ดีอีเอส เร่งออกกฎหมายใหม่ บังคับให้ ‘ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เข้ามาจดแจ้งการประกอบกิจการในประเทศไทย หากฝ่าฝืนถูกจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 66 นี้ เพื่อคุ้มครองประชาชน และลดการฉ้อโกงทางออนไลน์ พร้อมยืนยันไม่กระทบต่อแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์
กฎหมาย DPS คืออะไร
“กฎหมาย Digital Platform Service หรือ กฎหมาย DPS” มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ได้กำหนดหน้าที่ให้กับผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องปฏิบัติตามไว้หลายประการ โดยหน้าที่แรกที่สำคัญ
การมีหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ, ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ชื่อบริการ, ประเภทบริการ, ช่องทางการให้บริการ เป็นต้น ให้แก่สำนักงานฯ ทราบ เพื่อให้ ETDA ได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีมาตรฐานการให้บริการที่น่าเชื่อถือ เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
ทำไมต้องบังคับจดแจ้งการประกอบกิจการในประเทศไทย ?
เพื่อเป็นกลไกในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส และมีแนวทางในการคุ้มครองเยียวยา แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างเป็นธรรม หลังจากในปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเรื่องการใช้งานแพลตฟอร์ม และถูกฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์ กว่า 6 หมื่นเรื่อง นี่จึงเป้นการคุ้มครองผู้บริโภคและแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ไปในตัวด้วยค่ะ
“เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ทำให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ต้องจดแจ้งกับทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ก่อนที่จะเริ่มประกอบธุรกิจ ส่วนผู้ที่ให้บริการอยู่ก่อนที่กฎหมายบังคับใช้ จะมีเวลา 90 วัน ที่ต้องมาจดแจ้งภายในวันที่ 18 พ.ย. 66 ไม่เช่นนั้นจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ”
ใครต้องจดบ้าง ?
- สำหรับเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่เข้าเกณฑ์ ต้องมาจดแจ้ง คือ เป็นพื้นที่ที่ให้คนซื้อขายมาเจอกัน มีการลงทะเบียนยูสเซอร์และมีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน หากเป็นนิติบุคคลต้องมีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และหากเป็นบุคคลทั่วไป ต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการเข้าข่ายต้องมาจดแจ้งประมาณ 1,000 ราย
- ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ยูทูบ กูเกิล และผู้ให้บริการอีมาร์เกตเพลส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ผู้ให้บริการเว็บไซต์ซื้อขาย บ้าน รถยนต์ และอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มที่ไม่ต้องจดแจ้ง
สำหรับ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องมาจดแจ้ง เป็นหน้าที่ของเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องดำเนินการ และต้องมีการตั้งผู้ประสานงานในไทย และมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หลังจากที่ผ่านมา มีกรณีไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการเหล่านี้ได้
ถือว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีมิจฉาชีพมาใช้แพลตฟอร์มในการหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ที่มา : etda
Comment