ในวันนี้มีงานสัมมนาเทคโนโลยีงานหนึ่งที่น่าสนใจก็คืองาน Blognone Tomorrow จากเว็บไซต์ Blognone โดยได้รวมวิทยากรจากบริษัทยังใหญ่มีชื่อในวงการไอทีมากันเพียบเพื่อพูดบอกเราเรื่องราวและมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่าง AI, Big Data, IoT ให้กับผู้เข้าร่วมงานฟัง ผมที่เป็นหนึงคนที่ไปร่วมงานมาวันนี้จึงมารีวิวคร่าวๆ ให้อ่านกันว่างานสัมมนาครั้งแรกของ Blognone นั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ข้อมูลชี้แจง: ผมซื้อตั๋วเข้างานประเภทบัตร Early Bird มูลค่า 1,500 บาท

สำหรับตัวงานนั้นจัดขึ้นที่ไบเทคบางนา ซึ่งก็ถือว่าเดินทางได้สะดวก ใครมีรถก็มาได้ และโชคดีที่วันนี้บริเวณถนนบางนารถก็ไม่ติดมากนัก หรือใครเดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็มาลง BTS สถานีบางนาได้ ผมถือว่าสถานที่จัดงานนั้นเดินทางได้ไม่ลำบากครับ

การลงทะเบียนนั้นผมลงทะเบียนซื้อตั๋วผ่าน Eventpop พอมาถึงหน้าโต๊ะลงทะเบียนก็เพียงแค่โชว์ QR code จากอีเมลยืนยันพร้อมกับแสดงบัตรประชาชนยืนยันตัวตน ก็เป็นอันเสร็จสิ้น ได้บัตรห้อยคอผู้เข้างานมาพร้อมของที่ระลึกเป็นสมุดจดปกหนังปั๊มโลโก้ Blognone มาเก๋ๆ เท่ดีครับ กระบวนลงทะเบียนจัดว่าสะดวกสบายดีครับ

ตัวงานนั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วงหลักคือเช้าและบ่าย ช่วงเช้าจะเป็นห้องรวม และช่วงบ่ายจะแบ่งสำหรับการรีวิวผมจะกล่าวถึงทีละหัวข้อไปตามช่วงเวลาของงานและตามที่ผมได้เข้าไปฟังนะครับ

เริ่มงาน

ในช่วงเปิดงาน คุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หรือคุณมาร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ก็ขึ้นกล่าวเปิดงาน โดยได้หยิบยกความเป็นไปของรอบโลกที่ปัจจุบันแทบทุกบริษัถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมานำเสนอได้น่าสนใจ ซึ่งผมว่าเหมาะกับการเปิดงานดี และสร้างบรรยากาศที่ดีในการเริ่มงานอีกด้วย

What’s next at LINE

หัวข้อต่อมานั้นเป็นของ LINE ที่ได้คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการของ LINE ประเทศไทยขึ้นมาพูดเกี่ยวกับธุรกิจในประเทศไทย โดยมีกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในปัจจุบัน, ยอดผู้ใช้งานปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของ LINE

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือหลักการทำธุรกิจในแต่ละประเทศของ LINE นั้นจะให้ความเป็นอิสระในการตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นกับประเทศนั้นๆ ไปเลย เรียกว่าการทำ Hyper Localization จากแนวทางนี้จึงเกิดมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเช่น Lineman ที่มีเฉพาะในประเทศไทย, LINE TV ที่เกิดในไทยและขยายไปทำตามที่ไต้หวันแล้ว

Overview of IoT developments in Thailand

หัวข้อ IoT จากทาง AIS โดยได้ประธานบริษัทคือคุณ Hui Wen Cheong มาพูดถึงแนวทางการผลักดัน IoT หรือ Internet of Things ในประเทศไทย โดยได้อธิบายถึงแพลตฟอร์มที่ AIS พัฒนาขึ้นเพื่อครอบคลุมการทำงานเกี่ยวกับ IoT ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน การเก็บข้อมูล ตลอดจนการนำเสนอและแสดงผลสถิติต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างโซลูชันที่ได้ร่วมทำกับบริษัทในไทยคือ ปตท. ในการนำเซนเซอร์ต่างๆ ไปตรวจบำรุงท่อส่งก๊าซ ทำให้ทราบถึงสถานะของระบบได้รวดเร็วกว่าการเดินสำรวจเป็นอย่างมาก

AI for everyone

หัวข้อ AI จากกูเกิลโดยคุณ Michael Jittavanich จากกูเกิลประเทศไทย กลายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ของกูเกิลที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังของ AI ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปช่วยแปลภาษาอย่าง Google Translate, แอปช่วยค้นรูปอย่าง Google Photos และยังส่งเสริมให้นักพัฒนาสร้างสรรค์ผลงาน AI ของตัวเองได้ง่ายขึ้นจากการเปิดซอร์สโค้ด (open source) โปรเจคต่างๆ ให้นำไปต่อยอดกันได้ ซึ่งเป็นแนวทางของกูเกิลที่อยากให้ใครๆ ก็ใช้ประโยชน์จาก AI ได้

