หลังจากที่ Zecure Asia เปิดตัว Blackphone 2 ไปด้วยราคาที่สุดห้าวหาญ 22,990 บาท พร้อมปล่อยคลิปโฆษณาอันลือลั่นสะท้านวงการ จนทำให้หลายๆคนรู้จักเจ้า Blackphone 2 กันไปทุกหย่อมหญ้า เชื่อว่าหลายๆคนตอนนี้คงอยากจะรู้ว่าค่ายนี้เค้ามีดีอย่างไร มือถือสีดำของเค้ามันมีฟีเจอร์สุดเจ๋งตรงไหน ทำไมราคาถึงได้พรีเมียมขนาดนั้น วันนี้ผมได้เครื่องเอามาลองจับลองเล่นไปแล้ว จึงขอเอาประสบการณ์การใช้งานต่างๆมาแชร์ให้เพื่อนๆกัน

แกะกล่องดูของภายใน

ก่อนอื่นมาดูกันว่าของภายในกล่องของเจ้า Blackphone 2 ที่มีมูลค่า 22,990 บาทนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้างครับ

  • สายชาร์จ
  • หม้อแปลงแบบ Quick Charge 2.0 (2 อัน)
  • หูฟัง
  • กระจกกันรอย
  • เคสพลาสติก

ดีไซน์และลักษณะภายนอกเครื่อง

Blackphone 2 มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว มีขอบบนล่างที่ไม่ใหญ่ ความหนาเครื่องไม่ถึง 0.8 ซม. ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถจับถือได้สะดวกในระดับนึง ตัวกระจกหน้าจอ เลือกใช้เป็น Gorilla Glass 3 เรียบๆ ไม่มีขอบโค้ง 2.5D ตามเทรนด์ ซึ่งก็สะดวกดีในการหาฟิล์มกันรอยมาติดภายหลัง

ด้านบนหน้าจอมีลำโพงสนทนา, เซ็นเซอร์วัดแสง และกล้องหน้าความละเอียด 5MP

ด้านล่างหน้าจอมีปุ่ม Back, Home และ Recent แบบมีไฟ แต่ไม่สามารถสลับฟังค์ชั่นของปุ่มได้เหมือนบางรุ่น 

ด้านบนเครื่องมีรูหูฟังขนาด 3.5 มม. และไมค์ตัดเสียงรบกวนขณะสนทนา

ด้านล่างตัวเครื่องมีไมค์สนทนา และช่อง Micro USB ซึ่งก็น่าเสียดายที่ยังไม่ได้เลือกใช้เป็น USB Type-C ที่กำลังได้รับความนิยม และน่าจะเป็นเทรนด์ของปีนี้เลย

ด้านขวาของเครื่องมีปุ่ม Power และ ปรับระดับเสียง โดยการกดปุ่มลดระดับเสียงและปุ่ม Power พร้อมกันค้างไว้ จะเป็นการจับภาพหน้าจอ

น่าเสียดายว่าขอบของตัวเครื่องเป็นพลาสติก ทำให้ฟีลลิ่งการจับจะไม่ได้ดูพรีเมียมเท่าไหร่ ส่วนที่ด้านซ้ายตัวมีช่องใส่ซิมการ์ดและ microSD Card 

มาที่ด้านหลังก็มีกล้องความละเอียด 13MP พร้อม LED Flash 2 ดวง ถัดลงมาด้านล่างเป็นลำโพง และฝาหลังถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ไม่ได้ โดยวัสดุฝาหลังเป็นกระจก Gorilla Glass 3 แต่เหมือนว่าอาจจะไม่ได้เคลือบสารกันรอยนิ้วมือ หรือเคลือบแต่น้อยเกินไป เพราะระหว่างทดสอบพบว่าเป็นรอยนิ้วมือง่ายไปนิดนึง

กระจกนิรภัยที่ให้มาก็ใส่ได้พอดีเป๊ะ เอามาติดเองก็ไม่ได้ยากเท่าไหร่ และติดแล้วก็ไม่พบว่ามีปัญหาอะไรกับการใช้งาน ส่วนเคสก็ให้มาเป็นแบบใสจึงไม่ทำให้บดบังความสวยหรูของตัวเครื่อง มีการครอบมุมต่างๆเอาไว้ทุกด้าน กันรอยตอนตกได้ในระดับนึง

