ภาคต่อจากตอนที่แล้ว สรุปรวมเรื่องราว Android ในปี 2011 เตรียมอาละวาดต่อในปี 2012 (1) ซึ่งในตอนนี้เราจะมาสรุปภาพรวมความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากปี 2011 ไปยัง 2012 กันครับ
 

 
– ขณะนี้มี android มากกว่า 200 ล้านเครื่องทั่วโลกแล้ว
– อัตราการเปิดเครื่องใหม่เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 7 แสนเครื่อง
– เฉพาะในวันคริสมาสต์ที่ผ่านมานั้นมีการเปิดใช้ android ใหม่สูงถึง 3.7 ล้านเครื่อง
– จำนวนโปรแกรมใน Android Market ไม่ได้เติบโตรวดเร็วอย่างที่คาดเนื่องจาก Google ได้มีการถอดโปรแกรมที่ไม่มีคุณภาพออกจากตลาดอยู่เรื่อยๆ
– มากกว่า 80% ของผู้ใช้กำลังนั่งลุ้นกันอย่างเมามันส์ว่าของตัวเองจะได้อัพเดทเมื่อไหร่ 😛
(ย้อนกลับไปอ่าน blog เก่าที่เคยเขียนแจ้งเอาไว้ให้แล้วจ้า แล้วผมจะได้กินไอติมมั้ย? )
 
 
 
Android ราคาถูก
แม้ว่าแบรนด์ต่างๆจะมีการออกรุ่นอะไรใหม่ๆออกมาเต็มไปหมด แต่ว่าในปีหน้าที่น่าจับตามองมากๆคือแอนดรอยด์ราคาย่อมเยาจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่เริ่มเห็นของที่ผลิตออกมาได้ดูน่าใช้ขึ้นกว่าเดิมมาก และยังมีรอม MIUI อันแสนโด่งดังที่เริ่มนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์กันบ้างแล้วอย่าง Xiao Mi แถมรอมนี้มันยังเด่นมากๆที่ความลื่นและ UI ที่สวยงามอีกต่างหาก ถ้าปี 2012 มีการบุกอย่างจริงๆจังๆขึ้นมาอาจจะสร้างปรากฎการณ์อะไรขึ้นมาก็เป็นได้ ส่วน Tablet ก็จะเห็นได้ว่ามีทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น มีแบรนด์คอมพิวเตอร์กระโดดลงมาร่วมแจมกันมากมาย แต่ที่จะตีให้ช็อคที่สุดคงไม่พ้น Kindle Fire ที่ทุบทุกราคาในตลาดแต่ก็มีการตัดเสปกออกไปมากมายเหมือนกัน
 
 
ปลดล๊อค bootloader

ต้องขอขอบคุณ Sony Ericsson ที่เริ่มเปิดประเด็นการปลดล็อคนี้ขึ้นมา ทำให้การเล่น custom rom ในปีหน้าน่าจะง่ายขึ้นกว่าเดิมมากเพราะนอกจากค่ายโซนี่ที่ปลดเป็นคนแรกแล้วนั้นทำให้ค่ายอื่นๆเริ่มปลดตามมากันเป็นแถบทั้ง HTC และโมโตโรล่า ส่วน Samsung และ LG ก็เห็นว่าเป็นสองค่ายที่ไม่เคยล็อคอยู่แล้ว ถ้าใครไม่เข้าใจว่าการล็อค bootloader คืออะไร ก็อธิบายสั้นๆง่ายๆว่าเป็นตัวที่ป้องกันเหล่าผู้ใช้ไม่ให้ทำการแฟลช custom rom ลงไปในเครื่องได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ไปเล่นอะไรแผลงๆจนเครื่องเจ๊งนั่นเอง

 
 
 
 
มัลแวร์

หลังจากเริ่มเป็นข่าวครึกโครมตั้งแต่ต้นปี 2011 ที่มีพบการพบโทรจันแฝงตัวมากับโปรแกรมฟรีบน Market หลังจากนั้นก็มีข่าวคาวเรื่องแย่ของความปลอดภัยบน Android มาเรื่อยๆ ทั้งจากบนตัว OS เองและจากมือถือของแต่ละแบรนด์ รวมถึง CarrierIQ ที่แฝงตัวจากใบสั่งของโอเปอร์เรเตอร์มือถือในอเมริกา ทำให้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญที่แอนดรอยด์เริ่มโดนโจมตีในปีนี้ และคาดว่าในปี 2012 การโจมตีจากเหล่าผู้ไม่หวังดีน่าจะทวีคูณมากขึ้นไปอีก
 
