เว็บไซต์ Android Authority อ้างว่าได้อ่านเอกสารภายในที่หลุดมาจากทีม gChips ของกูเกิล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาชิป Tensor บนมือถือ Pixel โดยตรง สาระสำคัญคือ กูเกิลทราบมาตลอดว่า Tensor มีปัญหาเรื่องความร้อนและการกินไฟ ทั้งยังบอกอีกว่า ‘โปรเจกต์ Tensor ยังไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงิน’ เชื่อมโยงไปยังแนวทางในอนาคต ที่ชิป Tensor G6 บน Pixel 11 อาจมีการดาวน์เกรดจีพียูเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
กูเกิลจะกดต้นทุน Tensor ให้ต่ำกว่าที่เป็นอยู่
กูเกิลบอกว่า ‘ต้องคุมต้นทุนชิปเซตให้อยู่ในช่วง 65 ดอลลาร์ เพื่อให้ธุรกิจนี้เติบโตได้’ สะท้อนให้เห็นว่า นอกเหนือจากความต้องการขยายการอัปเดตซอฟต์แวร์มือถือ Pixel ให้ยาวนานแล้ว เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็คงจะเป็นอีกเหตุผลให้กูเกิลตัดสินใจหยุดใช้บริการชิป Snapdragon ของ Qualcomm และหันมาใช้ชิป Tensor ที่พัฒนาเอง
ปัจจุบัน Snapdragon 8 Elite และ Dimensity 9400 มีต้นทุนราว 180 ดอลลาร์ และ 150 ดอลลาร์ ตามลำดับ ส่วน Tensor G4 มีต้นทุนเพียง 80 ดอลลาร์ ตามการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ
อาจเห็นได้ว่า Tensor G4 มีราคาต่ำกว่าชิปคู่แข่งแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่กูเกิลยังไม่พอใจในผลลัพธ์ จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ทีม gChips จะทำอย่างไรเพื่อให้ชิป Tensor รุ่นใหม่มีราคาถูกลง
หาวิธีเจอแล้ว แต่มีราคาที่ต้องจ่าย
คำตอบของคำถามนี้ มีเฉลยไว้ในเอกสาร วิธีคือ กูเกิลจะลดขนาด (พื้นที่) ของ Tensor ลง จากเดิม Tensor G4 มีขนาด 121 ตร.มม. กูเกิลตั้งใจจะลดให้เหลือ 105 ตร.มม.ใน Tensor G6 เทียบเท่ากับชิป A18 Pro ของแอปเปิล ทว่า เทคนิคนี้ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง ซึ่งหวยไปตกที่ที่ ‘จีพียู’
Tensor G6 จะมากับจีพียู IMG CXT ที่ตอนแรกกูเกิลตั้งใจจะใส่มาใน Tensor G4 แล้วถูกยกเลิกไป (ไปใช้ Mali-G715 แทน) ประเด็นคือ IMG CXT ไม่รองรับคุณสมบัติ ray tracing แบบจีพียู IMG DXT บน Tensor G5 จึงเหมือนเป็นการดาวน์เกรดด้านประสิทธิภาพลง
Tensor G4 | Tensor G4 (โดนยกเลิก) | Tensor G5 | Tensor G6 | |
จีพียู | Mali-G715 (x7 แกน) | IMG CXT (x3 แกน) | IMG DXT (x2 แกน) | IMG CXT (x3 แกน) |
ความถี่ | 900 MHz | ? | 1100 MHz | 1100 MHz |
Ray tracing | ไม่รองรับ | ไม่รองรับ | รองรับ | ไม่รองรับ |
การจำลองจีพียู | ไม่รองรับ | ไม่รองรับ | รองรับ | ไม่รองรับ |
ขนาด | 14.7 ตร.มม. (4LPE) | 14.82 ตร.มม. (N3E) | 16.6 ตร.มม. (N3E) | 14.1 ตร.มม. (N3P) |
นอกจากนี้ องค์ประกอบย่อยอย่างอื่นภายในชิปบางส่วนก็โดนลดทอนด้วย เช่น DSP ถูกลดจำนวนคอร์ 1 คอร์ และ SLC ถูกลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 4MB
แต่แนวทางนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เพราะในแง่ดีคือ ซีพียูเป็นส่วนที่โดนยกเว้น ไม่ถูกดาวน์เกรด และ Tensor G6 อาจมีการปรับปรุงด้านความร้อนและการจัดการพลังงานให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม
Tensor ทำเครื่องร้อน แบตไหล ลูกค้าไม่ปลื้ม
ส่วนประเด็นเรื่องความร้อนและการกินไฟ ตามที่เกริ่นไว้ตอนต้น รายละเอียดในสไลด์ระบุว่า ปัญหาด้านความร้อน คือเหตุผลอันดับ 1 ที่ลูกค้าร้องเรียนและส่งเครื่อง Pixel คืน คิดเป็นสัดส่วน 28% ของรีวิวเชิงลบ อายุการใช้งาน (แบตเตอรี่) ใน Pixel 6 และ Pixel 7 ที่เป็น 2 รุ่นแรกที่มากับชิป Tensor ก็ไม่สู้ดี ในชนิดที่ฟีดแบ็กเป็นเอกฉันท์ โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานมือถือได้พ้นวันด้วยซ้ำ
แต่ข้อเท็จจริงที่ควรทราบคือ ใน Pixel 9 มีการปรับปรุงทั้ง 2 ปัญหานี้ไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ที่ได้รับคำชมไปมากมาย จน Pixel 9 และ Pixel 9 Pro กลายเป็นหนึ่งในมือถือเรือธงที่แบตอึดที่สุดในปัจจุบัน ตามการทดสอบโดย GSMArena ดังนั้นใน Pixel 10 และในรุ่นถัด ๆ ไป ก็มีแนวโน้มที่แบตจะอึดกว่าเดิม – ร้อนน้อยกว่าเดิม เช่นกัน
ที่มา : Android Authority
Comment