หลังจากที่ Microsoft ได้ทำการปล่อย Windows 11 ตัว Official ออกมาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถอัปเกรดเป็น Windows 11 ได้ฟรี ผ่าน Windows 10 เดิม หรือนำไฟล์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บ Microsoft โดยตรงไปติดตั้งใช้งานกันเองก็ได้ ซึ่งสามารถลงได้ทั้งในแบบเวอร์ชันใช้งานฟรี (แบบเดียวกับ Windows 10) หรือติดตั้งก่อนเพื่อนำ CD-Key แท้มา Activate ทีหลังก็ทำได้เช่นกันครับ
โดยในบทความนี้เองทีมงานจึงอยากจะมาแนะนำขั้นตอนและวิธีง่าย ๆ ในการอัปเกรดคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็น Windows 11 เพียงแค่มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่างก็สามารถลงเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องยกไปที่ร้านให้เสียเงินหรือเสียเวลาแบบสมัยก่อนอีกต่อไปแล้วครับ
วิธีลง/อัปเกรดเป็น Windows 11 หลัก ๆ มีทั้งหมด 4 แบบคือ
- อัปเกรดจาก Windows 10 ผ่าน Windows Update
- อัปเกรดจาก Windows 10 ผ่านโปรแกรม Windows 11 Installation Assistant
- ลงและติดตั้งใหม่ผ่าน USB แฟลชไดรฟ์
- ลงและติดตั้งใหม่หรืออัปเกรดโดยใช้ไฟล์ ISO
วิธีที่ 1 : อัปเกรดจาก Windows 10 ผ่าน Windows Update
สำหรับคอมใครที่เป็น Windows 10 อยู่แล้ว และเครื่องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่ Microsoft กำหนด สามารถเข้าไปกดอัปเดตเป็น Windows 11 ได้เลยทันทีผ่านหน้า Windows Update ที่อยู่ในการตั้งค่าของเครื่อง โดยขั้นตอนจะมีดังนี้นะครับ
- เข้าไปที่ All Settings โดยพิมพ์ที่ช่องค้นหา หรือเข้าผ่านหน้าจอการแจ้งเตือนด้านล่างขวาก็ได้
- กดที่ Update & Security
- สำหรับเครื่องที่รองรับและพร้อมดาวน์โหลดแล้ว จะมีหน้าต่างแบบนี้ขึ้นมา สามารถกด Download and install ได้เลยครับ
- สำหรับเครื่องที่รองรับแต่ยังไม่ขึ้น ซึ่งจะขึ้นเป็นแบบหน้าด้านบนนี้แทน หมายถึงต้องรอให้ทาง Microsoft ทยอยปล่อยอัปเดตเพิ่มเติมให้ก่อน ถึงจะอัปเกรดได้ตามปกติครับ
วิธีที่ 2 : อัปเกรดจาก Windows 10 ผ่านโปรแกรม Installation Assistant
วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไม่อยากรอ เนื่องจากบางเครื่อง Microsoft ยังไม่ปล่อยตัวอัปเกรดให้บนหน้า Windows Updates สามารถไปใช้เครื่องมืออัปเกรดแทน ซึ่งอัปได้เลยทันที โดยโหลดผ่านหน้าเว็บ Microsoft โดยตรงเลยครับ
- เข้าไปที่เว็บไซต์ : https://www.microsoft.com/en-us/software-download/windows11
- แล้วกดที่ Download Now ในหมวด Windows 11 Installation Assistant จะได้ไฟล์ชื่อ Windows11InstallationAssistant.exe ขึ้นมา จากนั้นเปิดไฟล์เพื่อทำการติดตั้ง
- กด Accept and Install
- รอโปรแกรมดาวน์โหลดจนครบทั้ง 3 Step ในระหว่างที่รอแนะนำให้เซฟงานต่าง ๆ ที่ยังทำค้างอยู่ไว้ก่อนนะครับ
