Google นำเสนอบทความวิจัยเกี่ยวกับ Audioplethysmography (APG) ที่จะทำให้หูฟังที่รองรับระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation (ANC) ทั่ว ๆ ไป สามารถนำมาใช้งานเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยเพียงแค่การอัปเดตซอฟต์แวร์

ทำงานอย่างไร แม่นยำแค่ไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า

APG ทำงานโดยอาศัยการปล่อยคลื่นอัลตราซาวนด์ความเข้มต่ำผ่านลำโพงของหูฟัง สัญญาณเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ผิวหนังในช่องหูเกิดการเคลื่อนตัวและเกิดเสียงสะท้อนกลับมา จากนั้นจึงนำเสียงที่ได้รับผ่านไมโครโฟนด้านในของหูฟังมาวิเคราะห์ผลลัพธ์

Google เล่าว่า ช่องหูคือตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการตรวจสุขภาพ เพราะหลอดเลือดแดงที่อยู่ในหูส่วนลึก เป็นตัวสร้างเครือข่ายที่ซับซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็กที่แตกแขนงไปในช่องหูอย่างกว้างขวาง

ในการทดลอง APG ทาง Google ได้อาศัยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 153 คน วิจัยนาน 8 เดือน ผลลัพธ์คือ APG สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) และการวัดอัตราการผันแปรของการเต้นของหัวใจ (HRV) มีค่าเฉลี่ยความผิดพลาดเพียง 3.21% และ 2.70% ตามลำดับ

จุดเด่นที่ APG เหนือกว่า PPG และ ECG

Google นำเสนอว่า APG สามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดเรื่องผลกระทบจากสีผิวเหมือนเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ใช้เซนเซอร์ Photoplethysmogram (PPG) หรือ Electrocardiography (ECG) แบบเดิม ๆ

นอกจากนี้ APG ยังไม่ได้รับผลกระทบจากขนาดของช่องหู และสภาพการซีลที่ปิดไม่สนิท (เช่นหูฟัง ANC แบบเอียร์บัด) และสามารถทำงานได้แม้ขณะฟังเพลงอยู่

ข้อจำกัดและจุดที่ยังต้องปรับปรุง

ข้อจำกัดของ APG ตอนนี้ยังมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ มันทำให้หูฟังต้องใช้แบตเตอรี่เพิ่มขึ้น และเรื่องถัดมาคือ หากทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ค่าความผิดพลาดเฉลี่ยจะขยับขึ้นเป็น 5.40% ซึ่งอย่างหลังนี้ Google มองเป็นปัญหาหลักที่จะปรับปรุงแก้ไขในลำดับแรก ๆ ต่อไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่า APG ทำงานได้อย่างเที่ยงตรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย

ที่มา : Google