เมื่อซื้อคอมพิวเตอร์มาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพีซี หรือโน้ตบุ๊ก เราควรตรวจดูทุกครั้งว่าเครื่องทำงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ตรงตามที่เราจ่ายเงินไปหรือเปล่า รวมไปถึงเมื่อตอนที่เราต้องการอัปเกรดเพิ่มความแรงให้กับเครื่อง เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเครื่องของเรามีสเปคอะไร สามารถใส่ฮาร์ดแวร์แบบไหนเข้าไปอัปเกรดได้บ้าง
หรือเพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของเครื่องเมื่อใช้งานไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ว่าเครื่องทำงานปกติหรือไม่ มีฮาร์ดแวร์อะไรหายไปหรือไม่ จากประสบการณ์เคยมีเหตุการณ์ที่มีอุปกรณ์บางอย่างในเครื่องเสียใช้งานไม่ได้ แต่ก็ยังเปิดใช้งานได้ปกติ โดยที่เราไม่รู้เลย เพราะฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นไม่ได้มีความสำคัญกับการทำงานของเครื่องเท่าไหร่
นอกจากนี้ ตอนที่คอมเสีย หรือเกิดความผิดปกติขึ้น ก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้ในการหาสาเหตุได้เหมือนกัน รวมไปถึงเวลาที่เราแก้ปัญหาเองไม่ได้แล้วจะไปถามผู้รู้การตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อนจะช่วยลดระยะเวลาการหาสาเหตุลงได้มาก ช่วยให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด วันนี้ทีมงานรวบรวมวิธีเช็คสเปคคอมบน Windows 10 และ 11 มาฝากกันแล้ว บอกเลยว่าไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่มก็สามารถดูได้เหมือนกัน
วิธีดูสเปคคอมจากภายนอกตัวเครื่อง
วิธีดูสเปคเครื่องพีซี
สำหรับสายพีซี วิธีดูผ่านภายนอกอาจต้องดูแบบแยกทีละชิ้น กรณีที่เป็นคอมประกอบ ส่วนคอมแบรนด์ส่วนมากจะมี Tag เป็นสติกเกอร์ติดข้อมูล Serial Number รวมมาในที่เดียวเลย โดยวิธีการนี้เราสามารถรู้ข้อมูล รหัสรุ่นของฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้น และ Serial Number ไว้สำหรับใช้ตรวจสอบประกันได้ ส่วนฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นมีวิธีการดูยังไงบ้างมีตามนี้เลย
ซีพียู ตามปกติแล้วจะมีข้อมูล ยี่ห้อ ชื่อรุ่น รหัส Serial Number เท่านั้น
เมนบอร์ด โดยส่วนมากแล้วเมนบอร์ดทุกรุ่น จะมีชื่อรุ่นสกรีนอยู่บนแผงวงจรอยู่แล้ว เพียงแต่ตำแหน่งการวางอาจแตกต่างกันไปแต่ละบอร์ด ส่วนรหัส Serial Number โดยส่วนมากจะติดอยู่บริเวณพอร์ตไฟเลี้ยง 24-pin หรือบางแบรนด์อาจติดไว้บริเวณอื่นก็ได้
แรม ตามปกติแล้วแรมทุกตัวจะมีสติกเกอร์ติดข้อมูลผู้ผลิต ชื่อรุ่น บัส ค่า CL ติดมาให้เลยบนตัวแรม แต่ข้อมูลตรงนี้จะทำความเข้าใจยากนิดนึง แนะนำว่าให้นำรหัสรุ่นไปหาในอินเทอร์เน็ตต่อจะดีที่สุด
การ์ดจอโดยส่วนมากแล้วจะเป็นสติกเกอร์ติดอยู่บริเวณด้านหลังของตัวการ์ด บอกข้อมูลชื่อรุ่น และ Serial Number
HDD / SSD ทุกตัวจะมีสติกเกอร์ที่บ่งบอกสเปคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ยี่ห้อ ความจุ รหัสรุ่น รูปแบบการเชื่อมต่อ
