Google Deepmind เปิดตัว GenCast โมเดล AI สำหรับพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง แล้วยังมีการประมวลผลที่รวดเร็ว โดยคาดการณ์อากาศล่วงหน้า 15 วัน ได้ภายใน 8 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดประโยชน์ไปทั่วโลก ในการพยากรณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้
GenCast โมเดล AI พยากรณ์อากาศตัวใหม่ของ Google ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้มีประสิทธิภาพสูงและน่าเชื่อถือได้
GenCast พัฒนาขึ้นจากโมเดล GraphCast ถูกเทรนจากข้อมูล 40 ปีย้อนหลังจากคลังข้อมูล ERA5 ของ ECMWF ประกอบด้วยตัวแปรต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม และความกดอากาศที่ระดับความสูงต่างๆ ทั่วโลก แล้วใช้ข้อมูลถึงปี 2018 มาให้ AI ทดสอบพยากรณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2019 ขึ้นไป ว่าได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน ปรากฏว่า GenCast พยากรณ์ผลได้แม่นยำกว่า ENS ซึ่งเป็นโมเดลของศูนย์พยากรณ์อากาศยุโรป (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts หรือ ECMWF) ที่ถือว่าพยากรณ์อากาศแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน
โดยผลพยากรณ์ทั้งหมด GenCast เอาชนะ ENS ไปที่ 97.2% แต่หากคิดเฉพาะการพยากรณ์ใน 36 ชั่วโมง จะแม่นยำกว่าถึง 99.8%
อย่างการทดสอบพยากรณ์ทิศทางของพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ที่พัดเข้าญี่ปุ่นในปี 2019 ล่วงหน้า 7 วัน GenCast แสดงให้เห็นถึงเส้นทางของพายุที่เป็นไปได้มากมายหลายเส้นทาง (เส้นสีน้ำเงิน) คือการพยากรณ์ของ GenCast ส่วน (สีแดง) เส้นทางของพายุจริง
นอกจากความแม่นยำ ยังใช้เวลาน้อย โดย GenCast ใช้เวลาประมวลผลข้อมูลพยากรณ์ล่วงหน้า 15 วัน บน Google Cloud TPU v5 ในเวลาเพียง 8 นาที ในระดับละเอียดละติจูด-ลองจิจูด 0.25° ซึ่งลดลงจาก ENS ที่ต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีโปรเซสเซอร์หลายหมื่นตัว และต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อประมวลผล และเมื่อความเร็วบวกกับความแม่นยำ จึงทำให้การเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศเลวร้ายได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้เจ้าหน้าที่ปกป้องชีวิตได้มากขึ้น ป้องกันความเสียหาย
GenCast เป็นโมเดลรูปแบบโอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้หน่วยงานและบริษัทต่างๆ นักวิจัยในแวดวงวิชาการ นักอุตุนิยมวิทยา นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เข้าให้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงการพยากรณ์อากาศในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : deepmind.google
Comment