ในตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนในโรงพยาบาลต่างก็รับศึกหนักจากผู้ป่วย COVID-19 แบบไม่หยุดพัก ซึ่งพวกเรานอกจากจะอยู่แต่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติแล้วเนี่ย ยังช่วยเหลือคุณหมอได้ ผ่านโครงการ CU-RoboCovid ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการบริจาคสมทบทุนการผลิตหุ่นยนต์เพื่อนำไปมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ช่วยลดภาระ ลดเวลา ลดอัตราการใช้อุปกรณ์ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของเหล่าแพทย์และพยาบาลจากการใกล้กับชิดผู้ป่วยอีกด้วย
CU-RoboCovid คือโครงการอะไร?
CU-RoboCovid เป็นโครงการของสมาคมนิสิตเก่าซึ่งร่วมกับทีมนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้คิดค้นและผลิตหุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยาที่ชื่อว่า “น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก หรือ Telepresence” ที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารทางไกลให้แพทย์ได้ใช้พูดคุยและเห็นคนไข้แบบไม่ต้องเข้าไปใกล้ตัว ทำให้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ โดยตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 100 ชุดเพื่อมอบให้โรงพยาบาลต่างๆทั้วประเทศ
รู้หรือไม่ว่าอุปกรณ์ของการแพทย์ไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ…
ทุกวันนี้ชุด PPE หรือ ชุดหมี ที่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้แล้วทิ้งทุกๆ วัน กำลังขาดแคลนอย่างมาก เนื่องจากตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการเปลี่ยนชุดมากถึงวันละ 300 ชุด เนื่องจากชุดดังกล่าวไม่สามารถซักและมานำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งจะหาซื้อตอนนี้ก็แทบไม่มีขาย แล้วถ้าหากว่าชุดดังกล่าวหมดสต็อคขึ้นมา ทีนี้คุณหมอกับพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยจะทำอย่างไรล่ะคะ?
เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ทีมวิศวกรและสมาคมนิสิตเก่าแห่งจุฬาลงกรณ์จึงได้คิดค้น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยา ที่มีชื่อเล่นน่ารักๆ ว่า น้องปิ่นโต ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ดัดแปลงมาจากรถเข็นอุปกรณ์แพทย์ 4 ล้อ ขนาดกระทัดรัด สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางและเคลื่อนที่ไปทั่ววอร์ด เข้าไปถึงคนไข้ได้ทุกเตียง และสามารถบรรทุกอาหารหรือเวชภัณฑ์ไปในระยะไกลถึงหอผู้ป่วยได้โดยที่แพทย์จะควบคุมหุ่นยนต์ง่ายๆ ผ่านคอนโทรลเลอร์
ตัวอย่างการใช้งาน Telepresence หรือ น้องกระจก หุ่นยนต์แทบเลต และ น้องปิ่นโตหุ่นยนต์ขนส่งอาหารจากฝั่งแพทย์ผ่านทางคอนโทรลเลอร์
อีกทั้งยังติดตั้งระบบ Telepresence หรือ น้องกระจก แทบเลตที่คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งจะคล้ายๆ กับการวิดีโอคอลล์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์นั่นเองค่ะ
ตัวอย่างการใช้งานโดยการสื่อสารผ่านทาง Telepresence หรือ น้องกระจก จากฝั่งห้องผู้ป่วย
ตัวอย่างวิดีโอการใช้งานน้องปิ่นโตขณะเคลื่อนที่ไปในวอร์ดผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์คอยควมคุมอยู่อีกห้องนึง
แล้วจะเกิดไรขึ้น ถ้า”น้องปิ่นโต” กับ “น้องกระจก” สามารถเข้าถึงทุกโรงพยาบาล ?