เอาล่ะ ทีนี้มาดูเรื่องการใช้งานกันบ้าง

ระบบความปลอดภัยที่มีใน Blackphone 2

ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องอื่นๆ เราขอเอาเรื่องระบบความปลอดภัยมาเล่าให้อ่านก่อนเรื่องอื่นๆเลยละกัน ว่าที่เค้าโฆษณาว่าของเค้าแตกต่างและเจ๋งเนี่ย มันมีดีอย่างไรบ้าง โดยทาง Blackphone 2 จะชูฟีเจอร์ดังนี้

1. Silent Phone

2. Security Center

    – Phone settings

    – การจัดการ Account

    – Space Management

ทีนี้มาดูกันว่าแต่ละตัวมันทำงานอย่างไรกันนะครับ

Silent Phone

Silent Phone เป็นแอปสำหรับใช้บริการของทาง Silent Circle ที่จะทำให้เราสามารถใช้งานโทรศัพท์, ส่งข้อความ และไฟล์ ในระดับที่มีความปลอดภัยสูงกว่าแอปทั่วไป โดยตัวแอป Silent Phone นี้จะทำการส่งข้อความ รูป หรือไฟล์ต่างๆ ระหว่างผู้ใช้ถึงผู้ใช้เท่านั้น ไม่ได้มีการส่งไปยัง Server ก่อนดังเช่นแอปอื่นๆ ซึ่งข้อความหรือไฟล์อาจจะยังค้างอยู่ใน server และถูกเก็บบันทึก log เอาไว้ จนอาจทำให้คนอื่นเข้ามาอ่านข้อความได้ 

การใช้งานระหว่างเครื่องต่อเครื่องโดยที่ Server มีหน้าที่แค่ช่วยเชื่อมต่อหากันเท่านั้น

และตัวฟีเจอร์แชทนี้ทุกข้อความที่ถูกส่งผ่านแอป Silent Phone จะถูกตั้งเวลาลบทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาอ่านข้อความของเราได้ในอนาคต สามารถตั้งเวลาลบอัตโนมัติได้ตั้งแต่ 1 นาที ถึง 3 เดือน และถ้าเราเกิดส่งข้อความผิด ก็สามารถสั่งลบข้อความทิ้งได้จากเครื่องเราได้เลย โดยข้อความที่ถูกส่งไปถึงเครื่องรับแล้ว ก็ยังสามารถลบได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถโทรคุย หรือวิดีโอคอลล์พร้อม กันได้ถึง 6 สายอีกด้วย

การตั้งเวลาลบข้อความที่จะส่ง

จากการทดลองส่งข้อความและลบข้อความแล้ว พบว่าลบได้จริง ข้อความถูกลบทั้งฝั่งส่งและฝั่งรับ แต่ยังสามารถกดจับภาพหน้าจอไว้ได้ โดยไม่มีการเตือนด้วยว่าอีกฝั่งได้จับภาพหน้าจอข้อความที่ได้คุยกันไว้

แอป Silent Phone นี้ไม่ได้จำกัดให้ใช้แค่เฉพาะ Blackphone 2 เท่านั้น แต่มีให้ดาวน์โหลดใช้ได้ทั้งระบบ Android และ iOS แต่ว่าจะมีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 9.95 ดอลลาร์ ต่อเดือน ส่วนผู้ใช้ Blackphone 2 จะได้ใช้บริการฟรีในส่วนนี้ ใครอยากลองใช้ก็ไปโหลดกันได้โดยคลิกที่รูปได้เลย

                   

การใช้งานนั้นไม่ยากเลยหลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แค่กดเข้าแอป และกดเครื่องหมาย + เพื่อค้นหา Account ของผู้ใช้งาน Silent Phone ที่เราต้องการจะติดต่อ จากนั้นก็เริ่มส่งข้อความ หรือโทรหากันได้เลย

