ในชั่วโมงนี้หลายคนคงได้รู้จัก Google Pixel และ Pixel XL เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจาก Google ได้เปิดตัวมือถือทั้งสองรุ่นต่อหน้าชาวโลกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ Google กระโดดเข้าสู่ธุรกิจสมาร์ทโฟนแบบเต็มตัว 100% คือ ออกแบบเอง ทำเอง ขายเอง แบบเบ็ดเสร็จ และคู่แข่งที่ Google ตั้งเป้าหมายไว้มีเพียงหนึ่งเดียวคือ “Apple iPhone” เท่านั้น เรามาดูรายละเอียดเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้ของ Google กันดีกว่า

Google Pixel และ Pixel XL คือมือถือรุ่นแรกของ Google ที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นของ Google จริงๆแบบ 100% เพราะ Google เริ่มต้นเอง ออกแบบเอง ทำเอง และทดสอบเองภายในบริษัท ไม่เหมือนกับบรรดามือถือ Nexus ก่อนหน้านี้ที่จะเป็นการร่วมมือกันพัฒนาระหว่าง Google กับบริษัทคู่ค้าอย่าง HTC, Samsung, LG และ Huawei ซึ่งเป็นการทำตลาดร่วมกันแบ่งกำไรกันซะมากกว่า

Google ได้ลงทุนตั้งแผนก Hardware ขึ้นมาสำหรับทำสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอมีส่วนร่วมในตลาดสมาร์ทโฟนปัจจุบันที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เรียกว่า Google จริงจังกับโปรเจ็คในครั้งนี้มาก จนถึงกับยอมเสี่ยงที่จะกระทบความสัมพันธ์กับคู่ค้าอย่าง Samsung และ LG ที่ทำสมาร์ทโฟน Android ขายในตลาดเช่นกัน เพราะการทำแบบนี้ก็เหมือน Google ตั้งตัวเป็นคู่แข่งกับบริษัทเหล่านี้โดยสมบูรณ์

หากจำกันได้เมื่อครั้งที่ Google ซื้อบริษัท Motorola Mobility มาเป็นของตัวเองนั้น ก็เคยมีการกลัวกันว่า Google จะทำมือถือของตัวเองมาแข่งในตลาดสมาร์ทโฟน จน Google ต้องออกมาเคลียร์ว่า การซื้อ Moto เป็นเพียงความต้องการในสิทธิบัตรของบริษัทเท่านั้น แต่ครั้งนี้กับ Pixel ความกลัวของผู้ผลิตเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องจริงแล้วล่ะครับ

 

Rick Osterloh สมาชิกใหม่ หน้าตาคุ้นเคย

หัวเรือใหญ่ทีม Hardware ของ Google คนปัจจุบันผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจ็ค PIxel ก็คือ Rick Osterloh หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาอีตาคนนี้เป็นอย่างดี เพราะเค้าคือ อดีต CEO ของ Motorola Mobility ที่เป็นผู้ยืนพรีเซนต์ในงานเปิดตัวมือถืออย่าง Moto X, Moto X Play และ Moto G นั่นเอง การมาของ Rick Osterloh ถือว่าถูกที่ถูกทางอย่างที่สุด เพราะ Google ไม่คุ้นเคยการทำ hardware แล้วต้องจัดการสต๊อกและวางช่องทางจำหน่ายเองมาก่อน การได้คนที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำในธุรกิจสมาร์ทโฟนแบบ Rick Osterloh มาทำงานด้วยนั้นคือ “การตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด”

google-pixel-behind-the-scene-02.jpg

Rick Osterloh (ภาพจาก CNET)

 

Rick ได้ประกาศในงานเปิดตัว Pixel phone อย่างชัดเจนว่า

“Google is now the seller of record of this phone”

โดยเค้าขยายความว่า ตอนนี้ Google เป็นคนจัดการสินค้าคงคลังเอง, สร้างสัมพันธ์กับทางเครือข่ายมือถือเอง, จัดหาอะไหล่เอง, ดีลเรื่อง supply chain เอง และ จัดการเรื่องการกระจายสินค้าเอง พูดง่ายๆคือ ครบวงจรที่บริษัทผู้ผลิตมือถือบริษัทหนึ่งจะต้องทำนั่นแหละครับ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำพวก accessories ของมือถือเองด้วย เช่น เคสและสาย USB เป็นต้น

 

