OPPO ประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยแบบทดสอบหฤโหดของสมาร์ทโฟน OPPO Reno6 Series 5G ว่าต้องผ่านต้องเจออะไรบ้างในห้องแล็ป ก่อนจะได้ออกมาวางจำหน่ายในตลาดจริง ๆ ซึ่งวันนี้ทาง DroidSans ได้รวบรวมแบบทดสอบทั้งหมดมาให้เพื่อน ๆ อ่านกันแล้วครับ เรียกได้ว่าโหดกว่าการทดสอบของเฮีย Zach จาก JerryRigEverything เสียอีก 

1) การทดสอบตกจากที่สูง กรณีทำโทรศัพท์ร่วง

การทำโทรศัพท์ตก เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่เราพบเจอบ่อยสุดในชึวิตประจำวัน เนื่องจากต้องยอมรับว่ามือถือสมัยนี้หากไม่ใส่เคส มันจับถือลำบาก ลื่นมือจริง ๆ หรือบางทีเวลาหยิบออกมาจากกระเป๋าก็ตกพื้นซะงั้น ในส่วนนี้ทาง OPPO ก็ได้ทำการทดสอบ Drop Test มาตรฐานในแล็ป OPPO QE Reliability Lab จำลองสถานการณ์ตั้งแต่ 1 – 1.5 เมตร จำนวนทั้งหมด 12 – 24 ครั้ง ตกทุกมุมทุกขอบ เพื่อให้แน่ใจว่าถึงเวลาใช้งานจริง OPPO Reno6 Series 5G จะสามารถทนทานต่อการตกหล่นได้ 

2) การทดสอบกันน้ำ กันละอองฝน

อีกหนึ่งปัญหาชวนปวดหัวของการใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันก็คือการทำตกน้ำ แม้ว่าสมาร์ทโฟน Reno6 Series 5G จะไม่ได้ผ่านมาตรฐาน IP แบบ Official แต่ในการทดสอบในแล็ปของบริษัทฯ มือถือซีรีส์รุ่นดังกล่าวก็ได้ผ่านการทดสอบป้องกันน้ำฝนมาตรฐาน IPX4 สามารถแช่อยู่ในน้ำลึก 20 เซนติเมตร เป็นเวลานาน 30 วินาที เหมาะกับฤดูฝนตอนนี้มาก ๆ สามารถทนน้ำได้ระดับนึงเวลาโดนละอองฝนสาด

3) การทดสอบในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและต่ำ 

โดย OPPO Reno6 Series 5G ได้ถูกทดสอบในห้องแล็ปที่สภาพแวดล้อมจะถูกปรับเปลี่ยนแตกต่างกันออกไป ทั้งในสภาวะอุณหภูมิที่สูงมาก ๆ 75 องศาเซลเซียส อย่างเช่น วางมือถือทิ้งไว้ในรถยนต์ที่อุณหภูมิสูงและอับ หรือเย็นสุดขั้วติดลบ 40 องศาเซลเซียส ตรงนี้ Reno6 Series 5G ก็ผ่านแบบทดสอบไปได้แบบสบาย ๆ อยู่ได้นานถึง 7 วัน (168 ชั่วโมง) มากกว่าค่าเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ถึงสองเท่าตัว ที่ส่วนใหญ่มักจะทดลองกันแค่ 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมงเท่านั้น

OPPO ยังจับ Reno6 Series 5G ไปทดสอบในสภาพแวดล้อมจำลองชายฝั่งทะเล ที่มักจะมีทั้งความชื้นและความเค็มในอากาศสูงกว่าปกติ โดย Reno6 Series ถูกพ่นด้วยสารละลายเกลือจำนวน 5% เป็นเวลา 2 ชั่วโมงเต็ม ๆ ก่อนจะถูกนำไปเก็ยใยที่ควบคุมอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และความชื้น 95% พบว่า Reno6 Series 5G ก็ผ่านการทดสอบแบบสบาย ๆ เช่นเคย โทรศัพท์ยังใช้งานฟังก์ชั่นได้ปกติ ส่วนประกอบไม่มีชำรุด และไม่พบร่องรอยของความเสียหายบนพื้นผิวมือถือ

นอกจากสภาวะหนัก ๆ ข้างต้นแล้ว เหงื่อของมนุษย์หรือเครื่องสำอาง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โทรศัพท์เสียหายได้เช่นกัน โดย OPPO ได้ทดสอบ Sweat Test (ห่อด้วยผ้าที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ) และ Cosmetics Test (ทาโทรศัพท์ด้วยเครื่องสำอาง) เป็นเวลาทั้งหมด 48 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง (เวลาพัก) ตามลำดับ พบว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ยังสามารทำงานได้ปกติ ไม่มีปัญหาใด ๆ