 
การฟ้องร้อง
ประเด็นร้อนแรงของแอนดรอยด์ประจำปี 2011 โดยคดีที่เป็นเรื่องที่สุดและคนทราบมากที่สุดคงไม่พ้น Galaxy Tab 10.1 ที่โดนแบนเรื่องการลอกดีไซน์ iPad จนถูกสั่งห้ามขายในเยอรมัน มีทั้งการสร้างหลักฐานปลอมจาก Apple และทนายซัมซุงไม่สามารถแยกแยะ iPad และ Galaxy Tab 10.1 ได้ ซึ่งปัจจุบันตอนนี้ทางซัมซุงก็ได้ทำการแก้ไขและสามารถวางจำหน่ายได้อีกครั้ง ส่วนค่าย HTC จากไต้หวันก็โดนเล่นงานอ่วม แม้จะพยายามผนึกกำลังภายในซื้อกิจการ S2 และได้รับการช่วยเหลือจาก Google แต่ล่าสุดก็แพ้คดีถูกสั่งห้ามขายบางรุ่นในอเมริกาไปเรียบร้อย ซึ่งทาง HTC ก็ออกมาแถลงว่าก่อนที่ผลคำตัดสินจะมีผลนั้นน่าจะทำการแก้ไขจุดที่มีการละเมิดทั้งหมดได้ทันท่วงทีพอดี นี่ยังไม่รวมคดีความที่มีกับ Oracle ซึ่งก็ไม่น่าจะรอด Microsoft ก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินจากเหล่าผู้ผลิตแอนดรอยด์อย่างเป็นกอบเป็นกำจนสร้างรายได้มากกว่าตัว Windows Phone เอง และอีกหลายๆอย่างที่ Apple เตรียมลุยต่อในปี 2012 นี้ แต่ถามว่า Android จะถึงจุดจบมั้ยก็คงไม่ ที่โดนฟ้องแล้วชนะก็มีบ้าง การซื้อกิจการ Motorola Mobility ก็น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย และ Google ก็คงหาทางดิ้นรนสู้คดีเพื่อผ่านพ้นมรสุมไปได้อย่างแน่นอน
 

Fragmentation

ปัญหาเรื่องความแตกต่างของแอนดรอยด์ยังคงมีอย่างไม่จบสิ้น จนตอนนี้กลับกลายเป็นว่า Google มองว่าเป็นหนึ่งในข้อดีไปเรียบร้อย(เหรอ??!?) ด้วยเหตุว่ามันทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีก็ได้มีความพยายามแก้ปัญหาแต่ละส่วนด้วยการวางรูปแบบการเขียนโปรแกรมให้สามารถสเกลหน้าจอได้สะดวก หรือการทำข้อตกลงกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ให้ทำอุปกรณ์ไปทางเดียวกัน รวมถึงให้อัพเดทมือถือทุกรุ่นที่ออกมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือนหลังจากออก โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ใช้ android 2.2 ขึ้นไปเกือบ 90% ของตลาดไปแล้ว ในทางทฤษฎีก็น่าจะทำให้รันแอพโดยมากได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรายังพบเจอปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของโปรแกรมและมือถืออีกมากจนเหมือนกับปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีการแก้ไขให้ดีขึ้นเลย ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากทั้ง hardware ที่มีความแตกต่างกันเกินไป และโปรแกรมที่ไม่มีการออกแบบมาตาม guideline เยอะเกินไปนั่นเอง และนี่ยังไม่รวมถึงการแตก fork ไปเป็น OS ตัวเองจากฝั่งพี่จีน หรือ Amazon Kindle หรือแม้กระทั่งข่าวลือว่า Facebook ก็จะนำเอา Android ไปทำเป็น OS ตัวเองอีกด้วย 
 
และนั่นก็เป็นทั้งหมดของ Android ในปี 2011 ที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เข้าไปบุกยึดหัวเมืองใหญ่ทั่วโลก แปลงผู้ใช้ทั่วไปให้ถือหุ่นยนต์ในมือกันถ้วนหน้า และเรื่องในทางที่ลบมากมายจนทำเอาคนหันหนีไปก็ไม่น้อย แต่ดูท่าว่ากองทัพหุ่นยนต์เหล่านี้จะยังไม่หยุดเดินทัพง่ายๆ พร้อมลุยไปในที่ต่างๆทั่วโลก พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไปให้ผู้คนรักมันมากขึ้น…แต่ในทางกลับกันก็น่าจับตามองเหล่าเพื่อนต่าง OS ว่าจะมีอะไรมาเซอร์ไพร์สกันให้คนเริ่มลังเลเปลี่ยนใจจากหุ่นกระป๋องได้หรือไม่จ้า
 
จบการรายงานแต่เพียงเท่านี้ have a good android year 2012 😀