- สุดท้ายหากต้องการอัปเกรดทันทีให้กด Restart Now หรือหากต้องการอัปทีหลัง ให้กดเป็น Restart Later ก่อนได้ ซึ่งหากไม่กดภายใน 30 นาที โปรแกรมจะ Restart และอัปเกรดเป็น Windows 11 ให้ทันทีครับ
วิธีที่ 3 : ลงและติดตั้งใหม่ผ่าน USB แฟลชไดรฟ์
สำหรับวิธีการลงผ่าน USB Flash Drive คือวิธีที่ค่อนข้างแนะนำหากต้องการลง Windows 11 ใหม่ทั้งเครื่อง เพราะมีข้อดีกว่าการอัปเกรดจาก Windows 10 ตรงที่ไฟล์ขยะหรือ Cache ต่าง ๆ ที่เคยสะสมไว้จาก Windows เดิมจะไม่ตามมาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ได้พื้นที่ที่เสียเปล่าบางส่วนกลับมาอีกหลาย GB เลยทีเดียว
แต่หากใครยังต้องการไฟล์เดิมอยู่ แนะนำให้ Backup ข้อมูลทั้งเครื่องเก็บไว้ที่อื่นก่อนนะครับ เพราะข้อมูลในไดรฟ์ที่ลงจะโดนล้างไปด้วยทั้งหมด ดังนั้นมาดูขั้นตอนการลงผ่านแฟลชไดรฟ์แบบ Clean Install นี้ว่าทำยังไงบ้าง
สิ่งที่ต้องใช้
- แฟลชไดรฟ์เปล่าขนาดอย่างน้อย 8GB (แนะนำเป็นแบบ USB 3.0)
- คอม หรือ โน้ตบุ๊ค
- บัญชี Microsoft (Outlook หรือ Hotmail)
- อินเทอร์เน็ต (เนื่องจาก Windows 11 จะบังคับให้ต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้งที่ลงใหม่ ควรเตรียมเป็นสายแลนเผื่อไว้ เพราะบางเครื่องอาจไม่มีไดรเวอร์ WiFi ในตัว)
ขั้นตอนติดตั้งตัวลง Windows 11 ลง USB Flash Drive
- เสียบแฟลชไดรฟ์เข้าที่ช่อง USB
- จากนั้นเข้าไปที่เว็บไซต์ : https://www.microsoft.com/en-us/software-download/windows11
- แล้วกดที่ Download Now ในหมวด Create Windows 11 Installation Media จะได้ไฟล์ MediaCreationW11.exe มา แล้วเปิดไฟล์เพื่อทำการติดตั้ง
- ต่อมากด Accept แล้วกด Next ในหน้านี้แนะนำให้กดติ๊กเลือก Use the recommended… จากนั้นกด Next อีกครั้ง
- กดเลือกเมนู USB flash drive แล้วกด Next
- จากนั้นดูว่าชื่อแฟลชไดรฟ์ที่ขึ้นใช่อันที่เสียบไว้ตอนแรกหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ให้เลือกเป็นไดรฟ์ที่มีชื่อ USB ที่จะใช้ลง แล้วกด Next เพื่อติดตั้ง
- รอจน Progress จนเสร็จ (ใช้เวลาค่อนข้างนาน ขึ้นอยู่กับความเร็วเน็ตและแฟลชไดรฟ์ของเราด้วยครับ)
- กด Finish เป็นอันเสร็จ เพียงเท่านี้เราก็ได้จะแฟลชไดรฟ์ที่เป็นตัวติดตั้ง Windows 11 เรียบร้อยแล้วครับ
ขั้นตอนการติดตั้ง Windows 11 บนคอมจาก USB Flash Drive
- เสียบแฟลชไดรฟ์เข้าสู่คอมหรือโน้ตบุ๊คที่ต้องการจะลง
- จากนั้นกด ปิด-เปิด เครื่องใหม่ หรือรีสตาร์ท แล้วกดเข้า Boot Option หรือเข้าหน้า Bios แล้วเซ็ตให้บูทผ่านแฟลชไดรฟ์
– Boot Option แต่ละเครื่องกดไม่เหมือนกัน (กด F8, F9, F10,F11 หรือ F12)
– Bios แต่ละเครื่องกดไม่เหมือนกัน (กด F2, F10, Delete หรือ ESC)
- พอบูทผ่านแฟลชไดรฟ์ได้แล้วก็จะเข้าสู่หน้าติดตั้ง ในหน้าแรกแนะนำให้ติดตั้งเป็นภาษาอังกฤษ เลือก Time and currency format เป็น Thai (Thailand) แล้วกด Next จากนั้นก็กด Install Now
