สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตา อักษรเบรลล์นั้นถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากการใช้จุดนูนเล็กๆ 6 ตำแหน่งมาประกอบกันเข้าจนเป็นรหัสแทนอักษรแล้วการใช้จุดเหล่านี้ทำขึ้นแทนแผนที่ต่างๆ ก็ยังเป็นการสื่อสารกับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตาได้ดีอีกทางหนึ่งเพราะช่วยให้พวกเขาสามารถเห็นภาพรวมของสถานที่ได้ เช่นการจุดโครงร่างของห้องประชุมพร้อมชี้ช่องทางการหนีไฟเผื่อในกรณีฉุกเฉินเป็นต้น

ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Rutgers ในนิวเจอร์ซี่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ดีและได้นำเอาเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติที่ค่อนข้างเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำแผนที่ที่เอาพลาสติกมาขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3มิติเพื่อให้มีความคงทนมากกว่าการใช้กระดาษแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีผลงานไอเดียคล้ายๆ กันจากบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Touch Mapper ที่รับผลิตแผนที่สำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตาโดยใช้การพลาสติกขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3 มิติเช่นเดียวกัน แต่ค่ายนี้จะเน้นไปที่การทำแผนที่นอกอาคารเช่นแผนที่เส้นทางถนนต่างๆ เสียมากกว่า โดยใช้ภาพแผนที่ 2 มิติจาก OpenStreetMap มาเป็นต้นแบบซึ่งก็จะมีทั้งแบบที่ใช้อักษรเบรลล์และแบบที่ไม่ใช้อักษรเบรลล์สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางในชีวิตประจำวันให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตา

แม้นี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับหลายๆ คน แต่ก็ถือเป็นการใส่ใจและเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเติมเต็มและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านสายตาได้มากทีเดียวค่ะ

Source: 3ders.org, th.wikipedia via blognone