เชื่อว่าหลายคนเวลาเข้าเว็บไซต์แล้วบางครั้งเข้าไม่ได้ หน้าเว็บก็มักจะขึ้นตัวเลขหรือข้อความแปลก ๆ ซึ่งรหัสข้อความพวกนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า HTTP Status Code ที่ถูกออกแบบโดยองค์กรกำหนดหมายเลขอินเทอร์เน็ต (Internet Assigned Numbers Authority – IANA) ยกตัวอย่างเช่น Error 404 สุดคลาสิกที่คนมักจะเจอกันบ่อย ๆ และยังมีอีกหลายประเภทมาก ๆ
ประเภทของ HTTP Status Code แบ่งได้หลัก ๆ 5 ประเภท
- รหัสขึ้นต้นด้วย 1xx (informational response) หมายถึง ข้อมูลได้รับการตอบสนอง ได้รับคำขอข้อมูล (Request), กำลังดำเนินการต่อ
- รหัสขึ้นต้นด้วย 2xx (successful) หมายถึง ดำเนินการสำเร็จ ได้รับคำขอสำเร็จ, เข้าใจ และยอมรับคำขอเป็นที่เรียบร้อย
- รหัสขึ้นต้นด้วย 3xx (redirection) หมายถึง การเปลี่ยนเส้นทาง มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการตามคำขอ
- รหัสขึ้นต้นด้วย 4xx (client error) หมายถึง มีข้อผิดพลาดที่ฝั่ง Client มี Syntax ที่ผิดพลาด หรือไม่สามารถทำตามคำขอได้
- รหัสขึ้นต้นด้วย 5xx (server error) หมายถึง มีข้อผิดพลาดที่ฝั่ง Server เซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถดำเนินการตามคำขอที่ถูกต้องได้
ซึ่งส่วนมากรหัสที่เรามักเจอจะอยู่ในกลุ่ม 4xx กับ 5xx กัน ส่วนรหัส 1xx, 2xx, 3xx เรามักไม่ค่อยเจอ เพราะมันทำงานอัตโนมัติอยู่แล้วที่หลังบ้าน ปกติเราจะไม่เห็นรหัสพวกนี้ เพราะถ้ามันทำงานถูกต้องก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงข้อผิดพลาดให้เราดู โดยเราได้คัดมาให้แล้ว 10 รหัสที่มักเจอบ่อยที่สุดตอนเข้าเว็บไม่ได้ดังนี้เลย
HTTP Error 400 Bad Request
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคำขอที่คุณส่งไปยัง Server มีข้อผิดพลาดบางอย่าง ทำให้ Server ไม่เข้าใจว่า Client ต้องการอะไร บ่อยครั้งที่เกิดจากการพิมพ์ URL ของเว็บไซต์ที่ต้องการเข้าใช้งานผิด เช่น .hmtl ที่ถูกคือ .html
- วิธีแก้ ให้เราตรวจสอบ URL ว่าถูกต้องหรือไม่
HTTP Error 401 Unauthorized
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเข้าเว็บไซต์ที่มีการ Login แล้วเราไม่ได้ Login แต่พยายามเข้าหน้านี้ รหัสนี้มักเกิดในหน้า Login เท่านั้น
- วิธีแก้ คือให้เรา Login เข้าระบบให้ถูกต้องก็เรียบร้อย ตรวจสอบ Username และ Password ให้ถูกต้อง หรือบางครั้งเกิดจาก Session Timeout ด้วย
HTTP Error 403 Forbidden
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามเข้าไปยังหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ใช้งาน เพราะเจ้าของเว็บไซต์ไม่อนุญาต ตามสิทธิ์ที่เราได้รับ แต่เราบังเอิญไปได้ URL มาแล้วก็อบวางเลยก็โดนรหัสนี้ไปตามระเบียบ หรืออาจโดนแบนจากการเข้าซ้ำๆ จนระบบเข้าใจว่าเป็นการโจมตี DDOS Attack ก็ได้เช่นกัน
- วิธีแก้ ให้หยุดพักการใช้งานไปก่อน หรือลอง Clear Cache, Clear Cookie ดูก่อนก็ได้ หรือลองกลับไปหน้า Login เพื่อ Login ใหม่
HTTP Error 404 Not Found
เป็นรหัสยอดนิยมที่สุดแล้วที่เรามักจะได้เจอ เวลาที่เรากรอกที่อยู่ URL ผิด หรือที่อยู่เว็บไซต์นั้นไม่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว (โดนปิดไปแล้ว)
- วิธีแก้ ให้ลองรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ และตรวจสอบ URL ให้ละเอียดว่าไม่มีอะไรผิด หรือลองเข้าผ่าน Google แทนที่จะเข้าโดย URL เพราะบางทีเว็บที่ต้องการเข้าอาจจะมีการเปลี่ยน URL ไปแล้ว แต่ไม่ได้มีการทำ Redirect ไปยังหน้าเว็บอันใหม่
HTTP Error 408 Request Timeout
