นาทีนี้ถ้าถามว่าโน้ตบุ๊คเกมมิ่งตัวไหนถือเป็นรุ่นขวัญใจเกมเมอร์ชาวไทยมากที่สุด ก็คงต้องยกตำแหน่งให้กับ ASUS TUF Gaming A15 แบบไม่ลังเลกันเลย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าตระกูล TUF ถือเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊ครุ่นเริ่มต้นจากทาง ASUS ที่เน้นความคุ้มค่าเรื่องสเปคต่อราคามาก และครั้งนี้ก็สานต่อความคุ้มนั้นขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว TUF Gaming A15 รุ่นโมเดลปี 2022 อัปเกรดใหม่หมดยกเครื่องทั้งดีไซน์ภายนอกและสเปคด้านใน อยากรู้ว่ามีอะไรเด็ดขึ้นกว่าเดิมบ้าง ตามมาดูกันเลยครับ

ก่อนจะเข้าเรื่องการใช้งาน ขออนุญาตเหลาสเปคของเจ้า TUF Gaming A15 (2022) เครื่องนี้กันก่อน แต่แนะนำว่าอย่าอ่านแค่สเปคแล้วจบอย่างเดียวล่ะ เพราะรุ่นนี้ยังมีจุดเด่นอื่นให้พูดถึงอีกเพียบ รับรองเลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

 

สเปค TUF Gaming A15 (2022) รหัส FA507RC-HN005W (A)

  • ซีพียู AMD Ryzen 7 6800H (8C/16T)
  • การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 (4GB GDDR6)
  • Ram 8GB DDR5 Bus 4800 SO-DIMM (ใส่เพิ่มได้อีก 1 slot)
  • SSD M.2 PCIe 3.0 512GB (ใส่เพิ่มได้อีก 1 ลูก)
  • จอ 15.6 นิ้ว Full HD (1,920 x 1,080) IPS 16:9 144Hz รองรับ Adaptive Sync
  • Wi-Fi 6, Bluetooth 5.2
  • แบตเตอรี่ 56 Wh
  • น้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม
  • สักส่วน 35.4 x 25.1 x 2.24 ซม.
  • Windows 11 Home
  • ราคา 37,990 บาท (ฺBaNANA)

 

แกะกล่อง ด้านในมีอะไรบ้าง

เปิดขึ้นมาแรกสุดก็จะเจอกับตัวเครื่องสุดเท่วางอยู่ก่อนเลย ตามด้วยคู่มือการใช้งานและใบรับประกันสินค้าซึ่งจะวางอยู่ใต้ช่องตรงกลาง ถัดมาเมื่อเปิดฝาพับใต้กล่องอีกชั้น ด้านซ้ายก็จะเจอกับอแดปเตอร์ขนาด 200W ส่วนด้านขวาก็จะเป็นปลั๊กไฟเอาไว้เสียบชาร์จด้วยกัน

 

ดีไซน์ตัวเครื่อง

ASUS TUF Gaming A15 เปิดวางขายด้วยฝาหลัง 2 ลวดลาย คือ Mecha Gray และ Jaeger Gray ซึ่งในตลาดบ้านเราจะเน้นขายเฉพาะตัว Mecha Gray ที่มีฝาหลังเป็นสีเทาแบบโล่ง ๆ เน้นความเรียบหรู มีโลโก้ TUF ปั๊มนูนวางอยู่ตรงกลาง (รุ่นปีที่แล้วเป็นแบบโลโก้สกรีนมุมบนขวา) วัสดุฝาหลังก็ยังคงเลือกใช้แบบเดิมคือเป็นแบบอลูมิเนียมผิวด้าน จับถือแล้วแข็งแรงทนทาน ไม่เป็นรอยนิ้วมือง่าย

ส่วนด้านล่างของเครื่องถัดจากฝาหลังลงมา จะใช้วัสดุเป็นพลาสติกเกรดพรีเมียมทั้งตัว ให้ความรู้สึกหรูหราในการจับถือไม่แพ้กัน แถมการันตีความทนทานในระดับ Military Standard 810H อีกด้วย

 

แกนฝาพับยังคงใช้เหมือนกับรุ่นปีที่แล้ว คือเป็นขา 2 ข้างเว้นช่องโล่งตรงกลางเพื่อไม่ให้ขวางช่องระบายความร้อน สามารถกางได้กว้างสูงสุดประมาณ 120 องศา แถมยังดันเปิดขึ้นลงด้วยมือเดียวแบบง่าย ๆ พร้อมด้ามจับบริเวณเหนือกล้องเว็บแคมมาให้ใช้แง้มด้วย หายห่วงเรื่องจุดนี้ไปได้เลย