ถ้าหากทุกโรงพยาบาลมีหุ่นยนต์เหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือ ก็จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ลดลงอย่างมากเลยล่ะค่ะ เพราะการใช้หุ่นยนต์ถือเป็น Social Distancing ลดการอยู่ใกล้ ห่างไกลจากเชื้อที่ได้ผลมากๆ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการเปลี่ยนชุดป้องกันของแพทย์ ซึ่งจะทำให้หมอมีเวลาในการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยมากขึ้นนั่นเอง แต่ว่าปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่พร้อมใช้งานจริงแค่ 20 ตัวเท่านั้น และยังมีโรงพยาบาลอีกมากกว่า 80 แห่งที่ติดต่อขอความช่วยเหลือและรอน้องปิ่นโตอยู่
กว่าจะมาเป็นหุ่นยนต์ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ 1 ตัว…
ในการคิดค้นและผลิตหุ่นยนต์แต่ละตัว ทางทีมวิศวกรได้คำนวณมาอย่างดีแล้วว่า น้องปิ่นโต เป็นหุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดง่าย ทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยวิธีต่างๆ และที่สำคัญ ราคาประหยัดและผลิตได้ง่ายในเวลาอันสั้นเนื่องจากดัดแปลงมาจากรถเข็นอุปกรณ์ของแพทย์ที่มีอยู่แล้ว แต่ในการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อทุกโรงพยาบาลล้วนมีค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อย เพราะหุ่นยนต์รถเข็น 1 ตัว มีต้นทุน 5 หมื่นบาท และหุ่นยนต์แทบเลต 1 ตัว มีต้นทุนอยู่ที่ 2 หมื่นบาท ซึ่งหากจะให้เพียงพอต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศก็คงต้องขอน้ำใจจากพี่น้องชาวไทยทุกคนร่วมกันบริจาคสมทบทุน เพื่อนำไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ให้ผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งหุ่นยนต์รถเข็น 1 ตัว
ช่องทางการบริจาค
หากมีข้อสงสัยในส่วนการบริจาคเพื่อสมทบทุนหรืออยากให้ความช่วยเหลือในส่วนอื่นสามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลได้ที่เข้าเพจ CU-RoboCovid ใน Facebook ได้เลยค่ะ หรือว่าจะแอด Line ไปที่ @curobocovid ก็ได้ อีกทั้งใบเสร็จการบริจาคยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แค่เข้าไปกรอกข้อมูลที่แบบฟอร์มสมทบทุน
สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในไทยตอนนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าหากเทียบกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลงเหลืออยู่ตอนนี้ก็คงไม่พอแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่พวกเราทำได้ก็คือ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และยังสามารถช่วยคุณหมอได้ง่ายๆผ่านช่องทางการบริจาคนี้ แล้วมาร่วมเป็นกำลังใจให้คุณหมอและพี่ๆเจ้าหน้าที่ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่หนักหน่วงนี้ไปด้วยกันนะคะ
ก่อนนี้มีร้านอาหารที่เค้าใช้หุ่นยนต์มาส่งอาหารตามโต๊ะ ทำไมไม่เอามาใช้ ดัดแปลงหน่อยก็น่าจะใช้ได้ เร็วกว่ามาทำใหม่อีก ยืมเอกชนมาใช้ก่อน แล้วค่อยส่งคืน
1. ไปยืมเค้าไม่จำเป็นต้องให้
2. เค้าให้ยืมต้องเอาไปคืนไหม?
3. ดัดแปลงแล้วเสียเวลาศึกษาเท่าไหร่ ค่าอุปกรณ์เท่าไหร่ ค่าดัดแปลงกลับเท่าไหร่ถ้าต้องเอาไปคืน มันเร็วกว่าและคุ้มจริงไหม?
4. จำนวนที่ยืมมาได้ถ้าไม่พอต้องทำเองเพิ่มอยู่ดีใช่ไหม?
5. ถ้ามีโรคระบาดอย่างอื่นอีกรอบ ต้องไปยืมเค้าอีกไหม?
(50,000 + 20,000) X 100 = 7,000,000 บาท
7 ล้านน่าจะคุ้มกว่างบ 225 ล้านสอนทำหน้ากากอนามัยเยอะครับ
หุ่นยนต์ทั้งสองแบบเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ยังต้องการพัฒนาอีกพอสมควร ที่จะไม่ให้มันติดขัดในห้องของผู้ป่วย การใช้งานที่ง่ายต่อเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน ที่ต้องฝึกบังคับหุ่น ถึงจะมีเซ็นเซอร์กันชนแบบ Ultrasonic หรือใช้แสงมันมองไม่เห็นวัตถุทั้งหมด อาจจะชนสายวัดทางการแพทย์เสียหายได้ ระบบส่งภาพที่ใช้เครื่องส่ง 5.8Ghz. มักจะมีกำลังส่งสุูงอาจต้องทดสอบการรบกวนเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้งาน และสิ่งที่สำคัญมากๆถึงหุ่นจะติดเชื้อไม่ได้ แต่การปนเปื้อนที่มากับตัวหุ่นเป็นอันตรายกับผู้ปฎิบัติงาน ได้วางแผนจัดการหรือยัง เพราะบางหน้าที่ของน้องกระจก สามารถใช้กล้องวงจรปิดส่องจอมนิเตอร์ของเครื่องมือแพทย์แทนได้
ขอเสนอการบ้านเพิ่มเผื่อจะสนใจ อยากให้ลองทำเครื่องทำความสะอาดชุด PPE ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จะใช้แสงUV สารเคมี ความร้อน คลื่นไมโครเวฟ หรือความแห้งของอากาศเพื่อไม่ให้เชื้อโรคอยู่ได้ แต่ชุด PPE ไม่เสียหาย ถึงอาจจะทำให้นำมาใช้ไม่ได้หลายครั้ง แต่อย่างน้อยก็ยังลดปริมาณการใช้ลงได้ครับ