มาต่อกันกับ dtac กันอีกสักตอน จากบทความที่ผ่านมาเราได้วิเคราะห์ถึงดีแทคกับ 5G ไปแล้ว ว่าที่บอกกันว่าไม่ประมูลคลื่น ไม่มี 5G จริงๆดีแทคเค้าก็มีอยู่ในมือเหมือนกัน ครั้งนี้เราจะมาลงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลื่น 2600 MHz ที่ดีแทคไม่ได้เข้าประมูล จะทำให้เค้าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากรึเปล่า ผู้ใช้อย่างเราๆ มีอะไรต้องห่วงหรือไม่

วิเคราะห์ดีแทค 5G ไม่ประมูลหวือหวา ลงทุนแบบรัดกุม สร้างเกมของตัวเองขึ้นใหม่

ปักหลักใช้ 4G 2300MHz ถ้าดีพอก็ตอบโจทย์

สิ่งที่คนกังวลมากหลังเห็นดีแทคไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 2600 MHz ที่ผ่าน ก็คือ ดีแทคจะมีคลื่นเพียงพอในการให้บริการแค่ไหน ซึ่งหลังจากการคำนวนเปรียบเทียบจำนวนคลื่นต่อจำนวนประชากรแล้ว ดีแทคไม่ได้มีคลื่นรั้งท้าย หรือน้อยกว่าเครือข่ายอื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีจำนวนคลื่นที่เครือข่ายครอบครอง เป็นเพียงแค่ปัจจัยนึงที่จะบ่งบอกคุณภาพของเครือข่าย โดยเฉพาะในเมืองที่มีการใช้งานหนาแน่น การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ออกแบบมาให้รองรับเครื่องจำนวนมากได้ ก็สามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ ลงได้มากเช่นเดียวกัน

4G TDD Massive MIMO 64T64R เพิ่มความสามารถการใช้งานในเมือง 3 เท่า

บางคนอาจจะเคยได้ยินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ Massive MIMO ไปบ้างแล้ว แต่ดีแทคเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่ทำ Massive MIMO 64T64R บน 4G TDD โดยเจ้าอื่นจะเป็นการทำบนคลื่น FDD กัน เพราะก่อนหน้านี้เค้ายังไม่มีคลื่นมาทำ TDD กันนั่นเอง และจะทำกันได้แค่ 32T32R เท่านั้น โดยทางดีแทคบอกว่าด้วยเทคโนโลยีนี้จะทำให้ประสิทธิภาพการรองรับผู้ใช้ในเขตเมืองนี้ เพิ่มขึ้นอีกถึง 3 เท่าจากปัจจุบันเลยทีเดียว

Massive MIMO 64T64R คืออะไร?

เจอคำศัพท์เทคนิคนี้เข้าไปหลายคนอาจจะงงไปตามๆกัน ว่ามันคือภาษาเอเลี่ยนอะไร เลยจะขออธิบายเพิ่มเติมให้สักหน่อย โดยคำๆนี้ ถ้าเราขยายตัวย่อทั้งหลายให้เป็นคำเต็มก็จะเขียนได้ว่า Massive Multiple Input (and) Multiple Output (with) 64 Transfer (and) 64 Receive Antenna หรือแปลเป็นภาษามนุษย์อย่างเราๆได้ว่า “สถานีฐานที่มีเสาส่งสัญญาณจำนวนมาก โดยมีตัวรับและตัวส่งอย่างละ 64 เสา” นั่นเอง แต่เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จะขอท้าวความกลับไปเล็กน้อย