นอกจากนี้ Blackphone ยังมีบริการโทรระหว่างประเทศแบบ VoIP มาให้ด้วย โทรเข้าเบอร์บ้าน หรือมือถือในแต่ละประเทศได้ลย การใช้บริการนี้เราต้องซื้อ Credit เพื่อใช้งานเหมือน Skype (ผู้ที่ใช้ Blackphone 2 จะโทรได้ 100 นาที ฟรีทุกเดือน เป็นเวลา 12 เดือน) ข้อดีของบริการนี้ที่แตกต่างจาก Skype คือหลังจากเราสมัครบริการแล้ว จะได้เบอร์โทรศัพท์เรามาอีกเบอร์ สามารถให้คนอื่นเพื่อใช้โทรเข้าเหมือนเป็นเบอร์เราอีกเบอร์ได้เลย มีประโยชน์มากสำหรับคนที่ต้องการได้เบอร์ส่วนตัวในประเทศ เช่น เครื่องที่ผมใช้อยู่เป็นเครื่องอเมริกา เบอร์ที่ได้มานี้ก็จะเป็นเบอร์ของอเมริกาด้วย สามารถให้เบอร์นี้กับเพื่อนที่อเมริกาเพื่อโทรเข้า และเค้าจะถูกคิดเงินเหมือนเป็นการโทรระหว่างอเมริกา – อเมริกา เลยนั่นเอง

การใช้งานโทรศัพท์ผ่าน Silent Phone

ถ้าเรามี Credit อยู่ในบัญชีแล้ว (1 Credit = 1 นาที) เราสามารถเข้าไปในแอป Silent Phone และกดเบอร์ที่ต้องการ หรือเลือกจาก Contact ที่มีอยู่แล้ว และโทรได้เลยเหมือนการใช้งานโทรศัพท์ปกติ แต่แน่นอนว่าต้องมีการเชื่อมต่อ Internet ตลอดเวลาที่ใช้งาน ซึ่งคุณภาพของเสียงก็ขึ้นอยู่กับความเร็วและความเสถียรของ Internet ที่เราใช้นั่นเอง

Security Center

Security Center จะเป็นศูนย์กลางของการตั้งค่าความปลอดภัยต่างๆ ของ Blackphone 2 และจะทำการแจ้งเตือนเมื่อพบความไม่ปลอดภัยในข้อมูลของมือถือ เช่น Wifi ที่เราเชื่อมต่อนั้นไม่มีการเข้ารหัส, ไม่ได้ตั้งรหัสผ่านในการปลดล็อคหน้าจอ, ไม่ได้เปิดการป้องกันการติดตั้งแอปภายนอก Google Play ฯลฯ 

ใน Security Center จะมีตัวเลือกย่อยอื่นๆให้ตั้งค่าเพิ่มเติมด้วยดังนี้นะครับ

 Security Center จะมีการแจ้งเตือนเมื่อพบความเสี่ยงต่อข้อมูลใน Blackphone 2

Phone Settings

Change encryption password การตั้งค่า PIN และ Password ในการล็อคหน้าจอ

System Updates เช็คว่ามีการอัพเดทใหม่ๆ ของ Silent OS หรือไม่

Silent OS App updates เช็คการอัพเดทใหม่ๆ ของ App

– Remote Wipe ที่สามารถล้างข้อมูลเครื่อง(Factory Reset) หรือปิดเครื่องจากระยะไกลผ่านเว็บบราวเซอร์ (มีคำสั่งให้เลือกเพียง 2 แบบเท่านั้น) โดยการสั่งให้มือถือปิดเครื่อง หรือล้างข้อมูลเครื่อง ใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาที ก็สามารถปิดเครื่องหรือล้างข้อมูลได้เลย และการปิดเครื่องหรือล้างข้อมูลเครื่องนั้น จะไม่มีการโชว์ที่หน้าจอด้วย คือถ้าไม่ได้เปิดหน้าจออยู่ มันก็จะสั่งล้างเครื่องทั้งๆ ที่หน้าจอปิดอยู่แบบนั้นเลย…คนที่มีมือถือเราอยู่ในมือ ถ้าไม่ได้เปิดจออยู่ พอเปิดจอมาก็จะเห็นว่าโดนลบข้อมูลไปแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว ซึ่งการใช้งาน Remote Wipe ต้องทำการลงทะเบียนก่อนจึงจะใช้งานได้ แต่แน่นอนว่าถ้ามือถือไม่ได้เชื่อมต่อ Internet ก็ไม่สามารถสั่งการได้ จนกว่ามือถือจะทำการเชื่อม Internet ในครั้งต่อไป

ลงทะเบียน Remote Wipe

 