4) การทดสอบประจุไฟฟ้าสถิต

ยิ่งไปกว่านั้น OPPO ยังได้นำสมาร์ทโฟน Reno6 Series 5G มาทำการทดสอบประจุไฟฟ้าสถิตในพื้นที่แห้งแล้ง ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับฮาร์ดแวร์ด้านในมือถือ โดยตัว Reno6 Series ถูกทดสอบโดยการคายประจุไฟฟ้าแบบสัมผัส (Contact Discharge) ที่ ±8 กิโลโวลต์ และการคายประจุไฟฟ้าผ่านอากาศ (air discharge) ที่ ±12 กิโลโวลต์ ซึ่งแน่นอนว่า OPPO Reno6 Series 5G ก็ผ่านการทดสอบนี้ไปได้ตามค่ามาตรฐานของ RF index parameters

5) การทดสอบอุณหภูมิความร้อนของตัวเครื่องเวลาเล่นเกมติดกันนาน ๆ

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการเล่นมือถือไปนาน ๆ แล้วเกิดอาการ “เครื่องร้อน” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งอาการดังกล่าวนี้แหละอาจทำให้เครื่องมีปัญหาได้ในระยะยาว แต่ OPPO ได้มองการณ์ไกล ติดตั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ขั้นสูงร่วมมือกับ Qualcomm และ MediaTek เพื่อที่จะควบคุมอุณหภูมิของตัวเครื่องไม่ให้สูงมากจนเป็นอันตรายต่อสมาร์ทโฟนและผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ OPPO Reno6 Series 5G ยังมีระบบ Vapor Chamber Cooling ขนาดใหญ่ถึง 2,362 มิลลิเมตร ที่ลดความร้อนได้เพิ่มขึ้นถึง 24.8% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า รวมถึงตัวเมนบอร์ดก็ทำจากวัสดุทองแดงและ Center Frame ทำจากอะลูมิเนียม ทำให้ช่วยระบายความร้อนได้ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุคนละแบบ โดยตรงนี้จะเข้ามาช่วยให้การเล่นเกมบน OPPO Reno6 Series 5G สามารถทำได้ยาวนานขึ้นในขณะที่ตัวเครื่องร้อนช้าลง

6) การทดสอบการบิดและการกดกับเวลาใส่มือถือในกระเป๋าหลังกางเกง

อีกหนึ่งสาเหตุของการที่สมาร์ทโฟนถูกบิดหรือกดทับ ก็คือการใส่เอาไว้ในกระเป๋าข้างหลังกางเกง ซึ่งตรงนี้ทาง OPPO ก็ได้ทำการบิด Reno6 Series 5G ทั้งหมด 1,000 ครั้ง และใช้เครื่องกดน้ำหนัก 15 – 40 กิโลกรัม กดลงบนตัวเครื่อง ซึ่ง Reno6 Series ที่ผ่านการทดสอบ จนถึงขั้นวางขายตามหน้าร้าน ต้องผ่านการทดสอบเหล่านี้ทั้งสิ้น

7) การทดสอบความทนทานของปุ่มกดและพอร์ตต่าง ๆ ของตัวเครื่อง

พอพูดถึงคำว่า Durability Test เพื่อน ๆ หลายคนอาจนึกถึงช่อง JerryRigEverything แต่นี่ไม่ใช่ เพราะในห้องแล็ปของ OPPO ได้ทำการทดสอบความแข็งแกร่งของ Reno6 Series 5G ที่หฤโหดกว่าช่องนั้นซะอีก ไล่ตั้งแต่การโดนกดแรงเทียบเท่า 1 กิโลกรัมลงบนปุ่มโทรศัพท์ และเหล่าพอร์ตต่าง ๆ เป็นจำนวนกว่าพันครั้ง เพื่อจำลองการใช้งานจริงตลอดอายุการใช้งาน

โดยเมื่อทดสอบเสร็จแล้ว ปุ่มทั้งหมดจะต้องอยู่ในสภาพนางฟ้าแบบเดิม ใช้งานได้ปกติ ไม่มีส่วนไหนเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบเสียบพอร์ตชาร์จ 10,000 ครั้งจากหลากหลายมุม รวมถึงเสียบคาเอาไว้แล้วโดนกดลงราว ๆ 5,000 – 10,000 ครั้งด้วยแรงหนักถึง 3 กิโลกรัม เรียกได้ว่ากว่าจะวางขายได้ ทรหดอยู่เหมือนกันนะสำหรับ OPPO Reno6 Series 5G

การทดสอบตัวเครื่องภายในก็สำคัญไม่แพ้กับภายนอก ในส่วนนี้ OPPO ก็ให้ความสำคัญทดสอบ Reno6 Series 5G ใน QE Lab และ Communication Lab ของบริษัทฯ ที่จะช่วยตรวจสอบความเสถียรของเครื่องเพื่อประสบการณ์การใช้งานการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้น โดยการทดสอบภายในตัวเครื่องต่าง ๆ มีดังนี้

