ในปีที่ผ่านมาถือว่า Apple ผ่านการฟ้องร้องมาหลายต่อหลายเคส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่าง Epic Games และ App Store, เรื่องค่าคอมมิชชั่นไม่เป็นธรรมกับผู้พัฒนาไปจนถึง แบตเตอรี่ iPad ลัดวงจรจนเป็นสาเหตุให้ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง…คราวนี้ Apple ก็โดนฟ้องอีกแล้ว โดยเป็นการรวมตัวฟ้องแบบกลุ่มในกรณีที่ผู้ใช้งานกดปุ่ม “Buy” เพื่อซื้อคอนเทนต์ใน iTunes ซึ่งทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าคอนเทนต์ชิ้นนั้นจะอยู่กับพวกเขา และเข้ามาดูได้ตลอดเวลา…แต่จริง ๆ แล้วหาก Apple ลบคอนเทนต์ดังกล่าวออกไป ผู้ใช้ก็หมดสิทธิ์เข้าถึงทันที
iTunes Store เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Apple สามารถสตรีม และดาวน์โหลดคอนเทนต์จำพวกเพลง พอดแคสต์ หนัง และซีรีส์ต่าง ๆ ได้ซึ่งในหน้าคอนเทนต์เหล่านั้นก็จะมีปุ่มซื้อ (Buy) ให้ผู้ใช้งานจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์นั้น ๆ และสตรีมผ่านระบบออนไลน์ หรือจะดาวน์โหลดดูแบบ Offline ผ่านแอป iTunes ก็ได้
ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าเหล่าคอนเทนต์ที่กดซื้อไปจะอยู่กับพวกเขาไปตลอด คือคิดว่าอยากเข้ามาดูหนังเรื่องที่ซื้อเอาไว้ตอนไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริง Apple กลับมีสิทธิ์เอาคอนเทนต์ออกจาก iTunes เมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ ซึ่งหลังจากที่ Apple เอาคอนเทนต์เหล่านั้นออกไปแล้ว ผู้ใช้งานที่ซื้อไปก็จะไม่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์นั้นได้อีก ทำให้เหล่าผู้ใช้งานหลาย ๆ คนออกมารวมตัวฟ้อง Apple แบบกลุ่ม (Class Action) ในเรื่องนี้จนได้
เมื่อออกมาเป็นแบบนี้ Apple ก็เลยส่งคำร้องให้ยกฟ้องพร้อมทั้งแย้งว่า “ไม่น่ามีลูกค้าคนไหนจะซื่อพอที่จะคิดว่าคอนเทนต์ที่ตัวเองซื้อใน iTunes จะอยู่ไปตลอดกาลหรอก” แต่สุดท้ายคำร้องของ Apple ก็ถูกปัดตกไปทำให้คดีความนี้ยังคงดำเนินต่อ
ในเอกสารการฟ้องร้องของผู้ใช้งานที่เป็นโจทก์อย่างนาย David Andino มีประโยคตัวอย่างที่น่าสนใจว่า “ร้าน Best Buy ไม่สามารถเข้ามาบ้านลูกค้าเพื่อเอาแผ่น DVD ที่ซื้อแล้วคืนไปได้…เช่นเดียวกัน iTunes ก็ไม่ควรเอาไฟล์คอนเทนต์ที่ลูกค้าซื้อแล้วออกไปจาก Folder ได้”
ทาง Apple ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่านาย David Andino ยังไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากพอที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการฟ้องร้องครั้งนี้ เพราะตัวเขาก็ยังไม่ได้เสียคอนเทนต์ใด ๆ ที่ซื้อไว้ใน iTunes เลย
ทางด้านผู้พิพากษาก็ได้ตอบ Apple กลับว่าถึงแม้นาย Andino จะ (ยัง) ไม่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้โดยตรง แต่ความเสียหายได้ถูกกระทำไปแล้วตั้งแต่ตอนคลิกซื้อคอนเทนต์ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของนโยบายในการซื้อของใน iTunes
ถึงแม้ว่าทางฝั่งของ Andino จะไม่ได้รับความเสียหายจาก iTunes แต่กลับมีผู้ใช้งานหลาย ๆ คนที่เคย “ซื้อ” หนัง หรือซีรีส์ ใน iTunes ไปแล้ว แต่ภายหลังมาพบว่าคอนเทนต์ของตัวเองหายไป ทำให้ Andino ออกมาเป็นตัวแทนดำเนินการฟ้องกลุ่มเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว
ดูเหมือนว่าทางด้านผู้พิพากษา จะเข้าข้างไปทางฝั่งโจทก์อย่างนาย Andino ซะด้วย ก็ไม่แน่ว่าสุดท้ายคดีนี้อาจนำไปสู่การที่ Apple ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของปุ่ม Buy หรืออาจเปลี่ยนนโยบายในการซื้อสินค้าบน iTunes store ใหม่ก็ได้…เห็นแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเพราะในกรณีเดียวกัน หากเราซื้อของในเกมออนไลน์ด้วยเงินจริง (IAP) แล้วเกมปิดตัวในภายหลัง แบบนี้จะสามารถเรียกร้องอะไรได้หรือไม่? ผู้อ่านมีความคิดเห็นยังไงสามารถคอมเมนต์ได้ด้านล่างเลยครับ
Source: PhoneArena, Arstechnica, เอกสารคำฟ้องร้อง
ถ้าจะเปรียบเทียบกับเกมที่ปิดตัว ก็ต้องเป็นกรณีที่ iTunes ปิดตัวสิครับ
ยกเกมมาอ้างก็น่าจะเปรียบกับของที่เราซื้อในเกมแล้วจู่ ๆ ก็หายไปโดยที่เกมยังปล่อยของชิ้นอื่นมาให้ผู้เล่นซื้อเรื่อย ๆ
เห็นด้วยกับ neetab แฮะ หรือไม่แอปเปิ้ลก็เปลี่ยนเป็นเช่ามีระยะเวลาไปเลย
ถ้ามีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าไม่สามารถเรียกร้อง content ที่หายไปหลังซื้อได้และมี consent ไว้ ก็ไม่น่าจะไปฟ้องร้องได้ล่ะครับ
เปลี่ยนปุ่มเป็นเช่าก็จบ ก่อนหน้าก็มีประเด็นบรู๊ซวิลลีสฟ้องว่าทำไมกดซื้อแต่กลับส่งต่อให้ลูกไม่ได้
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ว่าทำไมต้องซื้อแผ่นหนังอยู่