กรณีเครื่องหาย เราก็เข้าเว็บไปสั่งปิดเครื่อง หรือล้างเครื่องจากเว็บบราวเซอร์ได้เลยทันที แต่จะมีให้เลือกเพียงปิดเครื่องหรือล้างข้อมูลภายในเครื่องทั้งหมดเท่านั้น ไม่มีการระบุตำแหน่ง หรือล็อคเครื่องเปล่าๆแต่อย่างใด

การจัดการ Account

Customize Space คือการตั้งค่า Account ที่ใช้โดยการเปลี่ยนสี เปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยน icon ของ Account นั้นๆ

Screen Lock คือการตั้งค่าการปลดล็อคหน้าจอว่าจะใช้ PIN, password หรือ pattern

Privacy level คือการอนุญาตให้แอปที่เราติดตั้งเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้ โดยมีตัวเลือก Default, Allow All, Deny All

Randomized PIN pad การสุ่มตำแหน่งตัวเลขปลดล็อคหน้าจอ เพื่อป้องกันการเดารหัสจากตำแหน่งการกดรหัสหน้าจอ หรือการเดารหัสจากคราบนิ้วมือที่ติดอยู่บนกระจกหน้าจอ ซึ่งถือว่าทำให้การปลดล็อคโทรศัพท์ปลอดภัยขึ้นมาอีกขั้นนึง

การสุ่มตำแหน่งตัวเลขปลดล็อคหน้าจอ

Unknown sources ป้องกันการติดตั้งแอปที่ไม่ได้โหลดจาก Google Play

Screen pinning การตรึงหน้าจอที่ต้องการเอาไว้

Cross Space notification การตั้งค่าให้แสดงการแจ้งเตือนข้าม Account ได้

Space sharing การแชร์ข้อมูลระหว่าง Account

Lock other Spaces on entry ล็อค Account อื่นๆ เมื่อกำลังใช้ Account ปัจจุบัน

Space Management

Space Management คือการแบ่งพื้นที่หน่วยความจำในโทรศัพท์ออกเป็นบัญชีต่างๆ สร้างได้สูงสุดถึง 4 Account เพื่อแบ่งการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น บัญชีส่วนตัว หรือ Guest Account สำหรับส่งให้คนอื่นใช้งาน แต่ไม่ต้องการให้คนยืมเห็นข้อมูลส่วนตัว ซึ่งสามารถจำกัดให้แต่ละ Account ทำอะไรได้บ้าง เช่น โทรออก-รับสาย, ส่ง sms, เล่น Internet, ติดตั้ง App ฯลฯ โดยการสร้างแต่ละ Account นั้น เปรียบได้กับเป็นมือถืออีกเครื่องนึงเลย เพราะสามารถลง Google Account ใหม่โหลด App เช่น Facebook, Line, Whatsapp ฯลฯ มาลงทะเบียนใช้เป็นอีกบัญชีได้เลย  (ถ้าเราอนุญาตให้ Account นั้นติดตั้ง App ได้) โดยแต่ละ Space มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

Personal Space – เป็นการสร้าง Account ปกติ ที่สามารถจำกัดการใช้งานได้ตามที่กล่าวไป

Silent Space – เป็นการสร้าง Account แบบที่ไม่มี Google Play Services มาให้ ซึ่งเหตุผลที่ทาง Blackphone 2 มีฟีเจอร์นี้ขึ้นมาก็เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลสูงสุด ป้องกันแม้กระทั่ง Google Services ไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ส่วนนี้นั่นเอง แต่การไม่มี Google Services ก็ทำให้บัญชีนี้ไม่มี Google Play ให้ทำการลง App ใหม่ได้ หากต้องการใช้แอปอะไร ก็ต้องใช้วิธีการแชร์มาจาก Account อื่นเท่านั้น

Managed Space – เป็นการสร้าง Account สำหรับใช้ในองค์กร โดยตัวองค์กรจะมีโปรแกรมในการควบคุมการใช้งานของผู้ใช้ทุกคน ตรวจสอบการติดตั้งแอปทั้งหมดในเครื่อง และแชร์จำนวนนาทีสำหรับใช้งาน Silent Phone ก็ได้ ซึ่งรายละเอียดความสามารถเต็มๆ ต้องลองติดต่อสอบถามทางศูนย์บริการของ Blackphone อีกทีนะครับ เพราะเราไม่ได้ทดสอบในเรื่องนี้