จุดกำเนิด Pixel

พูดถึงโครงการ Nexus ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมานั้น Google รู้สึกพอใจที่ได้ลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในธุรกิจสมาร์ทโฟนผ่านความร่วมมือกับผู้ผลิตชั้นนำมากมาย โดยการพัฒนา hardware ส่วนใหญ่จะอยู่กับทางผู้ผลิตเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปทางผู้บริหาร Google เริ่มเห็นข้อดีในแนวทางที่ Apple กำลังทำอยู่ นั่นคือ การทำผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆด้วยตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์จากบริการซอฟต์แวร์ที่ตัวเองมีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พูดง่ายๆคือ คนอื่นทำก็ไม่ได้ดั่งใจเหมือนตัวเองทำ ดังนั้นเราจึงได้เห็น Google เปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่าง Google Home ลำโพงอัจฉริยะ, Daydream VR และ Google Wi-Fi ในงานเดียวกันกับ Google Pixel นั่นเอง

google-pixel-behind-the-scene-03.jpg

 

โครงการ Pixel นั้นได้รับการอนุมัติจาก Sundar Pichai ผู้นำคนปัจจุบันของ Google เมื่อช่วงฤดูร้อน (มิ.ย – ส.ค) ปี 2015 ที่ผ่านมา และการพัฒนา Pixel ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย – พ.ย) ซึ่งตรงนี้ทาง Dave Burke หัวหน้าวิศวกร Android บอกว่า “ความแตกต่างของการทำ Pixel คือ เราได้ทำตั้งแต่เริ่มต้นเลย” ในขณะที่ของ Nexus นั้น Google จะเข้ามาร่วมพัฒนาตอนที่งานดำเนินมา 90% แล้ว

ตอนที่ Osterloh เริ่มงานกับ Google ในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น เขาได้ทำการรวมศูนย์งาน Hardware ทั้งหมดของ Google เข้าเป็นหน่วยงานเดียว รวมไปถึงการสั่งปิดโครงการหลายอย่างที่ไม่ส่งผลอะไรต่ออนาคตบริษัทอีกด้วย จากนั้นเป็นต้นมา เหล่านักออกแบบและวิศวกรของ Google Glass, Chromecast และ Pixel ก็มาทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียวในการสร้าง Portfolio ผลิตภัณฑ์ของบริษัท และก็ได้จัดตั้งทีมดูแลเรื่อง supply chain ขึ้นมาจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญของ Nest บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ smart-home ที่ Google ซื้อมาเมื่อ 3 ปีที่แล้วนั่นเอง

 

ขั้นต่อไป ออกแบบชิปของตัวเอง

ในเมื่อ Google เป็นคนออกแบบโทรศัพท์ได้เองทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งใครแล้ว ต่อไปก็จะสามารถวางแผนงานหรือ Roadmap สำหรับอุปกรณ์ในอนาคตแบบระยะยาวได้เลย ยกตัวอย่างเช่น David Burke เคยบอกว่า เค้าเพิ่งจะได้ชมรูปถ่ายตัวอย่างจากกล้องของมือถือ Google รุ่นใหม่ที่จะยังไม่มีการเปิดตัวจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ถ้าเป็น Nexus เรื่องแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น และตอนนี้ Google ก็มุ่งหน้าพัฒนามือถือรุ่นต่อไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น Burke เองยังเสริมว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถออกแบบชิปเพื่อใช้ในมือถือของตัวเองได้สักที และเรื่องนี้ไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย เมื่อ Jason Bremner อดีตผู้บริหารของ Qualcomm บริษัทผลิตชิปเซ็ตสำหรับมือถือเบอร์ต้นของโลก ก็ย้ายมาทำงานในแผนก Hardware ของ Google แล้วเช่นกัน

google-pixel-behind-the-scene-04.jpg

Jason Bremner

 

ถึงจะเป็น Google ด้วยกัน แต่ความลับของคู่ค้าต้องไม่รั่วไหล

Rick Osterloh ได้บอกถึงความแตกต่างระหว่างตอนที่ตัวเองทำงานอยู่กับ Motorola กับตอนที่อยู่ Google ว่า “ตอนสมัยที่พวกเรา (Moto) ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Google พวกเราก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรนะ” แต่ตอนนี้เขาสามารถเข้าถึงฟีเจอร์และนวัตกรรมใหม่ๆของทีม Google Assistant ได้ก่อนคนอื่นแล้ว นอกจากนั้น Pixel เองยังเป็นมือถือรุ่นแรกที่มาพร้อมกับ Android Nougat 7.1 เวอร์ชันล่าสุดอีกด้วย เรียกว่า exclusive กันสุดๆเลย