Harnessing power of AI for businesses

หัวข้อต่อมาก็ยังเป็นเรื่องของ AI แต่เป็นจากฝั่งของ Facebook โดยคุณ Methit Mukdasiri มาพูดถึงการทำการตลาดด้วยระบบของ Facebook เองที่ใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้การลงทุนทางการตลาดนั้นมีความคุ้มค่ามากกว่าแบบสมัยก่อน แต่ฟังๆ ดูแล้วก็พบว่า Facebook มีการเก็บข้อมูลและติดตามผู้ใช้งานตัวเองไว้เยอะจนแอบน่ากลัวเหมือนกัน ถึงสามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ขนาดนี้

How to make 5G real in Thailand

หัวข้อนี้เป็นคิวของ dtac ที่มาพูดให้และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยได้ ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การสื่อสารของ dtac มาเป็นผู้บรรยายให้ฟัง ซึ่งก็กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างเน็ตเวิร์ก 4G ปัจจุบันกับ 5G ว่าจะมีพัฒนาขึ้นไปในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป้นเรื่องความเร็ว, เรื่องความหน่วงในการทำความเร็วที่ลดลง รวมถึงจำนวนอุปกรณ์ที่จะเข้ามาใช้ระบบเน็ตเวิร์กมากขึ้นอย่างมหาศาล มากกว่าจำนวนประชากรจริงหลายเท่าตัว ซึ่งการพัฒนา 5G นั้นก็ต้องวางแผนอยู่บนข้อมูลเหล่านี้เพื่อที่จะรองรับอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไปได้

How to build your own AI and Data analytics

ช่วงนี้เป็น Panel discussion คือมีพิธีกรเป็นคุณมาร์ก และมีวิทยากร 2 คนคือคุณ Tanapong Ittisakulchai จาก Microsoft ประเทศไทย และคุณ Natth Bejraburnin ผู้เป็น Data Scientist จาก SCB Abacus มาร่วมวงสนทนา ในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนองค์กรให้รองรับการนำ Data มาวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท

Smart City

หัวข้อจาก Acer มาพูดถึงผลงานของบริษัทที่ทำกับที่ประเทศไต้หวัน โดยการนำ IoT มาแก้ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอเช่น การอ่านมิเตอร์ค่าน้ำหรือค่าไฟ ที่จากเดิมต้องไปเปิดดูเอง ครั้นจะทำอุปกรณ์ใหม่ไปแทนที่ก็ไม่ได้เพราะต้องไปปรับเปลี่ยนระบบเดิม Acer เลยก็ทำอุปกรณ์ที่นำไปแปะไว้แล้วใช้กล้องอ่านตัวเลขออกมากลายเป็นข้อมูลดิจิทัล ทำให้นำไปใช้งานเป็น data ต่อได้ หรืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการใช้เซนเซอร์การวัดระดับน้ำผสมกับข้อมูลน้ำขังน้ำท่วม เพื่อวางแผนการระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที่กรณีฝนตกหนัก

Smart Phone: Smart Home

สำหรับ Xiaomi นั้นมาพูดในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ IoT สร้าง Smart Home ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดปิดไฟ ใช้คำสั่งเสียงในการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยตัวอย่างที่ยกมานั้นเป็นอุปกรณ์ของ Xiaomi ล้วนๆ จะเรียกว่ามาขายสินค้าก็คงไม่ผิด เพราะมีปิดท้ายด้วยการอวดภาพการเปิดร้าน Mi Store ในแต่ละประเทศให้ดูด้วย

DIY: front-end analytics

หัวข้อจาก agoda ที่เรียกได้ว่าลงลึก Technical จ๋า เชื่อว่าคงถูกใจนักพัฒนากันไปเยอะ เพราะเนื้อหากล่าวถึงกระบวนการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บไซต์ agoda ที่คอยสอดส่องว่ามีการกดตรงนู้น คลิดตรงนี้ กดจองหรือไม่ เก็บมาเป็นข้อมูลเอา มีการวางระบบอย่างไร เลือกใช้ Tools อะไรบ้าง แล้วได้ข้อมูลมาคัดกรอง จัดระเบียบ และสร้างระบบภายในบริษัทเพื่อคอยติดตามสถิติต่างๆ และกลายเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ในการออกแบบหน้าตาของเว็บไซต์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น

Democratizing data science for your organization

หัวข้อนี้มากันเป็นคู่ครับ โดยเป็นทีมจาก Data Cafe ที่เป็นชุมชนคนในวงการ Data science ในไทยที่ค่อยแลกเปลี่ยนข้อมูลศาสตรืทางด้านนี้กัน ซึ่งวิทยากรทั้งคู่ก็คือ ดร. ธนชาตย์ ฤทธิ์บำรุง และ ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data scientist จาก Facebook มานำเสนอมุมมอง และการทำงานระหว่างทีมธุรกิจกับไอที การเลือกคน จ้างงาน รักษาคนในองค์กร การเตรียมความพร้อมสำหรับการนำ Data มาใช้วิเคราะห์ รวมถึงการผลักดันให้ความรู้ data science นั้นเป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรควรรู้ ดไม่ใช่จ้าง data scientist มาเพื่อให้บรรลุธรรมแต่เพียงผู้เดียว เพราะจะมีองค์ความรู้ในด้านธุรกิจ หลายอย่างที่ทีมอื่นอาจจะรู้ดีกว่าไอทีเองและสามารถช่วยกันเสนอไอเดียได้หลากหลายมากขึ้น

