ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้ยินข่าวการ์ดจอปลอม ย้อมแมว ยัดไส้กันมาบ้าง เนื่องจากความต้องการนำไปใช้ด้าน AI ทำให้มีการนำ RTX 4090 มาแกะชิปออก แล้วส่งไปเคลมหลอกเอาการ์ดจอใหม่ฟรี หรือหลอกขายมือสองให้คนที่ไม่รู้ไป บอกเลยตอนนั้นก็เสียหายกันไปหลายเจ้า จนมาถึงวันนี้ข่าวเรื่องฮาร์ดแวร์ปลอมกลับมาอีกครั้งเมื่อมีคนไปเจอซีพียูปลอม ที่ภายนอกเหมือนของแท้อย่างกับแกะ แต่ไส้ในไม่มีอะไรเลยออกมาระบาดในตลาดมือสอง

ต้องขอเกริ่นก่อนว่าสำหรับซีพียู เราไม่ค่อยเห็นของปลอมซักเท่าไหร่ เพราะความต้องการไม่ได้สูงแบบการ์ดจอ และราคาก็ไม่ได้สูงเท่าการ์ดรุ่นบน ๆ ด้วย เหตุผลในการเอามาปลอมมันเลยไม่คุ้มเท่าไหร่

จนล่าสุดได้มีช่อง Der8auer บน YouTube ได้ไปเจอว่ามีซีพียูปลอม AMD Ryzen 7 7800X3D รุ่นยอดนิยมของเกมเมอร์ ที่มันไม่สามารถใช้งานได้ โดยช่อง Der8auer ไปเจอข้อมูลว่ามีผู้ใช้งานในโรมาเนียได้ซื้อซีพียูตัวนี้มาจากจากเว็บไซต์ OLX คล้าย ๆ Facebook Marketplace ที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงซื้อขายกันเอง ไม่ได้มีนโยบายดูแลกำกับที่ชัดเจนแบบแพลต์ฟอร์มแบบ Shopee Lazada ทำให้ไม่สามารถคืนสินค้าได้

คือผู้ใช้คนดังกล่าวเขาซื้อ Ryzen 7 7800X3D มาในราคา 300 ยูโร (ประมาณ 11,300 บาท) เพราะเห็นว่าราคาถูกกว่าของใหม่มือหนึ่งประมาณ $100 แล้วดันได้ของปลอม คือไม่สามารถใช้งานได้เลย โดยผู้ใช้ก็มีการพยายามทดสอบซีพียูที่ซื้อมาว่าแผงวงจรบนตัวซีพียูทำงานปกติหรือไม่ด้วยการนำ Multi-Meter มาทดสอบ ปรากฎว่าไม่มีสัญญาณตอบรับใด ๆ กลับมา

ทางช่อง Der8auer เลยไปขอซื้อซีพียูตัวดังกล่าวต่อเพื่อนำมาตีแผ่เรื่องราวที่เกิดขึ้น ว่าซีพียูที่ได้รับมาเป็นของแท้ที่พัง เปิดไม่ติด หรือเป็นของปลอมกันแน่

ตามปกติแล้วการปลอมซีพียูส่วนมากนั้นทำได้หลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการย้อมแมวหลอกขาย เช่น ส่งรุ่นที่มีราคาถูกกว่ามาให้ เปลี่ยนกล่องให้ไม่เหมือนกับของด้านใน สกรีนชื่อรุ่นอื่นเข้าไปแทน หรือจะเปลี่ยนกระดองใส่กับตัว PCB รุ่นอื่น

เมื่อลองดูซีพียูที่ได้รับมาอย่างแรกจะพบว่า Capacitor รอบ ๆ กระดอง นั้นไม่มีสารเคลือบป้องกันอยู่เลย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าซีพียูแต่ละตัวจะมีด้วยหรือไม่ เพราะ Ryzen 7000 รุ่นปกติ จะไม่มีสารเคลือบอยู่ตรงตำแหน่งดังกล่าว แต่พอเป็นตัว 7000X3D และ 9000 ก็จะเห็นว่ามีการใส่เข้ามาเพิ่มเติมทีหลัง

และพบว่ามีหลายจุดที่แตกต่างจากของจริง เช่น ฉลากที่ซีพียูมีความแตกต่างและตำแหน่งที่ไม่เหมือนกัน แผงวงจรพิมพ์ (PCB) มีความบางกว่าของจริง และตัวระบายความร้อนก็มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ เมื่อทำการผ่ากระดองที่ครอบซีพียูออก ก็พบกับความจริงว่าภายในไม่มีอะไรเลย ไม่มีชิปประมวลผลจริงอยู่ภายใน ซึ่งแตกต่างจากซีพียูของจริงที่ประกอบไปด้วยชิปประมวลผล หน่วยความจำแคช และอุปกรณือื่น ๆ

ซึ่งการปลอมลักษณะนี้ บอกเลยว่าทำออกมาได้แนบเนียนสุด ๆ เพราะทุกอย่างที่ถูกออกแบบมาวางนั้นตำแหน่งเป๊ะ ๆ งานปลอมมีคุณภาพสูงมาก ๆ คนทั่วไปดูด้วยตาเปล่าไม่ออกแน่นอน

ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะมีคนอื่นโดนหลอกเพิ่มด้วย เพราะคนหลอกคงไม่ลงทุนทำแค่ตัวเดียวแน่นอน ยังไงตอนซื้อก็ควรซื้อกับร้านค่าที่น่าเชื่อถือ หรือไม่ก็ผ่านแพลต์ฟอร์มที่คืนเงิน คืนสินค้าได้จะเป็นอะไรที่ดีกว่า เพราะไม่แน่ว่าซีพียูปลอม อาจจะเริ่มระบาดเข้ามาใกล้บ้านเราแล้วก็ได้

ที่มา : videocardz