โดยในอดีต แต่ละสถานีฐานรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆนั้นจะมีตัวรับส่งสัญญาณแค่ตัวเดียว หรือที่เรียกกันว่า SISO (Single Input, Single Output) และเริ่มพัฒนาให้เป็น MIMO กันมากขึ้นในช่วง 4G ยุคแรกๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของการรับส่งให้ได้ Bandwidth มากขึ้น ทำความเร็วได้สูงขึ้น โดยในอุปกรณ์พกพาทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต หรือโน๊ตบุ๊คจะเรียกเป็น MIMO 2×2 หรือ 4×4 (มีตัวรับส่ง 2 เสาหรือ 4 เสา) ส่วนตัวสถานีฐานจะเรียกเป็น 2T2R และ 4T4R ซึ่งการเพิ่มตัวรับส่งนี้จะต้องเพิ่มทั้งเครือข่ายและอุปกรณ์ไปพร้อมๆกัน จะมีแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ โดยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ รุ่นราคาประหยัดถึงกลางๆ โดยมากจะใช้เป็น 2×2 MIMO ส่วนรุ่นพรีเมียมราคาสูง ก็จะมีเทคโนโลยีเสา 4×4 MIMO ส่วนเครือข่ายโดยมากจะมีการลงเสา 4G ขั้นต่ำเอาไว้เป็น 2T2R และทยอยอัพเกรดเป็น 4T4R ตามแต่ละพื้นที่ไปโดยดูตามความหนาแน่นของการใช้งานไป โดยการเพิ่มจำนวนเสานี้จะทำให้ความเร็วที่เรารับส่งนี้เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

การรับส่งสัญญาณปกติ จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ต่างๆทีละเครื่อง รับส่งข้อมูลวนกันไปเรื่อยๆ เพราะเสาที่สถานีฐานมีจำนวนน้อยหรือเท่ากับแต่ละอุปกรณ์เท่านั้น 

ในทางทฤษฎีเราสามารถเพิ่มความเร็วในการรับส่ง ด้วยการเพิ่มเสาสัญญาณได้ตามต้องการ จาก 2×2 หรือ 4×4 จะขึ้นเป็น 8×8 หรือ 16×16 ก็ได้ แต่ด้วยความที่เสาสัญญาณเหล่านี้ ต้องมีพื้นที่ให้ติดตั้งและรับสัญญาณ แต่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันก็มีขนาดที่เล็กและบางลงกว่าแต่ก่อนมาก การจะเพิ่มเสาเข้าไปอีกก็ถือเป็นเรื่องยาก และมักจะตันกันอยู่ที่ 4×4 MIMO เท่านั้น

Galaxy S20 Ultra 5G ที่แม้จะมีเสาสัญญาณอยู่เต็มไปหมด ก็จะรองรับที่ 4G LTE ที่ 4×4 MIMO เท่านั้น และมีการยืนยันว่าจะรองรับคลื่น 5G @ 700 MHz ด้วย ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ dtac มีการลงเสาสัญญาณเมื่อไหร่ S20 Ultra ก็จะใช้งานได้ด้วย

นอกจากนี้ที่เราเห็น 1 สถานีฐานหรือ 1 Cellsite สามารถรองรับเครื่องได้พร้อมกันหลายเครื่องนั้น แท้ที่จริงแล้วมันก็จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ทีละหนึ่งชิ้นเท่านั้น ที่เราเห็นว่ามันรองรับได้หลายเครื่องพร้อมกัน มันจะเป็นการเชื่อมต่อแบบสลับกันไปมา 1-2-3-4-5-1-2-3-4-5 แต่การสลับนี้มีความเร็วมากโดยที่เราไม่รู้ตัว จนนึกว่ามันเชื่อมต่อกับเครื่องเราแค่เครื่องเดียว แต่เมื่อไหร่ที่เสาต้องรองรับเครื่องจำนวนมากขึ้นจากแค่ไม่กี่สิบเครื่องขึ้นเป็นร้อยเครื่อง กว่าคิวในการวนกลับมาจะถึงเราอีกรอบก็จะช้า ทำให้ข้อมูลที่รับส่งอาจจะมีปัญหาดีเลย์ หรือข้อมูลที่รับส่งได้มีปริมาณน้อยลงจนเป็นที่มาว่าทำไมสปีดในการรับส่งถึงลดลงนั่นเอง

