นึกภาพว่า ถ้าวันนึงเราต้องอยู่แบบไร้อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า เครื่องสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะเป็นยังไง เอาง่ายๆ แค่เน็ตใช้งานไม่ได้ไม่กี่นาทียังว้าวุ่นแล้ว แต่กับชุมชนห่างไกล ที่ไฟฟ้า น้ำประปา หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง จะใช้ชีวิตลำบากยังไง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ที่ถือว่าเป็นตัวช่วยให้เราได้ท่องโลกกว้าง ได้ศึกษาหาข้อมูลใหม่ๆ แม้จะอยู่ห่างออกไปหลายๆ พันกิโลฯ ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไท

โครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไท

โครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย (Green Energy Green Network for THAIs) เป็นการร่วมมือขององค์กรภาคเอกชนและภาครัฐ อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัล, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรด้านพลังงาน, พร้อมด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ที่เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

  • ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ในชุมชน
  • ติดตั้งสถานีฐาน โดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชน

พื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล

  • ชุมชนบ้านดอกไม้สด
    • เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง เพียง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง เป็นพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้า มีทั้งหมด 4 หย่อมบ้าน ประกอบไปด้วย บ้านดอกไม้สด บ้านเดอะกะทะ บ้านเปล้ลู้ และบ้านต๊ะโจโค๊ะ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่รวมกันประมาณ 713 คน 215 หลังคาเรือน เป็นชาวปกาเกอะญอ
    • ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านดอกไม้สด จะประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ แต่ช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ ชาวบ้านเปลี่ยนมาทำไร่ข้าวโพดเป็นหลัก ประมาณปีละ 2 ครั้ง ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีและเผาเพื่อเตรียมดินปลูก ทำให้ขาวบ้านมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากหมอกควันจากการเผาไร่
    • ในหมู่บ้านมีโรงเรียนบ้านหนองบัว สาขาบ้านดอกไม้สด ซึ่งมีบาทหลวงดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก ๆ และมีให้ทุนเรียนในเด็กที่ต้องการเรียนต่อ โรงเรียนเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ  90 คน และก่อนหน้านี้ในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เวลาที่จะติดต่อสื่อสารจะต้องไปที่โรงเรียนเพื่อใช้สัญญาณซึ่งไม่เสถียร ซึ่งทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนก็จะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างทันท่วงที
  • ชุมชนมอโก้โพคี
    • เป็นชุมชนพื้นที่เป็นดอยสูง อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 50 กิโลเมตร มีทั้งหมด 6 หย่อมบ้าน มีประชากรประมาณ 1,200 คน เป็นชาวปกาเกอะญอ เส้นทางเข้าหมู่บ้านเป็นทางดิน ในฤดูฝนจะเดินทางยากลำบาก ส่วนในฤดูแล้งจะมีฝุ่นหนา ภายในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้า และการบริโภคน้ำดื่มจะเป็นการใช้ประปาภูเขา ไม่มีระบบกรองที่ถูกสุขอนามัย
    • ภายในหมู่บ้านมี กศน.แม่ฟ้าหลวง และมีโรงเรียนมอเคลอะคลี สาขาบ้านหนองบัว เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนมากไม่ได้เรียนต่อ หรือถ้าเรียนต่อจะมาเรียนที่ กศน. ในอำเภอท่าสองยาง รวมถึงยังสถานีอนามัย ศศช. เซอหนะเดอหลู่ เพื่อดูแลสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของชาวบ้าน หากเจ็บไข้ได้ป่วยหนักจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลท่าสองยาง
    • ส่วนระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ อาทิ การใช้น้ำดื่ม ใช้ประปาภูเขา ไม่มีระบบกรอง ใช้น้ำกิน ดื่ม อาบ ในถังเดียว ช่วงฤดูฝน น้ำจะขุ่น แน่นอนว่าการมีระบบไฟฟ้าและเครื่องกรองน้ำจะช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้บริโภคน้ำที่สะอาดถูกสุขอนามัย  ทางกัลฟ์จึงนำ Solar Cell พร้อมติดเครื่องกรองน้ำให้ที่ รร.เพื่อให้เด็ก นร.ดื่มน้ำที่สะอาด
    • ส่วนด้านการติดต่อสื่อสารในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ถ้าต้องการติดต่อสื่อสาร จะต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาสัญญาณห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ไม่มีความเสถียร เวลาชาวบ้านต้องการติดต่อสื่อสารกันโดยการนัดวันและเวลาที่แน่ชัด เพื่อพบเจอหรืออาจจะเขียนจดหมายฝากต่อกันเป็นทอดๆ อีกที

โดยทั้ง 2 ชุมชน ตั้งอยู่ที่ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้า และระบบสื่อสารโทรคมนาคม ทางโครงการจึงได้เข้ามา เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้คนให้เข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมายภายใต้การเปลี่ยนแปลง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ภารกิจโครงการ

เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ

โดย AIS และพาร์ทเนอร์ จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริงและยั่งยืน 

  • ชุมชนมอโก้โพคี มีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟ และการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น โดยคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง
  • ชุมชนบ้านดอกไม้สด กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน

GULF ได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และยังให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนภารกิจสำคัญของ สวพส. คือ การนำความรู้ของโครงการหลวงไปพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศมีความอยู่ดีมีสุข สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองได้ ต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ หรือแม้กระทั่งการตลาด เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และยังเป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วย