หลังจากที่เริ่มมีการให้บริการ 4G ในไทยครบกันทั้ง AIS, DTAC, และ TRUEMOVE H รวมถึง JAS ผู้ให้บริการน้องใหม่ สิ่งนึงที่หลายๆคนเริ่มสงสัยและกังวลกันก็คือ เมื่อซื้อสมาร์ทโฟนตัวใหม่จะดูอย่างไรว่าเครื่องรองรับ 4G ที่มีให้บริการอยู่ตอนนี้ทุกเครือข่าย รวมถึงที่กำลังมีข่าวว่าจะนำเอามาประมูลในอนาคตอันใกล้นี้

(updated May 2018)

ความวุ่นวายของการเลือกใช้คลื่น 4G

เนื่องจากว่าเมื่อยุค 2G/3G มีการจับจองคลื่นไปให้บริการที่ค่อนข้างหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศทั่วโลก สัมปทานคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็มีหมดช้าเร็วต่างกัน ทำให้การพัฒนาคลื่นเพื่อรองรับ 4G LTE นั้นถูกออกแบบมาให้มีความหลากหลายตามข้อจำกัดในแต่ละประเทศ ซึ่งสมาร์ทโฟนที่ถูกผลิตออกมาในแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อนนั้น ก็ทำมาเพื่อขายได้ในหลายประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องรองรับ 4G LTE ให้หลากหลายตามไปด้วย

ประเทศที่มีการนำเอา 4G ไปใช้งานแล้ว  (Dec 2014) ข้อมูลจาก wikipedia

ทำไมความถี่ 4G ที่เครื่องรองรับเรียกเป็น Band

ถ้าใครสังเกตเวลาดูสเปคเครื่อง การระบุว่าเครื่องนั้นๆรองรับความถี่อะไรบ้างของ 3G และ 4G จะต่างกัน โดย 3G จะมีการระบุคลื่นความถี่เป็นตัวเลขเต็มๆ เช่น 850/900/1900/2100 แต่ว่า 4G จะระบุเป็น band ซะส่วนใหญ่ เช่น band 1/2/3/4/5/7/8/12 ซึ่งส่วนตัวผมไม่ทราบเหตุผลอย่างเป็นทางการนะครับ แต่คาดว่าน่าจะเป็นการลดจำนวนตัวอักษร แทนที่จะต้องพิมพ์ยาวๆ ก็ลดให้เหลือแค่เลข 1-2 หลักก็พอ เพราะเครื่องๆนึงอาจมีการรองรับความถี่ได้เยอะมาก ตามความหลากหลายดังที่เขียนไปก่อนหน้านั่นเอง (ถ้าใครมีข้อมูลอย่างเป็นทางการ รบกวนมาบอกได้นะครับ)

LTE band ต่างๆ คือคลื่นความถี่อะไรบ้าง? และทำไมถึงไม่มีคลื่นมาตรฐาน?

คลื่น 2G/3G ที่ได้รับความนิยม และสมาร์ทโฟนยุคนี้มักจะรองรับ

2G : 850/900/1800/1900

3G : 850/900/(1700)/1900/2100

ส่วนในบ้านเรา คลื่นความถี่ที่มีใช้งานอยู่ปัจจุบัน

2G : 900/1800

3G : 850/2100

 

ตัวอย่างสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G

*การรองรับอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

Samsung Galaxy S6

Band 1/2/3/4/5/7/8/12/17/18/19/20

Samsung Galaxy Note 5

Band 1/2/3/4/5/7/8/12/17/18/19/20/26

Samsung Galaxy A5/7(6)

Band 1/3/5/7/8/20/40

iPhone 6s

Band 1/2/3/4/5/7/8/12/13/17/18/19/20/25/26/28/29

iPhone 5s

Band 1/2/3/4/5/8/13/17/19/20/25

Microsoft Lumia 950

Band 1/2/3/4/5/7/8/12/17/20/28/38/40

Oppo R7s

Band 1/3/5/7/8/20/40

Band 1(2100), 2(1900), 3(1800), 4(1700/2100), 5(850), 7(2600), 8(900), 12(700), 13(700), 17(700), 18(800), 19(800), 20(800), 25(1900), 26(850), 28(700), 29(700), 38(2600), 40(2300)

 

สรุปคลื่นที่ให้บริการ 4G LTE ในประเทศไทยในปัจจุบัน

แบ่งตามความถี่

900MHz [Band 8] : Truemove H (5MHz), AIS (5MHz)

1800MHz [Band 3] : AIS (15MHz), DTAC (20MHz), Truemove H (15MHz)

2100MHz [Band 1] : Dtac (15MHz), Truemove H(15MHz), AIS (15MHz), TOT-AIS (15MHz)

2300MHz [Band 40] : TOT-Dtac (60MHz)

 

คลื่นที่กำลังเป็นข่าว ว่าอาจจะนำมาประมูลเพิ่มเติมในอนาคต

ได้แก่

700MHz [Band 17] เป็นคลื่นใหม่ที่เริ่มเปิดใช้ในโลกได้ไม่นาน แต่เริ่มได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ ด้วยความที่สัญญานมีรัศมีครอบคลุมกว้างมาก ลงเสาทีเดียวไปไกลข้ามอำเภอ ปัจจุบันคลื่นนี้ในประเทศไทยถูกเอาไปใช้กระจายสัญญานโทรทัศน์อยู่ แต่ไม่แน่ว่าอาจจะมีเซอร์ไพร์ส เพราะทางคุณสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ได้มีการเปรยว่าอาจจะมีการนำกลับมาประมูลได้(supinya.com)