และเมื่อเวลาผ่านไป ความต้องการใช้งานดาต้าของผู้คนมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนเสาในสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นไม่ได้ คลื่นความถี่ที่มีให้บริการก็มีอยู่อย่างจำกัด ส่วน Cellsite ถ้าเพิ่มแบบ 4×4 เข้าไปมากๆ ก็จะรกเกะกะ และมีน้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะ เป็นภาระของสถานีฐาน ดังนั้นทางแก้ไขที่ถูกคิดขึ้นมาก็คือการเพิ่มเสาสัญญาณต่อหนึ่ง Cellsite ให้มากขึ้น จากที่มีแค่ 2T2R หรือ 4T4R ต่อหนึ่ง Cellsite ก็ปรับเพิ่มเสาให้มีจำนวนมากขึ้น กลายเป็น 32T32R หรือ 64T64R แทนที่ผู้ใช้จะต้องรอวนลูปกับคน 100 คน เมื่อมีจำนวนเสาที่มากขึ้น ก็อาจจะวนลดลงเหลือเพียง 30 คนเท่านั้น ทำให้คุณภาพสัญญาณดีขึ้นทั้งในด้าน Latency และ Speed เลยนั่นเอง

 

เมื่อใช้เป็น Massive MIMO จำนวนเสาของสถานีฐานจะมีมากขึ้น รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้พร้อมกันมากขึ้น แทนที่จะเชื่อมต่อได้ทีละอุปกรณ์ โดยจะมี Beamforming หรือการปรับคลื่นสัญญาณให้ส่งไปในทิศทางที่กำหนด มาเสริมความสามารถเข้าไปอีก ตรงไหนต้องการการเชื่อมต่อเยอะ ก็สามารถปรับคลื่นให้ส่งไปให้เยอะตามไปได้

อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ จะมีเสาจำนวนเท่าใดก็สามารถเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณของสถานีฐานที่มีจำนวนมากได้

 

Beamforming ความสามารถของ 5G ที่มาเป็นคู่กับ Massive MIMO

เทคโนโลยี Massive MIMO นี้มักจะไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่มาเป็นแพ็กคู่กับ Beamforming หรือการปรับคลื่นให้ออกไปในทิศทางที่กำหนด เมื่อมีเสาสัญญาณจำนวนมากในหนึ่ง Cellsite แล้ว แทนที่จะปล่อยให้คลื่นกระจายไปทุกทิศทางอย่างอิสระ เราสามารถปรับให้คลื่นวิ่งออกไปในทิศทางที่ต้องการ บริเวณไหนที่คำใช้งานเยอะก็ปรับคลื่นให้ส่งไปในทิศทางนั้นเยอะหน่อย ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพของคลื่น สอดคล้องกับพฤติกรรมใช้งานของจุดนั้น และลดภาระการรับคนต่อเสาลงได้นั่นเอง โดยทั้ง Massive MIMO และ Beamforming นี้ ต่างเป็นฟีเจอร์หนึ่งของเสาสัญญาณ 5G การที่เครือข่ายไหนมี Massive MIMO ใช้ ก็ประหนึ่งเอาความสามารถส่วนนึงของ 5G มาให้บริการแล้วด้วยนั่นเอง (ช่วงปี 2019 จะเห็นว่าทั้ง AIS และ True ต่างก็พยายามพูดแบบนี้มาก่อนเช่นกัน)

โดยปัจจุบันคลื่น 4G FDD นั้นมีการพัฒนาเสาให้เป็น Massive MIMO ได้สูงสุดที่ 32T32R ส่วนฝั่ง TDD จะทำได้ขึ้นไปสูงสุดที่ 64T64R ซึ่งดีแทคก็ได้เลือกเอาเทคโนโลยีสูงสุดอันนี้มาใช้กับเครือข่าย 4G TDD นั่นเอง ส่วนของเครือข่ายอื่นๆ ก็น่าจะเริ่มตามดีแทคทำ 4G TDD Massive MIMO แบบเดียวกันนี้ในคลื่น 2600 MHz ต่อไปในอนาคต

Tips บริการที่กินแบนด์วิธของเครือข่าย และผู้คนใช้งานกันมากอย่างแพร่หลายที่สุดก็ คือ การรับชมคลิปวิดีโอ ซึ่งภาพแต่ละความละเอียดนั้นต้องต้องการสปีดเท่าไหร่?

