รัฐสภาสหภาพยุโรป (EU Parliament) ประกาศไฟเขียว ผ่านรับรองกฎหมาย Right to Repair ให้สิทธิ์เสรีในการซ่อมตัวเครื่องกับผู้ใช้งาน ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย ด้วยคะแนน 584 ต่อ 3 โหวต จากนี้รอแค่ให้สภาจากประเทศสมาชิกใน EU รับรองกฎหมายเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะมีการตีพิมพ์ข้อกฎหมายในรัฐกิจจานุเบกษาของสหภาพยุโรป และบังคับใช้ทันทีภายใน 24 เดือน ซึ่งรายละเอียดข้อกฎหมายต่าง ๆ มีจุดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานหลายอย่างเลย
กฎหมาย Right to Repair ใน EU ให้สิทธิอะไรบ้าง
กฎหมาย Right to Repair ในสหภาพยุโรปชุดใหม่นี้ บังคับให้แบรนด์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ตั้งแต่เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น มือถือ หรือทีวี ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิในการซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยในอนาคตจะมีการขยายหมวดหมู่สินค้าที่สิทธิ Right to Repair คุ้มครองตามสมควร ซึ่งในข้อบังคับมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ดังนี้
ซ่อมสินค้ากับศูนย์ในราคาถูกลง ซ่อมในประกัน ต้องต่อประกันให้อีก 1 ปี
เมื่อผู้ใช้งานส่งซ่อมมือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผู้ผลิตสินค้าจะต้องให้บริการการซ่อมในราคาที่สมเหตุสมผล และประหยัดระยะเวลาเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้งานซ่อมสินค้า แทนที่จะทิ้งของเดิม
และถ้าหากผู้ใช้งานส่งซ่อมในระยะเวลาการรับประกันสินค้า ผู้ผลิตจะต้องยืดระยะเวลาการการันตีรับประกันให้ผู้ใช้งานอีก 1 ปี เพื่อยืดระยะเวลาการใช้งานสินค้าเดิมให้นานขึ้น
หมดประกันแล้ว ยังต้องรับซ่อม หรือมีเครื่องทดแทนให้ใช้งาน
ถ้ามือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของผู้ใช้งานหมดระยะเวลาการการันตีแล้ว EU บังคับให้ผู้ผลิตยังต้องรับซ่อมสินค้าที่ยังพอจะซ่อมและยืดอายุการใช้งานไปได้อยู่ และในระหว่างการซ่อมจะต้องมีเครื่องทดแทนให้ยืม
หรือในกรณีที่ซ่อมไม่ได้จริง ๆ ก็สามารถเสนอเครื่อง Refurbished มาให้ใช้ทดแทนของเดิมได้ (เครื่องมือ 2 หรือมีตำหนิ แต่ผ่านการตรวจ QC ใหม่อีกรอบจากทางแบรนด์แล้ว)
สนับสนุนการซ่อมที่ไม่ผ่านศูนย์บริการ
กฎหมาย Right to Repair ใน EU สนับสนุนการซ่อมตัวเครื่องโดยไม่ผ่านศูนย์บริการ เช่นการซ่อมด้วยตัวเอง หรือการซ่อมผ่านร้านนอก เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมของผู้บริโภค โดยทาง EU บังคับให้ผู้ผลิตต้องจำหน่ายอะไหล่ และเครื่องมือการซ่อมในราคาที่สมเหตุสมผล
ห้ามใช้ซอฟต์แวร์ขัดขวางการซ่อม เคยซ่อมจากร้านนอกยังเข้าศูนย์ได้
นอกจากนี้ EU ยังห้ามไม่ให้แบรนด์ต่าง ๆ วางยาผ่านซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ หรือใช้เทคนิกเพื่อป้องกันและกีดกันการซ่อมตัวเครื่องด้วยตัวเอง รวมถึงห้ามขัดขวางการใช้อะไหล่มือสอง หรืออะไหล่ที่ผลิตผ่านเครื่องพรินต์ 3D หรือแม้กระทั่งห้ามปฎิเสธการซ่อมอุปกรณ์ เมื่อพบว่าตัวเครื่องเคยผ่านการซ่อมจากที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์บริการมาก่อนด้วย
ต้องบอกข้อมูลเพื่อช่วยซ่อม
EU จะมีการออกแบบฟอร์มคู่มือ ให้ผู้ผลิตแนบไปกับสินค้าเพื่อแจ้งรายละเอียด และอำนวยความสะดวกในการซ่อมของผู้บริโภค เช่นต้องบอกจุดที่มักจะเสีย และแจ้งราคาอะไหล่ และระยะเวลาการซ่อมให้ชัดเจน
นอกจากนี้ทาง EU ยังช่วยเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปค้นหา ร้านซ่อมนอก, ร้านขายอุปกรณ์ Refurbished หรือร้านขายสินค้ามีตำหนิเพื่อซื้ออะไหล่ที่ยังไม่เสียไปใช้งานซ่อมได้ง่าย ๆ
รัฐฯ ต้องช่วยเหลือให้เข้าถึงการซ่อมอุปกรณ์ได้ในราคาถูก
ประเทศสมาชิก EU จะต้องนำวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อสนับสนุน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อม เช่นให้วอยเชอร์ลดราคาซ่อม, รณรงค์และให้ข้อมูล หรือจัดอบรมสอนซ่อมอุปกรณ์ก็ได้
ก้าวสำคัญของนักซ่อม หลัง EU รับรองกฎหมาย Right to Repair แล้ว
รัฐสภาสหภาพยุโรป (EU Parliament) ประกาศไฟเขียว ผ่านรับรองกฎหมาย Right to Repair ให้สิทธิ์เสรีในการซ่อมตัวเครื่องกับผู้ใช้งาน ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือรอให้ สภาจากประเทศสมาชิกใน EU รับรองกฎหมายเท่านั้น เมื่อตีพิมพ์ในรัฐกิจจานุเบกษาของสหภาพยุโรปแล้ว จะบังคับใช้ทันทีภายใน 24 เดือน
ซึ่งกฎหมาย Right to Repair ใน EU ให้สิทธิกับผู้ใช้งานดังนี้
- ราคาอะไหล่ต้องเหมาะสม เข้าถึงง่าย
- ซ่อมเครื่องในประกัน ต่ออายุประกันให้อีก 1 ปี
- ศูนย์ซ่อมไม่ได้ ต้องให้เครื่อง Referbished ไปใช้งาน
- ห้ามวางยากีดกันการซ่อมทั้งผ่าน Software และ Hardware
- ซ่อมร้านนอก ต้องเข้าศูนย์ได้
โดยกฎหมายที่ว่านี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น รวมถึงเพื่อบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าเน้นซ่อมมากกว่าขายของใหม่ เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการเปลี่ยนสินค้าของผู้บริโภคในทุก ๆ ปีนั่นเอง
- EU ผ่านกฏใหม่ แบตเตอรี่ในมือถือต้องแกะเปลี่ยนได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ
- Apple ค้านกฎ Right to Repair หากรัฐฯ ยอมให้ผู้ใช้งานใช้อะไหล่เทียบเพื่อซ่อมอุปกรณ์
- คณะกรรมาธิการยุโรป เดินหน้าตรวจสอบ Apple, Google, Meta ละเมิดกฎ DMA หลายข้อ – รู้ผลใน 12 เดือน
ที่มา: EU Parliament
Comment