8) OTA LAB การทดสอบรับสัญญาณ 5G

OPPO ได้ทดสอบเสารับส่งสัญญาณของ Reno6 Series 5G ว่าจะสามารถรองรับสัญญาณ 5G ได้ทุกคลื่นความถี่และมีประสิทธิภาพอย่างที่โฆษณาเอาไว้ โดยบริษัทฯ ได้ทดสอบ Passive Test ที่ตัวรับสัญญาณจะถูกแยกออกจากส่วน RF Front แล้วเชื่อมต่อโดยตรงกับเครื่องกำเนิดสัญญาณ ซึ่งการทดสอบนี้จะทำเพื่อวัดประสิทธิภาพของที่รับสัญญาณ ว่าสามารถต่อสัญญาณคลื่นความถี่จากค่ายมือถือทุกค่าย และอีกหนึ่งการทดสอบคือ Active Test ที่จะเชื่อมต่อโดยตรงกับเครื่องกำเนิดสัญญาณ เพื่อวัดความไวในการรับสัญญาณ นอกจากนี้ OPPO ยังร่วมมือกับ Ericsson สร้างห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อการันตีว่า Reno6 Series 5G สามารถรับส่งข้อมูลบผ่านคลื่นความถี่ 5G ได้จากทั่วทุกมุมโลก (เฉพาะที่เครื่องรองรับ)

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านการทดสอบข้างต้น แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สมาร์ทโฟนเครื่องนึงไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ หนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นที่พบเจอบ่อยที่สุดก็คือ “วิธีการจับถือโทรศัพท์” ที่อาจจะขวางเสารับสัญญาณได้ ด้วยเหตุนี้เอง วิศวกรและทีม R&D ของ OPPO ได้ออกแบบ Reno6 Series 5G ให้สามารถรับสัญญาณได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพื่อการรับส่งสัญญาณที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะจับถือท่าไหนก็ตาม

และหลังจากทดสอบในห้องแล็ปจบแล้ว OPPO ยังนำ Reno6 Series 5G มาทดสอบจริงในชีวิตประจำวันอีกด้วย ปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ได้ผ่านการทดสอบจากภาคสนามกว่า 200 เมืองทั่วโลกว่าสัญญาณมีความเสถียร ไม่มีหลุด ๆ ดับ ๆ

9) SAR Lab การทดสอบคลื่นความถี่ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์

นอกจากการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานทั้งในส่วนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แล้ว ทาง OPPO ยังทำการทดสอบเชิงลึกกับคลื่นความถี่วิทยุที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวมนุษย์ หากร่างกายซึมซับมากเกินไป บริษัทฯ จึงทำการทดสอบที่ชื่อว่า SAR หรือ Specific Absorption Rate ที่ SAR Lab เพื่อวัดหาปริมาณคลื่นความถี่ที่เนื้อเยื่อมนุษย์ซึมซับเข้าไปเมื่อยามใช้โทรศัพท์ และด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในอุตสาหกรรม (ที่อื่นยอมรับค่าแปรปรวนที่ 1.0 dB แต่ OPPO ยอมรับ 0.5dB อีกทั้งยังต้องผ่านการทดสอบมากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ถึงสองครั้ง) ทำให้ผลลัพธ์ออกมายืนยันว่า OPPO Reno6 Series 5G นั้นปลอดภัยสำหรับการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันครับ 

โดย OPPO เป็นเจ้าแรก ๆ ในอุตสาสหกรรมที่ทดสอบอัตราการดูดซึมของสัญญาณ 5G โดยใช้ Signaling Test เทียบกับการทดสอบทั่วไปในวงการมือถือ วิธีนี้จะช่วยจำกัดคลื่นความถี่ให้อยู่ในอัตราที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้งานนั่นเอง

10) EMC Lab การทดสอบคลื่นความถี่ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวโทรศัพท์

จริง ๆ แล้ว คลื่นความถี่วิทยุไม่ใช่คลื่นเดียวที่ปล่อยออกมาจากสมาร์ทโฟน และแม้ว่าคลื่นเหล่านั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของสมาร์ทโฟนได้ ตรงนี้ห้องปฏิบัติการ EMC Lab ทาง OPPO เองก็ทดสอบ Reno6 Series 5G อย่างเข้มงวดให้แน่ใจว่าระดับคลื่นความถี่จะอยู่ในระเบียบข้อบังคับของหลักสากล เพื่อรับประกันว่าคลื่นเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่อง 

11) การทดสอบระบบเสียง

ปิดท้ายกันที่การทดสอบระบบเสียง โดยก่อนที่ Reno6 Series 5G จะมาถึงมือผู้บริโภค ทาง OPPO จะต้องทดสอบระบบเสียงที่จัดขึ้นโดย Audio Test Lab ของบริษัทฯ เอง โดยสปีกเกอร์ ตัวรับเสียง หรือไมโครโฟน จะถูกทดสอบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล 

ทั้งหมดนี้เป็นบททดสอบหฤโหดที่ OPPO Reno6 Series 5G ต้องเจอในห้องแล็ป ก่อนออกมาวางขายให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้เลือกซื้อกัน โดยในบ้านเรา OPPO Reno6 Series 5G ก็มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ Reno6 Z 5G, Reno6 5G และ Reno6 Pro 5G ซึ่งหากใครเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อตัวไหน สเปครุ่นไหนคุ้มกว่ากัน ก็สามารถดูคลิปเปรียบเทียบด้านล่างได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม​: OPPO (1) (2) (3

 

Play video