  • SD 360P @ 0.7 Mbps
  • SD 480P @ 1.1 Mbps
  • HD 720P @ 2.5 Mbps
  • HD 1080 @ 5 Mbps
  • 4K @ 20Mbps

จะเห็นได้ว่าบริการที่ต้องการแบนด์วิธสูงๆในปัจจุบัน ยังไม่มีความต้องการเกินความสามารถของ 4G ในปัจจุบัน เรายังต้องรอคอยว่าจะมีบริการใด (Killer App) ที่จะเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้ใช้อย่างเราๆตื่นตัว เริ่มเห็นความจำเป็นของการหนีไปใช้งาน 5G ต่อไป

ปัญหาอยู่ที่จำนวนสถานีไม่ใช่คลื่นหรือเทคโนโลยี

เทคโนโลยี Massive MIMO และ Beamforming นั้นเป็นเทคโนโลยีนี้ถูกอออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาภายในเมืองที่มีการใช้งานอย่างหนาแน่นเป็นหลัก แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องมุมอับของสัญญาณ รวมถึงการครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล-ต่างอำเภอแต่อย่างใด การที่ดีแทคบอกว่าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีทั้งสองอย่างนี้ไปใช้ จะช่วยให้คนเมืองที่ได้มีสัญญาณใช้งานอยู่แล้ว ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น แต่จะยังไม่ได้ทำให้ประสบการณ์ใช้งานของอีกหลายๆคนที่บ่นเรื่องจุดอับและความครอบคลุมในปัจจุบันหายไปแต่อย่างใด ซึ่งทางแก้ที่จะเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการเพิ่มสถานีฐานนั่นเอง

สถานีฐานที่ดีแทคมีอยู่ทั้งหมด โดยแต่ละคลื่นจะมีการแชร์สถานีกันใช้งาน โดยในหนึ่งสถานีฐานอาจจะมีทั้งคลื่น 2G/3G/4G หรือมีเพียงแค่ 4G อย่างเดียวก็ได้ แต่การนับจำนวนจะแยกกัน

โดยทางดีแทคมีแผนพัฒนาเครือข่าย เตรียมเพิ่มบริการ 4G TDD ให้มากขึ้นอีกราว 3,000 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีสถานีฐานบริการ 4G TDD มากขึ้นรวมเป็น 20,000 แห่งในปี 2020 นี้ คิดรวมกับในปัจจุบันที่มีอยู่ราว 50,000 แห่ง* ก็จะมีอยู่ราว 53,000 แห่ง เท่านั้น โดยจำนวนนี้ก็ยังถือว่าน้อยกว่า AIS ที่มีรวมอยู่กว่า 75,000 สถานี และใช้คลื่น 1800 MHz ในการให้บริการซึ่งมีระยะทำการที่ไกลกว่าคลื่น 2300 MHz เล็กน้อย ถ้าดีแทคต้องการสร้างความครอบคลุมของคลื่น 4G 2300 MHz ให้เทียบเท่า 4G ของ AIS ก็น่าจะต้องมีสถานีฐานที่มากกว่า นอกจากว่าในช่วงปลายปีนี้ เมื่อ dtac ได้คลื่น 700MHz (ที่มีระยะรับส่งสัญญาณที่ไกลกว่าคลื่น 1800MHz ของ AIS ราว 2-3 เท่า) และใช้คลื่นนี้อุดรอยต่อแทนคลื่น 2300 MHz ก็อาจจะใช้คลื่นนี้แก้ปัญหาความครอบคลุมได้ในระดับนึง (แต่ก็จะไม่ได้มีความเร็วที่เท่ากับ 4G 1800MHz ของ AIS เพราะจะมี Bandwidth ของคลื่นที่กว้างกว่า)

