20 ธันวาคม 1996 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว เป็นหนึ่งวันในหน้าประวัติศาสตร์ที่หากไม่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่มี Apple จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ Apple ได้เข้าซื้อกิจการ NeXT Computer บริษัทที่เคยเป็นคู่แข่งคนสำคัญในตอนนั้น และมีผู้ถือกำเนิดชื่อก้องโลก สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) โดยเหตุผลที่ต้องซื้อก็เพราะ Apple กำลังเพลี้ยงพล้ำอยู่ในจุดที่ใกล้จะล้มละลาย และต้องการคนเก่งอย่างจอบส์มากอบกู้บริษัทอีกครั้ง

ต้นกำเนิด Apple Computer ในโรงจอดรถ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1976 เป็นวันที่บริษัท Apple Computer ได้ถือกำเนิดในโรงรถ เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับเพื่อน 2 คนได้แก่ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) และ โรนัลด์ เวนน์ (Ronald G Wayne) ซึ่งได้ถอนหุ้นหลังจากเปิดบริษัทเพียงแค่ 12 วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ Apple Computer เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ Apple I (1976) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีชิ้นส่วนบอร์ดเพียงแค่ชิ้นเดียว

ถัดมา Apple II ก็ถูกเปิดตัวในปี 1977 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีความโดดเด่นคือ สามารถแสดงผลกราฟิกเป็นสีได้ด้วย และนี่คือเป็นที่มาว่าทำไม โลโก้ Apple จึงเป็นสีรุ้งสุดคลาสสิก

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) และ จอห์น สกัลลีย์ (John Sculley)

ต่อมาขอข้ามเวลามาปี 1983 ทางจอบส์ได้ทาบทาม จอห์น สกัลลีย์ (John Sculley) มาเป็นซีอีโอได้สำเร็จ ที่มีความหวังว่า สกัลลีย์จะนำประสบการณ์ที่เคยบริหารบริษัท Pepsi จากขาดทุนจนทำให้มีกำไรได้ มาปรับใช้กับ Apple Computer และในปีเดียวกัน Apple Computer ได้เปิดตัว Lisa คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลล้ำสมัยที่สุด และมีอินเทอร์เฟซแบบ GUI เครื่องแรกของโลก

ความผิดพลาดของ Lisa ในตอนนั้นก็คือ ราคาขายตัวเครื่องที่แพงจนเกินไปประมาณ 10,000 ดอลลาร์ หรือ 345,000 บาท ซึ่งขายได้เพียง 10,000 เครื่องเท่านั้น และนี่ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นความวิกฤตของ Apple Computer

Macintosh รุ่นแรก

จุดเริ่มต้นของวิกฤตบริษัท Apple Computer

ซึ่งต่อมาในปี 1984 บริษัท Apple Computer จำเป็นต้องกู้หน้ากลับมาจึงได้เปิดตัว Macintosh ที่เป็นรากฐานของคอมพิวเตอร์ Mac จนถึงทุกวันนี้ โดย Macintosh รุ่นแรกนี่วางจำหน่ายในราคาเริ่มต้นประมาณ 2,500 ดอลลาร์ ซึ่งราคานี้ก็ไม่ใช่ราคาที่จอบส์อยากขาย แต่อยากตั้งราคาอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ แต่สกัลลีย์ก็บอกว่า ตัวเครื่องควรขาย 2,500 ดอลลาร์เพราะจะได้ไปชดเชยกับค่าลงทุน และวิจัยผลิตภัณฑ์ของจอบส์ที่ได้ก่อเอาไว้ และในท้ายที่สุดฝ่ายบริการก็ได้โหวตว่าตัวเครื่องวางจำหน่ายราคาเริ่มต้น 2,500 ดอลลาร์ นี่จึงเป็นไฟดวงแรกที่ทำให้จอบส์เกิดความไม่พอใจกับสกัลลีย์

ปี 1985 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ช็อกวงการก็คือ จอบส์โดนบีบลาออกจากบริษัท Apple Computer จากการโหวตของคณะผู้บริหาร ซึ่งในขณะนั้นตลาดของ PC ก็กำลังดุเดือดสุด ๆ มีเจ้าตลาดอย่าง IBM และ Microsoft ได้เข้ามาแย่งตลาดกันสนั่น ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Apple ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการขาดนวัตกรรมที่ดึงดูดผู้บริโภค

ถือกำเนิด NeXT Computer

คอมพิวเตอร์ NeXTcube

ในปีเดียวกัน 1985 หลังจากจอบส์โดนบีบลาออกจาก Apple Computer ก็ได้ออกมาก่อตั้งบริษัทใหม่อย่าง NeXT Computer ที่ได้ใช้เงินลงทุนส่วนตัวเปิดบริษัท และในปี 1988 ก็ได้มีการเปิดตัวคอมพิวเตอร์รุ่นแรกในชื่อ NeXTcube โดดเด่นด้วยตัวเครื่องวัสดุแมกนีเซียมสีดำอันสะดุดตา, ใช้ซีพียู Motorola 68030 ที่เรียกได้ว่า เร็วที่สุดในตอนนั้น และมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ NeXTSTEP สร้างจากพื้นฐาน UNIX มี GUI ควบคุมใช้งานได้ง่าย

คอมพิวเตอร์ NeXTcube

อย่างไรก็ตามคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จมาจากยอดขายที่ขายได้น้อย เนื่องจากราคาตั้งที่แพงจนเกินไปประมาณ 6,500 ดอลลาร์ แต่ในท้ายที่สุด NeXT Computer ก็ได้ยุการพัฒนาฮาร์ดแวร์ หันไปพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นหลัก และรับเงินเป็นกอบเป็นกำ

ตัดภาพมาที่ Apple dในขณะนั้นก็มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาหลายชิ้นทั้ง Macintosh Quadra, Performa, Centris และ Newton อันเลื่องชื่อ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้ Apple Computer และทำให้บริษัทเกือบจะล้มละลายในที่สุด

Apple กู้วิกฤตบริษัท !

ซึ่งในวันที่ 20 ธันวาคม 1996 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว Apple ก็ได้ทุ่มเงินซื้อกิจการ NeXT Computer และซื้อตัว สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) กลับมาดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple ด้วยเงินสด รวมถึงหุ้นมูลค่ากว่า 429 ล้านดอลลาร์ และการซื้อในครั้งนี้ Apple ยังได้ ระบบปฏิบัติการ NeXTSTEP ที่กลายมาเป็นพื้นฐานของ macOS ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ด้วย

เรียกได้ว่าการซื้อตัวจอบส์กลับมาบริหารอีกครั้ง ก็ทำให้ Apple กลับมาเป็นผู้นำคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ก้องโลกเช่น iPod, iPhone, iPad และ Mac ที่กลายเป็นรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีโลกจนถึงทุกวันนี้ และหากคิดดูว่า ถ้า Apple ไม่ได้คิดจะซื้อ NeXT Computer และดึงตัวจอบส์กลับมา โลกของเราจะเปลี่ยนไปขนาดไหน

ที่มา : Britannica, LinkedIn, BusinessInsider