เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้รับ SMS และรับสายจากคนแปลกหน้า ที่บอกว่าตัวเองเป็นตัวแทนมาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งยื่นข้อเสนอส่วนลด ชวนทำงานค่าตอบแทนสูง หรือแม้แต่ข่มขู่ว่าเรามีความผิด หลายคนอาจจะแยกออกว่านั่นคือมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังรู้ไม่เท่าทันกลโกงเหล่านั้น ตกเป็นเหยื่อกันมากมาย ดังที่เคยเห็นผ่านข่าวกันอยู่แทบทุกวัน ซึ่งเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ แล้วจะรับมืออย่างไร เราได้รวบรวมกลโกงออนไลน์และวิธีการป้องกันตัวเองจากภัยเหล่านั้นมาไว้ให้แล้ว

18 กลโกงมิจฉาชีพ ใช้หลอกเหยื่อผ่านออนไลน์

มิจฉาชีพออนไลน์ออกอุบายกลโกงไม่หยุด ทีมงาน Droidsans จึงได้มาอัพเดทเพิ่มเติม จากที่เราอาจจะเคยได้รู้จัก 14 อันดับภัยออนไลน์ที่คนไทยโดนหลอกสูงสุด


1.หลอกขายสินค้าออนไลน์

คดีหลอกลวงทางออนไลน์อันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เปิดเพจใหม่และมักอ้างของดีราคาถูกเกินจริง, ลดล้างสต็อกจะปิดโรงงาน หรืออ้างชื่อเน็ตไอดอล ควรตรวจสอบเพจขายสินค้า/บัญชีธนาคาร ก่อนโอนเงิน

2.หลอกให้ทำงานเสริมผ่านออนไลน์

คดีหลอกลวงทางการเงินอันดับหนึ่ง/ค่าเสียหายสูง โดยส่งข้อความชักชวนทำงานหารายได้พิเศษผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แค่กดไลก์ กดแชร์ หรือสต็อก(ลม)สินค้า ก็มีรายได้ โปรดระวัง ไม่มีงานเสริมออนไลน์ที่ได้เงินง่ายๆ และต้องโอนเงินไปก่อน

3.หลอกกู้เงินออนไลน์

(เงินกู้ทิพย์) สร้างเว็บไซต์ปลอม หลอกให้โอนเงินค้ำประกันค่าธรรมเนียมก่อนกู้ ควรตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน (https://www.bot.or.th)

(ดอกเบี้ยโหด) ได้เงินจริง แต่บังคับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ แล้วติดตามทวงเงินจากลูกหนี้และคนรู้จักด้วยการข่มขู่ หรือสร้างความรำคาญ 

4.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center)

โทรมาอ้างเหตุว่าเกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย เช่น พัสดุตกค้าง โทรศัพท์จะถูกตัด มีใบสั่งจราจร ฯลฯ แล้วโอนสายให้ตำรวจปลอม ข่มขู่ว่ากระทำผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และหลอกให้โอนเงินไปตรวจสอบ ต้องตั้งสติ “เราไม่เคยกระทำผิด ไม่เชื่อ ไม่โอน” ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐจริงจะไม่มีการให้โอนเงินไปตรวจสอบ

5.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ

สร้างข้อมูลปลอมทางการเงิน ชักชวน “ใช้เงินทำงาน” สร้างรายได้ โดยลงทุนเทรดเงินดิจิทัล เงินตราต่างประเทศ (Forex) ทอง น้ำมัน ฯลฯ พึงระวังการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ผู้หลอกลวงมักอ้าง “ได้กำไรตลอด”

6.หลอกให้รักแล้วลงทุน

สร้างโปรไฟล์หนุ่มหล่อสาวสวย (ปลอม) มาพูดคุยตีสนิททางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เว็บหาคู่ แล้วชักชวนลงทุนเพื่อสร้างอนาคต โดยส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมเกี่ยวกับการเทรดเงินดิจิทัล หรือสกุลเงิน มาให้สมัคร อย่าหลงเชื่อรูปโปรไฟล์ในโลกออนไลน์ ลองคุยผ่านวิดีโอคอลเพื่อความแน่ใจ และตรวจสอบเว็บไซต์ก่อนลงทุน

