แอปเปิลเปิดตัวหูฟังไร้สาย AirPods 4 ในงาน It’s Glowtime ภายในอัปเกรดชิปเป็น H2 เปลี่ยนพอร์ตเป็น USB-C ตามสมัยนิยม และเพิ่มเซนเซอร์รับแรงกดมาที่บริเวณก้านหูฟัง พร้อมเปิดตัว AirPods 4 ANC ที่รองรับฟังก์ชันตัดเสียงรบกวน เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งรุ่นนี้จะได้ฟีเจอร์ใหม่หลายอย่าง แบบเดียวกับ AirPods Pro 2 ตัวท็อปของค่าย (ในกลุ่มหูฟังขนาดเล็ก)
AirPods 4 | AirPods 4 ANC | AirPods Pro 2 | |
ขนาดหูฟัง | 30.2 x 18.3 x 18.1 มม. | 30.2 x 18.3 x 18.1 มม. | 30.9 x 21.8 x 24 มม. |
น้ำหนักหูฟัง | 4.3 กรัม | 4.3 กรัม | 5.3 กรัม |
ขนาดเคส | 46.2 x 50.1 x 21.2 มม. | 46.2 x 50.1 x 21.2 มม. | 45.2 x 60.6 x 21.7 มม. |
น้ำหนักเคส | 32.3 กรัม | 34.7 กรัม | 50.8 กรัม |
ชิป | H2 | H2 | H2 |
พอร์ต | USB-C | USB-C | USB-C |
ฟังเพลงนานสุด (ต่อชาร์จ) | 5 ชั่วโมง | 4 ชั่วโมง (เปิด ANC) 5 ชั่วโมง (ปิด ANC) | 6 ชั่วโมง (เปิด ANC) |
ฟังเพลงนานสุด (ร่วมกับเคส) | 30 ชั่วโมง | 20 ชั่วโมง (เปิด ANC) 30 ชั่วโมง (ปิด ANC) | 30 ชั่วโมง (เปิด ANC) |
การชาร์จ | ชาร์จ 5 นาที ฟังได้ 1 ชั่วโมง | ชาร์จ 5 นาที ฟังได้ 1 ชั่วโมง ชาร์จไร้สาย Qi | ชาร์จ 5 นาที ฟังได้ 1 ชั่วโมง ชาร์จไร้สาย MagSafe |
ทนน้ำทนฝุ่น | IP54 | IP54 | IP54 |
การเชื่อมต่อ | Bluetooth 5.3 | Bluetooth 5.3 | Bluetooth 5.3 |
การควบคุม | การบีบ | การบีบ | การบีบ การสัมผัส |
ตัดเสียงรบกวน ANC | ✕ | ✓ | ✓ |
ตัดเสียงตามสภาพแวดล้อม | ✕ | ✓ | ✓ |
ฟังเสียงภายนอก | ✕ | ✓ | ✓ |
รับรู้เสียงสนทนา | ✕ | ✓ | ✓ |
Spatial Audio ติดตามศีรษะ | ✓ | ✓ | ✓ |
ระบบรักษาแรงดัน | ✓ | ✓ | ✓ |
เล่นเสียงเบื้องหลัง | ✕ | ✕ | ✓ |
ลดเสียงดัง | ✕ | ✕ | ✓ |
เพิ่มเสียงสนทนา | ✕ | ✕ | ✓ |
ทดสอบการได้ยิน | ✕ | ✕ | ✓ |
ราคา | 4990.- | 6490.- | 8,990.- |
แอปเปิลได้หยุดวางขาย AirPods 2 และ AirPods 3 ในวันเดียวกับที่ AirPods 4 และ AirPods 4 ANC เปิดตัว เหมือนเป็นการบอกให้รู้กลาย ๆ ว่า 2 รุ่นนี้ คือรุ่นที่มาแทนกันตรง ๆ
AirPods 4 และ AirPods 4 ANC เป็นหูฟังในรูปแบบ ‘เอียร์บัด’ ทั้งคู่ ข้อแตกต่างระหว่าง 2 รุ่น นอกเหนือจากฟังก์ชันตัดเสียงรบกวน และฟีเจอร์อื่น (ตัดเสียงตามสภาพแวดล้อม, ฟังเสียงภายนอก, รับรู้เสียงสนทนา) ที่เกี่ยวข้องแล้ว AirPods 4 ANC มีจุดที่เหนือกว่ารุ่นมาตรฐานคือ การรองรับการชาร์จไร้สาย โดยสามารถใช้ที่ชาร์จร่วมกับ Apple Watch หรือแท่นชาร์จมาตรฐาน Qi ทั่วไปก็ได้
AirPods 4 และ AirPods 4 ANC รองรับการฟังเพลงต่อเนื่องนานสุด 5 ชั่วโมง และ 30 ชั่วโมง หากนับรวมกับเคสชาร์จ หรือหากเปิด ANC จะลดหลั่นลงมาเหลือ 4 ชั่วโมง และ 20 ชั่วโมง ตามลำดับ
