จากงาน Google I/O 2015 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Google ก็ได้เปิดตัวโครงการ Brillo [IO15] กูเกิลเปิดตัว Brillo, OS สำหรับอุปกรณ์ Internet of Things ซึ่งหลายคนก็อาจจะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง หรือยังไม่รู้จักปนๆกันไป แต่ที่แน่ๆคือหลังจากที่เปิดตัวออกมาภายในงาน หลังจากนั้นก็หายเงียบไปเลย จนล่าสุดก็มีอัพเดทเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ Brillo มาให้ได้ทราบกันบ้างแล้ว ผมจึงขอเอามาสรุปคร่าวๆให้ได้รู้จักกันอีกครั้งดีกว่าเนอะ

      แต่เนื้อหาอาจจะเข้าใจยากไปบ้างสำหรับผู้อ่านทั่วๆไป ก็ขออภัยด้วยนะจ๊ะ

 

Brillo มันคืออะไรกันนะ?

        ถ้าให้อธิบายสั้นๆ มันก็คือ OS ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานบนอุปกรณ์สำหรับ IoT ครับ (สั้นพอมะ) แต่ถ้าอยากให้พิมพ์ยาวๆหน่อยก็  

        “ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า IoT กันมาบ้างใช่มั้ยล่ะครับ? สำหรับคนทั่วไปเราอาจจะรู้จักจากข่าวสารบ้างเล็กน้อย แต่สำหรับวงการนักพัฒนาซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ (โดยเฉพาะเหล่า Maker) เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ในอนาคตที่น่าสนใจเลยก็ว่าได้ ซึ่งเทรนด์ของ IoT เนี่ย มันเริ่มมาตั้งแต่ปีสองปีที่แล้ว ที่โลกของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เริ่มผนวกเข้ากับซอฟท์แวร์มากขึ้นหลังจากที่ยุคของ Smartphone เข้ามา เราจะเห็นได้จากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หลายๆตัวเริ่มมีความ “Smart” มากขึ้น ซึ่งในความ Smart ของมันนั้นก็เป็นเพราะเวลาที่เหมาะสมด้วยน่ะแหละ อย่างเช่น Smartphone เป็นที่แพร่หลาย, Opensource Hardware เป็นที่นิยม, Hardware Development Kit เริ่มถูกลงจนใครๆก็เข้าถึงได้ (ถูกขนาดที่ว่าโมดูลเชื่อมต่อ WiFi จากราคาเป็นพันเหลือราคาเกือบไม่ถึงร้อยบาท) จนมีแนวคิดของ IoT ขึ้นมาว่าในอนาคตอุปกรณ์เหล่านี้ทุกตัวจะมีความฉลาด สามารถสื่อสารข้อมูลระหว่างกันได้รวมไปถึงเซิฟเวอร์บนอินเตอร์เน็ต โดยมีศูนย์กลางหลักคือ Smartphone ที่ใครๆก็พกติดตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Android ดังนั้น Google จะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไปได้ยังไงล่ะ เพราะหลายๆเจ้าก็เริ่มจะทำ IoT Solution กันแล้ว ดังนั้น Google จึงถือกำเนิด Brillo ขึ้นมาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการที่จะติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ IoT เหล่านี้”

        ยาวไปมั้ยนะ…เอ่อ..ช่างมันเถอะ

 

Brillo ก็คือ Android ที่เบาหวิว 

      Brillo นั้นถือว่าเป็น Lightweight Embedded OS ที่เอามาจาก Android อีกทีหนึ่ง โดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมดจึงทำให้เหลือ Core OS ที่มีขนาดเล็กเหมาะสำหรับไปใช้งานด้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ขนาดเล็กหรือ Embedded System (แปลว่า Android ปกติมีแต่ส่วนที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น ฮ่ะๆ)

      และเมื่อมันเป็น OS ที่แยกย่อยมาจาก Android นั่นก็หมายความว่าตัว Brillo เองก็เป็น Opensource ด้วย (เย้) ซึ่งทาง Google ก็บอกไว้ว่าเจ้า Brillo จะถูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยจะมี Minor Update ทุกๆ 6 สัปดาห์ และ LTS (Long Term Support) ทุกๆ 6 เดือน

      อีกทั้งยังรองรับกับสถาปัตยกรรมที่ใช้บน Embedded Board ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ARM, Intel หรือ MIPS โดยที่ตัว Brillo นั้นเบาหวิวมากทำงานบน Embedded Board ที่มี ROM 128MB และ RAM 32MB ได้ (ไม่น่าเชื่อว่าสืบทอดมาจาก Android) ซึ่ง Embedded Board ที่มี ROM กับ RAM ขนาดนี้ ถือว่าเยอะมากเลยนะ (พอๆกับ Intel Galileo) อาจจะเพราะว่าตัว Brillo เป็นระบบปฏิบัติการแบบ 32-bit ก็เป็นได้ (ถ้า Arduino Uno ที่นิยมเล่นกัน เป็นแค่ 8-bit)