ช่องระบายความร้อนด้านหลัง ให้มาเป็นแบบ 2 ช่องซ้ายขวา อย่างที่กล่าวไปว่าบานพับจะเว้นช่องว่างตรงกลางไว้ให้ ต่อให้กางสุดก็ไม่ไปขวางช่องลมระบายอากาศแน่นอน

ส่วนไฟ LED สถานะบริเวณด้านบนสุดเหนือแป้นพิมพ์ จากเดิมที่เป็น 4 ดวงวางเรียงกันตรง ๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบกากบาทตัวเอ็กซ์แทน บ่งบอกความเท่ขึ้นไปอีก โดยไฟทั้ง 4 ดวงนี้จะประกอบด้วย ไอคอนรูปหลอดไฟแสดงสถานะ เปิด-ปิด เครื่อง, ไอคอนรูปแบตแสดงสถานะแบตเตอรี่, ไอคอนรูปทรงกระบอกแสดงสถานะการเข้าถึงข้อมูลในดิสก์ และไอคอนเครื่องบินแสดงสถานะการ เปิด-ปิด Airplane mode

ด้านใต้ตัวเครื่องก็มีการออกแบบใหม่หมดจด จากเดิมเคยเป็นตะแกรงรูปรังผึ้งก็เปลี่ยนเป็นทรงเหลี่ยมตัดกับโลโก้ TUF เน้นความโฉบเฉี่ยวขึ้น แถมยังมี 3 เหลี่ยมสีแดงเล็ก ๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อกันไม่ให้ใต้เครื่องสัมผัสขอบโต๊ะด้วย

ทั้งนี้ตัว TUF A15 ยังคงเน้นคอนเซปต์ฝาใต้เครื่องแบบเดิม คือสามารถถอดแกะเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ง่าย โดยใช้แค่หัวน็อตแบบหัวแฉกอันเดียว ซึ่งหากใครอยากอัปเกรดใส่ Ram หรือ SSD เพิ่มก็ซื้อมาทำเองที่บ้านได้ง่าย ๆ เลย

ตัวเครื่องน้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม ก็ต้องยอมรับว่าถือมือเดียวแล้วจะรู้สึกหนักพอสมควรตามสไตล์โน้ตบุ๊คเกมมิ่ง แต่ก็ยังพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกทุกที่เช่นเดิม สันเครื่องที่มีความเหลี่ยมทั้งตัวก็ถูกเจียขอบมาให้เรียบเนียนทุกส่วน รับรองว่าถือท่าไหนก็ไม่มีบาดมือแน่นอนครับ

 

พอร์ตเชื่อมต่อ

ด้านซ้ายตัวเครื่องจะประกอบด้วยพอร์ตต่าง ๆ ไล่จากซ้ายไปขวา ได้แก่ ช่องเสียบสายชาร์จแบบกลม, พอร์ต LAN หรือ RJ45, HDMI 2.0b, USB Type-C ธรรมดา, USB Type-C ที่รองรับ DisplayPort ต่อจอแยกได้, USB 3.2 Type-A และ Headset 3.5 สำหรับเสียบไมค์หรือหูฟัง

ด้านขวาตัวเครื่อง ได้แก่ USB 3.2 Type-A ที่เป็นพอร์ตเชื่อมต่ออยู่พอร์ตเดียว ถัดไปมุมสุดเป็นพอร์ต Kensington Lock สำหรับซื้อสายเฉพาะมาใช้ล็อกเครื่องไว้กับโต๊ะ กันขโมยได้ไม่ต้องกลัวหาย

 

แป้นพิมพ์ / คีย์บอร์ด

A15 รอบนี้มีการปรับปรุงดีไซน์แป้นและปุ่มให้เปลี่ยนไปจากรุ่นเดิมค่อนข้างมาก เอาสิ่งที่ยังเหมือนเดิมก่อนคือแป้นยังคงเป็นขนาด Full Size ที่มี Numpad สำหรับพิมพ์ตัวเลขมาให้ รองรับไฟ RGB Backlit AURA Sync ที่สามารถปรับความสว่างและเอฟเฟคสีต่าง ๆ ได้ในโปรแกรม Armoury Crate

นอกจากนี้ปุ่ม W-A-S-D ซึ่งเป็นคีย์ควบคุมหลักของชาวเกมเมอร์ก็ถูกทำให้เป็นปุ่มใส ซึ่งเวลาไฟ RGB เปลี่ยนสีก็จะได้เห็นแบบชัดเจนสวยกว่าปุ่มอื่นนั่นเอง

ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นเก่าหลัก ๆ เลยก็คือ ปุ่มลูกศร 4 ทิศหรือ Arrow keys จากเดิมที่เคยเยื้องลงมาด้านล่างทั้งแผง ก็โดนย่อส่วนปุ่มให้เล็กลง แล้วย้ายกลับขึ้นไปวางขนานกับปุ่มอื่นเหมือนแป้นพิมพ์ทั่วไปแทน ซึ่งหลายคนน่าจะไม่ชอบตรงนี้เพราะมันปุ่มเล็ก ทำให้กดยากขึ้นกว่าเดิม
อีกอย่างที่เป็นไฮไลต์เด็ดใหม่จริง ๆ และหลายคนน่าจะชอบ ก็คือปุ่มฟังก์ชันพิเศษ 4 ปุ่ม (เหนือปุ่ม F1-F4) ที่ประกอบไปด้วย ปุ่มลดเสียง, ปุ่มเพิ่มเสียง, ปุ่มเปิด-ปิดไมค์ และปุ่มเรียกโปรแกรม Armoury Crate ซึ่งเข้ามาช่วยให้ใช้งานของเราสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ

 

หน้าจอ

ASUS TUF Gaming A15 ยังคงจัดเต็มเรื่องประสิทธิภาพหน้าจอ โดยให้ความละเอียดมาเป็นแบบ Full HD อัตราส่วน 16:9 บนพาแนล IPS มีอัตรารีเฟรชสูงถึง 144 Hz เล่นเกมได้ไหลลื่นสุด ๆ แน่นอน แถมยังรองรับเทคโนโลยี Adaptive Sync ช่วยปรับอัตรารีเฟรชจอที่สูงให้สมดุลกับเฟรมเรตภาพที่ต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดอาการฉีกขาดของภาพระหว่างการเล่นเกมอีกด้วย

ด้านสีสันการแสดงผลต้องบอกว่าไม่ได้กว้างมาก เพราะอยู่ในระดับ 63% sRGB เท่านั้น จึงไม่ค่อยเหมาะกับเอามาใช้ทำงานกราฟิกเท่าไหร่ แต่เท่าที่ลองใช้งานเองจริง ๆ ทั้งการเล่นเกมหรือดูหนัง กลับรู้สึกว่ามันดีกว่าที่คิดไว้เยอะ แสดงรายละเอียดของภาพได้คมชัดกว่าจอเกมมิ่งหลาย ๆ ตัวเท่าที่เคยจับมาเลย บวกกับความเป็นพาแนล IPS ไม่ว่าจะหันเอียงมองมุมไหนก็ไม่มีสีสันเพี้ยนให้เห็นแม้แต่นิดเดียว

 

ซีพียู

หากใครเป็นสาวก ASUS TUF จะรู้ดีว่ารหัส A15 ที่ตามท้ายเข้ามา หมายถึงโน้ตบุ๊ครุ่นนี้ขับเคลื่อนความแรงด้วยซีพียู AMD Ryzen ซึ่งล่าสุดได้เดินทางมาซีรีส์ 6000 แล้ว แถมรุ่นนี้เองยังเลือกใช้เป็นซีพียู Ryzen 7 6800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรดตัวแรง ที่สามารถใช้งานได้อย่างไหลลื่นสุดทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหนัก ๆ, การตัดต่อวิดีโอ หรือดูหนังฟังเพลง ก็ให้ประสบการณ์การใช้งานทุกด้านได้ดีครบจบในตัวเดียวไม่มีผิดหวังแน่นอน

นอกจากนี้ ซีพียู Ryzen 7 6800H ยังเป็นซีพียูโน้ตบุ๊คที่แรงด้วยชิปกราฟิกออนบอร์ดตัวล่าสุดอย่าง Radeon 680M ซึ่งหากใครตามข่าวมาบ้างจะทราบดีว่าแค่ออนบอร์ดตัวนี้ตัวเดียวก็สามารถเล่นเกมระดับ AAA แบบปรับสุดได้ไหลลื่น โดยมีเฟรมเรตแตะระดับ 40-60 fps กันเลยทีเดียว เรียกว่าถ้าไม่มีการ์ดจอแยกก็จัดเต็มขนาดนี้แล้ว แล้วถ้ามีด้วยจะยิ่งขนาดไหน (ซึ่งก็มีมาให้เหมือนกันนะ)

 