- ติ๊ก I accepted the Microsoft Software License Terms จากนั้นกด Next (กรณีขึ้นหน้าให้ใส่คีย์ถ้ามีคีย์ก็ใส่ตรงนี้ได้เลย หรือหากไม่มีก็กด I don’t have a product key)
- ถัดมาเลือก Custom: Install Windows only (advanced)
- พอมาถึงหน้านี้ให้เลือกไดรฟ์ที่เราต้องการจะลง Windows (หากมีหลายอันให้หาอันที่มีความจุเยอะ ๆ ตามขนาดของพื้นที่ไดรฟ์ที่เราจะลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไดรฟ์ C ที่มี 100GB ขึ้นไป) จากนั้นกด Format ไดรฟ์ให้เรียบร้อยก่อน กดเลือก แล้วค่อยกด Next
- ตัวเครื่องก็จะทำการติดตั้ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานสักพัก
- หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ก็สามารถถอดแฟลชไดรฟ์ออกได้เลย แล้วเครื่องจะรีสตาร์ทให้อัตโนมัติเพื่อไปที่หน้า Boot Windows 11 ใหม่ที่เราเพิ่งลงเสร็จไป
- พอขึ้นหน้านี้แล้วหลังจากทำการ Boot ใหม่ก็แสดงว่าคอมเครื่องนี้ลง Windows 11 ได้เรียบร้อยสมบูรณ์แล้วครับ ที่เหลือจะเป็นการตั้งค่า Set Up ต่าง ๆ ครั้งแรกเพื่อให้ใช้งานได้ต่อไป ในหน้า country or region นี้ให้เลือกเป็น Thailand แล้วกด Yes
- ให้กดเลือกแป้นพิมพ์เป็น US แล้วกด Yes
- เลือกเพิ่มแป้นพิมพ์ที่ 2 โดยกดที่ Add Layout
- จะมีหน้าให้เลือกแป้นอีกครั้ง เลือก Thai (Thailand) กด Next แล้วเลือกเป็น Thai Kedmanee จากนั้นกด Add Layout
- เครื่องที่ลง Windows 11 จะโดนบังคับให้ต่อเน็ตทุกครั้งที่ลงใหม่ (บางเครื่องหากไม่มีไดรเวอร์ WiFi ในตัว จำเป็นต้องหาเน็ตสายแลนไว้เผื่อด้วยนะครับ) จากนั้นกด Next
- เครื่องจะให้ตั้งชื่อคอม ให้กรอกชื่อตามที่เราต้องการ แล้วกด Next (หรือหากอยากตั้งทีหลัง ให้กด Skip for now) เครื่องจะรีสตาร์ทใหม่ 1 รอบ
- Windows 11 จะบังคับให้เราต้องล็อกอินด้วยบัญชี Microsoft ด้วยทุกครั้งที่ลงใหม่ โดยใช้เป็น Outlook หรือ Hotmail ก็ได้ จากนั้นกด Next
- แล้วก็บังคับให้ตั้งค่า PIN ไว้ด้วย อย่างน้อย 4 หลัก จากนั้นกด OK
- หน้า Choose privacy… ให้เลือก Next และ Accept
- หน้า Let’s customize… จะเลือกเองตามใจชอบก็ได้ หรือแนะนำให้กด Skip ไปก่อน
- หน้า Back up OneDrive แนะนำให้เลือก Don’t backup my files ไปก่อน จากนั้นกด Next
- หน้า Microsoft 365 แนะนำให้กด No, Thanks
- สุดท้ายพอเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว เครื่องก็จะเข้าสู่หน้า Desktop
- แนะนำให้เข้าไปที่ Start -> Settings -> Windows Update เพื่อเข้าไปอัปเดตไดรเวอร์ของเครื่อง โดยกดที่ Download now และรอโหลดติดตั้งให้เรียบร้อย เป็นอันใช้งาน Windows 11 ได้แล้วครับ
วิธีที่ 4 : ลงและติดตั้งใหม่หรืออัปเกรดโดยใช้ไฟล์ ISO
