เมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา Xiaomi ได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของบริษัท ซึ่งนอกจากจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลายอย่างแล้ว ภายในงานก็ยังมีการพาย้อนอดีต บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาและเหตุการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ณ ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง สามารถอ่านบทสรุปได้ที่บทความนี้เลยครับ

Play video

จุดเริ่มต้นของตำนาน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 กลุ่มคนรักสมาร์ทโฟน 7 คน นำโดย Lei Jun ผู้ซึ่งเป็นอดีต CEO ของบริษัท Kingsoft (บริษัทด้านซอฟต์แวร์จากประเทศจีน) ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Xiaomi ขึ้นมา โดยมีความฝันว่า “อยากจะสร้างสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดในโลก ที่มีราคาถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ ครึ่งหนึ่ง เพื่อที่ทุกคนจะได้สามารถเอื้อมถึงได้” 

แต่ทว่า ผู้ร่วมก่อตั้ง Xiaomi ทั้งหมด รวมทั้งตัว Lei Jun เอง ไม่มีใครที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์เลย และหลังจากที่มีการพูดคุยตกลงกันแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า พวกเขาจะหันไปทำสิ่งที่ตัวเองถนัด ซึ่งก็คือการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ และแน่นอนว่า ตัวเลือกในตอนนั้นก็คือ ระบบปฏิบัติการ Android ที่เป็นโอเพนซอร์สนั่นเอง

ถัดมาเมื่อเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน รอมของสมาร์ทโฟนบนระบบปฏิบัติการ Android ที่มีชื่อว่า MIUI ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมันมีจุดเด่นที่หน้าตาสวยงาม และมีการเสริมฟังก์ชั่นหลาย ๆ อย่างเพิ่มเติมจากฟังก์ชั่นพื้นฐานของรอม Android เข้าไป

MIUI ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ในเวลาเพียงไม่นาน MIUI ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จากการบอกเล่าปากต่อปาก ซึ่งจากความสำเร็จของ MIUI นี้ ส่งผลให้เกิดเป็น Mi Community ที่เป็นชุมชนของแฟน ๆ Xiaomi หรือที่เรียกว่า Mi Fan ขึ้นมาในหลาย ๆ ประเทศ

ปี 2011 – เปิดตัว  Mi 1 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของบริษัท

ผ่านไป 1 ปี หลังจาก MIUI ที่ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เดือนสิงหาคมปี 2011 สมาร์ทโฟนตัวแรกจาก Xiaomi ในชื่อ Mi 1 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยมันมาพร้อมกับ MIUI ที่ทางบริษัทเป็นผู้พัฒนาขึ้นมาเอง และมีราคาเพียงแค่ 1,999 หยวน (ประมาณ 9,000 บาท) แม้จะเป็นราคาที่แพงกว่าที่ตั้งใจไว้ในตอนแรกซึ่งตั้งไว้ที่ 1,499 หยวน เนื่องด้วยสาเหตุเรื่องต้นทุน ซึ่งทาง Lei Jun เองก็เป็นกังวลเป็นอย่างมากว่า Mi 1 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสมาร์ทโฟนที่ผลิตในประเทศจีน ณ ขณะนั้นมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 700 หยวน หรือราว ๆ 3,000 กว่าบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยราคา 1,999 หยวน ของ Mi 1 มันก็สามารถทำยอดขายทะลุเป้าอย่างทะลักทลาย เพียงแค่การจำหน่ายล็อตแรก Mi 1 จำนวน 150,000 เครื่อง ก็ถูกขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 13 นาที อีกทั้งยังสามารถทำยอดขายไปได้กว่า 7 ล้านเครื่อง ในที่สุด

ปี 2012 – เปิดตัว Mi 2

เมื่อสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของตัวเองประสบความสำเร็จเกินคาด Xiaomi จึงไม่พลาดโอกาสที่จะต่อยอดความสำเร็จของตัวเอง โดยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นต่อไปอย่าง Mi 2 ตามมาในปี 2012 โดยมันมีราคาเท่ากับรุ่นแรกเป๊ะ ๆ ที่ 1,999 หยวน และเลือกใช้ชิปเซ็ต Snapdragon S4 Pro ซึ่งเป็นซีพียู Quad-Core ตัวแรกจากค่าย Qualcomm อีกด้วย

ปี 2013 – เปิดตัว Mi 3 และ Redmi

ในปี 2013 น่าจะเป็นปีที่กล่าวได้ว่า แบรนด์ Xiaomi “เริ่ม” ที่จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปบ้างแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงกลุ่มคนที่สนใจในสมาร์ทโฟนหรือกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เหมือนแต่ก่อน ซึ่งสมาร์ทโฟนเรือธงของ Xiaomi ที่เปิดตัวในปีนี้คือ Mi 3 และในปีเดียวกันนี้ Xiaomi ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีจำนวนผู้ใช้งานเยอะที่สุดอันดับที่ 5 ในประเทศจีน นอกจากนี้บริษัทยังสามารถทำยอดขายสมาร์ทโฟนไปได้ถึง 18.7 ล้านเครื่อง มากกว่ายอดขายเมื่อปี 2012 ถึงสองเท่า

รวมถึงมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ใหม่ของตัวเองคือ Redmi ที่เป็นสมาร์ทโฟนในระดับเริ่มต้นราคาประหยัด ในราคา 799 หยวน (ประมาณ 3,600 บาท) ก่อนที่จะแตกไลน์ออกมาเป็นแบรนด์ย่อยในภายหลัง แถมยังมีการเปิดตัวสมาร์ททีวีเครื่องแรกของทางค่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีตามมาเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ด้วย

2014 – เปิดตัว Mi4 และบุกตลาดนอกประเทศจีน

บริษัทได้เริ่มเดินหน้าขยายการทำตลาดของตัวเองออกนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกในปี 2014 ประเทศที่ว่านั่นก็คือ สิงคโปร์ ก่อนที่จะตามมาด้วยประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดียในปีเดียวกัน ส่วนสมาร์ทโฟนเรือธงที่เปิดตัวในปีนี้คือ Mi 4

2015 – บุกตลาดอินเดียด้วย Mi 4I

แม้ว่า ในปี 2015 บริษัทจะไม่ได้มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนระดับเรือธง แต่ก็ได้มีการเปิดตัว Mi 4I ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นรุ่นราคาประหยัดของ Mi 4 ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ รวมถึงในปีนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญอยู่อีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ Ratan Tata นักธุรกิจชื่อดังชาวอินเดียได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนรายแรกกับทาง Xiaomi แต่ไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการลงทุนและจำนวนหุ้นที่ถือครองแต่อย่างใด หากอ่านมาถึงตรงนี้น่าจะเดากันได้แล้วว่า ในปีนี้ Xiaomi วางแผนที่จะตีตลาดประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของโลกอย่างจริงจัง หลังจากประสบความสำเร็จที่ประเทศจีนไปแล้ว

2016 – เปิดตัว Mi 5 พร้อมรุ่น Pro ที่ใช้วัสดุเซรามิก

สมาร์ทโฟนเรือธงของบริษัทกลับมาอีกครั้งในปี 2016 คือ Mi 5 มันเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของค่ายที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ กล้องหลังกันสั่น 4 แกน และบอดี้ที่ทำจากเซรามิก (ในรุ่นพิเศษ) และด้วยขุมพลังของ Snapdragon 820 ผสานกับ MIUI ทำให้มันสามารถทำคะแนน Antutu benchmark ไปได้สูงเฉียด 180,000 คะแนน ทิ้งห่างสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้ชิปเซ็ตตัวเดียวกันในปีนั้นอย่างไม่เห็นฝุ่น

2017 – เปิดตัว Mi 6 และ Mi A1 มือถือ Android One รุ่นแรก

กระแสสมาร์ทโฟนกล้องคู่และการถ่ายภาพแบบเบลอฉากหลังเริ่มกลายเป็นที่นิยม Xiaomi เองก็ไม่พลาดที่จะร่วมแจมในเทรนด์นี้ โดยส่งมือถือ Mi 6 ที่มากับกล้องคู่ความละเอียด 12MP + 12MP พร้อมระบบซูมออปติคอล 2x ลงสู่สนาม และในปีนี้เอง Xiaomi ก็ได้ร่วมมือกับ Google เปิดตัว Mi A1 สมาร์ทโฟนที่เป็น Android One รุ่นแรกของทางค่าย ยิ่งไปกว่านั้น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 นี้ Xiaomi ยังสามารถทำยอดขายในประเทศอินเดียสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 แซงหน้า Samsung ที่เป็นแชมป์เก่า โดยบริษัทสามารถทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 9.2 ล้านเครื่อง

2018 – ข้ามรุ่น Mi 7 ไปเปิดตัว Mi 8 ฉลองครบรอบ 8 ปีบริษัท

สมาร์ทโฟนเรือธงที่เปิดตัวในปีนี้ ถูกข้ามรุ่นไปเป็น Mi 8 แทนที่จะเป็น Mi 7 โดยทาง Xiaomi ได้ให้เหตุผลว่า ต้องการให้หมายเลขรุ่นของสมาร์ทโฟนในซีรีส์ Mi นั้นสัมพันธ์กับการครบรอบ 8 ปี ของบริษัท และในปีนี้ Xiaomi ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงสมใจอยาก ถึงแม้ว่ามูลค่า IPO จะไม่ปังอย่างที่คิดไว้ก็ตาม

