เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 กันยา) ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Blognone Tomorrow 2019 งานเทคฯ งานใหญ่ที่จัดโดยทางเว็บไซต์ Blognone โดยในปีนี้มาในธีม Human & Machine ที่ต้องการจุดประเด็นการเข้ามาของเทคโนโลยี และการปรับตัวของคนในยุคนี้ เพื่อที่จะต้องหาความสมดุลระหว่างจักรกลและคน หลังจากที่ได้ไปเข้าร่วมมาเลยอยากจะมาเขียนสรุปเนื้อหาในส่วนที่ผมได้เข้าฟังให้อ่านกันคร่าวๆ ครับ
Opening Remark
การกล่าวเปิดงานโดยผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone คือคุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (คุณมาร์ก, mk) โดยได้ยกเหตุการณ์ย้อนไปสมัยก่อนยุคปฏิวัติเมจิของญี่ปุ่น สมัยที่ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศปิด แต่แล้ววันหนึ่งก็พบกับเรือกลไฟจากอเมริกาเข้ามาในน่านน้ำ พาให้ชาวญี่ปุ่นหวาดกลัวและเห็นเป็นสิ่งชั่วร้ายพร้อมขนานนามว่าเป็น “เรือดำ” แต่ในขณะที่มีกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นภัย ก็มีชาวญี่ปุ่นอีกกลุ่มที่มองกลับกันว่า “เรือดำ” นี้เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องมีเป็นของตัวเอง จนกลายมาเป็นการปฏิวัติล้มล้างระบบโชกุนและมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีการต่อเรือ จนญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลเหนือรัสเซียได้ในเวลาต่อมา
ว่าไปแล้ว “เรือดำ” นี่เองก็ไม่ต่างกับการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างชาติที่บุกเข้ามายังประเทศไทย ณ เวลานี้ ซึ่งก็สร้างความหวาดกลัวให้คนในชาติไม่น้อย แต่ก็ต้องพิจารณากันดีๆ ว่าเราจะมอง “เรือดำ” ที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นวิกฤติหรือโอกาสสำหรับเรา
5G and Business Transformation: Impacts & Opportunities
หัวข้อ Keynote แรกเป็นเรื่องของเทคโนโลยี 5G ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต พูดโดยคุณยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS โดยเนื้อหาหลักๆ ก็คือการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นของเทคโนโลยียุคที่ 5 นั้นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ในเชิงสเปคและประโยชน์ที่จะได้แล้วสามารถสรุปได้ดังนี้
- Bandwidth ที่เพิ่มขึ้น – ความเร็วสูงสุดถึง 20 Gbps เรียกได้ว่าอาจจะแทนเน็ตบ้านเลยก็ยังได้, การส่งข้อมูลเพื่อไปประมวลผลบน Cloud ก็จะสะดวกขึ้น
- รองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ที่มากขึ้น – ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรสามารถรองรับอุปกรณ์ได้สูงถึง 1 ล้านอุปกรณ์ เปิดโอกาสในการทำ Smart City และ Smart Transportation/Logistic รถคุยกันเองได้
- ความหน่วงที่ต่ำลง – Latency สามารถทำได้ต่ำกว่า 1 มิลลิวินาที ทำให้การควบคุมระยะไกล เช่น การผ่าตัด, การคุมงานก่อสร้าง มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ยุคของ 5G นั้นจะมองอยู่ในแค่สมาร์ทโฟนไม่ได้แล้ว เพราะมันไปไกลกว่านั้น อุปกรณ์ที่จะได้ประโยชน์จากพวกนี้อาจจะเป็นกลุ่มเช่น IoT, AR/VR และน่าจะมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ด้วยความสามารถของ 5G แล้วสร้างทำให้เกิดอุปกรณ์และการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งมีข้อมูลประเมินว่ามูลค่าของตลาดสินค้าและบริการที่ได้ 5G เป็นตัวผลักดันจะมีมูลค่าสูงถึง 12.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานกว่า 22 ล้านตำแหน่งและจะกระตุ้น GDP ภาพรวมทั่วโลกได้ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้นอยู่ในช่วง 3-5% ของปัจจุบัน
Battery-Driven Future
เป็น Panel Discussion ที่คุณมาร์กออกมานั่งคุยกับคุณสมโภช อาหุนัย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (Energy Absolute) บริษัทพลังงานทางเลือกที่เริ่มจากการผลิตไบโอดีเซล จนหันมาทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม ผลิตไฟฟ้า จนในที่สุดได้หันมาลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่โดยการเข้าซื้อบริษัท Amita Technology สัญชาติไต้หวันมา ซึ่งเป็นบริษัทที่เก่าแก่เริ่มผลิตแบตเตอรี่ในยุคที่ลิเธียมไอออนเพิ่งเริ่มมา (คุณสมโภชเปรียบเทียบว่าโซนี่เริ่มผลิตแบตฯ ราว 20 ปีก่อน, Amita ก็เริ่มผลิตเมื่อ 19 ปีที่แล้ว)