Account หลัก สามารถเลือกที่จะแชร์ App ไปให้ Account อื่นๆ ได้ในกรณีที่ไม่อนุญาตให้ Account นั้นดาวน์โหลด App เอง หรือจำกัดการใช้ Internet เอาไว้ 

นอกจากนี้ ในแต่ละ Account ยังแยกที่เก็บข้อมูลออกจากกันด้วย เช่น Account หลักมีรูปและเพลงเก็บเอาไว้ Account อื่นๆ จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลพวกนั้นได้เลย 

ในกรณีที่ใช้ microSD Card เครื่องจะถามว่าต้องการใช้การ์ดเป็น Portable storage เหมือนการ์ดทั่วๆไป หรือต้องการใช้เป็น Internal storage เพื่อให้ใช้ได้เฉพาะกับเครื่องของเราเท่านั้น (ทุก Account สามารถมองเห็นข้อมูลในการ์ดได้ หากตั้งเป็น Portable storage)

ส่วนการเลือก Internal storage จะเป็นการขยายพื้นที่ภายในของ Blackphone 2 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้ติดตั้งแอปได้ และยังขยายพื้นที่ของแต่ละ Space ที่เราได้สร้างเอาไว้ด้วย แต่ข้อสังเกตุคือถ้า microSD Card ที่เราใช้มีความเร็วในการเขียน/อ่านไม่พอ เครื่องจะแนะนำให้เราใช้ microSD Card ที่มีคุณภาพสูงกว่านี้เพื่อการใช้งานแอปต่างๆ ได้ลื่นไหลมากขึ้น และเพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงต่อการสูญหายของข้อมูลจากการใช้ microSD Card คุณภาพต่ำ

 และนี่ก็เป็นฟีเจอร์ทั้งหมดในด้านความปลอดภัยของ Black Phone 2 ซึ่งโดยรวมแล้วก็ดูจะมี Silent Phone ที่มีจุดเด่นจากบริการอื่นๆของสมาร์ทโฟนคู่แข่งที่เราสามารถส่งข้อความได้แบบ P2P และสามารถสั่งลบได้จากเครื่องของเราเอง รวมถึงการโทรระหว่างประเทศที่จะมีเบอร์ส่วนตัวของเราเพิ่มเติมขึ้นมาอีกเบอร์นั่นเองครับ

ทีนี้เดี๋ยวเรามาต่อกันที่เรื่องทั่วไปบ้าง เริ่มจากมาไล่ทวนสเปคกันก่อน

สเปคของ Blackphone 2

  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD กระจก Gorilla Glass 3 หน้า-หลัง
  • ตัวกรอบเครื่องเป็นพลาสติก
  • CPU Qualcomm Snapdragon 615 1.7GHz octa-core
  • GPU Adreno 405
  • RAM 3GB
  • ความจุ 32GB พร้อมช่องใส่ MicroSD Card 128GB
  • กล้องหลักความละเอียด 13MP แฟลช LED 2 ดวง
  • กล้องหน้าความละเอียด 5MP
  • รองรับการใช้งาน 3G, 4G/LTE
  • WiFi 802.11 a/b/g/n/ac dual band 2.4/5.0 GHz
  • Sensors : Accelerometer, Gravity/Compass , Proximity sensor, Gyro sensor
  • แบตเตอรี่ 3060 mAh
  • รองรับ Quick Charge 2.0
  • ขนาดตัวเครื่อง 7.9 x 76.4 x 152.4 มม.
  • น้ำหนัก 165 กรัม
  • ระบบปฏบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow ครอบด้วย Silent OS 1.1
  • ไม่มีสแกนลายนิ้วมือ

ตัวสเปคที่จัดมาหลายๆคนอาจจะมองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าอื่นในตลาดแล้วดูด้อยไม่สมราคาไปพอสมควร แต่อย่างไรก็ดี เดี๋ยวมาลองทดสอบการใช้งานจริงกันดูก่อนละกันว่ามันโอเคขนาดไหน

ประสิทธิภาพการใช้งาน

Blackphone 2 ได้เลือกใช้ CPU Snapdragon 615 ที่มีความเร็ว 1.7GHz octa-core และ GPU Adreno 405 เมื่อลองทดสอบด้วย AnTuTu เปรียบเทียบกับ Galaxy S7 ที่ราคาไม่หนีกันมาก ก็ทำคะแนนออกมาได้แตกต่างกันสุดๆที่ [Blackphone 2] 27859 : 118366 [Galaxy S7] และทำให้เกิดความกังวลถึงประสิทธิภาพในการใช้งานต่างๆ