Power Supply จะอยู่บริเวณด้านบน ซึ่งจะบอกสเปคโดยละเอียดของ Power Supply ลูกนั้น พร้อมรหัส Serial Number
ทั้งนี้ หากคงเก็บตัวกล่องบรรจุสินค้าเอาไว้ ก็สามารถใช้ทดแทนกันได้เช่นกัน เพราะที่ตัวกล่องมักจะมีข้อมูลชื่อรุ่น และรหัส Serial Number แบบเดียวกับที่ติดอยู่บนสินค้า
วิธีดูสเปคโน้ตบุ๊ก
ส่วนวิธีดูสเปคบนเครื่องโน้ตบุ๊ก ส่วนมากจะสามารถดูได้จากสติกเกอร์บนตัวเครื่อง เช่น สติกเกอร์จากทางแบรนด์ Intel AMD NVIDIA และ สติกเกอร์สรุปสเปคจากทางแบรนด์ผู้ผลิต ซึ่งจะสามารถบอกสเปคเครื่องเราได้แบบคร่าว ๆ เท่านั้น เช่น ชื่อรุ่น ฟีเจอร์ ซีพียู การ์ดจอ
ส่วนถ้าต้องการดูสเปคอย่างละเอียดต้องนำ Serial Number ที่ด้านหลังตัวเครื่อง ไปหาต่อในหน้า Support บนหน้าเว็บไซต์ผู้ผลิต
วิธีดูสเปคเครื่องแบบไม่ต้องลงโปรแกรม
1. ดูผ่าน BIOS ขอแค่เปิดติดก็ดูได้ทุกเครื่อง
BIOS เป็นโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์เล็กๆ ที่เวลาเราเปิดเครื่องทุกครั้งจะต้องผ่านโปรแกรมนี้ โดยในปัจจุบันได้มีการออกแบบหน้า UI ให้ใช้งานง่ายกว่าในอดีต และสามารถแสดงข้อมูลที่เกี่ยวกับเครื่องได้มากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่ง BIOS ที่อยู่ในเมนบอร์ดบางรุ่นสามารถแสดงข้อมูลฮาร์ดแวร์ที่ใส่อยู่ได้ด้วย เช่น ซีพียู แรม การ์ดจอ HDD / SSD เวอร์ชัน BIOS แบบเบื้องต้นได้
ส่วนวิธีการเข้า BIOS อาจจะต่างกันไปตามแบรนด์ผู้ผลิตบ้าง ๆ แต่โดยส่วนมากจะเป็นการกดปุ่ม F2 หรือปุ่ม Del ตอนเปิดเครื่อง หรือถ้าเครื่องไหนตั้งค่าไว้แบบ Fast Boot ทำให้พลาดการกดปุ่มเพื่อเข้าหน้า BIOS เราสามารถเข้าจากใน Windows ได้ ดังนี้
วิธีเข้า BIOS ผ่าน Windows
- กด Shift ค้างไว้ ตอนกด Restart เครื่อง
- รอเครื่อง Boot เข้าหน้า Advanced Startup
- เลือกเมนู Troubleshoot > Advanced Options
- UEFI Frimware Settings > รอเครื่อง Boot เข้าหน้า BIOS
2.วิธีดูสเปคเครื่องแบบง่าย ๆ คือดูผ่านเมนู Setting
วิธีนี้เป็นวิธีเช็คสเปคเครื่องที่สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ที่ใช้ Windows 10 และ 11 ผ่านการเข้าไปที่หน้า Setting ในคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยวิธีเข้ามีดังนี้
วิธีเปิดหน้า Setting ใน Windows 10 และ 11
- เปิดเมนู Start พิมพ์ Setting
- ที่หัวข้อ System เลื่อนหาคำว่า About
ระบบจะแสดงข้อมูลของเครื่องแบบเบื้องต้น เช่น ชื่อเครื่อง ซีพียู แรม เวอร์ชัน Windows ส่วนข้อมูลอื่น ๆ เช่น การ์ดจอ หรือพื้นที่เก็บข้อมูล จะไม่แสดงในหน้านี้ ต้องเข้าไปดูด้วยวิธีอื่น โดยวิธีนี้สามารถใช้เพื่อตรวจสอบความต้องการระบบของโปรแกรมที่ต้องการใช้ได้แบบคร่าว ๆ เช่น โปรแกรมทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้กับเกม หรือโปรแกรมเฉพาะทาง
ส่วนผู้ใช้ Windows ที่ต่ำกว่า เช่น Windows 7 หรือ Windows 8 สามารถเข้าไปดูได้ที่ คลิกขวาที่ไอคอน Computer หรือ This PC เลือก Properties ระบบจะแสดงหน้าต่างที่มีข้อมูลลักษณะแบบเดียวกันกับตัวอย่างด้านบน