7.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน / หรือยืมเงิน

อ้างโปรไฟล์ทหาร วิศวกรต่างประเทศ พูดคุยตีสนิทให้เกิดความรัก ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บหาคู่ อ้างส่งของมาให้แต่ต้องเสียภาษีหรืออ้างเหตุยืมเงิน 

8.ปลอม หรือ แฮกบัญชี ไลน์ / เฟซบุ๊ก แล้วมาหลอกยืมเงิน

คนร้ายหลอกเอารหัสเพื่อเข้ายึดบัญชีไลน์/เฟซบุ๊ก แล้วส่งข้อความยืมเงินจากคนที่รู้จัก หรือโทรอ้างว่าเป็นบุคคลที่รู้จักเพื่อยืมเงิน อย่าโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น เพื่อนยืมเงินต้องโอนเข้าบัญชีเพื่อน หรือตรวจสอบโทรหาเพื่อนที่ไลน์ หรือเบอร์เดิม หรือ ไลน์เดิม

9.แชร์ลูกโซ่

สร้างเรื่องราวทางธุรกิจที่ได้กำไรเกินจริง แต่ไม่มีจริง เน้นหาสมาชิกใหม่มาลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง อย่าเชื่อเพียงคำโอ้อวดของผู้ชักชวน ต้องหาข้อเท็จจริงที่มาของกำไรของบริษัทก่อนลงทุน

10.การพนันออนไลน์

โฆษณาชักชวน เล่นการพนันออนไลน์ เล่นง่ายรวยเร็ว ซื่อตรงปลอดภัย ผิดกฎหมาย ไม่มีใครรวยจากการพนัน เข้าข่ายฟอกเงินและถูกยึดทรัพย์

11.หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล (เพื่อขโมยข้อมูล)

หลอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมทางไกล TeamViewer หรืออื่นๆ ขโมยข้อมูลบัญชีเงินฝาก การติดตั้งโปรแกรมที่ไม่รู้จัก เป็นอันตรายต่อโทรศัพท์และข้อมูลทางการเงิน รหัสทุกอย่างเป็น “ความลับ” อย่าให้กับคนอื่น

12.ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน

มิจฉาชีพอ้างว่า จะคืนค่าสินค้า โดยส่ง QR Code ให้ผู้เสียหายสแกนกรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร เพื่อโจรกรรมทางการเงิน การสแกน QR Code เป็นการจ่ายเงินเท่านั้น อย่ากรอกข้อมูลบัญชีธนาคารในระบบที่เราไม่รู้จัก

13.ฉ้อโกงรูปแบบอื่นๆ

สร้างเรื่องราวเท็จในโลกออนไลน์ อ้างว่าได้รับรางวัล หรือสิทธิซื้อสินค้าราคาพิเศษ แล้วหลอกให้โอนเงินค่าสมัคร ค่าธรรมเนียม หรือสอบถามข้อมูลทางการเงิน ไม่มีของฟรีในโลกออนไลน์ ตรวจสอบที่มาของข้อมูล และอย่าให้ข้อมูลทางการเงินกับเว็บเพจที่ไม่น่าชื่อถือ

14.โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ

หลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ บังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานไม่เป็นธรรมเยี่ยงทาส ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/prd/overseas หรือสอบถามข้อมูลสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

15.หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย

หลอกลวงให้ถ่ายภาพเปลือย โดยอ้างว่านำไปรีวิวสินค้า ถ่ายแบบ เพื่อแลกกับเงินเล็กน้อย แต่กลับนำภาพไปข่มขู่เพื่อเรียกเงิน ระวังการถ่ายภาพนิ่ง/เคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์ทุกชนิด เพราะคนร้ายสามารถบันทึกข้อมูลได้

16.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า)

รับจ้างเปิดบัญชีให้คนร้าย เท่ากับร่วมมือกระทำผิดกับคนร้ายที่นำบัญชีไปใช้ ระวัง ทั้งติดคุกฟรีและถูกยึดทรัพย์ หากบัญชีถูกนำไปใช้ฉ้อโกงประชาชน หรือคดีมูลฐานฟอกเงิน

17.ข่าวปลอม (Fake News)

เผยแพร่หรือแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือข้อความที่ส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ ช้วร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลได้ที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand

18.เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware)