AnTuTu Score : Blackphone 2

 

AnTuTu Score : Galaxy S7

เราจึงได้นำเอาเจ้า Blackphone 2 มาทดลองใช้งานทั่วไป และเล่นเกมกราฟฟิกหนักๆ ก็พบว่าการใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เล่นเกมทั่วไปได้ลื่นไหลดี แต่ติดตรงที่เวลาในโหลดเข้าเกมจะช้าไปสักนิดนึงนะ

Mortal Kombat X เล่นได้ไม่มีอาการหน่วง หรือกระตุก

Turbo League เล่นได้ลื่นๆ มีกระตุกบ้างในหน้าจอเมนู

แต่ยังมีบางเกมที่อาจจะเขียนมาให้ทำงานร่วมกับ CPU และ GPU ของ Blackphone 2 แบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกมเกิดอาการหน่วงและกระตุกอยู่เรื่อยๆ จนทำให้เสียอารมณ์ได้ โดยเท่าที่เจอปัญหาตอนนี้คือเกม Assassin’s Creed Identity 

Assassin’s Creed Identity มีอาการหน่วงและกระตุกเป็นช่วงๆ 

Play video

ตัวอย่าง Gameplay ที่แค่เดินก็ออกอาการกระตุกให้เห็น

UI และการใช้งาน

Silent OS 1.1 ที่ครอบอยู่บน Android 6.0.1 ใช้งานได้ลื่นไหลไม่มีอาการหน่วงหรือกระตุกให้เห็นในการใช้งานปกติ ซึ่ง Silent OS เกือบจะเหมือน Android เพียวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะแทบจะไม่มีแอปอะไรที่ไม่จำเป็น ใส่มาให้รกเครื่องเลย จะมีก็แต่ App ที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเครื่องเท่านั้นเอง และหลังจากการใช้งานประมาณ 2 อาทิตย์ ก็พบอาการเอ๋อของเครื่องเพียงครั้งเดียว โดยเครื่องไม่ยอมเซฟรูปหลังกดถ่ายไปแล้ว ทำให้ต้องรีสตาร์ทเครื่อง แล้วอาการดังกล่าวก็หายไป

เนื่องจากไม่มีแอปที่ไม่จำเป็นใส่มาด้วย จึงเหลือ Storage ไว้ให้ใช้ประมาณ 25.37GB และเหลือ RAM 1.8GB

Notification / Quick settings ซึ่ง Quick settings สามารถทำการโยกย้าย, ลบ หรือเพิ่ม icon ที่ต้องการได้

กล้องของ Blackphone 2

ฟีเจอร์และการปรับค่าต่างๆ ของ Blackphone 2 นั้นถือว่าใช้งานได้สะดวกสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ต้องการปรับแต่งอะไรมากมาย ประเภทหยิบขึ้นมาแล้วถ่ายเลย เพราะ Blackphone 2 ไม่มีโหมดอะไรมาให้มากนัก แต่ก็มีโหมดมาตรฐานทั่วไปมาให้ครบครันทั้งถ่ายวิดีโอ, พาโนรามา, เปลี่ยนฟิลเตอร์, มี scene ให้เลือก, ปรับ WB EXP และ ISO

ปรับ Scene และ Filter

 ปรับ Exposure และ ISO

ภาพที่ได้เนื้อภาพมีความละเอียดคมชัดพอใช้ได้ แต่สียังมีปัญหาเรื่อง White Balance ที่ดูยังเพี้ยน ทำให้ภาพรวมที่ถ่ายมาจะดูหม่นๆไปหน่อยแม้ถ่ายในสภาพแสงกลางแจ้ง ซึ่งถ้าถ่ายในสภาพแสงน้อยภาพจะออกมาสีหม่นยิ่งกว่าเดิม สังเกตเห็น Noise ขึ้นมาค่อนข้างเยอะ และมือต้องนิ่งพอควร ไม่งั้นภาพที่ได้จะออกมาเบลอเลยทีเดียว

 ภาพถ่ายกลางแจ้ง

 ตัวอย่างภาพถ่ายกลางแจ้งความละเอียดต้นฉบับ

ภาพถ่ายในที่แสงน้อย

ภาพถ่ายในที่แสงน้อย

 ตัวอย่างภาพถ่ายในที่แสงน้อยความละเอียดต้นฉบับ

 