3. Task Manager นอกจากเอาไว้ปิดโปรแกรมค้าง แล้วยังใช้ดูสเปคได้ด้วย
วิธีการเช็คสเปคคอมพิวเตอร์ของตัวเองวิธีนี้ บอกเลยว่าทำได้ง่าย และได้ข้อมูลครบถ้วนประมาณหนึ่งเลย แถมทำได้ง่ายด้วย ใช้ได้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เป็น Windows 10 และ 11 สามารถบอกข้อมูลเบื่องต้นได้ เช่น ซีพียู แรม การ์ดจอ พื้นที่เก็บข้อมูล แต่ข้อมูลเชิงลึก เช่น เมนบอร์ด จะไม่สามารถแสดงได้
วิธีการเปิด Task Manager
- กดปุ่ม Ctrl + Alt + Delete > เลือก Task Manager
- คลิกขวาที่ Task Bar ด้านล่างของหน้าจอ > เลือก Task Manager
- พิมพ์ในช่องค้นหาของ Start Menu ว่า Task Manager
- เลือกที่แท็บ Performance
- กดเลือกดูที่หัวข้อต่าง ๆ เช่น ซีพียู แรม การ์ดจอ
4. Device Manager ดูสเปคได้ครบที่สุด ละเอียดที่สุด
วิธีการนี้จะคล้ายกับการดูผ่าน Task Manager แต่จะมีความละเอียดกว่ามาก โดย Device Manager จะบอกข้อมูลของอุปกรณ์ในเครื่องของเราแทบทุกอย่างแบบละเอียด แต่ก็ดูยากกว่าพอสมควร เพราะฮาร์ดแวร์บางอย่างจะมาเป็น Code name หรือรหัส แทนที่จะเป็นชื่อที่เราเข้าใจได้ง่าย ๆ ทำให้อาจจะมีงง ๆ บ้าง
วิธีการเข้า Device Manager
- พิมพ์ในช่องค้นหาของ Start Menu ว่า Device Manager
- คลิกขวาที่ ปุ่ม Start Menu ด้านล่างของหน้าจอ > เลือก Device Manager
เมื่อเปิดเข้ามาจะพบว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ จะถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น Display Adapter, Processor เราต้องไปกดขยายดูเอาเองแต่ละหัวข้อ และมีข้อสังเกต ถ้าใช้งานเป็นแบบ Virtual Machine Device Manager จะไม่แสดงข้อมูลฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานจริง ๆ แต่แสดงเป็นของที่ Virtual Machine แทน
5. Disk Management สำหรับดูข้อมูล HDD และ SSD แบบละเอียด
วิธีนี้ใช้สำหรับการตรวจสอบฮาร์ดดิสก์ และ SSD ที่ใส่อยู่ในเครื่อง ทั้งจำนวนที่ใส่อยู่ ความจุของดิสก์ลูกนั้น ๆ และประเภทของดิกส์ที่ใช้อยู่ว่าเป็น Partition แบบ MBR หรือ GPT รวมไปถึงแท็กของไดรฟ์นั้น ๆ เช่น ไดรฟ์ C, D, E ด้วย
วิธีการเข้า Disk Management
- พิมพ์ในช่องค้นหาของ Start Menu ว่า Disk Management
- คลิกขวาที่ ปุ่ม Start Menu ด้านล่างของหน้าจอ > เลือก Disk Management
นอกจากนี้ ในหน้าต่างนี้ยังใช้เป็นที่จัดการฮาร์ดดิสก์ และ SSD ที่ใส่อยู่ในเครื่องทั้งหมดด้วย เช่น การเพิ่มลดขนาดไดรฟ์ การแบ่ง Partion และการ Format ไดรฟ์ก็ทำได้ในนี้เช่นกัน
6. หน้าจอ และกล้อง Webcam (สำหรับโน้ตบุ๊ก)
หัวข้อนี้จะเพิ่มเข้ามาสำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊ก ที่มีส่วนสำคัญเพิ่มเข้ามาจากพีซีตั้งโต๊ะ อย่างหน้าจอ โดยเราสามารถเข้าไปดูได้ที่ Display Setting ซึ่งในหน้านี้เราสามารถดูชื่อรุ่นของหน้าจอ ความละเอียดที่ใช้อยู่ และอัตรา Refresh Rate ของหน้าจอตัวนั้น