2019 – เปิดตัว Mi 9 เรือธงกล้องเทพ

ในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาสมาร์ทโฟนของ Xiaomi มักจะโดนค่อนขอดเรื่องที่ว่า “สเปคดี แต่กล้องแย่” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทางบริษัทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเสียงตอบรับนี้แต่อย่างใด ในปีนั้นจึงปล่อยทีเด็ดกล้องหลัง 3 ตัวมากับสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง Mi 9 โดยมันสามารถทำคะแนนในส่วนของภาพนิ่งและวิดีโอไปได้ถึงอันดับ 3 และ 1 ตามลำดับ จากการจัดอันดับของ DxOMark (ในตอนนั้น)

ในปีนี้ Xiaomi ได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ใน Fortune Global 500 ก็คือ การจัดอันดับ 500 บริษัทที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก 500 บริษัท เป็นครั้งแรก จากการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ติดอันดับที่ 468 ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 422 ในปี 2020 อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่มีอายุน้อยที่สุดที่อยู่ในการจัดอันดับของปีนี้อีกด้วย

และตามที่กล่าวไว้ด้านบนว่า สมาร์ทโฟน Redmi ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2013 ยังได้แตกไลน์ออกมาเป็นแบรนด์ย่อยอย่างเป็นทางการในปี 2019 อีกด้วย

2020 – เปิดตัวมือถือซีรีส์เรือธงล่าสุด Mi 10, Mi 10 Pro และ Mi 10 Ultra

ในที่สุด Xiaomi ก็ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ซึ่งบริษัทก็ยังคงเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จต่อไป ด้วยการเปิดตัว Mi 10 และ Mi 10 Pro เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยรุ่นท็อปสุดอย่าง Mi 10 Pro สามารถก้าวขึ้นไปเป็นอันดับ 1 จากการจัดอันดับของ DxOMark ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยพลานุภาพของกล้องหลังความละเอียด 108MP นอกจากนี้ทางด้านการทดสอบประสิทธิภาพเสียงของ Mi 10 Pro ก็อยู่ในอันดับ 1 เช่นกัน จนกระทั่งตอนนี้

หลังจากนั้นในงานฉลองครบรอบ 10 ปีของบริษัท ที่จัดขึ้นไปหมาด ๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Xiaomi ก็ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 4 อย่าง เริ่มด้วย Mi 10 Ultra ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยด้วยกล้องซูม 120x ทำลายสถิติ DxOMark ของตัวเองและรุ่นอื่น ๆ ขึ้นไปเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง อีกทั้งหน้าจอของมันก็มีอัตราการรีเฟรชสูงถึง 120Hz และรองรับชาร์วไวถึง 120W ถือเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกของโลกที่รองรับ Qualcomm Quick Charge 5 อีกด้วย

กลยุทธ์ในอนาคตแห่งทศวรรษหน้า

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา Xiaomi นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเส้นทางสายนี้ อีกทั้งบริษัทยังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างน่าประทับใจ แต่ถึงอย่างนั้น Xiaomi ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไป โดยได้เตรียมกลยุทธ์สำหรับทศวรรษหน้าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนี้

  • เป็นสตาร์ทอัปอีกครั้ง : เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไปนาน ๆ ก็มักจะหมดแรงกระตุ้น ความกระตือรือร้น และแรงจูงใจ บริษัทจึงได้คิดกลยุทธ์นี้ขึ้นมาเพื่อสร้างแรงจูงใจ โอกาสเชิงกลยุทธ์ และความได้เปรียบทางธุรกิจ เหมือนกับตอนที่ยังเป็นสตาร์ทอัปใหม่ ๆ
  • อินเทอร์เน็ต + การผลิต : บริษัทยังคงเชื่อมั่นในพลังและวิธีการของอินเทอร์เน็ต และจะยังคงส่งเสริมการผลิตด้วยอินเทอร์เน็ตต่อไปอย่างที่ทำมาตลอด ซึ่ง Xiaomi อ้างว่า ทางบริษัทจะมีส่วนร่วมกับกระบวนการในการผลิตอย่างลึกซึ้ง โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ (โรงงานผลิต) อย่างจริงจัง และทางบริษัทก็ได้พัฒนาโรงงานผลิตระดับไฮเอนด์เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะยกระดับไปสู่การผลิตสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์อัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต
  • วางแผนให้นานขึ้น เดินให้ไกลกว่าเดิม : บริษัทจะนำประสบการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนระยะยาว และเพื่อให้มีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

สุดท้าย Xiaomi กล่าว่า วันครบรอบ 10 ปี อีกนัยหนึ่งก็เหมือนเป็นวันที่จะเริ่มต้นใหม่ บริษัทจะยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิมเพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เจ๋ง ๆ ในราคาที่จับต้องได้ต่อไปครับ

อ้างอิง : Xiaomi (1, 2) | Wikipedia