มิจฉาชีพหลอกแนบไฟล์หรือลิงก์ติดตั้งไวรัลมากับอีเมล หรือในโปรแกรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อโหลดมาใช้ ข้อมูลในเครื่องจะถูกล็อกใช้งานไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเพื่อปลดล็อก อย่าโหลดไฟล์ที่ไม่รู้จัก สำรองข้อมูลไว้นอกเครื่องเป็นประจำ ตรวจสอบก่อนเปิดไฟล์ หรือเอกสารแนบเสมอ

กลโกงมิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ ชวนทำ Affiliate แต่หลอกโอนเงินก่อน

ขอเตือนภัยล่าสุด กลโกงใหม่มิจฉาชีพ ที่แอดมินและคนใกล้ตัวได้เจอบ่อยๆ ช่วงนี้ คือ การหลอกชวนทำ Affiliate หรือการทำนายหน้า ซึ่งเป็นการตลาดที่มาแรงสุดๆ ในช่วงนี้ ทั้งอ้างว่ามาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังต่างๆ อาทิตย์นึงโทรมา 3-4 ครั้ง โดยมิจฉาชีพจะโทรมาล่อด้วยการให้ค่าตอบแทนสูงถึง 30-50% ของราคาสินค้า แล้วขอแอดไลน์

มิจฉาชีพ : สวัสดีครับ โทรจาก Shopee จะมาชวนสมัครขายสินค้าจาก Shopee ได้ค่าตอบแทน 30-40% ของราคาสินค้า ขอแอดไลน์ได้ไหมครับ 

แอดมิน : ให้ไอดีไลน์ไป

  • หลังจากแอดไลน์แล้ว คนแรกที่คุยก็จะมีการส่งต่อไปอีกคน ทำเป็นขบวนการ

มิจฉาชีพหลอกทำ Affiliate

  • ซึ่งคนที่ 2 นี้ จะใช้รูป Shopee มาทำเป็นโปรไฟล์ ให้หลงเชื่อว่ามาจาก Shopee จริงๆ 
  • จากนั้นก็จะชวนคุยบอกขั้นตอนการทำงาน หลอกล่อด้วยจำนวนเงิน พร้อมหลอกให้โอนเงิน

 

  • โดยบอกว่าจำนวนเงินที่โอนไป จะได้คืนทั้งหมดพร้อมกับค่าคอมมิชชั่น 10-30% และมีโบนัส หากรับสินค้าไปโปรโมท 5-7 ชิ้น แล้วจะมีการส่งลิงค์ Openchat มาให้ เพื่อให้เราเข้าไป เหมือนว่าเป็นกลุ่มที่มีคนทำอยู่เหมือนๆ กัน 

มิจฉาชีพหลอกทำ Affiliate

  • พอเราเข้าไป ก็จะมีคนที่บอกว่าตัวเองเคยทำแล้วได้เงินจริง ชวนเชื่อ เพื่อหลอกให้คนมาใหม่โอนเงิน ซึ่งคนในกลุ่มเหล่านี้ ก็จะเป็นหน้าม้าที่แฝงตัวอยู่นั่นเอง 
  • และถ้ามีใครพิมพ์ข้อความที่เหมือนกับแฉหรือรู้ทัน มิจฉาชีพก็จะปิด OpenChat หนีทันที

มิจฉาชีพหลอกทำ Affiliate

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบกลโกงมิจฉาชีพผ่านออนไลน์ หากใครเจอแบบนี้ ให้รู้ไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน ก็ให้รีบตัดสายเลย อย่าไปเสียเวลาคุย แอดมินได้ทดสอบให้แล้ว ทั้งนี้ทาง Shopee ยืนยันว่า โปรแกรม Shopee Affiliate สามารถเข้าร่วมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดโปรแกรม และช้อปปี้จะไม่ขอให้คนโอนเงินหรือสำรองจ่ายล่วงหน้า และไม่สนับสนุนให้สร้างคำสั่งซื้อปลอมหรือซื้อแล้วยกเลิกในภายหลัง เพราะค่าคอมมิชชั่นจะมาจากคำสั่งซื้อที่สำเร็จแล้วเท่านั้น 

วิธีเช็ค Shopee ตัวจริง หรือตัวปลอม ?!