สำหรับวิธีสุดท้ายจะคล้าย ๆ กับวิธีที่ 3 คือเป็นการตั้ง Boot ไฟล์ติดตั้ง Windows 11 ผ่าน USB แฟลชไดรฟ์ ซึ่งวิธีที่ 3 จำเป็นต้องดาวน์โหลดและติดตั้งผ่านแฟลชไดรฟ์ทันที แต่หากใช้ไฟล์ ISO จะเป็นการดาวน์โหลดไฟล์เต็มที่ใช้ติดตั้งลงมาก่อน แล้วสามารถเอามาลงใน USB แฟลชไดรฟ์เองทีหลังได้ ซึ่งจะสะดวกกว่าสำหรับคนที่ต้องการตั้งค่า Boot แบบออฟไลน์ (แต่ขั้นตอนระหว่างลงก็ยังต้องใช้เน็ตอยู่ดีนะ) ดังนั้นในวิธีนี้ก็จะมาแนะนำการตั้งค่าตัว Boot Windows 11 บนแฟลชไดรฟ์ผ่านไฟล์ ISO โดยใช้โปรแกรม Rufus กันครับ
สิ่งที่ต้องใช้
- แฟลชไดรฟ์เปล่าขนาดอย่างน้อย 8GB (แนะนำเป็นแบบ USB 3.0)
- คอม หรือ โน้ตบุ๊ค
- อินเทอร์เน็ต
- โปรแกรม Rufus
ขั้นตอนการเตรียมและติดตั้ง
- เข้าไปที่เว็บไซต์ : https://www.microsoft.com/en-us/software-download/windows11
- แล้วกดที่ Download Now ในหมวด Download Windows 11 Disk Image (ISO) เลือก Select Download เป็น Windows 11 และเลือก Select the product language แนะนำให้เป็น English จากนั้นกด Confirm และกด 64-bit Download จะได้ไฟล์ Win11_English_x64.iso ขึ้นมา ขนาดประมาณ 5.1 GB ครับ
- ดาวน์โหลดโปรแกรม Rufus จากเว็บไซต์ : https://rufus.ie/en
- เสียบแฟลชไดรฟ์เข้าที่ช่อง USB
- เปิดโปรแกรมขึ้นมา (เป็นโปรแกรมเล็ก สามารถเปิดได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้ง)
- ตรวจสอบว่าในหมวด Device เป็นชื่อแฟลชไดรฟ์ที่เราจะใช้ลงหรือยัง หากยังให้เลือกเปลี่ยนเป็นตัวที่ต้องการ
- กด SELECT เลือกหาไฟล์ ISO ที่เราดาวน์โหลดไว้ก่อนหน้านี้ กด Open เสร็จแล้วกดปุ่ม Start
- กด OK เพื่อยืนยันว่าจะทำการล้างแฟลชไดรฟ์อันนี้เพื่อใช้สร้างตัวติดตั้ง (หากใครไม่ต้องการล้างไฟล์ในไดรฟ์ ต้อง Backup ข้อมูลไว้ที่อื่นก่อน)
- โปรแกรมก็จะเริ่มสร้างตัว Boot Windows 11 ไว้ในแฟลชไดรฟ์ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ตามความเร็วของเครื่อง
- ตัว Boot แฟลชไดรฟ์ที่สร้างเสร็จแล้วก็จะหน้าตาเหมือนกับที่สร้างโดยใช้วิธีที่ 3 เป๊ะ ๆ สามารถนำไปใช้ลง Windows 11 แบบ Clean Install ได้โดยใช้ขั้นตอนแบบเดียวกับวิธีที่ 3 ได้เลยครับ
วิธีอัปเกรดจาก Windows 10 โดยใช้ไฟล์ ISO
ไฟล์ ISO ที่ดาวน์โหลดมานี้ นอกจากจะใช้สร้าง Boot บนตัวแฟลชไดรฟ์แล้ว ยังสามารถใช้อัปเกรดจาก Windows 10 เป็น Windows 11 ได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มได้เลยเช่นกัน โดยมีขั้นตอนที่ง่ายมาก ๆ ดังนี้ครับ
- เปิดตัวไฟล์ ISO ที่ดาวน์โหลดขึ้นมา โดยใช้วิธีดับเบิลคลิกเพื่อเปิด หรือคลิกขวา เลือก Mount ก็ได้
- จากนั้นไฟล์ ISO จะทำการ Mount ตัวเองขึ้นไปเป็นไดรฟ์ใหม่อีกอันหนึ่ง เสมือนการจำลองตัวเองเป็น DVD Drive ให้เข้าไปที่ไดรฟ์ดังกล่าว สามารถกดเปิดไฟล์ข้างในที่ชื่อ setup.exe เพื่ออัปเกรดเป็น Windows 11 ได้จากหน้านี้เลย