วิธีการเข้า Display Setting
- คลิกขวาที่ว่างบนหน้าจอ Desktop
- เลือก Display Setting
*สำหรับการดูอัตรา Refresh Rate ให้เข้าไปที่ Advance display
ส่วนวิธีดูความละเอียดกล้อง Webcam ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่แอป Camera ได้เลย ที่หัวข้อการตั้งค่า > Video Setting >Video Quality
7. DirectX Diagnostic Tool ดูสเปคเครื่องได้ละเอียดมาก
อีกเทคนิคนึงที่ช่างคอมนิยมใช้เป็นวิธีดูสเปคคอม ก็คือดูผ่านตัว DirectX นั่นเอง โดยฟังก์ชันนี้มีอยู่บน Windows อยู่แล้ว ไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่ม สามารถเช็คอุปกรณ์ในเครื่องได้ประมาณหนึ่ง เช่น ซีพียู แรม การ์ดจอ หน้าจอ และระบบเสียงได้
วิธีการใช้ DirectX Diagnostic Tool
- กดปุ่ม Win + R
- พิมพ์คำว่า dxdiag > กด Enter
วิธีดูสเปคคอมผ่านโปรแกรมแยก
สำหรับใครที่คิดว่าการดูผ่านโปรแกรมติดเครื่องในระบบ Windows มันยากเกินไป ไม่ละเอียดพอ ก็แนะนำให้ใช้โปรแกรมจากภายนอก (Third party) ในการช่วยดูข้อมูลฮาร์ดแวร์ภายในเครื่องแทนได้ ซึ่งข้อมูลที่แสดงผลออกมาจะอ่านง่าย เข้าใจง่ายกว่า และในปัจจุบัน ก็มีโปรแกรมประเภทตรวจเช็คฮาร์ดแวร์ให้เลือกอีกเพียบ แถมบางโปรแกรมใช้ฟรีด้วย
1. CPU-Z โปรแกรมดูสเปคซีพียูที่ดีที่สุด
เริ่มกันที่โปรแกรมยอดนิยมอย่าง CPU-Z ที่สามารถแสดงข้อมูลได้หลากหลาย และมีความละเอียดใช้ได้เลยนะ โดยสามารถบอกข้อมูลได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของซีพียู เช่น ชื่อรุ่น รหัสรุ่น ความเร็ว Clock Speed จำนวน Core / Thread และค่าไฟเลี้ยงสำหรับสาย Overclock ก็มีบอกด้วยเช่นกัน
ข้อมูลของเมนบอร์ดที่เราใช้อยู่ สามารถแสดงชื่อรุ่น และเวอร์ชัน BIOS ที่ใช้งานได้ ข้อมูลหน่วยบความจำ (Memory) ใช้แสดงข้อมูล RAM ในภาพรวม เช่น ความจุ บัสที่ใช้ และถ้าไม่จุใจก็มีอีกหน้าอย่าง SPD ที่สามารถแสดงข้อมูลแรมแบบรายแถวได้เลย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการรู้ข้อมูลของแรมแบบลึก ๆ เช่น สาย Overclock หรือคนที่ต้องการซื้อแรมมาอัปเกรด เป็นต้น
แท็บ Graphics ใช้แสดงข้อมูลของการ์ดจอที่ติดตั้งอยู่ในระบบทั้ง iGPU และการ์ดจอแบบแยก แต่จะแสดงแค่ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้นไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก
2. GPU-Z โปรแกรมดูสเปคการ์ดจอที่ดีที่สุด
สำหรับข้อมูลของการ์ดจอถ้าต้องการดูแบบละเอียด ก็ขอแนะนำโปรแกรมนี้เลย GPU-Z ดูได้ละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็น ชื่อรุ่นการ์ดจอที่เราใช้ รหัสรุ่นของชิป บัสการเชื่อมต่อ VRAM บนตัวการ์ด ความเร็ว Clock Speed และเวอร์ชันไดร์เวอร์ที่ใช้
นอกจากนี้ ในหน้า Sensor ยังมีบอกข้อมูลอย่างละเอียดจากเซนเซอร์ที่อยู่บนตัวการ์ดในรูปแบบกราฟ เช่น อุณหภูมิ หรืออัตราการกินไฟอย่างละเอียดด้วย ใครที่เป็นสายข้อมูลน่าจะถูกใจสิ่งนี้
3. CrystalDiskInfo โปรแกรมดูสเปค HDD / SSD ที่ละเอียดที่สุด