รหัสนี้หมายความว่า Client ไม่ได้ส่งคำขอมาภายในระยะเวลาที่ Server ได้กำหนดเอาไว้ ทาง Client อาจจะส่งคำขอซ้ำใหม่ได้อีกครั้งในภายหลัง อาจจะเกิดจากอินเทอร์เน็ตที่ใช้ไม่เสถียรเพียงพอ ทำให้ส่งคำสั่งไปไม่ครบ
- วิธีแก้ ตรวจสอบความเสถียรของอินเทอร์เน็ต
HTTP Error 500 Internal Server Error
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเว็บไซต์ที่เราจะเข้าล่ม หรือมีปัญหา ปัญหานี้เกิดจาก Server ไม่พร้อมให้บริการ หรือกำลังมีปัญหาอยู่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ได้ อย่างไรก็ตามรหัสนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีปัญหาอะไร มันแจ้งแค่ว่ากำลังมีปัญหาเท่านั้น
- วิธีแก้ คือ “ไม่มี” เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากเรา (Client) ทำได้แค่เพียงแค่ รอจนกว่าทาง Server จะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
HTTP Error 502 Bad Gateway
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสื่อสารผิดพลาดระหว่าง Server หนึ่ง กับอีก Server หนึ่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจาก Browser เข้าใจผิดก็ได้ จริง ๆ แล้วไม่มีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นเลย
- วิธีแก้ ลองปิด Browser แล้วเปิดใหม่ หรือลอง ลบ Web Cookie และ Cache ลองเปลี่ยนเว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ลองรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ Router
ข้อสังเกตปัญหานี้มีสาเหตุที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ปัญหาจริง ๆ อาจจะเกิดจากฝั่ง Server ก็ได้ มีความก้ำกึ่งกับรหัส 500 ขึ้นอยู่กับว่า Browser ของเราจะตอบสนองเป็นรหัสอะไร
HTTP Error 503 Service Unavailable
รหัสนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเว็บไซต์ไม่พร้อมใช้งาน อาจจะด้วยเพราะ Server กำลัง Overload คนเข้าเยอะแบบตอนจองบัตรคอนเสิร์ต หรือไม่ก็กำลังบำรุงรักษาอยู่
- วิธีแก้ ก็จะคล้ายกับข้อที่ผ่านมา คือ ลองเปิดหน้าเว็บใหม่อีกครั้ง ลองรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ และเราเตอร์
HTTP Error 504 Gateway Timeout
Server ที่ทำตัวเป็น Gateway หรือ Proxy ไม่ได้ตอบสนองภายในเวลาที่กำหนดจาก Server ต้นทาง อาจเกิดจากผู้ใช้งานที่ Overload จน Server ตอบกลับไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือไม่ก็ Server เครื่องนั้นได้ Hang ไปแล้ว
- วิธีแก้ ให้ลองเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวในเวลาอื่น
HTTP Error 505 HTTP Version Not Supported
Server ไม่รองรับ HTTP protocol เวอร์ชันที่คำขอใช้ส่งเข้ามา มักเกิดกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ OS รุ่นเก่า หรือไม่ได้อัปเดต Browser ทำให้คำขอที่เราส่งไปยังเป็นรูปแบบเก่าอยู่ แต่ตัวเว็บไซต์ปลายทางได้อัปเดตเป็นเวอร์ชันใหม่แล้ว เลยไม่สามารถเปิดเว็บได้ เพราะเป็นข้อกำหนดเรื่องของความปลอดภัยทั่วไป
- วิธีแก้ ให้อัปเดต Windows หรืออัปเดต Web Browser ที่ใช้งานอยู่
สำหรับใครที่ติดปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ลองเอาไปปรับใช้ดูกันได้ ส่วนถ้าเจอรหัสที่แปลกกว่านี้ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลิงก์ด้านล่างที่แนบไว้ก็เช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตก็มีความเสถียรขึ้นมาก ๆ แล้ว ทำให้ไม่ค่อยได้เจอรหัสเหล่านี้เด้งอัดหน้าสักเท่าไหร่(ถ้าใช้งานปกตินะ)
อ่านเพิ่มเติม : wiki
Comment