หลังการประมูลคลื่น 5G เมื่อวันอาทิตย์(16 ก.พ.) ที่ผ่านมา เหล่าค่ายมือถือต่างกวาดใบอนุญาตคลื่นเข้าพอร์ตเตรียมสำหรับให้บริการเครือข่าย 5G กันไปเป็นที่เรียบร้อย แต่เห็นหลายคนสงสัยถึงข้อมูลหลายอย่างจากการประมูล ไม่ว่าจะเป็นที่มาของราคา ความถี่ และอื่นๆอีกมากมาย จึงขอรวบรวมคำถามที่เห็นเยอะๆมาตอบให้ได้ทราบกันนะครับ

สารบัญคำถาม

  • ประมูลคลื่น 5G คืออะไร? ทำไมเราต้องประมูล?
  • 2.6GHz ต่างกับ 2600MHz ยังไง?
  • ทำไมคลื่น 700 MHz ถึงราคาสูงกว่าคลื่นอื่น
  • ทำไมคลื่น 700 และ 2600 MHz ถึง lot ละ 10 MHz แล้ว 26 GHz ถึง lot ละ 100 MHz
  • แต่ละคลื่นต่างกันยังไง
  • ทำไม AIS ถึงต้องการคลื่นเยอะขนาดนั้น
  • CAT และ TOT จะเอาคลื่นไปทำไม
  • ทำไม CAT ต้องการคลื่น 700MHz
  • เราจะได้ใช้ 5G กันเมื่อไหร่
  • 4G ยังไม่ดี ทำไมจะเอา 5G
  • เราต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้รองรับ 5G เลยหรือไม่
  • Dtac ไหวมั้ย ยังน่าใช้อยู่รึเปล่า

ก่อนอ่าน : คำตอบด้านล่างนี้มาจากการศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงการพูดคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกรเครือข่าย จะพยายามตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานนะ ถ้าใครอยากเสริมหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมส่วนไหน สามารถเม้นมาบอกได้เลยครับ

ประมูลคลื่น 5G คืออะไร? ทำไมเราต้องประมูล?

คลื่นความถี่เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เวลาเราทำการพูดคุยกัน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สื่อสารหากันแบบไร้สาย โดยมากก็จะใช้คลื่นความถี่เป็นตัวกลางรับส่งข้อมูล ตัวอย่างเช่น WiFi (2.4/5GHz), สัญญาณโทรทัศน์(500-800MHz), วิทยุ(87.5-108MHz), และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งคลื่นที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้งานนี้ จะมีการกำหนดและจัดสรรความถี่ เพราะถ้าปล่อยให้ใช้คลื่นความถี่แบบอิสระ ก็จะมีความวุ่นวายที่คลื่นจะตีกัน และคลื่นเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าดังที่เราได้เห็นว่าผู้ให้บริการต่างๆ สามารถหาประโยชน์ได้มหาศาลจากการนำคลื่นมาใช้งาน โดยเฉพาะในยุค 4G 5G ที่มีความต้องการคลื่นมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นทางกสทช. หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรคลื่น จึงทำการจัดประมูลใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ต่างๆ เพื่อที่ใครอยากจะใช้งานคลื่นก็ต้องขอต้องมีใบอนุญาตก่อนนั่นเอง

ที่ผ่านมาเรามีการประมูลคลื่นความถี่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ 3G (คลื่น 2100 MHz) 4G (คลื่น 900/1800 MHz) หรือแม้แต่ทีวีดิจิตอล จนมาถึง 5G (700/2600/26000MHz) ซึ่งจะมีคลื่นความถี่ที่ต่างกันออกไป

เรื่องน่ารู้

  • ความสามารถในการได้ยินเสียงของมนุษย์จะอยู่ในช่วง 20Hz-20kHz หรือ (0.000002-0.02MHz)
  • ความถี่เวลาคนเราพูดคุยกันจะอยู่ที่ราว 85 – 250Hz
  • ความถี่มีหน่วยเป็น Hz, ความดังมีหน่วยเป็น db
  • เวลาเราพูดคุยกันเสียงที่เราเปล่งออกมาจะมีความถี่ที่ต่างกันออกไป เสียงแหลมจะมีความถี่ที่สูง, เสียงทุ่มมีความถี่ที่ต่ำ

 

2.6GHz ต่างกับ 2600MHz ยังไง?

