การประมูล 4G คลื่น 1800MHz และ 900MHz ในประเทศไทย หลายคนน่าจะพอทราบกันบ้างแล้วว่าเตรียมจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยคลื่น 1800MHz จะถูกประมูลก่อนในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ส่วนคลื่น 900MHz ที่เอไอเอสกำลังจะหมดสัมปทานในวันที่ 30 ก.ย. เตรียมจะถูกนำไปประมูลในวันที่ 15 ธ.ค. ต่อไป แต่จากประวัติศาสตร์ของเรา การประมูลคลื่นความถี่แต่ละครั้งไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ วันนี้เรามาอัพเดทกันเพิ่มเติมหน่อยดีกว่าว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว

 

คลื่น 900MHz ยังง่อนแง่น มีสิทธิ์ถูกยกการประมูลอยู่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. เราเพิ่งได้เห็นทางสหภาพแรงงาน TOT ประกาศเตรียมออกมายื่นฟ้อง กสทช. หากมีการประมูลคลื่น 900 MHz จริง โดยอ้างว่าจะทำให้ TOT เสียหายเป็นหมื่นล้าน เนื่องจากทรัพย์สินที่ได้จากเอไอเอสหลังหมดสัมปทานจะด้อยค่าลงไปทันทีนั่นเอง

 

คลื่น 1800MHz ยังดูไม่มีปัญหา ลุ้นดีแทคคืนคลื่นสำเร็จ

ยังไม่มีข่าวน่าห่วงว่าจะถูกล้มประมูลในช่วงนี้ แต่ก็ยังวางใจไม่ได้เพราะในอดีตก็มีการยื่นฟ้อง หยุดการประมูลก่อนหน้าวันจริงเพียงวันเดียวมาแล้ว ก็หวังว่าสามารถจัดการประมูลได้อย่างไม่มีปัญหาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

โดยคลื่น 1800MHz นี้ ถือว่าเป็นคลื่นมาตรฐานในการทำ 4G โทรศัพท์โดยมากจะรองรับคลื่นนี้เกือบทั้งหมด ประเด็นที่ต้องลุ้นกันคือทางกสทช.จะนำเอาคลื่นที่ Dtac ถือครองอยู่มาร่วมประมูลด้วยหรือไม่ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันคือจะมีการประมูลคลื่นทั้งหมด 25MHz คิดเป็น 2 ใบอนุญาต ซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 12.5 MHz และ 12.5MHz

แต่ปัญหาคือคลื่น 4G เวลาเอามาใช้งาน มันจะคิดเป็นบล็อค และต้องใช้บล็อคละ 5MHz หากว่าประมูลมาที่จำนวน 12.5MHz คนที่ได้ไปก็จะงงๆหน่อยว่าจะเอา 2.5MHz ที่เหลืออยู่ไปทำอะไรดี

 

ทีนี้ คลื่น 1800MHz เนี่ย จริงๆมันเป็นช่วงความถี่ที่ค่อนข้างยาว ไม่ได้มีแค่ 25MHz ที่ทางกสทช.จะนำเอามาประมูล ซึ่งส่วนที่เหลืออยู่ส่วนนึงเป็นทาง Dtac ที่ถือเอาไว้อยู่แต่ก็ไม่ได้ใช้งานอะไร จึงได้ทำเรื่องยื่นขอคืนคลื่นกลับไป 5MHz ให้สามารถนำเอาไปประมูลได้ครบ 30MHz และใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่มันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องมีการรีฟาร์ม (refarm) ย้ายคลื่นความถี่ที่ Dtac ใช้อยู่จากที่กระจัดกระจาย ให้กลับมาเป็นก้อนๆ และนำไปใช้งานได้ และนั่นก็ต้องให้ทางกสทช. และ CAT ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ Dtac เป็นคนอนุมัติยินยอมก่อนเท่านั้น

