ผูใช้งาน CMF Phone 1 ออกมาให้ข้อมูลว่า กล้องจับความลึกของ CMF Phone 1 สามารถ ‘ถ่ายทะลุ’ วัตถุบางอย่างได้ ราวกับภาพเอกซเรย์ พร้อมแนบวิดีโอตัวอย่างที่สาธิตการถ่ายทะลุรีโมตทีวี จนมองเห็นไปถึงถ่านที่อยู่ด้านใน รวมถึงสิ่งของอื่น ๆ อีกบางส่วน – ล่าสุด Akis Evangelidis ผู้ร่วมก่อตั้ง Nothing และ CMF by Nothing ตอบรับฟีดแบ็กทันควัน บอกว่า Nothing จะทำการอัปเดตปิดฟังก์ชันนี้อย่างเร่งด่วนใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากอาจมีข้อกังวลในด้านความเป็นส่วนตัวเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานหรือบุคคลอื่น
CMF Phone 1 มาพร้อมกล้องหลัง 2 ตัว ประกอบด้วยกล้องหลัก 50MP และกล้องจับความลึกที่ไม่ถูกระบุความละเอียด เดิมที กล้องตัวที่สองจะถูกเรียกใช้งานเฉพาะการถ่ายภาพในโหมดพอร์เทรต สำหรับประมวลผลแผนที่ความลึก (depth map) เพื่อทำเอฟเฟกต์หน้าชัดหลังละลาย และไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีการปกติ
แต่ผู้ใช้งานชาว X ชื่อบัญชี @madhavkant05 ได้อาศัยประโยชน์จากแอป third-party ในการเข้าถึงกล้องจับความลึกของ CMF Phone 1 จนกระทั่งไปพบเข้ากับความลับดังกล่าว
หลังเรื่องราวนี้ถูกแชร์ต่อบนโลกออนไลน์ มีชาวเน็ตจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าฟีเจอร์แบบนี้ก็เจ๋งดี น่าจะใส่มาเป็นจุดขาย ซึ่ง Akis เองก็เห็นด้วย แต่เจ้าตัวบอกว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้นถึงจะดูน่าเสียดายสำหรับบางคน แต่อย่างไรแล้ว Nothing ก็ต้องบล็อกไม่ให้ใช้งานอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทำไมกล้อง CMF Phone 1 ถ่ายทะลุวัตถุได้ ?
ความลับของการถ่ายทะลุวัตถุ คือ CMF Phone 1 ไม่ได้ใส่ฟิลเตอร์กรองคลื่นแสงช่วงอินฟราเรดมาในกล้องจับความลึก ทำให้กล้องสามารถรับอินฟราเรดที่ดวงตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ เทคนิคนี้ช่วยให้เซนเซอร์สามารถรับแสงได้ดีขึ้นมาก พร้อมกับความสามารถในการถ่ายทะลุวัตถุบางประเภทพ่วงมา ตามที่เห็นในภาพด้านบน โดยเฉพาะวัสดุอะคริลิกสีดำมีแนวโน้มจะถูกถ่ายทะลุได้สูง
ในขณะที่แสงในสเปกตรัมปกติก็จะถูกบล็อกไปในตัว จึงเป็นเหตุผลที่กล้องถ่ายออกมาเป็นภาพขาวดำ แต่เนื่องจากปกติแล้ว กล้องนี้ไม่ได้มีหน้าที่ส่งเอาต์พุตออกเป็นไฟล์ภาพ ภาพสีจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
ที่มา : @madhavkant05 | @AkisEvangelidis
จำได้ว่า หลายปีก่อนมีกล้องมือถือยี่ห้อหนึ่ง ที่สามารถถ่ายแบบนี้ได้เหมือนกัน (ถ้าจำไม่ผิดน่ะ)
อดีต oneplus ก็สามารถทำได้ และอดีตอันไกลโพ้น กล้องโซนี่ก็เคยมีความสามารถนี้