*รวมสถานี 4G ทุกคลื่น – ข้อมูลไตรมาส 4/2562
*ภาพจากงานแถลงข่าว dtac

คลื่น 2300 MHz กับเวลาที่กำลังจะหมด

สิ่งนึงที่คนใช้ดีแทคควรรู้เอาไว้สักหน่อย ก็คือคลื่น 2300 MHz ที่ทางค่ายขะมักเขม้นพัฒนาให้ได้คุณภาพดีนี้ มีอายุการใช้งานอีกราวๆ 5 ปีกว่าๆ เท่านั้น เพราะสัมปทานคลื่นที่ทาง TOT ได้มาทำสัญญากับทางดีแทคจะหมดลงในปี 2025 นี้แล้ว และยังไม่มีความแน่นอนว่าคลื่นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผู้ใช้บริการดีแทคอาจจะต้องตกอยู่ในภาวะสูญญากาศแบบที่เคยเป็นเมื่อปี 2018-2019 อีกรอบ ที่คลื่นดีแทคใกล้หมดสัมปทาน และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้คลื่นใหม่มาใหม่เมื่อใด จนการพัฒนาเครือข่ายและคุณภาพของคลื่นก็ถดถอยลงได้อย่างเห็นได้ชัดในช่วงนั้น จนเป็นที่มาของการสูญเสียลูกค้าจำนวนมาก และตกลงมาอยู่อันดับ 3 ในปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์คลื่นในปัจจุบันก็แตกต่างไปจากแต่ก่อนค่อนข้างมาก กสทช. มีแผนการจัดสรรคลื่นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และพยายามเอาคลื่นออกมาประมูลอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปัจจุบันจะมีคลื่นที่เตรียมกลับเอามาให้ประมูลในอนาคต ประมาณนี้

  • 850 MHz | คลื่นของทรูมูฟ ที่จะหมดสัมปทานในปี 2025 แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะถูกนำเอามาประมูลหรือนำเอาไปใช้ในกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
  • 1800 MHz | คลื่นเดิมของ CAT (ซึ่งดีแทคก็เคยร่วมใช้คลื่นนี้มาก่อน) ที่หมดสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2018 จนปัจจุบันก็ยังเหลือคลื่นอยู่อีก 20 MHz ไม่มีใครนำเอาไปใช้งาน โดยในการประมูลครั้งที่ผ่านมาก็นำเอาคลื่นนี้ออกมาประมูลอีกครั้ง แต่ไม่มีคนสนใจเนื่องจากราคาตั้งต้นที่ทางกสทช.กำหนดเอาไว้ ยึดเอาจากราคาการประมูลอันอื้อฉาวเมื่อปี 2015 ที่ราคาถูกปั่นขึ้นไปสูงลิบนั่นเอง
  • 2300 MHz | คลื่นของ TOT ที่ดีแทคทำสัญญาขอใช้อยู่ในปัจจุบัน โดย TOT จะหมดสัมปทานในปี 2025 คาดว่าน่าจะถูกนำมาประมูลทันทีหลังหมดสัมปทาน แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันอะไรได้ เพราะยังไม่มีแผนการจัดสรรออกมา
  • 3500 MHz | คลื่นที่ดาวเทียมไทยคมใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และจะหมดสัมปทานลงในปลายปี 2021 คาดกันว่าอาจจะเปิดมาให้ประมูลทันที ถ้าไม่มีปัญหาอะไรซะก่อน

สรุป ไม่มีคลื่น 2600 MHz ดีแทคก็ไปต่อได้ รอลุ้นคลื่นเพิ่มในอนาคต

จากทั้งหมดที่ว่ามานี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ใครที่ใช้งานดีแทคได้ดีอยู่ ก็น่าจะค่อยๆดีขึ้นไปอีกด้วยเทคโนโลยีของ 5G อย่าง Massive MIMO และ Beamforming ที่จะทำให้การใช้งานในพื้นที่เมืองที่คนแออัดดีขึ้น 3 เท่า และการครอบคลุมของสัญญาณก็น่าจะดีขึ้นจากการที่เพิ่มบริการ 4G TDD ขึ้นอีกเป็น 20,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใครที่อยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ หรือต่างอำเภอก็รอดูความเปลี่ยนแปลงหลังดีแทคได้คลื่น 700 MHz มาให้บริการในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าน่าจะสร้างความครอบคลุมลดจุดอับของสัญญาณได้ดีขึ้นมาก และคุณภาพทัดเทียมกับเครือข่ายอื่นขึ้น และจนกว่าจะถึงปี 2025 ก็ต้องรอจับตาดูต่อไปว่า กสทช. จะมีการประมูลคลื่นเพิ่มเติมหรือไม่ และดีแทคจะมีการคว้าคลื่นไหนเข้ามาเติมพอร์ต ทดแทนคลื่นที่กำลังจะหมดสัญญา และมีแผนพัฒนาคลื่นอย่างไรต่อไป