โดยปัจจุบันทางดีแทคได้แจ้งความประสงค์ไปยังกสทช.และได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ยังมีเรื่องเอกสารและการดำเนินการอีกหลายๆที่ยังต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนการประมูล หากลุล่วงไปได้ด้วยดี เหล่าเครือข่ายที่ประมูลได้ไปก็จะสามารถนำเอาความถี่ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมูลค่าการประมูลก็จะสูงขึ้น เอาเงินเข้าคลังได้มากขึ้นกว่าเดิมครับ

ตารางการถือครองสัมปทานคลื่นความถี่ของแต่ละเครือข่ายในประเทศ ทำโดย Huawei เอามาฝากเผื่อใครอยากทราบ

 

สรุปว่าประมูลคลื่น 4G น่าจะมาแน่แต่ไม่รู้กี่มากน้อย

โดยสรุปแล้วการประมูล 4G น่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างแน่นอน หลังจากที่เห็นทั้งกสทช. และท่านรองนายกประจิน ออกมาหนุนหลังกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคลื่น 1800MHz ที่มีการสนับสนุนให้มีการนำคลื่นของ Dtac ให้เข้าไปรวมเป็น 30MHz ด้วย ส่วนคลื่น 900MHz จะยังต้องมีลุ้นอีกเล็กน้อย

 

ใครจะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้บ้าง?

ทั้ง AIS DTAC และ Truemove มาตามนัด ร่วมลงประมูลกันครบทั้งสามค่าย แต่ว่าค่ายที่ต้องการกว่าใครคงจะไม่พ้น AIS ที่ทุกวันนี้ แบนด์วิธตามหัวเมืองใหญ่ใกล้จะเต็มอยู่แล้ว จากจำนวนผู้ใช้งานที่เยอะที่สุด (ประมาณ 40 ล้านเลขหมาย) แต่ว่ามีความถี่ในมือน้อยที่สุด (15+MHz) ส่วนค่ายที่ต้องการน้อยที่สุดก็คือ Truemove ที่วันนี้มีคลื่นความถี่ในมือมากที่สุดนั่นเอง (30+MHz) แว่วๆว่าอาจจะมีการดึงเอา JAS หรือที่รู้จักกันในนาม 3BB มาร่วมประมูลด้วย แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้ครับ

 

Dtac เตรียมเริ่มใช้คลื่น 1800MHz ทำ 4G ก่อนประมูล

มาแบบเซอร์ไพรส์ๆ แถลงกันไปเมื่อเช้านี้ โดยทาง Dtac เตรียมเอาคลื่น 1800MHz  ที่ยังเหลืออยู่ส่วนนึง (10MHz) มาแปลงจาก 2G เป็น 4G ให้บริการกันไปก่อนการประมูล โดยปัจจุบันกสทช.อนุมัติให้ดำเนินการได้แล้ว แต่ว่ายังต้องผ่านขั้นตอนทางเอกสารอีกเล็กน้อย คาดว่ากว่าจะเริ่มได้จริงจะเป็นช่วงสิ้นเดือนตุลาฯ โดยจะเริ่มต้นที่กรุงเทพฯก่อนและหากประมูลได้ก็เตรียมเอาคลื่นมาเชื่อมต่อกันได้เลย

เพิ่มเติมสำหรับคนใช้ Dtac ที่แม้ว่าหลายๆคนจะบ่นๆกันเรื่องคุณภาพสัญญาณ แต่จากตัวเลขเสาที่แถลงในงานก็จะมีพัฒนาการขึ้นมาเยอะเหมือนกัน โดยปัจจุบัน Dtac มีเสาสัญญาณราวๆ 17,000 ต้น (AIS มีราวๆ 20,000 กว่าๆ) และเตรียมจะขยายเพิ่มอีกเท่าตัวให้เสร็จสิ้นในปี 2017 และสัญญาว่าจะมี 4G ใช้แบบครอบคลุมทั่วประเทศ จากที่ปัจจุบันนี้มี 3G ที่ครอบคลุมแล้ว…ก็ว่ากันไปนะ เอ้า ผู้ใช้งาน Dtac คิดว่าไง 😛