แม้มิจฉาชีพจะปลอมมาเนียน ก็มีวิธีสังเกตจุดเล็กๆ น้อยๆ ว่าของจริงของปลอมต่างกันยังไง ได้ตามนี้เลย

วิธีเช็ค Shopee จริงหรือปลอมวิธีเช็ค Shopee จริงหรือปลอม   วิธีเช็ค Shopee จริงหรือปลอม วิธีเช็ค Shopee จริงหรือปลอมวิธีเช็ค Shopee จริงหรือปลอม

เพื่อความชัวร์ในการติดต่อ ช้อปปี้ยังได้ริเริ่มกิจกรรม #ช้อปปี้ช่วยเช็ค โดยเปิดช่องทางการตรวจสอบ ในกรณีหากสงสัยว่าบุคคล/หน่วยงานที่กำลังติดต่อคุณอยู่ คือช้อปปี้ตัวจริงหรือไม่ ด้วยวิธีดังนี้

  • แคปภาพหลักฐานพฤติกรรมที่น่าสงสัย ที่อ้างว่ามาจากช้อปปี้
  • โพสต์ภาพหลักฐานลงบน Facebook หรือ Twitter ของคุณ พร้อมติดแฮชแท็ก #ช้อปปี้ช่วยเช็ค และเปิดบัญชีผู้ใช้งานให้เป็นสาธารณะ (Public) 
  • ช้อปปี้จะทำการตรวจสอบและตอบกลับโพสต์ของคุณด้วย Official Facebook หรือ Twitter Account ของ Shopee

ช้อปปี้ช่วยเช็ค

นอกจากนี้ ยังมี Shopee เตือนภัยไซเบอร์ ที่ได้จัดทำข้อมูลเตือนภัยออนไลน์ไว้ให้นักช้อปได้อ่านเพื่อรู้เท่าทัน สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่  https://shopee.co.th/m/shopee-cyber-crime-alert

ช้อปปี้เตือนภัยไซเบอร์

วิธีป้องกันตัวเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์

1.มีสติ 

หากมีใครโทรหรือส่ง SMS มาอ้างเป็นหน่วยงานนั่นนี่ ขู่ หรือเชิญชวนด้วยจำนวนเงินสูงๆ ให้ตรวจสอบก่อนเสมอ ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครง่ายๆ รีบปรึกษาคนใกล้ตัว หรือโทรสอบถามหน่วยงานที่โดนแอบอ้างทันที

2.เช็คให้ชัวร์ก่อนกรอกข้อมูลส่วนตัว

น่าจะมีหลายๆ คนเคยกรอกข้อมูลผ่าน Google form เว็บ แอป ในการทำแบบสอบถาม หรือการสมัครร่วมอะไรสักอย่าง แต่ก่อนจะกรอกไปนั้น ให้ลองคิดว่าสิ่งที่เขาขอมาเกินความจำเป็นที่จะต้องใช้หรือเปล่า ยิ่งเป็นธนาคาร ตอนนี้มีการบังคับใช้ ไม่ให้ธนาคารส่งลิงค์ต่างๆ ให้ทำธุรกรรมผ่าน SMS แล้ว 

3.ไม่ส่งหลักฐานส่วนตัวให้ผู้อื่น เช่น สำเนาบัตรประชาชน รหัสบัตรต่างๆ

4.ไม่กดลิงก์แปลกๆ

ไม่กดลิงก์ที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่คนรู้จัก ถ้ามีลิงค์แปลกๆ URL ไม่มี https:/ ก็ให้สอบถามเสมอ ว่าส่งลิงก์อะไรมา บางทีอาจจะติดไวรัส โดนแฮกบัญชี ก็เกิดขึ้นได้ 

5.หลีกเลี่ยงการสแกน QR Code

หากเป็นคนไม่รู้จักแล้วส่งรูปคิวอาร์โค้ดให้โหลดหรือสแกนต่างๆ ให้หลีกเลี่ยง หากอยากโหลดแอป ให้เข้าที่ App store หรือ Play Store เพื่อดาวน์โหลดโดยตรง หากจะเข้าเว็บ ให้กรอก URL โดยตรงจะปลอดภัยกว่า

6.ไม่ใช้ WiFi สาธารณะ

เวลาทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ต่างๆ หลีกเลี่ยงการใช้ไวไฟสาธารณะจะดีที่สุด บางธนาคารจะแจ้งเตือนให้ปิดไวไฟเลย ถึงจะทำธุรกรรมต่อได้ เพราะว่าจะเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพขโมยข้อมูลของเราได้