ส่วน AirPods Pro 2 เป็นหูฟังแบบ ‘อินเอียร์’ เพียงรุ่นเดียวที่แอปเปิลวางจำหน่ายอยู่ในตอนนี้ ตัวก้านหูฟังรองรับการควบคุมทั้งการบีบ และการสัมผัส สามารถไถนิ้วเพื่อปรับระดับเสียงได้
ในทางเทคนิคแล้ว AirPods Pro 2 สามารถตัดเสียงรบกวนได้มีประสิทธิภาพกว่า AirPods 4 ANC เพราะจุกซิลิโคนจะมีความยืดหยุ่น จึงแนบสนิทกับรูหูได้ดีกว่า ทำหน้าที่เป็นการตัดเสียงรบกวนแบบ ‘แพสซีฟ’ ด่านหน้า ก่อนเข้าสู่กระบวนการตัดเสียงรบกวน ANC แบบ ‘แอกทีฟ’ ด้านในต่อไป
AirPods Pro 2 มีขนาดและน้ำหนักที่มากกว่า AirPods 4 ANC เล็กน้อย ทั้งเคสและหูฟัง แต่ในแง่ดีคือ AirPods Pro 2 มากับแบตเตอรี่ที่อึดกว่าพอสมควร สามารถใช้งานได้นานสุด 6 ชั่วโมง และ 30 ชั่วโมง แม้จะเปิด ANC ก็ตาม และตัวเคสก็รองรับการชาร์จกับ MagSafe
แอปเปิลยังได้ประกาศเตรียมอัปเดตฟีเจอร์ ‘สุขภาพด้านการได้ยิน’ ให้ AirPods Pro 2 ภายในปีนี้ เป็นฟีเจอร์ที่สงวนไว้สำหรับรุ่นนี้เพียงรุ่นเดียว ฟีเจอร์ที่เปิดเผยออกมา ได้แก่
- ทดสอบการได้ยิน (Hearing Test) – ผู้ใช้งานสามารถทดสอบการได้ยินของหูตนเองได้จากที่บ้าน
- เพิ่มเสียงสนทนา (Hearing Aid) – เปลี่ยนหูฟังให้กลายเป็นเครื่องช่วยฟัง สำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยินระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง
- ลดเสียงดัง (Hearing Protection) – ลดเสียงภายนอกที่ดังเกินไป ป้องกันการเกิดอันตรายกับสุขภาพหู
สำหรับ 2 ฟีเจอร์แรก แอปเปิลเคลมว่าผ่านการทดสอบที่เข้มงวด และได้รับรองทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ดังนั้นการทำงานและความเที่ยงตรงของฟังก์ชัน จึงเชื่อถือได้ โดยฟีเจอร์ Hearing Aid จะทำงานแบบเรียลไทม์ และเป็นไดนามิก กล่าวคือ เสียงจะถูกปรับให้เหมาะสมตามสุขภาพหูของผู้ใช้งานแต่ละราย ที่ทดสอบการได้ยินผ่านฟีเจอร์ Hearing Test มาก่อนหน้า
สรุป
หากนับเฉพาะปัจจุบัน AirPods 4 ANC และ AirPods Pro 2 มีข้อแตกต่างหลัก ๆ เพียงการเป็นหูฟังเอียร์บัด และอินเอียร์ ตามลำดับ มองเผิน ๆ ฝ่ายแรกอาจดูคุ้มค่ากว่า เมื่อเทียบกับค่าตัวที่ประหยัดไปได้ 2,500 บาท แต่หลังแอปเปิลอัปเดตฟีเจอร์ด้านสุขภาพการได้ยินให้ AirPods Pro 2 ภายในปีนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง 2 รุ่น ก็จะมีช่องว่างมากขึ้น ดังนั้นถ้ามองเผื่ออนาคต รุ่นท็อปก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน
ส่วน AirPods 4 ที่มีค่าตัวย่อมเยาที่สุดจาก 3 รุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่สนใจระบบตัดเสียงรบกวน หรือมีงบประมาณจำกัด แต่ส่วนต่างราคาจาก AirPods 4 ANC ถือว่าค่อนข้างแคบ หากกัดฟันจ่ายเพิ่มอีก 1,500 บาทได้ ดูจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่า เทียบกับสิ่งที่ได้เพิ่มมาหลาย ๆ อย่าง
Passive = แพสซีฟ ไม่ใช่ แพสซีส