โปรแกรมถัดไป CrystalDiskInfo มีไว้สำหรับใช้ตรวจสอบข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ และ SSD ที่ใส่อยู่ในเครื่องอย่างละเอียด สามารถอ่านข้อมูลของฮาร์ดแวร์ได้เยอะมาก อาทิเช่น ชื่อรุ่น, ขนาดความจุ, เวอร์ชันของ Firmware, Serial Number, ขนาดของ Buffer, จำนวนรอบที่หมุนต่อนาที, จำนวนชั่วโมงที่เปิดใช้งานต่อเนื่อง (Power on hours) ทั้งยังบอกอุณหภูมิขณะนั้นของฮาร์ดดิสก์ พร้อมประเมินสถานะหรือสุขภาพทั่วไปในขณะเวลานั้น (Health Status) และค่าอื่นๆ ด้วย
4. HWMonitor โปรแกรมดูอุณหภูมิเครื่องที่ดีที่สุด
ส่วนถ้าใครอยากรู้อุณหภูมิการทำงานของสิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในเครื่องอย่างละเอียดต้องโปรแกรมนี้เลย HWMonitor บอกเลยว่าดูได้ละเอียดมาก ซึ่งนอกจากจะใช้ดูอุณหภูมิแล้วตัวโปรแกรมยังบอก ค่าไฟเลี้ยงในส่วนต่าง ๆ ของเครื่องด้วย รวมไปถึงอัตราการใช้พลังงานของซีพียู และการ์ดจอแบบเรียลไทม์
ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่โปรแกรมนี้สามารถบอกได้ เช่น อัตราการทำงาน ความเร็ว Clock Speed และสำหรับโน้ตบุ๊กยังสามารถบอกค่าความเสื่อมของแบตเตอรี่ของตัวเครื่องได้ด้วย แต่ในส่วนนี้อาจจะไม่ได้แม่นยำเท่าไหร่ เป็นการประเมินคร่าว ๆ มากกว่า
5. HWiNFO โปรแกรมดูสเปคเครื่องที่ละเอียดที่สุด บอกหมดทุกอย่างสำหรับสายโหดข้อมูลแน่น
HWiNFO64 เป็นอีกโปรแกรมตัวจบสำหรับการเช็คสเปคเครื่องเลยก็ว่าได้ เพราะเหมือนเป็นการรวมข้อมูลของหลาย ๆ โปรแกรมมาอยู่ในโปรแกรมเดียว แสดงผลข้อมูลได้ละเอียด และหลากหลายมาก ๆ แต่ก็อาจจะดู Advanced ขึ้นมาระดับเมื่อเทียบกับโปรแกรมก่อนหน้า
เมื่อเรียกโปรแกรมขึ้นมา ก็จะมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ System Summary และ Sensor แล้วแต่ว่าเราอยากดูข้อมูลรูปแบบไหน
- System จะเป็นการสรุปข้อมูล แบบละเอียดคล้าย CPU-Z ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลซีพียู เมนบอร์ด แรม และการ์ดจอ
- Sensor ในส่วนนี้บอกเลยว่าละเอียดมาก โดยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในเครื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ อัตราการทำงาน ฯลฯ ของทุกชิ้นส่วนภายในคอมของเรา เช่น ซีพียู เมนบอร์ด แรม การ์ดจอ การ์ด Network และ ฯลฯ คล้าย HWMornitor แต่มีความลึกมากกว่า
บอกเลยว่าแม้หน้าตาโปรแกรมจะใช้ยาก แต่สำหรับใครที่ต้องการรู้ข้อมูลลึก ๆ ของเครื่องแล้ว เช่น หากใครต้องการรู้อัตราการใช้พลังงานของชิปตอน Turbo Boost ว่ากินไฟกี่วัตต์ จ่ายได้เพียงพอหรือไม่ เพื่อไว้เป็นข้อมูลในการประเมินความอึดของชุดภาคจ่ายไฟ VRM บนเมนบอร์ด โปรแกรมนี้ก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ไม่น้อยเลยครับ
และนี่ก็เป็นทริคดูสเปคคอมด้วยตัวเองง่ายๆ ที่เรารวบรวมมาฝาก หากอยากให้เราสอนวิธีตรวจสอบอุปกรณ์ไอทีแบบไหน สามารถเมนต์มาบอก หรือสอบถามในส่วนที่ไม่เข้าใจได้เลยนะครับ
Comment