เดียวแล้วล่มขึ้นมาก็เท่ากันว่าคนทั้งประเทศจะไม่สามารถส่งข้อมูลออกนอกประเทศได้เลย

 

(ภาพจาก: the guardian)

นอกจากประเด็นทางเทคนิคแล้วก็ยังมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องข้อมูลที่ถูกส่งผ่าน Single Gateway ด้วยว่าการที่ภาครัฐสามารถเก็บบันทึกข้อมูลไปได้ และถ้าหาก พ.ร.บ. ความมั่นคงดิจิทัลที่เคยเป็นประเด็นมาเมื่อต้นปีนั้นถูกดันจนผ่านด้วย เจ้าหน้าที่รัฐจะได้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทุกๆ อย่างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของได้เลย รวมถึงข้อมูลที่ต่างชาติส่งเข้ามาในไทยก็สามารถดักจับได้ง่ายขึ้นเช่นกัน แน่นอนว่าการดักข้อมูลนี้ก็จะทำให้ประเทศเราเสียความเชื่อมั่นจากต่างชาติ เพราะเค้าอาจจะถูกดักข้อมูลความลับทางองค์กรหรือธุรกิจได้ง่าย และพลอยจะทำให้ต่างชาติไม่อยากเข้าหาทำธุรกิจกับในไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจที่ปัจจุบันนี้ก็ไม่สู้ดีอยู่แล้วไปด้วย

จากความกังวงนี้ก็ทำให้หลายๆ คนตั้งข้อสงสัยและกลัวว่าจะโดนเจ้าหน้าที่ที่ไม่หวังดีหรือกลัวภาครัฐจะแอบจับตามองเราทุกฝีก้าวในโลกออนไลน์ ทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัวไป และการที่มี Gateway ที่ให้ข้อมูลในประเทศออกนอกหรือข้อมูลจากนอกเข้าไทยเพียงช่องทางเดียวก็ทำให้ง่ายต่อรัฐที่จะควบคุมข้อมูลได้ เช่น ภาครัฐอาจจะบล็อกไม่ให้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้ คล้ายกับหลายๆ ประเทศ เช่น ลาว จีน เมียนมา เกาหลีเหนือที่สามารถบล็อกเว็บไซต์ที่รัฐไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้เบ็ดเสร็จ

พิจารณาจากผลเสียต่างๆ แล้วก็จะพบว่าโครงการ Single Gateway นี้ดูจะสร้างผลเสียซะมากกว่าผลดีที่รัฐบาลได้อ้างและคาดหวังไว้ ทำให้โลกออนไลน์ในไทยตอนนี้เริ่มตื่นตัวและแสดงความคิดเห็นต่อต้านแนวคิดการจัดตั้ง Single Gateway กันเป็นจำนวนมากแล้ว

และในตอนนี้ก็ได้มีคนตั้งแคมเปญคัดค้านการจัดตั้ง Single Gateway แล้วในเว็บไซต์ Change.org และปัจจุบันมีผู้เห็นด้วยกับการคัดค้านร่วมลงชื่อแล้วกว่า 27,000 คน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยหวังว่าทางรัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นของผู้คัดค้านและยอมยกเลิกโครงการนี้ไป

สำหรับผู้สนใจลงชื่อร่วมคัดค้านด้วยสามารถทำได้ที่เว็บไซต์ตามลิงค์นี้เลยครับ

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีประเด็นที่คนให้ความเห็นว่าการจัดตั้ง Single Gateway นั้นเป็นเรื่องน่าวิตกแล้ว ก็มีผู้ที่แสดงความคิดเห็นว่าด้วยหลักการแล้ว Single Gateway เป็นโครงการที่ไม่มีทางทำได้สำเร็จ โดยได้ยกสาเหตุหลายๆ สาเหตุให้เราได้อ่านกันครับ ซึ่งก็น่าสนใจมากๆ และทำให้เห็นภาพในอีกมุมมองหนึ่งด้วย ลองอ่านกันดูได้ครับ

มีหลายคนกำลังตกใจกับ Great firewall of Thailand หรือตอนนี้เรียกกันว่า SINGLE GATEWAY ผมได้ยินครั้งแรกก็ตกใจ แต่ พอดูรายล…

Posted by Chanon Ngernthongdee on Wednesday, 23 September 2015

 

อ้างอิงข้อมูล

ข่าวคัดค้าน พ.ร.บ. ไซเบอร์ [Droidsans]

สปช. เห็นชอบให้นำร่างกฎหมายดิจิทัลไปแก้ไข [Blognone]

ปลัดไอซีทีเสนอเกตเวย์แห่งชาติ [Blognone]

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี – ให้เร่งจัดตั้ง Single Gateway [Blognone]

ข่าวแคมเปญคัดค้านการจัดตั้ง Single Gateway [Blognone]

แคมเปญคัดค้านการจัดตั้ง Single Gateway [Change.org]

ข้อมูลเกตเวย์ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศของประเทศไทย [NECTEC]

ข้อมูลปริมาณการส่งออกข้อมูลไปยังนอกประเทศของไทย [NECTEC]