คนที่เคยเล่นโดรนเคยบินโดรนกัน บางคนอาจจะคิดว่ามันมีดีแค่ไว้ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอทางอากาศสวย ๆ เท่านั้นรึเปล่า…ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าโดรนเนี่ย มันมีความสามารถอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงอีกหลายอย่างเลย อย่างเช่นโดรนภาคเกษตรที่เอาไว้ใช้บินพ่นปุ๋ยพ่นยาฆ่าแมลงได้ หรือจะเอามาใช้งานในภาคอุตสาหกรรม หรือช่วยงานด้านจราจรก็ยังได้ โดยเมื่อเราจับโดรนมาเสริมกำลังด้วยระบบ AI และระบบ 5G สุดแรงจาก AIS แล้วเนี่ย จะยิ่งเพิ่มศักยภาพให้มันสามารถทำอะไร ๆ ได้อีกเพียบเลยล่ะ
ตอนนี้ทาง ปตท. กับ AIS และ ARV เค้าได้จับมือกันร่วมพัฒนา Autonomous Drone System ชื่อว่า Horrus (ฮอรัส) ซึ่งเป็นโดรนที่ใช้งานในด้านอุตสาหกรรมผลิตและพัฒนาโดยคนไทย 100%
Horrus (ฮอรัส)
โดรนผลิตกันที่โรงงานด้านหลังนั่นแหละ
และยังนับว่าเป็น Drone in the Box รุ่นแรกของไทยที่พร้อมใช้งานจริงแล้ว คือสามารถเอากล่องที่เป็นสถานีของโดรนไปตั้งไว้ในพื้นที่ที่ต้องการก็พร้อมบินได้เลย โดยกล่องดังกล่าวจะเป็นสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เป็นโรงเก็บโดรนและฐานปล่อยในตัว ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อสภาพอากาศตั้งไว้กลางแจ้งได้ไม่กลัวฟ้าฝน เพราะมีฝาเปิดปิด และฐานปล่อยไฮโดรลิคแบบอัตโนมัติด้วย แถมตัวโดรนยังทนน้ำทนฝนได้ในระดับหนึ่ง หากบิน ๆ อยู่แล้วพบว่าฝนตกมันก็จะบินกลับฐานได้เองเลย
ฐานบินที่หดโดรนลงไปเก็บข้างในแล้วปิดฝาได้
ความสามารถของมันเนี่ย ไม่ใช่แค่บินไปบินมาเพื่อถ่ายรูปถ่ายวิดีโอเหมือนโดรนทั่วไปนะ แต่มันมีทั้งความอัจฉริยะของระบบ AI ที่สามารถทำงานได้ตามที่เราวางแผนไว้ หรือจะใช้งานจากระยะไกลมาก ๆ ได้ ผ่านโครงข่ายระบบ 5G
สำหรับการนำระบบ 5G มาใช้กับโดรนแบบนี้ ก็เพราะมันมีความรวดเร็ว ความเสถียร และระยะที่ไกลกว่า WiFi และคลื่นวิทยุทั่วไปมาก ๆ คือสามารถบังคับโดรนข้ามจังหวัดได้เลยขอแค่มีสัญญาณ 5G ก็พอ โดยจากการทดสอบควบคุมเจ้าฮอรัสผ่าน 5G มีความหน่วงเพียง 4 มิลลิวินาทีเท่านั้นเอง แน่นอนว่าการบังคับโดรนที่ไม่ได้อยู่ในระยะสายตา ความหน่วงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะหากช้าไปแค่หลักวินาที โดรนอาจบินไปชนอะไรเข้าแล้วก็ได้
โดยทีมวิศวกรของ AIS ได้ออกแบบ Network Architecture หรือ สถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz ซึ่งใช้เทคโนโลยี Autonomous Network ที่สามารถจัดการระบบได้ด้วยตัวเอง, Network Slicing สำหรับการตอบสนองแอปที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน, บริการ MEC (Multi-access EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการจัดการ และพัฒนาโซลูชันที่ต้องการความหน่วงต่ำด้วย
ซึ่งภายในพื้นที่วังจันทร์นี้ บอกเลยว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสุด ๆ สำหรับการทดสอบโดรนระบบ 5G ได้แบบครบทุกด้าน เพราะมีความพร้อมด้านพื้นที่เพื่อการทดสอบจริง, ได้รับการผ่อนปรนกฎระเบียบพิเศษ สำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หรือ UAV Regulatory Sandbox ทำให้สามารถบินโดรนได้แม้ไม่อยู่ในระยะสายตา นอกจากนี้ยังมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G อีกด้วย
และตอนนี้โดรนฮอรัส ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แถมยังผ่านการทดสอบใช้งานจริงภายใน EECi หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่ม ปตท. อยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยองนี่เอง
ผ่านการใช้งานจริงแล้วในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์
โดยการใช้งานของฮอรัสภายใน EECi ดังกล่าว จะใช้โดรนฮอรัสในการบินตรวจตราสถานที่แบบอัตโนมัติ ซึ่งฮอรัสสามารถตรวจจับและบันทึกข้อมูลรถยนต์ต่าง ๆ ที่เข้ามาภายในบริเวณวังจันทร์ได้, สามารถบินไปตรวจจุดที่มีปุ่ม SOS ภายในวังจันทร์เพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และในกรณีที่มีพนักงานต้องการความช่วยเหลือ ฮอรัสก็จะเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบได้ทันที, ใช้ในการเช็คความคืบหน้าของงานก่อสร้าง, ใช้เช็คความเรียบร้อยของแผงโซลาร์เซลล์บนหลัง และยังใช้เช็คการจราจรได้ด้วย โดยฮอรัสเคยถูกใช้เช็คการจราจรเพื่อรายงานสภาพการจราจรเมื่อช่วงปีใหม่มาแล้วด้วยนะ
แต่การใช้งานจริงสำหรับโดรนระบบ 5G แบบนี้ ยังติดเงื่อนไขเล็ก ๆ อยู่ นั่นก็คือกฎหมายการใช้โดรนซึ่งบังคับว่าการบินโดรนแต่ละครั้งจะต้องอยู่ในระยะสายตาหรือ Line of sight ของผู้บังคับโดรน สำหรับการทดสอบภายในพื้นที่วังจันทร์ได้ผ่านการขออนุญาตอย่างเป็นทางการแล้ว แต่การจะเอาไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ อาจต้องมีการขออนุญาตเป็นพิเศษจากทางการอีกที
ทาง ARV บอกว่า ฮอรัสมีความพร้อมในเชิงพาณิชย์แล้ว 100% โดยหากว่ามี คนมาติดต่อขอซื้อหรือขอเช่าก็พร้อมเลยแหละ แต่ว่าราคาของโดรนหนึ่งชุดพร้อมกล่องสถานี ยังไม่เผยออกมาว่าอยู่ที่เท่าไหร่นะครับ
Comment