การทดสอบประสิทธิภาพ

นอกจากซีพียู Ryzen 7 รุ่นนี้ยังมาพร้อมกับการ์ดจอ RTX 3050 4GB GDDR6 พร้อมแรมตัวเครื่องขนาด 8GB แบบ DDR5 Bus 4800 ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่สุดของเทคโนโลยีแรมในปัจจุบัน ส่วน SSD เป็นแบบ M.2 PCIe 3.0 ขนาด 512GB

 

ผลทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูบนโปรแกรม Cinebench R23 ได้คะแนน Single-Core อยู่ที่ 15,886 pts ส่วนคะแนน Multi-Core อยู่ที่ 1,805 pts ซึ่งจัดว่าแรงทรงพลังขึ้นกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับเจนที่แล้ว เอาไปใช้งานตัดต่อหนัก ๆ หรือเล่นเกมได้สบาย ๆ

ผลทดสอบความเร็วของ SSD ได้ค่า Read อยู่ที่ 3,061.41 MB/s และ Write อยู่ที่ 1,638.39 MB/s ซึ่งตีเป็นความเร็วระดับกลาง ๆ แอบเสียดายที่ไม่ให้เป็น PCIe 4.0 มาเลย (จริง ๆ ตัวเครื่องรองรับด้วยนะ) ส่วนความจุ 512GB ใช้งานได้จริงอยู่ที่ 476 GB

ต่อมาเป็นการทดสอบแบตเตอรี่แบบใช้งานทั่วไป โดยเลือกปรับแสงหน้าจออยู่ที่ 30% ลำโพง 30% และต่อ WiFi ดู YouTube ผลปรากฏว่าสามารถใช้งานได้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมงเกือบเป๊ะ ซึ่งเทียบแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไล่เลี่ยกับโน้ตบุ๊คเกมมิ่งทั่วไปในปัจจุบัน

อะแดปเตอร์ชาร์จตัวเครื่องที่ให้มาเป็นแบบ 200W ทดสอบชาร์จจริงจาก 0-100% ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ๆ ซึ่งถือว่าเร็วในเกณฑ์ทั่ว ๆ ไป

 

การระบายความร้อน

ด้านระบบระบายความร้อน ทาง ASUS ชูจุดเด่นเรื่องพัดลม ARC Flow Fans 2 ตัวที่เคลมว่าระบายความร้อนได้ดีกว่าเดิมถึง 13% บวกกับฮีตไปป์ข้างในที่ให้มาถึง 4 เส้น พาดผ่านซีพียูและการ์ดจอไล่ไปถึงฮีตซิงค์ ซึ่งทั้งหมดจะไประบายออกทางช่องด้านหลังเครื่อง 2 ช่อง บวกกับช่องด้านขวาอีก 1 รวมเป็น 3 ช่อง เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มเรื่องระบบระบายความร้อนมาให้มากทีเดียว

ส่วนการใช้งานจริงถ้าเป็นการเปิดท่องเว็บดูวิดีโอธรรมดาทั่วไปแทบไม่มีเสียงพัดลมให้ได้ยินเลย แต่ถ้าเป็นการเปิดเล่นเกม, เรนเดอร์วิดีโอหนัก ๆ หรือเปิดโหมด Turbo ของเครื่อง พัดลมก็จะดังขึ้นมาแทรกนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้ดังจนน่ารบกวนมาก แถมแป้นพิมพ์ก็ไม่ได้ร้อนตามขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว ใช้งานต่อยาว ๆ ได้สบายเลยครับ

 

การเล่นเกม

ขึ้นชื่อว่าเป็นโน้ตบุ๊คเกมมิ่ง รอบนี้ขอเลือกทดสอบการเล่นเกมโดยใช้เกมหนักสเปคเครื่องสุด ๆ อย่าง Cyberpunk 2077 มาเทสให้ชมกันเลย โดยจะวัดผล Benchmark ต่าง ๆ ผ่านโปรแกรม MSI Afterburner มาดูกันว่าการ์ดจอ RTX 3050 กับแรม 8GB DDR5 จะเอาเกมนี้อยู่รึเปล่า

 

เกม Cyberpunk 2022 รอบนี้เลือกปรับ Settings เป็นแบบ High บนความละเอียด 1080p พบว่าในฉากธรรมดาทั่วไปอย่างเช่นตอนขับรถหรือฉากสนทนา สามารถขับเฟรมเรตออกมาได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 35-41 FPS ซึ่งถือว่าสูงใช้ได้สำหรับการ์ดจอตัวเริ่มต้นอย่าง RTX 3050 เพราะอย่างที่บอกว่าเกมนี้มันกินสเปคหนักมากจริง ๆ ถ้าไม่เปิดโหมด Turbo ช่วยคงเอาไม่อยู่แน่ ๆ