- จะมีหน้าต่างขึ้นมา ให้กด Next และกด Accept จากนั้นรอให้โปรแกรมตรวจสอบเครื่องของเราสักครู่
- ตัวโปรแกรมจะเลือกค่า Default ในการอัปเกรดเป็น Windows 11 ให้ตามรุ่นเดียวกับ Windows 10 ที่ลงไว้ (เช่น รุ่น Home ก็จะเลือกอัปเป็น Windows 11 Home) และจะเลือกเก็บไฟล์และโปรแกรมทุกอย่างให้เหมือนเดิม แต่หากต้องการตั้งค่าการเก็บไฟล์เป็นแบบอื่น สามารถเลือก Change what to keep เพื่อเลือกเก็บเฉพาะบางส่วนหรือไม่เก็บเลยก็ได้ เสร็จแล้วกด Install เป็นการเริ่มอัปเกรด ซึ่งจะใช้เวลาราว 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับวิธีการลง Windows 11 บอกเลยว่ารอบนี้ตั้งใจทำมาละเอียดมาก ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถลองนำไปทำตามกันเองที่บ้านได้ง่าย ๆ สำหรับคนที่ใช้ Windows 10 คีย์แท้หรือมีคีย์มากับเครื่องอยู่แล้ว ก็สามารถใช้งาน Windows 11 ได้ต่อกันแบบยาว ๆ แต่หากใครใช้วิธีผ่านแฟลชไดรฟ์บนเครื่องเปล่าที่ยังไม่มีคีย์แท้ ก็สามารถใช้งานได้ฟรีเช่นกัน เพียงแต่จะโดนจำกัดฟังก์ชันการทำงานบางอย่างออกไปบ้าง
และหากเราต้องการใช้งานเวอร์ชันเต็มทีหลัง ต้องรอทาง Microsoft ออกตัว Official License แบบกล่องหรือ CD-Key มาวางขายก่อน เพื่อนำมา Activate และใช้งานเต็มรูปแบบจากตัวเดิมได้ทันที ซึ่งราคาจากตัวแทนจำหน่ายน่าจะอยู่ราว ๆ 3,000 บาท แบบเดียวกับ Windows 10 ยังไงแล้วก็แนะนำให้สนับสนุนของแท้กันเยอะ ๆ ด้วยนะครับ
วิธี Downgrade ถอยกลับจาก Windows 11 ไปใช้ Windows 10 เดิม แบบข้อมูลยังอยู่ครบ ไม่หายไปไหน
i7 Gen7 ไม่รองรับ…อย่างเคี้ยว
เซ็งเหมือนกัน ลงไม่ได้ ต้องหาลงแบบใช้แฟลชไดรฟ์แทนครับ
เจน 7 เหมือนกันครับ มันขึ้นบอกเลยนะว่าอัพไม่ได้ 5555 ส่วนเรื่อง usb ผมว่าก็คงลงผ่านแหละ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเสถียรมััยมั้ยนะ
ผมลองวิธีที่ 1 ก็ขึ้นว่าเครื่องไม่รองรับ คลิกลิงค์ไปดูรายละเอียด จะมีให้โหลดโปรแกรม PC Health Check รันโปรแกรมดูก็แจ้งว่าให้ไปเปิด TPM 2.0 ใน BIOS (ลองหาใน google ได้ครับว่าทำยังไง) จากนั้นใช้วิธีที่ 2 ติดตั้งไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จครับ แต่เครื่องอื่นไม่รู้ว่า PC Health Check จะแจ้งว่าไง
เครื่องผมผ่านทุกข้อยกเว้นซีรี่ย์ CPU เท่านั้นแระคับ….คือไม่ใช่ไร แค่อยากบอกว่า เคี้ยวไปไหน 7700HQ ก็แรงอยู่นา
Update ได้ครับ ของผมเครื่อง surface pro 5 cpu M3 ram 4 และ macmini 2014 cpu i5-4xxx ยังลงใช้งานได้ครับ macmini ผมลงผ่าน bootcamp แค่ก่อน update เราต้อง run skip TMP check ก่อนครับ
AMD Athlon X4 651 3GHz Ram DDR3 2GB HDD 1TB NVIDIA GT710 ก็สามารถติดตั้งได้ครับ 😁😁😁😁😁
ดีกว่า windows 10 ไหมครับ
แต่ถ้าอัพเกรดแรม 4GB กับ SSD จะใช้งานได้ดีขึ้นเยอะครับ 😅😅😅😅😅