7.ใช้รหัสผ่านที่เดายาก 

เพื่อป้องกันการแฮก รหัสผ่านที่ดี ไม่ควรสั้นเกินไป มีตัวเลขและอักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ผสมกันอยู่ รวมถึงมีอักขระพิเศษ เช่น @#$%-)

8.อย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันในหลายบัญชี 

เพราะถ้าเหล่าแฮกเกอร์รู้รหัสผ่านของบัญชีหนึ่งๆ แล้ว จะทำให้พวกเขาเข้าไปโจมตีบัญชีอื่นๆ ได้ทันทีนั่นเอง

9.ระวังโฆษณาชวนเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ 

ทั้งการชักจูงการทำงานสบายๆ รายได้ดี สินค้าลดราคาต่ำกว่าทุน ที่ไม่ใช่ช่องทางการขายของร้านค้าทางการ รวมถึงคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ พิจารณาความน่าเชื่อถือให้ดีๆ 

10.ตั้งแจ้งเตือนธุรกรรมทางการเงิน

บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ทุกอัน ควรตั้งแจ้งเตือนเงินเข้าออก ทั้งผ่าน SMS, Line หรือแจ้งเตือนในตัวแอปเอง รวมถึงจำกัดวงเงินการใช้งานต่อวันที่ต่ำ หากวันไหนอยากใช้จำนวนเยอะ ถึงสั่งปรับเพดานใหม่เฉพาะวันนั้นๆ 

11.อัปเดตข่าวสารข้อมูลใหม่อยู่เสมอ

มิจฉาชีพจะเปลี่ยนกลโกงไปเรื่อยๆ ให้อ่านศึกษาข้อมูลให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อ หรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถืออยู่เสมอ เพื่ออัปเดตข้อมูลใหม่ ให้เท่าทันมิจฉาชีพ

พลาดโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์โกงแล้วต้องทำยังไง?

  • เปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีแอปธนาคารทั้งหมด รวมถึงบัญชีโซเชียลต่างๆ
  • แจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ https://www.thaipoliceonline.com/ โทรปรึกษาสอบถาม 1441 หรือ 081-866-3000 หรือ แอดไลน์@police1441 แชทบอทกับหมวดขวัญดาว ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สายด่วน โทร. 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งตำรวจที่ สน.ใกล้บ้าน
  • รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีม้า หรือบัญชีปลายทางของมิจฉาชีพ 

เบอร์โทรศัพท์ติดต่อธนาคารเมื่อถูกหลอกโอนเงิน

เบอร์โทรธนาคารแจ้งโดนโกง

  • กสิกรไทย 02-888 8888 กด 001
  • กรุงไทย 02-111 1111 กด 108
  • กรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
  • กรุงเทพ 1333 หรือ 02 645 5555 กด 3
  • ไทยพาณิชย์ 02-777 7575
  • ทหารไทยธนชาติ 1428 กด 03
  • ออมสิน 1115 กด 6
  • ซีไอเอมบี ไทย 02-626 7777 กด 00
  • ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 02-697 5454
  • ยูโอบี และ ซิตี้แบงก์ 02-344 9555
  • แลนด์แอนด์เฮาส์ 02-359 0000 กด 8
  • อาคารสงเคราะห์ 02-645 9000 กด 33
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 02-555 0555 กด*3
  • เกียรตินาคินภัทร 02-165 5555 กด 6

สถิติคดีโดนโกงออนไลน์ 

เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยสถิติ ยอดสะสมของผู้แจ้งความออนไลน์ช่วง 1 มี.ค. 65 – 31 พ.ค. 66 มีจำนวนทั้งหมด 296,243 เรื่อง มูลค่าความเสียหายทั้งหมด 38,156,125,167 บาท เป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องคดีออนไลน์ถึง 270,360 เรื่อง ซึ่งอันดับ 1 คือ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ถึง 100,694 คดี นี่ยังไม่นับกับบางคนที่โดนโกงไปแต่ไม่ได้แจ้งความอีกเยอะมากกกกกก แล้วมูลค่าความเสียหายคงจะอีกหลายเท่า ยังไงก็ระมัดระวังตัวกันไว้ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็น 1 ในสถิติของเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้