อย่างไรก็ตาม Google ยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้ารายอื่นอยู่เช่นเดิม ดังนั้นมันจึงต้องมี “กำแพงกั้น” ระหว่างทีม Hardware และทีม Android ซึ่งทาง Hiroshi Lockheimer ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของ Android ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า ทีมของเขาจะปฎิบัติกับทีมของ Rick เหมือนกับคู่ค้ารายอื่นๆ

“Samsung เป็นคู่ค้าคนสำคัญเหมือนกับ LG, Huawei และอื่นๆ ส่วน Rick ก็เป็นคู่ค้าคนสำคัญ Samsung บอกเราถึงข้อมูลลับสุดยอดเกี่ยวกับรายชื่อผลิตภัณฑ์และแผนการจำหน่าย เราก็ไม่ได้เอาไปบอก LG หรือคนอื่น และมันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป ทุกคนจะถูกปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงทีมของ Rick ด้วย”

Hiroshi Lockheimer

 

เป้าหมายหนึ่งเดียว Apple iPhone

เป้าหมายของ Google ในการทำ Pixel phone มีเพียงหนึ่งเดียวคือ การต่อกรกับ iPhone เท่านั้น จะเห็นได้จากตัวสไลด์โชว์คะแนนกล้องจาก DxOMark ที่ present ในงานเปิดตัวเพื่อบอกว่า กล้องของ Pixel นั้นสามารถเอาชนะ iPhone ได้ แต่ที่จริงแล้ว Pixel นั้นชนะกล้องมือถือทุกรุ่นที่รีวิวโดย DxOMark รวมไปถึง HTC 10, Samsung Galaxy S7 edge, Sony Xperia X Performance และมือถือ Android อีกหลายรุ่น แต่ Google เลี่ยงที่จะไม่พูดถึงเพราะนั่นคือมือถือของคู่ค้าคนสำคัญของ Google ทั้งนั้น ก็ไม่รู้ระยะยาวจะเป็นยังไงเหมือนกันเพราะตอนนี้ Google ก็ทำตัวเป็นคู่แข่งกับผู้ผลิตมือถือเหล่านี้โดยสมบูรณ์แล้ว

dxo2.jpg

Pixel ถือกำหนดขึ้นมาเพราะ Google ต้องการสร้างมือถือ Android อย่างที่ใจตัวเองต้องการ แบบไม่มีข้อจำกัดใดๆ นอกจากการออกแบบ Hardware ทุกส่วนด้วยตัวเองแล้ว ระบบ Software ในเครื่องก็ได้รับการปรับแต่งให้ทำงานเข้ากับ Hardware ทุกชิ้นและดึงประสิทธิภาพของฃิ้นส่วนต่างๆออกมาใช้งานให้มากที่สุด นี่คือแนวทางเดียวกับที่ Apple ใช้ในการสร้าง iPhone ขึ้นมา ถึงแม้ในขั้นตอนการผลิต Google จะจ้าง HTC ทำให้ แต่ก็เป็นทำนองเดียวกับที่ Apple จ้าง Foxconn ผลิต iPhone ให้เช่นกัน จะเห็นได้จากในงานเปิดตัว Google ไม่ได้เอ่ยถึง HTC แม้แต่คำเดียว พอพลิกมาหลังเครื่องก็จะมีคำว่า “Made by Google” แบบเดียวกับที่หลังเครื่อง iPhone จะมีคำว่า “Designed by Apple in California” นั่นแหละครับ

google-pixel-behind-the-scene-06.jpg

Pixel คือมือถือที่ Google พูดได้เต็มปากว่า มันคือ Pure Google 100% ไม่มีใครมาเอี่ยวด้วยทั้งนั้น ในอีกด้านหนึ่งเราก็ไม่สามารถเรียกมันว่า มือถือ Pure Android ได้อีกต่อไป เพราะมันมีฟีเจอร์เฉพาะและการปรับแต่งหลายๆอย่างเกิดขึ้นบน Android ที่อยู่ใน Pixel แบบเดียวกับที่ผู้ผลิตอื่นๆทำกับ Android ที่อยู่ในมือถือตัวเอง คำถามที่หลายคนเคยถามว่า “เมื่อไหร่มือถือ Android จะสามารถดึงประสิทธิภาพของ Hardware ออกมาได้ 100% แบบเดียวกับ iPhone?” ผมว่าเราได้คำตอบนั้นแล้วครับ

Play video

 

ที่มา: Bloomberg