มันคือคลื่นความถี่ สองพันหกร้อยล้านเฮิร์ท เหมือนกัน แต่จะให้เรียกยาวๆแบบนั้นก็คงจะแปลกและลำบาก จึงมีการใช้คำเสริมเข้ามาช่วย โดย G (Giga) = พันล้าน, M (Mega) = ล้าน เมื่อคำนวนออกมาก็ทำให้ทั้งสองเลขนี้เท่ากัน จะเรียกว่า สองจุดหกกิ๊กกะเฮิร์ท (2.6GHz) หรือ สองพันหกร้อยเมกกะเฮิร์ท (2600MHz) ก็ไม่ผิดครับ

แต่ส่วนที่จะทำให้งงเพิ่มเติมก็คือ การประมูลครั้งนี้มีคลื่น 26 GHz หรือ 26000 MHz เข้ามาด้วย จึงทำให้อาจจะสับสนได้นั่นเอง

 

ทำไมคลื่น 700 MHz ถึงราคาสูงกว่าคลื่นอื่น

คุณลักษณะของคลื่นคือยิ่งความถี่ต่ำ จะยิ่งสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกล ทำให้การลงทุนวางเสามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เช่น ถ้าใช้คลื่น 700 MHz อาจจะปักเสาต้นเดียว ครอบคลุมทั้งอำเภอได้ แต่ถ้าปักเสา 2600 MHz อาจจะต้องใช้ 5-6 ต้นแทน ซึ่งเสาแต่ละต้นก็มีมูลค่าตั้งแต่หลักหลายแสน จนถึงล้านบาทสำหรับติดตั้ง การได้คลื่นความถี่ต่ำมาใช้งาน ก็จะช่วยลดต้นทุนในการลงเครือข่ายไปได้มาก ทำให้ทุกเจ้าที่เข้าประมูลต่างก็อยากได้ จึงมีการแข่งขันราคาที่สูงนั่นเอง

 

ทำไมคลื่น 700 และ 2600 MHz ถึง lot ละ 10 MHz แล้ว 26 GHz ถึง lot ละ 100 MHz

คลื่น 700 และ 2600 MHz เป็นคลื่นที่ถูกใช้งานในช่วง 3G และ 4G ซึ่งมีการแบ่งคลื่นเป็น 5×2 หรือ 10 MHz ซึ่ง ณ ตอนนั้น จำนวนคลื่นปริมาณเท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอ แต่ด้วยความต้องการคลื่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงต้องมีการนำเอาคลื่นมาใช้งานในปริมาณที่มากขึ้น ใช้คลื่นความถี่สูงช่วงใหม่ตั้งแต่ 24 – 100 GHz หรือที่เรียกกันว่า mmWave ออกมาใช้งาน ซึ่งคลื่นในช่วงนี้จะมีจุดเด่นคือจะมี Bandwidth การรับส่งข้อมูลที่กว้าง ทำให้แบ่งคลื่นได้ช่วงละ 100MHz เลยนั่นเอง

ข้อนี้เป็นการตอบตามความเข้าใจ ขอตรวจสอบยืนยันและอัพเดทอีกครั้ง

 

แต่ละคลื่นต่างกันยังไง

แต่ละคลื่นเป็นคลื่นสำหรับใช้งาน 5G ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าจะมีคุณลักษณะที่ต่างกันออกไป

  • 700MHz : Bandwidth ทำความเร็วรับส่งข้อมูลได้ไม่สูงมาก แต่ได้พื้นที่ครอบคลุมกว้าง
  • 2600MHz : อยู่กลางๆ Bandwidth ค่อนข้างสูง พื้นที่ครอบคลุมยังพอได้
  • 26GHz : เน้นที่ Bandwidth รับส่งข้อมูลได้ปริมาณมาก แต่พื้นที่ครอบคลุมต่ำ

อ่านเพิ่มเกี่ยวกับ 5G กันได้ครับ

5G คืออะไร – ไม่ใช่แค่เร็ว แต่เป็นรากฐานของอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