ตัวอย่างภาพถ่ายอาหารความละเอียดต้นฉบับ

 

 ตัวอย่างภาพถ่าย Landscape ความละเอียดต้นฉบับ

 

ส่วนกล้องหน้า ก็ไม่มีฟีเจอร์พิเศษในการถ่ายเซลฟี่ให้ เลือกได้แค่ Scene ไม่สามารถปรับฟิลเตอร์ได้ และไม่มีโหมดหน้าเนียน

 

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้าความละเอียดต้นฉบับ

หน้าจอ

เรื่องความคมชัดและความละเอียดในการดูภาพ หรือดูวิดีโอนั้น ถือว่าใช้ได้เลย แต่ติดตรงการใช้งานกลางแจ้ง ซึ่งหน้าจอสู้แสงแดดจัดๆ ไม่ค่อยดีนัก และหน้าจอสะท้อนแสงแดดมากๆ จนบางทีมองเห็นแต่หน้าตัวเองสะท้อนบนหน้าจอเลยทีเดียว

แบตเตอรี่

จากการทดสอบเปิดวิดีโอความละเอียด Full HD จาก Youtube ผ่าน Wi-Fi โดยเปิดการเชื่อมต่อ 3G เอาไว้ด้วย ความสว่างหน้าจอที่ 50% และเปิดเสียงผ่านลำโพง 50% ผลทดสอบที่ได้คือ แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ประมาณ 6 ชม.  หน่อยๆ จนแบตเตอรี่เหลือที่ระดับ 1% และเครื่องดับไป

วิทยุ FM และการฟังเพลง


สมาร์ทโฟนเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยจะใส่ฟีเจอร์นี้มาให้กันแล้ว แต่ก็ยังมีหลายๆคนที่ยังอยากได้ฟีเจอร์วิทยุออฟไลน์กันอยู่ Blackphone 2 ก็ได้ใส่มาให้ด้วย โดยต้องเสียบหูฟังเพื่อใช้เป็นเสาอากาศ สำหรับหูฟังที่แถมมาด้วย เสียงที่ได้ถือว่าใช้ได้เลย (ออกตัวก่อนเลยว่าไม่ใช่นักฟังเพลงหูเทพขนาดนั้น) เบส และเสียงแหลมถือว่ามาครบ ฟังสนุกเลยทีเดียว

สรุปการใช้งาน

ข้อดี

  • Space Management มีประโยชน์มากในการแยกใช้ Account ทำให้เหมือนมีโทรศัพท์แยกกัน 4 เครื่อง
  • App Silent Phone นับว่ามีประโยชน์ในด้านธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล
  • Silent OS ไม่มี bloatware ให้เกะกะพื้นที่ในเครื่อง
  • ผู้ใช้ Blackphone 2 ได้ใช้ Silent Phone ฟรีไม่เสียค่ารายเดือน แถมด้วย 100 เครดิท ฟรีทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี
  • กรณีเครื่องมีปัญหา สามารถนำเครื่องและอุปกรณ์พร้อมกล่องไปขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องรอซ่อม

ข้อด้อย

  • กล้องถ่ายภาพยังไม่ประทับใจนักทั้งหน้าและหลัง
  • จอภาพสะท้อนแสงมากๆ
  • การโหลดเข้าเกมกราฟฟิกหนักๆ ใช้เวลานานมาก
  • ฝาหลังเป็นรอยนิ้วมือง่าย
  • ไม่มีระบบสแกนลายนิ้วมือ
  • ราคาสูง

จากความเห็นส่วนตัวที่ Blackphone 2 เปิดตัวมาด้วยราคา 22,990 บาท คิดว่า Blackphone 2 น่าจะเหมาะกับผู้ใช้ในองค์กร หรือบริษัทที่ต้องการความรัดกุมในการรับ-ส่งข้อมูล เพื่อป้องกันการรั่วไหลของความลับ และควบคุมการใช้งานของบุคลากรภายในองค์กรสู่ศูนย์กลางซะมากกว่า ส่วนผู้ใช้ทั่วไปอาจจะยังดูไม่ค่อยเหมาะสักเท่าไหร่หรือพอจะหาตัวเลือกอื่นที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าอยู่พอสมควรครับ