 

Weave คู่ขา Brillo ที่ขาดกันไม่ได้

      Weave เป็น Protocol ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆกับอุปกรณ์ที่ใช้ Brillo ไม่ว่าจะเป็น Smartphone ในมือหรืออุปกรณ์ Smart ต่างๆก็ตาม โดย Weave จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย และจะทำให้ Brillo สามารถเปิดกว้างใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้ (หรือก็คืออุปกรณ์อื่นๆที่จะสื่อสารกับ Brilllo ก็ต้องสื่อสารผ่าน Weave) 

      และเมื่อ Brillo เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆได้ ก็จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ (ที่ผู้ใช้อนุญาต) ได้ เช่น ดึงข้อมูลอุณหภูมิจาก Smart Thermometer และอุปกรณ์อื่นๆภายในบ้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์แล้วแสดงผลลัพธ์ให้กับผู้ใช้งาน

      โดย Weave นั้นรองรับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะสื่อสารกับมือถือผ่าน WiFi ภายในบ้าน หรือจะเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลกับเซิฟเวอร์ผ่านอินเตอร์เน็ต ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ Brillo จึงสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆได้อย่างสะดวกมาก (สำหรับนักพัฒนา)

 

      และ Weave ไม่ได้มีผลดีแค่เฉพาะนักพัฒนา Embedded System เท่านั้น แต่สำหรับนักพัฒนาฝั่งซอฟท์แวร์ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์โดยตรง เมื่อมี Weave ก็จะทำให้เขียนซอฟท์แวร์มาติดต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้ Brillo ได้ง่ายขึ้น แถม API ในฝั่ง Mobile App จะรองรับทั้ง Android และ iOS อีกด้วยแน่ะ

      ซึ่ง Weave ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่า Brillo เพราะ Weave เป็นเสมือนตัวกลางในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆให้ง่ายขึ้น โดยแค่ใช้ API หรือ SDK ที่ Weave เตรียมไว้ให้ ก็สามารถสื่อสารกันได้เลย

 

Brillo เหมาะสำหรับงาน Prototype ไปจนถึง Production

      จากจุดเด่นของ Brillo ที่รองรับกับฮาร์ดแวร์ได้หลากหลาย และมีแหล่งข้อมูลที่ดีเยี่ยมจาก Google สำหรับการนำไปพัฒนาจึงทำให้สามารถพัฒนา Prototype ขึ้นมาได้ง่าย รวดเร็ว ปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ และสามารถนำไปใช้เป็น Production ได้ทันที เพราะตัว Brillo นั้นรองรับ OTA Update และ Crash Reporting 

      ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับอุปกรณ์ Brillo ที่มี OTA Update เพราะผู้พัฒนาไม่ต้องเสียเวลาไปจัดการเอง (มีอุปกรณ์ไม่เยอะนักที่ทำแบบนี้ได้) รวมไปถึง Crash Reporting ที่ลดระยะเวลาและปัญหาวุ่นวายจากการพัฒนา

 

สรุป

      สำหรับผู้ใช้ทั่วไปคงไม่ส่งผลอะไรมากนักกับการมาของ Brillo และ Weave แต่สำหรับฝั่งนักพัฒนาอย่าง Maker แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อ Google ลงมาจับฮาร์ดแวร์ที่เปิดให้ Maker สามารถเข้าถึงได้ ถึงแม้ว่า Intel จะลงมาทำก่อนหลายปีแล้วอย่างบอร์ด Intel Galileo (แต่ Intel ก็ยังคงเป็น Intel…ไม่ค่อยจะสนใจใยดีซักเท่าไร) เพราะการมาของ Brillo และ Weave นี้เป็นการ Opensource เพื่อให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถนำไปต่อยอดได้ และรองรับกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย 

      แต่ทิศทางของ Brillo และ Weave จะเป็นยังไง Development Kit ที่จะให้นักพัฒนาชุดแรกได้ลองใช้นั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คาดว่าคงต้องรอติดตามข่าวกันในปีหน้าอีกทีนะครับ 

      จบท้ายด้วยวีดีโอเกี่ยวกับ Brillo และ Weave จาก Google Developers

Play video

Play video

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล 

  • http://googledevelopers.blogspot.com/2015/10/building-brillo-iant-devices-with-weave_27.html
  • https://developers.google.com/brillo/