Data in the transformation of retail

หัวข้อสุดท้ายของงานนั้นเป็นของ Central Group ที่เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปิดเว็บไซต์ขายของออนไลน์กับเค้าแล้วเหมือนกัน หัวข้อที่นำมาพูดถึงคือการนำข้อมูลต่างๆ มาเพื่อวิเคราะห์และคาดเดากลุ่มคนที่เหมาะกับสินค้าที่จะขายนั่นเอง

ความคิดเห็นต่องาน

ผมยินดีมากที่ในไทยสามารถผลักดันให้เกิดงานสัมนาด้านไอทีได้เรื่อยๆ และแต่ละปีๆ ก็จะมีงานใหม่ผุดขึ้นมาเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลดีต่อชุมชนไอทีในบ้านเรา การจัดการงานต่างๆ ผมก็ค่อนข้างชอบว่าสามารถจัดการเลือกสถานที่ รันเวลาต่างๆ ได้ไม่เลวทีเดียว เสียบ้างก็คืองานเริ่มเลทกว่ากำหนดร่วม 20 นาที ทำให้คิวอื่นๆ ถูกร่นตามไปด้วย มาทราบทีหลังว่าผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดประมาณ 900 คน ถือว่าเยอะอยู่ และก็พอให้อภัยได้สำหรับการจัดงานครั้งแรก

สิ่งที่ดี

  • สถานที่จัดงาน – เดินทางไม่ลำบาก
  • เวลาจัดงาน – ไม่เช้าเกินไป ไม่เลิกดึกเกินไป
  • การจัดช่วงพัก – มีอาหารว่างเพียงพอ ไม่ต้องแย่งกัน
  • หัวข้อที่ชอบ: ช่วงกล่าวเปิดงาน, การวิเคราะห์ข้อมูลของ agoda, การผลักดันให้เกิดการกระจายความรู้ data science จากทีม Data Cafe

สิ่งที่ควรปรับปรุง

  • โทนของงานไม่ชัดเจนว่าจะเป็นสำหรับภาคธุรกิจดีหรือสำหรับสายเทคนิคดี
  • หลายหัวข้อเป็นการนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทเท่านั้น
  • หัวข้อที่ไม่ชอบ
    1. AI for everyone – เนื้อหาคล้ายกับการเปิดอ่านข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของกูเกิล
    2. Harnessing power of AI for businesses – เนื้อคือการนำเสนอระบบทำการตลาดของ Facebook เพียงอย่างเดียว ไม่มีกรณีศึกษาจริงๆ มายกตัวอย่าง
    3. How to build your own AI and Data analytics – อาจจะเพราะเวลาของหัวข้อน้อย ทำให้เนื้อหาประมาณ 2/3 เป็นการนำเสนอบริษัทของวิทยากรเอง และการตอบถามกันไม่ได้เนื้อหาเท่าไรนัก อาจจะต้องปรับเพิ่มเวลา ถึงจะได้ประเด็นที่น่าสนใจกว่านี้
    4. Smart Phone: Smart Home – การนำเสนอคือการขายสินค้าดีๆ นั่นเอง ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ามาฟังก็ได้ ไปเปิดเน็ตดูโฆษณาก็พอแล้ว
    5. Data in the transformation of retail – เนื้อหาไม่ได้แปลกใหม่ เหมือนเป็นประเด็นที่เราได้ยินกันบ่อยอยู่แล้ว

สรุปโดยภาพรวมแล้วผมมองว่างานนั้นดูมี potential ที่จะทำให้ดีขึ้นได้อีกมาก แต่สำหรับของปีนี้นั้นยังไม่ทำให้ผมประทับใจ และยังรู้สึกว่าแม้จะเป็นค่าบัตร Early Bird (1,500 บาท) ที่ราคาถูกกว่าบัตรปกติ (2,500 บาท) ก็ยังรู้สึกว่าตัวงานไม่คุ้มค่าบัตรเท่าไรนัก และเนื้อหาหลายๆ หัวข้อกลับกลายเป็นสิ่งที่หลายๆ คนกลัวกันคือการจ่ายเงินเข้างานสัมมนามาเพื่อฟังบริษัทขายผลิตภัณฑ์ตัวเอง

อย่างไรก็ดี ผมยังคาดหวังที่จะเห็นงาน Blognone Tomorrow ในปีหน้า และสามารถปรับปรุงการคัดเลือกเนื้อหาจากวิทยากรออกมาให้ได้ดึงดูด น่าสนใจ และทำให้ผู้ร่วมงานได้สาระความรู้กลับบ้านมากกว่าในปีนี้ครับ