ในการมาทำงานทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายคนต้องเจอกับการจราจรที่ติดขัดแบบสุดสาหัส ล่าสุดทางกทม. ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ JICA ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร (ATC) นำร่องถนนหลัก 4 สาย หลังทดลองใช้งานพบว่าการจราจรบนถนนพหลโยธินดีขึ้นประมาณ 15% มีการติดขัดบ้าง แต่ก็ยังพอเคลื่อนตัวไปได้ อนาคตเตรียมดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพ ฯ ชั้นในและจุดที่มีการจราจรติดขัดก่อน
ปกติสัญญาณไฟจราจรที่เราใช้งานกันอยู่ทั่วไปจะมีการตั้งค่าเวลาไว้ล่วงหน้า แต่ด้วยการใช้งานจริงในชั่วโมงเร่งด่วนนั้นมีความผันผวนมาก จึงทำให้การตั้งค่าไม่สอดคล้องกับการใช้งาน อีกทั้งตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ตามแยกถนนต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไขปัญหารถติดก็ไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยประสานข้อมูลระหว่างแยก
ทางกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ JICA จึงได้ร่วมมือกัน”พัฒนาระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่” Area Traffic Control (ATC) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่
การทำงานของระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร เริ่มจาก ติดตั้งเครื่องตรวจจับยานพาหนะ แบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ที่แยกไฟแดง ซึ่งเครื่องนี้จะส่งข้อมูลสภาพการจราจรบนท้องถนนในขณะนั้นผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปที่ ศูนย์ควบคุมการจราจร เพื่อคำนวนจังหวะการให้สัญญาณไฟที่เหมาะสม
โดยระบบที่ใช้คำนวนจะเป็นอัลกอริทึมขั้นสูงที่เรียกว่า MODERATO ซึ่งจะวิเคราะห์ข้อมูลจากปริมาณการจราจรและระดับความติดขัด จากนั้นก็ปรับสัญญาณที่เหมาะสมแบบเรียลไทม์
จากนั้นส่งผลลัพธ์มาที่เครื่องควบคุมไฟจราจร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปรับใช้ในแต่ละแยก ซึ่งข้อมูลการจราจรบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ กับระบบไฟจราจรที่เหมาะสมตามพื้นที่ จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ทางระบบยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลการจราจรและการทำงานของสัญญาณไฟ เอาไว้เพื่อปรับใช้วิเคราะห์ในอนาคตได้อีกด้วยค่ะ
พื้นที่ที่ใช้ระบบ ATC นำร่อง
ปัจจุบันพื้นที่ที่นำร่องระบบ ATC บนถนนเส้นหลักทั้ง 4 สาย ได้แก่
- ถนนพหลโยธิน
- ถนนราชวิถี
- ถนนพระราม 6
- ถนนประดิพัทธิ์
ทั้ง 4 เส้นหลักดังกล่าวได้ครอบคลุมแยกสัญญาณไฟทั้งหมด 13 แยก และสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 จุดค่ะ โดยการนำร่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน หลังจากการทดลองใช้งานพบว่า การจราจรบนถนนพหลโยธินดีขึ้นประมาณ 15% มีการติดขัดบ้าง แต่ก็ยังพอเคลื่อนตัวไปได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติให้ข้อมูลในงานเปิดตัวโครงการว่า ในตอนนี้ได้นำร่องใช้งานบน 4 ถนนเส้นหลักก่อน จากนั้นจะขยายผลดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพ ฯ ชั้นในและจุดที่มีการจราจรติดขัดก่อน ปัจจุบันนี้ในกทม.มี สัญญาณไฟจราจร 500 จุดที่เป็นจุดที่ท้าทายว่าในอนาคตจะขยายผลยังไงให้ครอบคลุมทั้งหมด
ทางด้านงบประมาณ ผู้ว่าเผย ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้คือกล้อง CCTV กับ Ultrasonic ซึ่งได้กำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างการใช้ข้อมูลจาก GPS มาดูปริมาณรถแทน ก็น่าจะใช้งบประมาณได้น้อยลง ซึ่งในตอนนี้การใช้ GPS ญี่ปุ่นได้เริ่มทดลองทำอยู่ และหากสำเร็จก็จะสามารถทำได้เร็วเพราะไม่ต้องติดตั้งเซนเซอร์แต่ใช้ข้อมูลจาก GPS แทน ข้อดีคือกทม. เองเรามีเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติคเพราะฉะนั้นการส่งสัญญาณต่างๆ สามารถส่งผ่านไฟเบอร์ออฟติคนี้ได้เลย เชื่อว่าสิ้นปีนี้จะเห็นการขยายผลอย่างรวดเร็ว
ที่มา : Facebook กรุงเทพมหานคร, Facebook ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
Comment