ทำไม AIS ถึงต้องการคลื่นเยอะขนาดนั้น

เอไอเอส เป็นค่ายที่ค่อนข้างพร้อมทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยี ในการพัฒนา 5G ที่สุดเจ้าหนึ่ง การเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เกือบทุกย่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไหร่ ก่อนเข้าประมูลเอไอเอสมีจำนวนคลื่นในมือพอๆกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น ทั้งที่มีลูกค้ามากกว่า 10 – 20 ล้านราย การที่เอไอเอสจะลงทุนเก็บคลื่นให้มีปริมาณมากก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน AIS มีพอร์ตของคลื่นในมือเยอะที่สุดแบบทิ้งขาดเจ้าอื่นไปพอสมควร

ตารางสรุปคลื่นความถี่ที่แต่ละค่ายมีในมือ

คลื่นความถี่/ความกว้างAISTrueDtacTOTCAT
700 MHz30 MHz20 MHz20 MHz20 MHz
850 MHz30 MHz*30 MHz*
900 MHz20 MHz20 MHz10 MHz
1800 MHz40 MHz30 MHz10 MHz
2100 MHz30+30 MHz**30 MHz30 MHz30 MHz**
2300 MHz60 MHz***60 MHz***
2600 MHz100 MHz90 MHz
26000 MHz1200 MHz800 MHz200 MHz400 MHz
รวมคลื่น

A: < 6 GHz

B: > 24 GHz

A: 250 MHz

B: 1200 MHz

A: 220 MHz

B: 800 MHz

A: 130 MHz

B: 200 MHz

A: 90 MHz

B: 400 MHz

A: 50 MHz

B: – MHz

หมายเหตุ

  • คลื่นความถี่ 700/850/900/2100/ MHz เป็นความถี่แบบ TDD เราขอคิดคำนวนแบบ x2 (รวมทั้ง Down และ Up มาให้เลย)
  • *เป็นคลื่นที่ True ได้สัมปทานจาก CAT มาตั้งแต่เมื่อคราวซื้อ HUTCH ปัจจุบันที่เห็น mybyCAT ให้บริการอยู่ก็เป็นการแบ่งความถี่จากชุดนี้มานั่นเอง
  • **เป็นคลื่นที่ AIS ได้สัมปทานจากทาง TOT มาอีกที และ TOT ก็สามารถใช้สัญญาณ และสถานีฐานของ AIS ได้ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน
  • ***เป็นคลื่นที่ Dtac ได้สัมปทานจากทาง TOT มาอีกที และ TOT ก็สามารถใช้สัญญาณ และสถานีฐานของ Dtac ได้ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน

True ก็มีคลื่นเยอะ ผลักดัน 5G ไม่แพ้กัน

เราได้เห็นทั้ง AIS และ True ต่างมีความพยายามผลักดันเครือข่าย 5G มาตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ด้วยคลื่นที่ทรูได้มาจากการประมูลนี้ แม้จะน้อยกว่า AIS แต่ก็ไม่ได้น้อยกว่าแบบมีนัยยะสำคัญขนาดนั้น คาดว่าจะได้เห็นการลงทุนพัฒนาเพิ่มเติม และตัวอย่างการใช้งานจาก True มาอีกเพียบในปีที่จะมาถึงนี้

CAT และ TOT จะเอาคลื่นไปทำไม

ทั้งสองบริษัทเตรียมรวมให้กลายเป็น NT (National Telecom) ซึ่งคาดหวังกันว่าจะมีศักยภาพในการแข่งขันกับเอกชนที่มากขึ้น หลังการประมูลและควบรวมกิจการ ทั้งคู่จะมีคลื่นความถี่ในมือที่เยอะกว่าดีแทคเสียอีก

 

ทำไม CAT ต้องการคลื่น 700MHz

จากข้อข้างต้น ก่อนการประมูลทั้ง CAT และ TOT มีแต่คลื่นความถี่สูงให้ใช้งานทั้งสิ้น คาดว่าบริษัทต้องการคลื่นความถี่ต่ำที่สามารถสร้างพื้นที่ครอบคลุมได้มากกว่ามาเพื่อพัฒนา

 

เราจะได้ใช้ 5G กันเมื่อไหร่

กลางปีนี้ (ราวเดือน ก.ค.) เราจะได้เห็นเครือข่ายที่ได้ใบอนุญาตไปเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกว่าจะทดสอบเสร็จ และเริ่มได้เห็นได้ใช้กันอย่างเป็นรูปธรรม ก็น่าจะไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน หรือราวๆ ปลายปีเลย