หลังจากการเข้าซื้อบริษัท Amita มาก็ได้พัฒนาการผลิตแบตเตอรี่และสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EA ANYWHERE ขึ้นมา พร้อมทั้งต่อยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่ได้ความรู้ความสามารถจากวิศวกรไทยที่มีประสบการณ์ในโรงงานรถยนต์ในไทยมาร่วมพัฒนา เตรียมออกขายในต้นปีหน้าในชื่อว่า Mine โดยกำลังสร้างโรงงานประกอบรถยนต์อยู่
ในฝั่งของการผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันก็กำลังสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่อยู่ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้มากถึง 50 GWh และออกแบบให้เป็นโรงงานระบบอัตโนมัติมากที่สุด
คุณสมโภชมองว่าในอนาคต กระบวนการผลิตหรือการส่งพลังงานไฟฟ้าไม่ควรจะมาจากผู้ผลิตเจ้าใหญ่เพียงผู้เดียว แต่ควรให้มีผู้ผลิตหลายๆ เจ้าและผู้ที่เก็บพลังงานไว้ก็สามารถส่งต่อขายทอดกันได้ และมองว่า Energy Trading จะเป็นสิ่งที่กำลังจะมา
From China with Love
เป็นอีกหนึ่ง Panel Discussion ที่เชิญตัวแทนจากบริษัทจีนมาร่วมพูดคุยถึงความเป็นมาของบริษัท, ธุรกจิของบริษัท และการเข้ามาในประเทศไทยของแต่ละเจ้า โดยมีผู้ร่วมสนทนาดังนี้
- คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ Tencent (Thailand)
- คุณธนินทร์ น้อยรังสี หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี ธุรกิจคลาวด์ ศูนย์ภูมิภาคแห่งประเทศไทยของ HUAWEI TECHNOLOGIES (Thailand)
- Janus He Head of Global Business, Meituan Dianping
- ดำเนินรายการโดย “ซู่ชิง” จิตต์สุภา ฉิน
หลายๆ คนน่าจะรู้จักทั้ง Tencent และ Huawei ดีอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะรู้จักบริษัท Meituan Dianping (เหม่ยถวน เตี่ยงผิง) สำหรับบริษัทนี้เป็นบริษัทที่เรียกตัวเองว่าเป็น Life style platform ลูกค้าหลักส่วนใหญ่ยังเป็นคนจีน แต่ด้วยความที่ธุรกิจมีความหลากหลายสูง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล location-based, การทำรีวิวสถานที่, ระบบนำทาง, การจองห้องพัก, การจองตั๋วสถานที่ท่องเที่ยว และการสร้างคอนเทนท์ ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกับประเทศภายนอกมาก ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนจีนมากันไม่น้อย บริษัทก็จะมาหาพาร์ทเนอร์ในไทยเพื่อการไร้รอยต่อของการให้บริษัทนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้แพลตฟอร์มของตัวเอง
สำหรับฝั่งของ Tencent นั้นปัจจุบันถือครองผลิตภัณฑ์หลายอย่างในไทย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สนุก Sanook.com หรือบริการฟังเพลงสตรีมมิ่ง Joox เกมมือถืออย่าง PUBG Mobile รวมไปถึงบริการอย่าง WeChat และบริการ Cloud
มาที่ Huawei ผู้อ่าน Droidsans น่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้วในฝั่งของธุรกิจมือถือ แต่ก็มีธุรกิจอย่างอุปกรณ์เครือข่ายที่ทำให้บริษัทเติบโตมาแต่แรก และปัจจุบันก็เริ่มขยายให้บริการ Cloud และ Data Center ด้วย
คำถามหนึ่งที่ถูกจี้จุดถามก็คือเรื่องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่บริษัทจีนทั้งหลายถูกเพ่งเล็ง ทุกๆ บริษัทก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ไว้ใจได้ บวกกับการให้บริษัทในแต่ละประเทศก็ต้องทำตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ อย่างในไทย ช่วงประมาณปีหน้าก็จะมีการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวมา ทางบริษัทก็ต้องทำตาม ส่วนทาง Tencent กับ Meituan ก็เสริมอีกด้วยว่าทางบริษัทมีการเข้าตลาดหุ้นอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบมาหลายขั้นแล้ว รวมถึงการมีผู้ถือหุ้นอยู่ก็ไม่กล้าทำอะไรที่เสี่ยงแน่นอน
ทุกๆ บริษัทอยากให้มองว่าการเข้ามาในไทยนั้นไม่ใช่การบุกยึดตลาด แต่เป็นการเพิ่ม Digital Infrastructure ที่จะมาเสริมธุรกิจต่างๆ ในไทยให้เติบโดได้ดีขึ้น และเสนอ Solution ทางธุรกิจ
ดีครับ สำหรับสรุป 🙂 🙂
มีประโยชน์มาก ขอบคุณครับ