ส่วนฉากบวกหนัก ๆ อย่างตอนรุมยิงหรือระเบิดแรง ๆ เจอเฟรมเรตดรอปลงไปนิดหน่อย ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 31 FPS ซึ่งถือว่าไม่เยอะมาก ยังเล่นต่อได้ยาว ๆ ไม่ค่อยมีอาการกระตุกให้เห็น

 

ฟีเจอร์ซอฟต์แวร์

ASUS TUF Gaming A15 ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ประจำเครื่องอย่าง Armoury Crate ที่ออกแบบมาให้ใช้สำหรับมอนิเตอร์ฮาร์ดแวร์ภายในเครื่อง รวมถึงใช้ปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ ของเครื่องไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสี RGB ของแป้นพิมพ์, ปรับความเร็วพัดลม, ควบคุมการทำงาน GPU, ล้างหน่วยความจำแรม ไปจนถึงเลือกปรับโหมด performance ของเครื่องให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะด้านนั้น ๆ ได้

นอกจากนี้ TUF Gaming A15 ยังมาพร้อมกับระบบ MUX Switch ที่สามารถสลับการทำงานของ GPU ไปมาระหว่างการ์ดจอแยกกับการ์ดจอออนบอร์ดได้ ซึ่งถ้าปรับเป็นโหมดเปิด MUX Switch เอาไว้ เครื่องก็จะเปลี่ยนไปใช้การ์ดจอแยกทำงานอย่างเดียวเต็มรูปแบบ เวลาเล่นเกมก็ลื่นหัวแตกสุด ๆ กันเลย แต่ก็มีข้อเสียคือจะกินพลังงานมากขึ้นเล็กน้อย รวมถึงเวลาสลับเปลี่ยนทุกครั้งก็ต้องรีสตาร์ทเครื่องก่อน 1 รอบ

 

สรุปจุดเด่น

  • ซีพียู Ryzen 7 รหัส H ตัวแรง
  • ใช้แรมแบบ DDR5 Bus 4800
  • หน้าจออัตรารีเฟรช 144 Hz
  • แป้นพิมพ์ขนาดเต็มมี Numpad มาให้
  • แป้นพิมพ์รองรับไฟ RGB ปรับเอฟเฟคสีได้ผ่านซอฟต์แวร์
  • มีปุ่มฟังก์ชันพิเศษ เพิ่ม-ลดเสียง, เปิด-ปิดไมค์ และเรียกโปรแกรมควบคุมเครื่อง แยกมาให้บนแป้นเลย
  • พอร์ตเชื่อมต่อเยอะ มีมาให้เกือบครบ Type-C ต่อจอแยกได้ด้วย
  • อัปเกรดแรมกับ SSD เพิ่มได้
  • มีปุ่ม MUX Switch สลับการทำงานของ GPU ได้
  • โลหะ ดีไซน์พรีเมียม มีขอบให้จับ แถมเปิดกางด้วยมือเดียวได้
  • ตัวเครื่องทนทานระดับ Military Standard กันกระแทกหรือกันตกได้ดี

 

ข้อสังเกต

  • SSD ยังเป็นแบบ PCIe 3.0 อยู่ ซึ่งท้องตลาดตอนนี้เริ่มใช้ PCIe 4.0 กันหมดแล้ว
  • มีแรมมาให้ 8GB ซึ่งควรอัปเป็น 16GB เพื่อให้เพียงพอกับการใช้งาน
  • ปุ่ม Arrow Keys บนแป้นพิมพ์มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจใช้งานได้ไม่ถนัด

 

ช่องทางการจัดจำหน่าย

สามารถหาซื้อ ASUS TUF Gaming A15 มาเป็นเจ้าของกันได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ที่ร้าน BaNANA ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือช้อปออนไลน์ > https://bit.ly/3OhKqwl ในราคาเริ่มต้นเพียง 37,990 บาท ซึ่งถ้าซื้อวันนี้จะมีโปรโมชั่นแถมฟรีเมาส์ Wireless และกระเป๋าเป้ ASUS Backpack ให้ด้วย ใครเป็นสาวก TUF หรือมองหาเกมมิ่งโน้ตบุ๊คเด็ด ๆ ราคาคุ้มสเปคอยู่ บอกเลยว่าอย่าพลาดรุ่นนี้ด้วยประการทั้งปวง เข้าไปติดตามรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมกันได้เลย