สวัสดีครับสมาชิก DroidSans ทุกท่าน เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน 3G Drive Test ที่จัดขึ้นโดย กสทช. ร่วมกับรายการแบไต๋ไฮเทค ซึ่งทำการนำ Blogger 40 กว่าชีวิตไปร่วมขับรถทดสอบสัญญาณมือถือทุกเครือข่ายภายในกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้มีการจัดเตรียมเส้นทางใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการเดินทางไปเส้นทางไหนนั้นจะใช้เสียงโหวตจาก Blogger ในการกำหนดเส้นทางเป็นหลัก เพื่อความ “โปร่งใส ยุติธรรม เห็นกันจะจะ” (เค้าว่ามาอย่างนั้น)

เริ่มงาน…

กำหนดการเริ่มต้นที่ 9.00 น.ซึ่งก็มี Blogger ทยอยมาที่บริเวณอาคาร กสทช. เรื่อยๆ เพื่อลงทะเบียนจนถึงเวลาประมาณ 9.30 น.ก็เริ่มพิธีการอย่างเป็นทางการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าของรายแบไต๋ไฮเทค ได้เริ่มแนะนำกิจกรรมและความเป็นมาถึงเหตุผลที่จัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อไขข้อข้องใจว่า กสทช. ทดสอบสัญญาณมือถือของแต่ละเครือข่ายอย่างไรและมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

600x750

กสทช.จะใช้รถ Honda CRV G3 สีดำ ที่มีสติ๊กเกอร์ว่ารถทดสอบสัญญาณของสำนักงาน กสทช คาดเอาไว้ โดยหลังรถมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบสัญญาณซึ่งมันก็คือ โทรศัพท์มือถือ Android ยี่ห้อ Samsung 10 กว่าเครื่องใส่ซิมเติมเติมเงินของทั้ง 5 ค่ายไว้ ได้แก่ AIS, DTAC, Truemove H, CAT และ TOT ครับ โดยจะมีรถแบบนี้วิ่งอยู่ทุกวันในเวลาราชการ นอกจากรถก็จะมีกล่องทดสอบสัญญาณวางอยู่ 28 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดอื่นๆ ที่จะส่งข้อมูลแบบ realtime มาให้ กสทช. อีกด้วย

600x350
600x280

หลังจากแนะนำอุปกรณ์เสร็จแล้ว พอ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกทค. หรือ “พี่มาร์ช” ก็ได้กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น Blogger ที่ไปร่วมงานจะได้เสื้อ “นักทดสอบสัญญาณ” มาใส่กันทุกคนครับ ตอนนี้พวกเราก็พร้อมออกเดินทางกันแล้วล่ะ

600x300

ออกเดินทาง…

จำรถ CRV คันเมื่อกี๊ได้มั้ยครับ? เราไม่ได้นั่งเจ้ารถคันนี้ไปทดสอบสัญญาณกันแน่นอน จะนั่งยังไงไหวตั้ง 40 กว่าคน ทาง กสทช. ได้จัดเตรียมรถบัสคันใหญ่พร้อมติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณจากโทรศัพท์ทือถือและจอ LCD ขนาดใหญ่แสดงผลการวัดสัญญาณให้ Blogger ทุกคนได้เห็นกันระหว่างเดินทางครับ โดยมี พี่ตุ้ย เจ้าหน้าที่ของ กสทช. ช่วยบรรยายผลการทดสอบไปตลอดเส้นทาง

600x300

สำหรับเส้นทางที่ใช้เดินทางกันวันนี้ค่อนข้างจะวกไปวกมาเพราะ Blogger โหวตจะเข้าไปสยามกันแต่ติดงาน Car Free Day สุดท้ายเส้นทางเลยเป็นเริ่มแรกออกเดินทางออกจากสำนักงาน กสทช ที่ซอยสายลม แล้วมุ่งหน้าไปทางถนนวิภาวดีรังสิตตรงไปทางดอนเมือง จากนั้นเลี้ยวขวาเข้ารามอินทราเพื่อขึ้นทางด่วนไปลงที่ยมราช แล้วจึงวกกลับมาทางสามย่านหน้าสำนักงานใหญ่ Dtac ที่จามจุรีสแควร์ ผ่านสวนลุมเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิทยุ เลี้ยวซ้ายอีกทีผ่านหน้าสยาม ตรงไปขึ้นทางด่วนยมราชอีกครั้งเพื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิ และจอดที่จุดสุดท้ายที่ Mega Bangna

600x400

หลังจากนี้จะเป็นข้อมูลวิธีการทดสอบและผลการทดสอบที่ทาง กสทช. จัดทำเป็นเอกสารไว้ให้ โดยการทดสอบจะทำบนเครือข่ายทั้งหมด 5 เครือข่าย ดังตาราง

วิธีการทดสอบจะทำการทดสอบทั้ง Voice Call และ Data Service ดังนี้

  • Voice Call จะเป็นการทดสอบโทรเข้าเบอร์บ้านหรือ Fixed Line แล้ววางสาย ทำอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ
  • Data Service จะเป็นการ download file ขนาด 5 MB จาก FTP Server ของ กสทช. ทำอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ

ใครอยากดูข้อมูลแบบละเอียดสามารถดูได้จากเอกสารใน ที่มา ด้านล่างบทความนะครับ

เลขที่ออก…

สำหรับผลการทดสอบที่ได้ออกมาเป็นดังนี้

ผลการทดสอบในวันนี้ AIS สามารถทำได้ดีกว่าเครือข่ายอื่นในทั้ง 2 ด้านคือ Voice Call และ Data Service แต่อย่างที่ทาง กสทช. ย้ำเสมอ เราไม่สามารถนำผลการทดสอบแค่ 1 วันไปวัดว่า ใครดีกว่าใคร หรือ ใครชนะใคร ได้ เพราะมันต้องอาศัยการเก็บข้อมูลเป็นปี และมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่การวาง Cell site เพราะตลอดเส้นทางการทดสอบนั้น ทุกเครือข่ายผลัดกันดีผลัดกันแย่ไปตลอดเส้นทาง หรือเรื่องความหนาแน่นของเครือข่าย เช่น หาก True มีผู้ใช้บริการมากกว่าในพื้นที่หรือช่วงเวลานั้นก็ย่อมทำคะแนนได้น้อยกว่าเป็นธรรมดา (อันนี้ กสทช. ยกตัวอย่างนะครับ) ทั้งนี้ทั้งนั้นผลลัพธ์สุดท้ายที่เราอยากจะเห็นคือ ทุกเครือข่ายสามารถให้บริการสัญญาณที่มีคุณภาพและครอบคลุมอย่างคำโฆษณาที่ให้ไว้มากกว่า

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม…

  • ปกติ กสทช. จะมีการแจ้งเตือนทาง operator อยู่เนืองๆถึงจุดที่สัญญาณไม่ดี ถ้าเตือนแล้ว 5 ครั้งยังไม่มีการแก้ไข จะมีการดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฏหมาย แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการตอบสนองอย่างดี ไม่เคยต้องปรับค่ายไหนเลย
  • บางครั้งทาง operator ก็ขอบคุณ กสทช. มาด้วยสำหรับการแจ้งเตือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่หรือช่างบางคนก็ไม่รายงานความบกพร่องของอุปกรณ์ต่อบริษัทเพราะกลัวความผิด
  • ความเร็ว​รถเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความแรงของสัญญาณ​ในการใช้งาน เห็นได้ชัดจากการใช้งานบนรถไฟฟ้าเทียบกับรถบนท้องถนน
  • กสทช. กำลังจะมี Project แบบ Crowdsourcing ที่จะเปิดให้ประชาชนช่วยรายงานปัญหาสัญญาณของเครือข่ายมือถือผ่าน app ที่ทาง กสทช. กำลังพัฒนาขึ้นมา
  • เรื่อง ICT Free Wifi ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงนั้น ทาง กสทช. บอกว่าเป็นการขอความร่วมมือเชิงนโยบายไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายช่วยเปิด Hotspot เพิ่มเติมให้ประชาชนใช้งานฟรี เพราะมันเป็น​ของฟรีเลยไม่มี​อำนาจ​ไปลงโทษ​ใครได้ ทำได้แค่ขอความร่วมมือ​และดูแลเป็นจุดๆไป
  • ถ้าประชาชนไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการและต้องการร้องเรียน สามารถร้องเรียนกับทาง กสทช. ได้ที่เบอร์ 1200

ทิ้งท้าย…

ต้องขอขอบคุณทาง กสทช. และแบไต๋ไฮเทคที่จัดงานนี้ขึ้นมา ทำให้เราได้เห็นข้อมูลการทำงานเพิ่มเติมของ กสทช. ว่าทำอะไรไปกับเครือข่ายที่อยู่ในความดูแลบ้างและขอขอบคุณเป็นการส่วนตัวสำหรับ Mod ทั้ง 3 คนที่ไม่มีใครว่าง Mod เนยไปอยู่สิงคโปร์ ส่วน Mod กิมไปเที่ยวญี่ปุ่น และ Mod พัตรไปตระเวณแดนมังกร ทำให้ผมเป็นผู้โชคดีไปเป็นตัวแทนของ DroidSans ในงานครั้งนี้ และเหมือนโชค 3 สามชั้นที่ผมได้เจอ 3 ท่านนี้ตัวเป็นๆในงาน คือ น้องเก่ง kawiz , คุณเฟื่องลดา พิธีกรจากแบไต๋ และคุณเอิ้น ปานระพี ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 มีความประทับใจเป็นส่วนตัวกับทั้ง 3 ท่านจึงถือว่าเป็นการร่วมงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต 555

600x350

แถมท้ายอีกนิดกับ clip การซ้อมคิวถ่ายราย IT24Hrs ของคุณเอิ้น ปานระพีที่ผมถ่ายเก็บไว้เพราะคุณเอิ้นมายืนข้างๆผมเลยครับ

Play video

ที่มา: ผลการทดสอบจาก กสทช. และภาพน้องเก่งจาก @kengkawiz