850MHz [Band 5] คลื่น 850MHz ที่ dtac ใช้งานอยู่และกำลังจะหมดสัมปทานในปี 2561 จำนวน 10MHz หากมีการนำเอามาประมูลหลังหมดสัมปทาน ก็น่าจะถูกนำเอามาทำเป็น 4G แต่คลื่นนี้ยังไม่มีความแน่นอน เพราะมีข่าวว่าทางการรถไฟฯอาจจะขอนำเอาไปทำเป็นความถี่สำหรับใช้ควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูง(scbeic.com) ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันว่าไม่ควร เพราะเป็นคลื่นที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง การนำมาประมูลใช้งานในกิจการโทรคมนาคมจะช่วยทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐสูงสุดอยู่นั่นเอง

2300MHz [Band 40] คลื่นนี้ปัจจุบันเป็นทาง TOT ถือครองสัมปทานอยู่ มีความกว้างถึง 60MHz และคาดกันว่าอาจจะมีการนำเอามาทำสัญญากับทาง AIS เพิ่มเติม(droidsans)จากที่ก่อนหน้านี้ก็มีคลื่น 2100 ไปก่อนแล้วถึง 15MHz แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า คาดกันว่าอาจจะเพราะ AIS น่าจะมีคลื่น high band ที่เพียงพอแล้ว และคลื่น 2300MHz นำเอามาใช้งานจริงค่อนข้างลำบากเพราะรัศมีการส่งสัญญาค่อนข้างแคบนั่นเอง

ปัจจุบันทาง TOT ได้บรรลุข้อตกลงกับทาง dtac ในการนำเอาคลื่น 2300MHz ไปใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว(droidsans)

2600MHz [Band 7] ปัจจุบันถือครองโดย อสมท. และยังมีการใช้งานอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าไม่ได้ใช้เต็มคลื่นความถี่ทั้งหมด จึงมีการเจรจาขอคืนคลื่นบางส่วนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นมีข่าวว่าทาง อสมท. ได้ตกลงในเงื่อนไขแล้ว แต่ว่ายังติดปัญหาเรื่องคู่สัญญาเดิมที่ทำกับทาง อสมท. จึงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าจะได้ประมูลเมื่อไหร่ แต่ตามกรอบเวลาเดิมที่เป็นข่าวคือ จะมีการประมูลคลื่นนี้เกิดขึ้นในปี 2560 ต่อไป(droidsans)

กล่าวโดยสรุป ว่าถ้าหากเราต้องการที่จะซื้อมือถือวันนี้ให้รองรับ 4G ถึงในอนาคต ควรจะต้องรองรับ Band 1 / 3 / 5 / 7 / 8 / 17 / 40 หรือ 1 / 3 / 7 / 8 เป็นอย่างน้อยนะครับ

แต่สำหรับใครที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆก็ควรจะเพิ่มเป็น 1 / 3 / 4 / 7 / 8 เพื่อให้รองรับทางอเมริกาด้วย ถ้าอยากดูเต็มๆ ว่า Band ไหนคือคลื่นความถี่อะไร สามารถเข้าไปดูทั้งหมดได้ที่ https://droidsans.com/what-4g-lte-band-to-purchase

 

สำหรับคนที่สงสัยว่าคลื่น 2600MHz ที่ดูมีความหวังที่สุดที่จะนำมาประมูลเป็นคลื่นต่อไปนั้น มีเครื่องรองรับเยอะขนาดไหน ลองไปดูข้อมูลที่ทาง GSMA (Global Mobile Suppliers Association) ได้เปิดเผยมาก่อนหน้านี้กันครับ

จำนวนโทรศัพท์ที่รองรับ 4G ในแต่ละความถี่

จะเห็นได้ว่าความถี่ 4G LTE ที่มีเครื่องรองรับ มากที่สุดได้แก่ 1800MHz ตามมาด้วย 2600MHz และ 2100MHz นั่นเอง ฉะนั้นก็ไม่ค่อยน่าห่วงเรื่องอุปกรณ์สักเท่าไหร่ครับ แต่กลายเป็นคลื่น 850/900/2300MHz ซะมากกว่าที่อาจจะมีเครื่องรองรับน้อยกว่าใคร

ถ้าดูสเปคเครื่องรุ่นดังๆ ยอดนิยมในตลาดตอนนี้ก็จะเห็นว่าจะรองรับคลื่นยอดนิยมอย่าง 1800/2100MHz ทั้งหมดนะครับ แต่ว่า 900MHz นี่น่าจะต้องลุ้นเป็นเครื่องไป

ถ้าใครมีคำถามอื่น เช่น FDD TDD ต่างกันอย่างไร ก็มาเขียนคอมเม้นท์กันเอาไว้ได้ เดี๋ยวจะพยายามไปหาคำตอบมาเขียนเล่าให้อ่านกันนะ