 

4G ยังไม่ดี ทำไมจะเอา 5G

3G/4G ของประเทศไทย ทำมาเกินข้อกำหนดของทาง กสทช. ไปเยอะมาก และถ้าเปรียบเทียบในเวทีโลก ยิ่งถือว่าทำได้ดีมากๆ มีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ประชากรอยู่อาศัยกันเกินกว่า 90% และมีความเร็ว ความเสถียรของสัญญาณที่ใช้งานได้จริง ซึ่งจากประสบการณ์ที่เดินทางไปมาหลายประเทศ 4G ของไทยนี่ล้ำหน้ากว่าอเมริกา และยุโรปซะอีก ซึ่งถ้าบ้านใครที่สัญญาณไม่ดียังไงลองติดต่อไปให้เค้ามาติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่ม หรือถ้ายังไม่มาอีกก็ย้ายเครือข่ายหนีได้เลยครับ

แต่ถ้าคิดว่ายังไม่ดีพอ มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหยุดทำ 5G เพราะบางทีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ไปเลยก็เหมือนเป็นการก้าวกระโดด หยุดการลงทุนในเทคโนโลยีเก่าที่อาจจะล้าสมัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และไปดักรออนาคตที่กำลังจะมาถึงไปเลยแทนนั่นเอง

 

เราต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้รองรับ 5G เลยหรือไม่

5G ในช่วงแรก มีความเป็นไปได้สูงว่าจะทำออกมาเพื่อเน้นการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจก่อน กว่าที่พื้นที่สัญญาณ 5G จะครอบคลุมทั้งประเทศสำหรับผู้ใช้ทั่วไปใช้งานได้ น่าจะอีก 1-2 ปีเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นถ้าเครื่องยังไม่เสีย ก็ไม่มีความไม่จำเป็นเลย เพราะ 5G มาไม่ได้หมายความว่า 3G/4G จะไม่มีอีกต่อไป มันยังถูกใช้งานร่วมกันอยู่ แต่ละเครือข่ายยังลงทุนขยาย 3G/4G ด้วยกันทั้งนั้น

ประมูล 5G | ประเทศไทย และ เรา พร้อมแค่ไหน?

Dtac ไหวมั้ย ยังน่าใช้อยู่รึเปล่า

ดีแทคได้เคยกล่าวว่าเค้าอยากได้คลื่น 3500 MHz ที่เป็นคลื่น 5G ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากกว่าคลื่นที่ถูกนำออกมาประมูลในครั้งนี้ (แต่คลื่น 2600 MHz ปัจจุบันก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากแล้วนะ) โดยปัจจุบันคลื่น 3500 MHz นี้ยังติดสัมปทาน ถูกทางไทยคมใช้งานอยู่ โอกาสที่คลื่นนี้จะได้กลับออกมาประมูลเร็วที่สุดจะไม่เร็วกว่า กันยายน 2564 ซึ่งนั่นหมายความว่าดีแทคจะได้เริ่มพัฒนา 5G ช้ากว่าคู่แข่งค่อนข้างมากเลยนั่นนเอง

ส่วนคลื่น 26GHz นี้ แม้ว่าจะเป็นคลื่นสำหรับ 5G ก็จริง แต่ก็จะมีพิสัยในการให้บริการที่แคบมากจนไม่น่าจะให้บริการบริเวณกว้างได้สักเท่าไหร่นัก และการได้มาเพียง 2 ใบอนุญาตก็ดูจะน้อยกว่าคู่แข่งรายอื่นจนดูไม่จริงจังในการพัฒนาเลยนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณไม่คิดจะเปลี่ยนไปใช้งาน 5G เร็วๆนี้ และยังพอใจกับสัญญาณดีแทคและแพ็กเกจที่ใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดือดร้อนอะไร ใช้งานกันต่อไปได้แบบไม่ต้องห่วงได้

 

 

ถ้ามีคำถามเพิ่มเติม สามารถถามมาได้ในคอมเม้นนะครับ จะไปหาข้อมูลมาตอบให้ทั้งหมดครับ